คนทำสื่อ ยังมีทางไป ถ้า “มีของ”ย่อมอยู่ได้

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ 

...การยืนระยะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าเราพอจะยืนได้ เราก็ควรจะอยู่ เพื่อที่จะทำอะไรบางอย่างหรือให้น้อง ๆนักข่าวได้เห็นว่า "สื่อมันมีทางไป" มีมากกว่าเรื่องของการนับยอดวิว ,การขอสปอนเซอร์ ซึ่งเหนื่อย แต่สนุก ถามว่ามีแรงกดดันหรือไม่ ก็มี แต่คิดว่า คนจะต้องทำงานภายใต้แรงกดดันบ้าง ไม่อย่างนั้นหากสบายเกินไป อยู่ในcomfort zone เราจะไม่พยายามพัฒนาตัวเอง

                                                      กรุณา บัวคำศรี 

                           ผู้ดำเนินรายการข่าวต่างประเทศชื่อดัง

.............................................

         ความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อ บริบทหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่”คนสื่อ”จำนวนไม่น้อย ได้หันไปทำช่องทางสื่อของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะช่องยูทูป ซึ่งหลายคนก็ทำจนประสบความสำเร็จ เช่น”สุทธิชัย หยุ่น”สื่อมวลชนอาวุโส ที่ทำ suthichai live เป็นต้น 

โมเดลสื่อมาทำแพลตฟอร์มช่องทางสื่อสารของตัวเอง ถูกคาดหมายว่าจะยังมีให้เห็นออกมาอีกเรื่อยๆ ที่แน่นอนว่า ก็ต้องมีที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็อาจมีบางรายที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อยืนระยะให้ได้ยาวที่สุด 

       “ทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ ”ขอบันทึกความเคลื่อนไหวดังกล่าวมานำเสนอ โดยแบ่งเป็นสองส่วน 

ส่วนแรก คือบทสัมภาษณ์ “กรุณา บัวคำศรี พิธีกรและผู้ดำเนินรายการข่าวต่างประเทศชื่อดัง”ที่ปัจจุบันทำรายการ YouTube “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี”ที่ให้สัมภาษณ์กับรายการของ “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์”ทางยูทูปช่อง Jomquan เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567

 และอีกส่วนเป็นการสัมภาษณ์ “ณยา คัตตพันธ์ “คนสื่อมากประสบการณ์ที่ผ่านการทำข่าวมาแล้วหลายสำนัก แต่วันนี้มาทำช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง 

ขอบคุณภาพจาก : เพจ กรุณา บัวคำศรี

         เริ่มที่”กรุณา บัวคำศรี สื่อมวลชนชื่อดัง”อดีตผู้ประกาศข่าวรายการ "เที่ยงวันทันเหตุการณ์" ทางช่อง 3-อดีตพิธีกรรายการ "กรุณา Talk to me" ทางช่อง 3  และ"รอบโลก Daily" ทางช่องพีพีทีวี ,อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เป็นต้น โดยปัจจุบันรายการที่ทำอยู่คือ  “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี”เริ่มต้นเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 1 ก.ค. 2567

         ทั้งนี้ “ทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ”ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ กรุณา บัวคำศรี แล้วแต่ได้รับการแจ้งว่า มีภารกิจสำคัญหลายอย่างตลอดช่วงเดือนสิงหาคม จึงทำให้ไม่มีเวลาในการให้สัมภาษณ์ แต่ได้แจ้งกับเราว่า ประเด็นที่ให้สัมภาษณ์กับรายการ คุยกับจอมขวัญ น่าจะมีความครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว โดยบทสัมภาษณ์ดังกล่าวที่มีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง 24 นาที แต่เราจะโฟกัสไปที่ประเด็น “การออกมาทำรายการข่าว-วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ของตัวเองผ่านช่องทางยูทูป” ที่สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 

โดยช่วงแรกของบทสัมภาษณ์ “กรุณา”ย้ำว่า การที่มาทำช่องทางสื่อของตัวเองหลังจากออกจากการทำรายการที่พีพีทีวี  ไม่ได้ตกใจมากกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี โดยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงแต่อาจจะมาเร็วกว่า1-2 เดือน จึงไม่ได้รู้สึกว่าตกใจอะไร เพราะคนอยู่วงการสื่อโดยเฉพาะสื่อสมัยนี้ ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที อันนี้เป็นสัจธรรม

