น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ เสียงจากสื่อท้องถิ่น “เมืองขยายตัว – ป่าหาย – อากาศแปรปรวน”

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ

หลายหน่วยงานระดมความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอ.แม่สาย จ.เชียงราย จากฝนที่ตกหนักในฝั่งไทยและเมียนมาจากอิทธิพลพายุยางิ เกิดน้ำป่าไหลหลากสู่ลำน้ำสาย ทะลักเข้าท่วมตลาดชายแดนและชุมชนหลายแห่ง เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ประเมินว่า ภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความเสียหายรุนแรงหนักสุดในรอบหลายสิบปี และอาจใช้เวลาฟื้นฟูถึงครึ่งปี เป็นบทเรียนราคาแพงในหลายด้านที่ต้องรีบทบทวนไม่ให้เกิดซ้ำ

สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมสะท้อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ จากหลายปัจจัย ระบบเตือนภัยต่ำ เข้าถึงช้ากว่าโซเชียล ความไม่ตื่นรู้การเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ทำให้การรับมือภัยพิบัติล้มเหลวจนเป็นความเสียหายครั้งใหญ่

แม่สายขยายตัว/ลำน้ำแคบลง

เกรียงไกร ปัญโญกาส  ผู้สื่อข่าวผู้จัดการประจำจังหวัดเชียงราย

“เกรียงไกร ปัญโญกาส” ผู้สื่อข่าวผู้จัดการประจำจังหวัดเชียงราย  พำนักอยู่ในตัวเมืองแม่สาย ได้รับผลกระทบจากบ้านพักที่ถูกน้ำท่วม เล่าว่า  อุทกภัยที่อำเภอแม่สายและตัวเมืองเชียงราย เกิดจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดทำให้การเตือนภัยที่มีไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความตระหนักสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากคนในพื้นที่ไม่คิดว่า จะมีมวลน้ำจำนวนมากเข้ามา เพราะปกติแล้วเหตุน้ำท่วมริมแม่น้ำสายจะเกิดขึ้นเป็นประจำและน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว ก็ยังเชื่อในฐานความคิดเดิมว่าไม่มีอะไรที่รุนแรง แต่ครั้งนี้มวลน้ำจำนวนมากมาพร้อมกับดินโคลน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก 

เขามองว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ 1. การบุกรุกลำน้ำสาย เกิดการสร้างอาคารบ้านเรือนตลอดทั้งสองฝั่งไทยและเมียนมาเพราะเป็นเมืองด่านชายแดนสำคัญมีมูลค่าการซื้อขายสูง ทำให้ชุมชนหนาแน่นขึ้นเมื่อสิ่งปลูกสร้างเข้ามาแทนที่ การขยายมากขึ้น ลำน้ำก็แคบลง ทำให้การระบายน้ำทำได้ยากขึ้น

2. เรื่องระบบเตือนภัยที่จำกัดอยู่ในพื้นที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะฐานข้อมูลเรื่องน้ำ ต้นน้ำจากประเทศเมียนมา ทำให้การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่ดีพอ ประชาชนไม่รู้สึกตระหนักและเข้าถึงชาวบ้านช้า

3. การประสานงานระหว่างประเทศ แม้ประเทศไทยเคยประสานการแก้ปัญหาเรื่องลำน้ำสายกับรัฐบาลเมียนมา แต่ก็ไม่คืบหน้าเนื่องจากปัญหาทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเองจึงไม่เป็นผลสำเร็จ

“อุทกภัยครั้งนี้ ถือว่า มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือของประชาชนที่ยังไม่พร้อม เพราะประเมินสถานการณ์ต่ำ การฟื้นฟูยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐยังบูรณาการไม่เต็มที่ ขาดทั้งกำลังและเครื่องมือ ส่วนมากจะเป็นจิตอาสาและมูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยผู้เดือดร้อนก่อน สุดท้ายต่างคนต่างทำ แม้มีศูนย์บัญชาการแต่ก็ยังไม่มีเจ้าภาพหลักการทำงานหลายอย่างเลยกระจายทำให้เห็นชัดเจนว่า การเข้าช่วยเหลือไม่ครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ บางพื้นที่กว่าจะได้รับการช่วยเหลือก็ใช้เวลานาน”