 ...เมื่อผู้ดำเนินรายการ”จอมขวัญ”ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาเวลาคนมองไปที่พีพีทีวี การที่รายการข่าวต่างประเทศของคุณกรุณา อยู่ในช่วงเวลาที่ถูกนิยามจากวงการทีวีว่าเป็นช่วงไพร์มไทม์ มันแปลว่าสถานีได้เลือกโพซิชั่นตัวเองแล้ว ว่าจะเป็นสถานีที่เสนอข่าวแบบไหน ซึ่งต่อให้เรารู้ว่าวงการทีวีมีการเปลี่ยน แต่เราก็คิดว่าการเปลี่ยนขนาดนี้ ต่องานของคุณกรุณา คิดว่าอาจจะเร็วกว่าที่คิดหรือไม่ 

คำถามดังกล่าว”กรุณา”กล่าวตอบว่า”ก็ใช่”และกล่าวต่อไปอีกว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันเร็วกว่าที่เราคิด แต่ว่า ก็ไม่ได้เร็วกว่าเยอะมาก คือ logicง่ายๆ เลย ถ้าเราทำธุรกิจแล้วเราเห็นตัวเลขกำไรขาดทุน คนจะบอกว่าสิ่งนี้ควรเกิดมาตั้งนานแล้ว เพราะอย่างเราเป็นสื่อมวลชน แต่ส่วนหนึ่งเราต้องเลี้ยงดูทีมของเราในขณะนี้ ก็สวมหมวกนักธุรกิจด้วย ตัวเลขง่ายๆ เลย 1บวก 1 ได้สอง 2 บวก 2 ได้ 4 คือไปดูบัญชีรายรับรายจ่ายและเราเคยพูดกับตัวเอง รวมถึง คุยกับผู้ใหญ่ด้วยว่าจะเอาอย่างไร จะเอาอย่างไร เข้าใจหมด มันไม่ได้แปลว่า การที่เราทำข่าวที่ถูกมองว่าเป็น Quality อย่างที่คนอื่นพูดแล้วมันหมายถึงว่าคือการอยู่ยั่งยืนยง เพราะปัจจัยการอยู่หรือไป ของรายการโทรทัศน์ รายการอะไรก็ตามสมัยนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่า คุณมีเจตนาดี หรือว่าทำคอนเทนต์คุณภาพอย่างเดียว แต่ว่ามันต้องไปได้ทางธุรกิจด้วย  ทางพีพีทีวี หากไปดูไม่ได้ขาดทุนแบบบาท-สองบาท ซึ่งหากมองแค่ตรงนี้อย่างเดียวเลย ก็เข้าใจได้ สำหรับการตัดสินใจที่เกิดขึ้น 

เมื่อ”จอมขวัญ-ผู้ดำเนินรายการ”ถามถึงว่า ข่าวต่างประเทศ สำหรับทีวี ที่จะมีสัดส่วนการออกอากาศน้อยมาก แล้วการไปหาจุด ที่อยากจะอธิบายให้คนเข้าใจว่าข่าวต่างประเทศที่นำเสนอสำคัญกับเขา แม้มันจะเกิดขึ้นนอกบ้านเรา “กรุณา”กล่าวเสริมว่า แต่ก่อนเป็นของแถมด้วย ข่าวต่างประเทศ  แล้วก็ชอบถูกยก(ยกข่าว) คือ ในห้องออกอากาศ จะมีสิ่งที่เรียกว่ารันดาวน์ ..ข่าว 1 2 3 4 5 โดยข่าวท้าย ๆมันจะเป็นข่าวต่างประเทศ แล้วบก.ก็มักจะบอกว่า ยกข่าว เพราะข่าวอื่นๆ กินเวลาหมดแล้วตอนเราทำทีวี แน่นอนว่า ข้อจำกัดของเวลาที่เราได้จากทีวี ทำให้เราไม่สามารถอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ช่วงอยู่พีพีทีวี ถือเป็นความโชคดีที่เราได้เวลา แม้จะไม่เยอะ คือหนึ่งชั่วโมง แต่หนึ่งชั่วโมงก็เยอะสำหรับข่าวต่างประเทศ แต่หักโฆษณาอะไรแล้ว หลังๆก็เหลือ 45 นาที แต่เราก็รู้สึกว่าทำให้เต็มอิ่มได้ 