ต้องรื้อใหญ่ระบบเตือนภัย

เกรียงไกร กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องปรับปรุงฐานข้อมูลและระบบแจ้งเตือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชาวบ้านต้องตื่นรู้ถึงความสำคัญของการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาความสามารถของท้องถิ่นในการรับมือกับภัยพิบัติระดับใหญ่ การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน ต้องวางแผนและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางกายภาพ แต่ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนในพื้นที่ การฟื้นฟูทั้งสภาพพื้นที่และจิตใจของผู้ประสบภัย หลายครอบครัวเหมือนสิ้นเนื้อประดาตัว จะต้องใช้เวลานานและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างเต็มที่

โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคเหนือ

“โกวิทย์ บุญธรรม” ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคเหนือ ที่ได้ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือหลายจังหวัดทั้งเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เขาเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละแห่ง ทั้งความเสียหาย น้ำตาผู้ประสบภัยและความเหนื่อยล้าของผู้มาช่วยเหลือ ระบุว่า สถานการณ์ปีนี้รุนแรงกว่าที่เคยมีมา ฝนตกหนักสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายแห่งและสร้างความสูญเสียอย่างมากบางพื้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ ความชะล่าใจในการรับมือ การเตือนภัยที่ไม่ดีพอ ข้อมูลการคาดการณ์น้ำของประเทศไทยยังเป็นการเตือนอย่างกว้าง ๆ เช่น ปริมาณฝนและมวลน้ำในระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำ น้ำท่า แต่น้ำนอกระบบชลประทานคำนวณยาก นั่นคือน้ำป่าที่ลงมาไม่เฉพาะแค่น้ำ มีทั้งโคลน เศษขวาก ต้นไม้

ป่าถูกทำลาย /จิตอาสาเร็วกว่าภาครัฐ

อีกส่วนหนึ่งที่เห็นคือ การขาดการบูรณาการข้อมูล หน่วยงานวิเคราะห์ทางวิชาการของรัฐมีจำนวนมาก แต่ไม่มีการคาดการณ์ที่ครอบคลุมถึงฐานข้อมูลหรือโครงสร้างดิน ป่าเขา และผังเมือง ความแม่นยำจึงมีไม่พอ บางครั้งการนำมาอ้างอิงแล้วไม่เป็นไปตามที่แจ้ง ความน่าเชื่อถือก็น้อยลง เช่น ผู้บริหารระดับสูงแจ้งยืนยันว่าจะไม่มีน้ำท่วมแน่นอนเพราะวางแผนรับมือทุกระดับแล้ว แต่สุดท้ายกลายเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อ กลับกลายเป็นว่าข้อมูลทางโซเชียลเข้าถึงชาวบ้านเร็วกว่าและเชื่อมโยงแจ้งข่าวให้กัน ถ้าจริงก็รับมือทัน แต่หากแชร์ข้อมูลไม่จริงก็ซ้ำเติมสร้างความตื่นตระหนกเพิ่มไปอีก เป็นดาบสองคมแต่ประสิทธิภาพการเข้าถึงดีมาก หลายครั้งสื่อก็หยิบยกและใช้เป็นฐานข้อมูลในการลงพื้นที่ด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่เห็นคือ การเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำที่เปลี่ยนไปตามวิถีคนอาศัยเมืองขยายตัว ป่าถูกทำลาย ทำให้เกิดสัญญาณธรรมชาติที่แปรปรวน เช่น อากาศร้อนจัด หนาวจัด ฝนหนัก และแล้งจัดมากขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นก็มีความเสียหายสูง โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ชัดและสร้างความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากน้ำป่าพาโคลนและท่อนไม้ลงมาจำนวนมาก ทำให้เกิดดินสไลด์ในหลายจุด และยังพบความเสี่ยงภัยในพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

โกวิทย์ ยังมองว่า การเตือนภัยฉุกเฉินยังไม่ชัดเจนและประชาชนยังไม่ให้ความสนใจมากพอ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทัน ส่วนเรื่องการฟื้นฟูช่วยเหลือยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีขั้นตอนระเบียบมาก ทำให้เข้าถึงปัญหาช้ากว่าจิตอาสาและประชาชน เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องทบทวนและปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะผังเมืองและระบบเตือนภัยฉุกเฉิน 

นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาความสามารถของท้องถิ่นในการรับมือกับภัยพิบัติระดับใหญ่ การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต ชาวบ้านก็เริ่มจะเห็นว่าอะไรที่เคยคิดว่าไม่มีอะไรไม่เกิดอะไรวันนี้ก็มีให้เห็น ชัดเจนที่อำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ เกิดดินสไลด์ถล่มจนมีผู้เสียชีวิตและมีน้ำป่าหลากในพื้นที่ซ้ำ เหตุที่ห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า ที่ทะเลโคลนมวลน้ำป่าลงมาอย่างน่ากลัวเหมือนที่ อ.แม่ฟ้าฟลวง รวมทั้งน้ำป่าที่ อ.เวียงแก่น และ ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย น้ำหลากซ้ำที่บ้านต๋ำ ใกล้ ม.พะเยา เป็นต้น ยอมรับว่า ปีนี้ฝนมากและน้ำหลากก็เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่ได้ทำหน้าที่สื่อมาร่วม 20 ปี เหมือนกับว่า ผ่านมามีการทำร้ายทำลายธรรมชาติกันมาก จนสุดท้ายธรรมชาติก็เอาคืนเพื่อ ปรับสมดุล

 

ธนกฤต อินจา สื่อท้องถิ่น

ขณะที่ “ธนกฤต อินจา” สื่อท้องถิ่นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข่าวสารและแจ้งเตือนประชาชนผ่านทางโซเชียลผ่านเพจเฟสบุ๊ค “หนานนม คนเมืองเทิง”  โดยในช่วงอุทกภัยมีผู้ติดตามจำนวนมาก ขณะที่ตัวเขาก็ไม่คาดคิดจะเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยเช่นกันจากที่น้ำอิงได้เข้าท่วมพื้นที่ อ.เทิง ระดับน้ำสูงในรอบกว่า 30 ปีนานกว่าสัปดาห์ 

“น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญในการแจ้งเตือนภัยประชาชนและสื่อในเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การสื่อสารต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วเพื่อป้องกันความสับสนและข่าวลือที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ตรงนี้สำคัญมากๆ ยามมีเหตุภัยต่างๆ ต้องมูลต้องถูกต้องและรวดเร็ว”

ธนกฤต กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอเทิง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การขาดระบบการแจ้งเตือนภัยที่เป็นระบบจากส่วนกลางหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะจากภาครัฐ หากมีระบบการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว ประชาชนก็จะสามารถปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สับสน และจะลดความเสียหายได้มาก 

ผังเมืองใหม่ที่ต้องมี

นอกจากนี้สื่อมวลชนท้องถิ่น ยังได้แสดงความกังวลตรงกันนอกเหนือจากปัญหาและบทเรียนที่ต้องแก้ไขหลายเรื่องโดยเฉพาะระบบเตือนภัยและการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน การช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม คือ การกำจัดขยะที่จะเพิ่มจากปกติสูงมาก รวมถึงขยะพิษด้วย ซึ่งควรมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ การฟื้นฟูดินและแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและขยะ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังการฟื้นฟูว่าปลอดภัยและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้หรือไม่ การสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมจากชุมชนและทิศทางน้ำเปลี่ยนจากการเติบโตของเมืองคือเรื่องผังเมือง อะไรที่ยังเป็นฐานข้อมูลเก่าจำเป็นต้องรื้อและวางระบบจัดการใหม่ให้เป็นปัจจุบัน เป็นความท้าทายตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงนโยบายจากรัฐบาลกลางอย่างมาก ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ภัยพิบัติแบบนี้ก็จะเกิดซ้ำๆ สร้างความเสียหายมหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วย

แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เป็นความงดงามทางจิตใจที่เกิดขึ้นในยามที่มีภัยพิบัติ สิ่งที่เห็นได้ทุกพื้นที่ไม่ต่างกันก็คือ ความมีน้ำใจของคนไทยจากทั่วทุกแห่งที่เข้ามาช่วยเหลือกัน ทั้งส่งสิ่งของจำเป็นมาช่วย หรือหลายกลุ่มที่รวมตัวกันเดินทางมาช่วย ส่วนมากจะเป็นกลุ่มมูลนิธิอาสากู้ภัยต่างๆ และกลุ่มที่เชี่ยวชาญการช่วยเหลือในแต่ละด้านด้วย.