...แต่พอมีช่องทางอื่น โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะยูทูป ซึ่งเราเป็นคนชอบเขียน แต่ชอบพูดมากกว่า ที่เราออกมาจัดรายการเต็มตัว ตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เด็กก็บอกว่า จะจัดรายการช่วงหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม จะไหวหรือเขียนสคิปต์ เราก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน ทำๆมาก่อน ทำไปทำมา หนึ่งชั่วโมงครึ่ง แล้วต่อมาทุกๆวัน ก็หนึ่งชั่วโมงกว่า หนึ่งชั่วโมงครึ่ง

“ น้องๆ บอกว่า กรุณา คึกมาก เพราะว่ามันทำให้เรามีพื้นที่ในการพูด อธิบายความมากขึ้น แน่นอนว่ามันตามมาด้วยการอ่านข้อมูลเยอะขึ้น เตรียมภาพเยอะขึ้นแต่ว่า แต่จากฟีดแบค ที่เข้ามา คนก็บอกว่า อิ่มขึ้น การมีโซเชียลมีเดีย ก็เป็นตัวหรือว่าเครื่องมือที่ทำให้เราได้สื่อสารแบบลงลึกมากขึ้น โดยไม่ได้มีการจำกัดว่าเราต้องจบ ภายในสามทุ่ม-สี่ทุ่ม จะพูดถึงสี่ทุ่มก็ได้ ถ้ามีแรงพูด”

.... หรือหากมีอะไรเกิดขึ้น เช่นมีสงครามใหญ่ เราก็จะนั่งอยู่ทั้งวัน พูดไปเรื่อยๆ คิดว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้น จะเป็นพื้นที่ให้ได้สื่อสารกับคนโดยตรง ส่วนเรื่องเงิน รายได้ พูดอีกทีนึง แยกไป แต่เรื่องของการมีพื้นที่ในการสื่อสารแบบเต็มที่ แล้วสามารถที่จะแสดงบุคลิกของตัวเองได้บ้าง เช่นความป่วง มันก็ทำได้ดีขึ้นเพราะมันไม่มีกรอบแบบทีวี

ขอบคุณภาพจาก : เพจ กรุณา บัวคำศรี

“กรุณา”เล่าว่าวันแรกที่ทำรายการผ่านช่องยูทูปให้ฟังว่า  นั่งตัวแข็งเลย ใส่เสื้อแขนยาว เพราะกลัวว่าจะไม่เคารพผู้ชม แล้วก็นั่งเหมือนทำทีวี จนทีมงานมาบอกให้รีแลกซ์ นี้มันยูทูป วันต่อมาเลยใส่เสื้อแขนสั้น แล้วก็ทำให้รู้สึกเป็นกันเองกับผู้ชม แต่เราไม่ทิ้งหัวใจของการทำงาน คือการให้ข้อมูล เหมือนกับตอนที่เราทำทีวี แต่จะลึกกว่าด้วยเพราะเวลามีเยอะกว่า แต่วิธีการสื่อสาร ก็เปลี่ยนไป คือมีความเป็นกันเองมากขึ้น มีป่วงบ้าง มีอะไรบ้าง เพราะเหมือนกับเราเป็นนักข่าว แต่เราก็เป็นมนุษย์ด้วย เราก็จะมีความเห็นของตัวเองว่าเรื่องนี้ เราคิดอย่างไร

เราคิดว่าเมื่อมาทำยูทูปแล้ว เราควรจะมีเซคชั่นที่ทำให้คนรู้ว่า เราคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยให้ผู้ชมเขียนเข้ามาว่า เราคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องต่างๆ แล้วเราก็จะพูดไป แต่ก็จะบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว  เป็นข้อสังเกตุที่เราเห็น ไม่ใช่สรณะ อย่านำไปอ้างอิงอะไรพวกนี้ ก็จะทำให้เราได้ใกล้ชิดกับคนมากขึ้น กรอบมันขยายมากขึ้นเรื่องการทำงาน

กับคำถามสำคัญที่ว่า การทำรายการทางยูทูปของตัวเอง แม้ต่อให้จัดรายการที่บ้าน แต่ก็ต้องมีข้อมูล ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่น ภาพที่นำมาใช้ แล้วจะมีการบริหารจัดการอยางไร”กรุณา”ให้ข้อมูลว่า ภาพก็ต้องซื้อ แต่เราเป็นพวกที่นึกอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดขึ้น เราก็จะมีการเตรียมแผนชีวิตไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้ทำตรงนี้แล้วเราจะทำยังไงต่อ แล้วถ้าเราอยากจะทำต่อ เราควรเตรียมอะไรไว้บ้าง ซึ่งตอนนี้ต้นทุนของการทำงาน มันมี และสูงด้วย แต่เราก็ได้เตรียมทรัพยากรไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้เราได้หายใจต่อสัก 3 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 

...เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราทำมีคุณค่าพอ ที่จะมีคนไม่ใช่แค่ SUBSCRIBE แต่เปลี่ยนจาก SUBSCRIBE  มาเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นระบบที่ถูกต้องและตรงไปตรงมาของการทำสื่อออนไลน์ ทุกประเทศทำกัน ทุกคนทำกัน ให้คนหรือสปอนเซอร์ได้เห็นคุณค่าของมัน จนกระทั่งยอมที่จะเป็นสปอนเซอร์

..แล้วอีกขาหนึ่ง เพื่อให้มันแข็งแรง เราคิดว่า เราก็ต้องพยายามพึ่งพาตัวเองด้วย เรามีความคิดมาตั้งนานแล้วว่าเราอยากจะทำอะไรแบบนี้ เรื่องของ Climate Change ก็คิดว่าเราต้องทำธุรกิจด้วย แต่ต้องเป็นธุรกิจแนวเดียวกับงานที่เราทำอยู่ เพราะเราไม่โทษคนที่ดูรายการแล้วไม่สมัครสมาชิก ได้พูดในรายการว่าไม่ต้องสมัครสมาชิกก็ได้ และคนที่เป็นสมาชิกก็ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรด้วย ยกเว้นคนที่จ่ายสูงสุดที่เราจะให้เครดิตในรายการ แต่อย่างอื่นจะไม่มีสิทธิพิเศษอะไร เพราะเราอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงข่าวสารทุกคน และคนที่เป็นสมาชิกก็เพราะต้องการสนับสนุนเรา ที่เราเชื่อว่าเขาเป็นสมาชิกเพราะไม่ต้องการได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกที่ต้องจ่าย 50 บาท 100 บาท คิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องสื่อสาร

ที่น่าสนใจ”กรุณา”บอกเล่าถึงการทำช่องทางการสื่อสารของตัวเองให้อยู่รอดได้ว่า ก็จะต้องมีการหารายได้มาสนับสนุนด้วย โดยเธอบอกว่า อีกทางหนึ่ง คนบางคนที่เขาอยากจะสนับสนุน หรือว่าให้กำลังใจเราในรูปของเงิน อาจจะไม่สะดวก ที่จะมาในรูปของสมาชิก ก็คิดว่า จะต้องมีตัวกลางให้เราได้เชื่อมต่อกัน 

“ก็คือทำของมาขาย แล้วถ้าคุณชอบของ คุณซื้อของ แปลว่าคุณไม่ต้องจ่ายให้เราเพื่อดูรายการ แต่ว่า คนชอบของเรา และคนซื้อของเรา ก็คือเป็นเรื่องของการ gift  and take โดยเราก็ต้องคำนึงถึงว่าของที่จะทำ ต้องไม่หลุดตัวตนของเรา เป็นของดี ของมีคุณภาพ ไม่ทำอะไรลวกๆ ออกมาขาย ตีหัวเข้าบ้าน เอากำไรแล้วปิดบริษัท เราลงทุนทำ branding เราต้องการให้มันอยู่ระยะยาว และก็ไม่ได้คิดเฉพาะรุ่นของเราเท่านั้น แต่คิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราตายไป คนที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้ทำงานแล้ว ก็อยากจะให้หุ้น ให้อะไรต่างๆ กับเด็กรุ่นหลังไปทำต่อ” 

...และอันนี้ไม่ได้ยกตัวเอง แต่ก็คิดว่ามีคนรู้จักเราระดับหนึ่ง คือหมายถึงมีต้นทุนสังคมอยู่บ้าง และทุนรอนที่เรามีอยู่ อยู่ได้สักระยะหนึ่ง ก็คิดว่าการทำแบบนี้ทำให้คนหรือว่านักข่าวที่กำลังพยายามหาทางให้ตัวเองได้ทำงานอย่างที่ตัวเองอยากจะทำ ได้เห็นช่องทางว่า "พี่นาทำแบบนี้ได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน"

         "กรุณา" พูดไว้ในรายการต่อไปว่า การยืนระยะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าเราพอจะยืนได้ เราก็ควรจะอยู่ เพื่อที่จะทำอะไรบางอย่างหรือให้น้องๆนักข่าวได้เห็นว่า "สื่อมันมีทางไป" มีมากกว่าเรื่องของการนับยอดวิว ,การขอสปอนเซอร์ ซึ่งเหนื่อย แต่สนุก ถามว่ามีแรงกดดันหรือไม่ ก็มี แต่คิดว่า คนจะต้องทำงานภายใต้แรงกดดันบ้าง ไม่อย่างนั้นหากสบายเกินไป อยู่ในcomfort zone เราจะไม่พยายามพัฒนาตัวเอง สิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิตคนเกิดจากคนที่มีปัญหา เพราะหากไม่มีปัญหา ก็ไม่มีคนคิดอะไรขึ้นมา เราก็ต้องมีแรงกดดันบ้างเพื่อให้เราได้มีแรงผลักในการทำงาน แล้วถ้าไปถึงจุดๆหนึ่งแล้วเงินหมด แล้วมันไม่ไปไหน ก็เลิก คุณจะเลือกทางไหน ถ้าเราได้พยายามถึงที่สุดแล้วแต่ว่ามันไปต่อไม่ได้ เงินหมด ก็จบ ปิดจ็อบ ก็ทำจนเงินหมด แต่ว่าเราจะไม่เลิก จนกว่าเราจะได้ลองทำก่อน 

         "ตอนนี้แรงขับในการทำงาน ไม่ได้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเองแล้ว เพราะได้จัดสรรทรัพยากรไว้ในระดับที่เราสามารถอยู่ได้จนตาย ถ้าเราตายตอนอายุ 70-80 ปี อยู่แบบไม่ต้องหรูหราฟู่ฟ่า เราสามารถอยู่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทำงานโดยไม่หวังเงิน คือเข้ามาก็ดี แต่ว่าใน 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักมัน 50 60 70 อยู่ที่ว่าเราจะใช้ชีวิตที่เหลือยังไง ในแง่ของการทำงาน การหาความหมายของการใช้ชีวิตที่เหลือ"

         "กรุณา"บอกไว้ในรายการดังกล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า การออกมาทำรายการทางโซเชียลมีเดียฯ เรื่องเงินและธุรกิจก็ต้องคิดควบคู่กันไป ซึ่งมันทำให้เราต้องเปิดสมองอีกด้าน จากเมื่อก่อนเป็นแนวศิลปิน นักข่าวติสท์ ตอนหลังเราก็ต้องคิดเรื่องธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร 

         "มีความคิดว่าแต่ก่อนนักข่าวเราถูกปลูกฝังว่านักข่าวต้องไม่พูดถึงเรื่องเงิน คุณต้องคิดแต่อุดมการณ์อย่างเดียว แต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่การหาเงินของเราเป็นไปความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ได้โกงใครมา ไม่ได้คอรัปชั่น พี่ภูมิใจกับวิธีการหาเงินของพี่  แต่ว่าหาเงินเพื่อเอามาทำข่าว ไม่ใช่เพื่อไปทำอย่างอื่น พี่เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งมนุษย์ก็ต้องมีทางไปต่อ อย่างเราหากทำจนเงินหมด ไม่มีเงินทำต่อแล้ว ไม่มีใครให้เงินทำ ก็เลิก ไปขายก๋วยเตี๋ยว ขายลูกชิ้น มนุษย์มีทางไป ไม่จำเป็นต้องอยู่บนทางเดิม แต่ถ้าเรายังอยู่ในช่วงที่เราสามารถพิสูจน์เรื่องตรงนี้ได้ เราก็ควรจะอยู่" 

พื้นที่ยังเปิด

ขอเพียงไม่ท้อและต้องมีของ 

ด้าน”ณยา คัตตพันธ์”ที่ผ่านการเป็นผู้สื่อข่าว-ผู้ประกาศข่าว และบรรณาธิการข่าวมาแล้วสำนัก เช่น ศูนย์ข่าวแปซิฟิค , นสพ.คมชัดลึก,เนชั่นทีวี ,อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง NBT ,ผู้สื่อข่าวภาคสนาม รายการประเด็นเด็ด 7 สี ,บรรณาธิการข่าวอาชญากรรมช่อง 8 , บรรณาธิการข่าว คมชัดลึกออนไลน์ เป็นต้น 

ขอบคุณภาพจาก : https://policenewsvarieties.com

แต่ปัจจุบัน”แนน ณยา”ทำอะไรเกี่ยวกับสื่ออยู่ ? เธอมาอัพเดทให้ฟังว่า ตอนนี้ทำรายการข่าวทางโซเชียลมีเดีย ที่เป็นรายการหลักของตัวเองคือทำเพจ”เล่าไปเรื่อยๆ” โดยนำเสนอข่าวที่อยู่ในกระแสแต่ไม่ดรามา โดยเป็นข่าวหลักที่คิดว่าคนควรรู้ โดยมีทั้งการอัพข่าวและการจัดรายการที่เป็นLive โดยมีทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 07.30 น. ที่จัดกับเพื่อนสื่อมวลชนอีกคนหนึ่ง แล้วก็มีนำเสนอในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้ง YouTubeและ TikTok

..ข่าวที่นำเสนอมีหลายมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ตอนนี้ก็เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน  รวมถึงก็ทำช่องยูทูปของตัวเอง เพิ่งทำได้ไม่กี่วันชื่อ Nan Naya talk jung ที่เป็นเชิงการพูดคุยแนววิเคราะห์การเมือง -เหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ที่ตอนนี้ยังไม่ได้มี“โปรดักชั่นอะไรมาก แค่เปิดหน้าเล่าเรื่อง ลงเสียง และใช้ภาพเท่าที่มี ก็ค่อยๆ ทำ จากหลักหน่วย ก็มาเป็นหลักสิบหลักร้อย  

นอกจากนี้ส่วนตัวก็ไปช่วยทำเว็บไซด์'ไทยแทบลอยด์' สำนักข่าวออนไลน์ที่ส่วนมากจะเป็นข่าววงการตำรวจ เช่นช่วยในเรื่องการลงเสียง ทำเป็นสกู๊ปข่าว แต่ตั้งใจไว้ว่า ถ้าไปถึงอีกสเต็ปหนึ่งก็คงมีการไปไลฟ์สดในงานสำคัญๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

“แนน ณยา”เล่าให้ฟังว่า ในส่วนของที่ทำส่วนตัวตอนนี้ยังไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก เพราะส่วนมากจะทำเองเกือบทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งก็ได้ความเมตตาจากเพื่อนๆ ในวงการสื่อที่ช่วยให้ข้อมูล-ภาพข่าว เพราะการนำเสนอเราก็ต้องระมัดระวังเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย เราก็ต้องมีsource ตรงนี้ด้วย ตอนนี้ที่เริ่มทำถือว่ายังไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร โดยตอนแรกที่วางแผนจะทำตรงนี้ เราก็คิดเหมือนกันว่า ใครจะทำให้เรา ใครจะมาช่วยตัดต่อคลิปให้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ทำได้เอง ทุกอย่างเกิดจากการศึกษาเรียนรู้จากยูทูป-กูเกิ้ล หมดเลย บางโปรแกรมที่เราไม่เคยใช้ ก็ลองโหลดมา ศึกษาวิธีการต่างๆ แม้แต่การไปตั้งช่องในยูทูปเอง ทุกอย่างทำเองหมด ไม่มีใครมาซัพพอร์ต แต่อีกสเต็ปหนึ่งก็ตั้งใจไว้ว่า พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ให้ยืนได้แข็งแรงกว่านี้ ก็อยากได้คนมาช่วยตัดต่อทำคลิปต่างๆ ให้มันดูเป็นทางการ หวือหวา ขึ้นมาบ้าง 

“จริงๆ ต้องบอกว่า พอเรามาทำเองสักระยะ ก็เห็นเลยว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่คอนเทนต์ คือ“โปรดักชั่นก็สำคัญ ถ้าพูดถึงในมุมของธุรกิจ สิ่งที่ทำ ก็ต้องต่อสู้แน่นอนอยู่แล้ว เราก็เริ่มจากการที่ไม่ต้องลงทุนอะไรก่อน สิ่งที่เรามีคือสิ่งที่เราสั่งสม เรียนรู้ การใช้ความสามารถตลอดมาที่เราเคยทำข่าว อันนี้เราก็ใช้ต้นทุนของเราก่อนตอนนี้ เราไม่ได้ไปลงทุนอะไรที่มันใหญ่ๆ ไปลงเพจ ซื้อโปรโมตเยอะๆ”

ขอบคุณภาพจาก : https://www.thansettakij.com

“แนน ณยา”บอกถึงความตั้งใจในการทำสื่อช่องทางของตัวเองดังกล่าวว่า ตั้งใจไว้ว่าจะทำจนกว่าจะไม่มีแรงจะทำ เพราะอย่างทีวีดิจิทัล ก็เหลือเวลาตามใบอนุญาตอีกแค่สี่ปี ทุกสถานี ก็ต้องมาเข้าสู่แพลตฟอร์มของออนไลน์ ที่ถึงตอนนั้น คนจะเลือกเสพมากขึ้น พอเราออกมาจากที่เราเคยทำสถานีข่าวหลายแห่ง เราก็รู้สึกว่าข่าวเหตุการณ์ ข่าวอาชญากรรม คิดว่าเป็นข่าวที่ขายได้ แต่พอเราก้าวถอยออกมา เป็นคนดู เราก็เลือกในการรับชมติดตามข่าวสารเหมือนกัน ก็คิดว่าการทำข่าวที่สร้างสรรค์ ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งของสังคมในอนาคต เพราะคิดว่าคนที่ติดตามข่าวทางออนไลน์ เขาอาจไม่ได้ต้องการข้อมูลที่เยอะมากเหมือนในทีวี แต่ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง สรุปได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องเสียเวลามากในการบริโภคข่าว 

นอกจากนี้”ณยา อดีตคนข่าวหลายสำนักฯ”มองว่าในอนาคตหลังจากนี้ คาดว่า คนสื่อคงมีการทำช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองกันเยอะขึ้น คงมีความหลากหลายมากขึ้นและที่สำคัญจะมีการแข่งขันในเรื่องเนื้อหาที่มากขึ้น ที่ก็จะเป็นผลดีกับผู้บริโภคข่าวสารทางออนไลน์ โดยคนที่จะมาทำ ก็คิดว่าอันดับแรก ก็ต้องมองตัวเองก่อนว่าตัวเองมีจุดเด่นเรื่องอะไร จะขายอะไร ไม่ใช่แค่ว่า ไปหยิบข่าวมาเล่าเฉยๆ เพราะข่าวทุกวันนี้คนก็สามารถหาอ่านได้หมด โดยคนที่ทำก็ต้องมีแนวทาง-จุดยืนของตัวเอง อย่างที่เราทำ พวกข่าวดรามา ผัวเมียตีกัน ก็จะไม่นำมาเสนอ แต่จะพยายามเลือกข่าวที่มีคุณภาพจริงๆ มานำเสนอ ตรงนี้ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่อยากมาทำเพจข่าว หรือมาทำโซเชียลมีเดียสักช่องหนึ่ง ที่ต้องมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ 

“มองว่า ตรงนี้ยังมีพื้นที่อยู่ ถ้าคุณคิดว่าคุณมี จุดเด่นในตัวเองหรือมีเรื่องราวที่คิดว่าอยากจะทำ เพราะยังมีอีกหลายคอนเทนต์ที่ยังไม่มีใครคิดจะทำก็ยังมี หรือคอนเทนต์ที่น่าจะขายได้ ที่พอหากทำไปเรื่อยๆ คุณจะเห็นเอง จะเป็นคำตอบว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันใช่หรือไม่ คือต้องเป็นคนที่มีของ และอย่าท้อ ต้องมีวินัยกับตัวเองว่า เราจะทำทุกวัน ไม่ใช่ว่าทำไปหนึ่งสัปดาห์แล้วหายไป แล้วอีกหนึ่งสัปดาห์กลับมาทำ ก็ไม่ดี ต้องมีวินัยกับตัวเอง 

ต้องคิดว่าตื่นขึ้นมาแล้ว เรามีความรับผิดชอบของเรา คนอยากรอดูคอนเทนต์ของเรา ต้องคิด ต้องหา ต้องอ่านข่าวทุกวัน อย่าหมดไฟ เพราะคนที่ทำเอง อาจหมดไฟเร็ว เพราะไม่มีใครมากระตุ้นเงินก็ไม่กระตุ้น ทำทุกวัน เงินก็ยังไม่เข้ามา แต่วันหนึ่ง สมมุติว่ามันเริ่มติดตลาดแล้ว คิดว่าผลตอบแทนก็คงกลับมาเอง”