รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ
ในวันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ความท้าทายสำคัญที่หลายอาชีพต้องเผชิญคือการปรับตัวหลังเกษียณ อาชีพ ‘นักข่าว’ ก็ไม่ต่างกัน จากชีวิตที่เคยเร่งรีบ วิ่งตามข่าว รายงานสถานการณ์ ไปจนถึงเสียงแป้นพิมพ์ที่ไม่เคยหยุด สู่อีกจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลง...ในวันที่โลกยังคงหมุนต่อ
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ถูกก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่พบปะ และแบ่งปันความทรงจำ ของนักข่าวอาวุโส สะท้อนถึงคุณค่าของนักข่าวผู้ผ่านร้อนหนาว และยังให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิการของพวกเขาในวัยเกษียณ
“ถ้าย้อนกลับไปจุดแรกเริ่มของการก่อตั้งชมรมนักข่าวฯอาวุโส เริ่มต้นเมื่อปี 2550 ตอนนั้นเพราะต้องการรวบรวมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายๆรุ่น เพื่อพบปะสังสรรค์ และมอบเกียรติบัตรให้กับนักข่าวอาวุโสที่มีอายุ 80 คน ซึ่งในตอนนั้นมีประมาณ 30 กว่าคน จนกระทั่งปี 2554 มีการร่างระเบียบข้อบังคับชมรม ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งชมรมนักข่าวฯอาวุโส อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเหมือนศูนย์กลางของการพบปะ พึ่งพาแลกเปลี่ยนความเห็น ทำให้นักข่าวอาวุโส รู้สึกว่าชีวิตมีประโยชน์มากขึ้น ”
บุตรดา ศรีเลิศชัย อายุ 72 ปี อดีตคนข่าวสายอาชญากรรม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขานุการชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส เล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส หรือ “Senior Journalists Club, the Thai Journalists Association” ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 โดยมีการกำหนดเกณฑ์ว่าคนที่จะเป็นสมาชิกได้ต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และต้องเขียนใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชมรมนักข่าวฯอาวุโสโดยสมัครใจ ซึ่งสมาชิกชมรมจะได้รับการยกเว้นการเก็บเงินค่าบำรุงประจำปี
“อาชีพอื่นๆ อาจจะใช้คำว่าเกษียณ แต่สำหรับวิชาชีพนักข่าว เขาไม่มีจำกัดอายุ เราถึงเรียกว่า “นักข่าวอาวุโส” เราจะเห็นว่ายังมีนักข่าวที่อายุ 70 กว่า 80 กว่า หรือบางคน 90 แล้ว ก็ยังมีเขียนบทความอยู่ หรือเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นฝ่ายบริหารจัดการให้กับคนข่าวรุ่นหลังๆ หากใครยังมีความสามารถ มีวุฒิภาวะดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความพิเศษมากกว่าอาชีพอื่นๆ ” บุตรดา กล่าว
สร้างพื้นที่ให้คนข่าวสูงวัย
“อย่างน้อยเราไม่ลืมกัน”
บุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ อายุ 72 ปี อดีตบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 1 ในสมาชิกชมรมนักข่าวฯอาวุโส บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของนักข่าวรุ่นเก่า คือความทุ่มเทในการทำงาน แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ “สวัสดิการ” เมื่อเกษียณจากองค์กรต้นสังกัดไปแล้ว
เธอฉายภาพหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนใจเกี่ยวกับชีวิตของนักข่าวเกษียณที่ยังคงจดจำได้ดีไม่เคยลืม เมื่อครั้งที่เป็นตัวแทนของสมาคมนักข่าวฯ นำพวงหรีดไปร่วมงานศพของนักข่าวอาวุโสท่านหนึ่ง
“ พี่เคยไปงานศพของนักข่าวหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งที่เคยประจำอยู่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งพี่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน รู้จักแต่ชื่อเพราะเคยโทรศัพท์ไปถามข้อมูลเรื่องข่าวจากรุ่นพี่คนนี้ หลังเขาเกษียณแล้วก็มีข่าวมาว่าเสียชีวิต พอไปถึงงานศพ สิ่งที่ทำให้พี่สะท้อนใจและจำจนบัดนี้เลย คือภาพของงานศพอยู่ในวัด ที่มีคนอยู่แค่ 5 คน คือคนในครอบครัว แต่คนในวงการข่าวไม่มีใครเลย นี่คือชีวิตจริงของนักข่าว พอพ้นจากวงการปั๊บ...ก็ไม่ต่างจากสุนัขตัวหนึ่ง ที่ถูกทอดทิ้งไม่มีคนดูแล อยู่อย่างยากจน นักข่าวเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อยมาก ถ้าเทียบกับการทำงานที่หนักและทุ่มเท ตั้งแต่วันนั้นพี่มีความคิดว่านักข่าวเราไม่ควรที่จะตายอย่างหมา ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนดูแล...
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส เป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มในเรื่องของสวัสดิการให้กับนักข่าว พอพ้นจากอายุ 70 ปี เราก็ยังให้สวัสดิการ เจ็บป่วยมาเบิกได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเรื่องของงบประมาณก็เป็นปัจจัยข้อหนึ่งเหมือนกัน แต่เราก็พยายามว่าอย่าทอดทิ้งนักข่าวสูงวัย แล้วก็ให้เขามาเจอหน้าเจอตากันบ้าง...อย่างน้อยเราไม่ลืมกัน”
ผุสดี คีตวรนาฏ อายุ 86 ปี คนข่าวอาวุโสที่ผ่านประสบการณ์ในการทำงานในวิชาชีพงานข่าวยาวนานถึง 60 ปี ปัจจุบันเป็นประธานชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบันชมรมนักข่าวฯ อาวุโส นอกจากการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ให้กับสมาชิกชมรม เพื่อพบปะสังสรรค์กัน ปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดคือวันที่ 17-18 ตุลาคม 2567 เดินทางไปทัศนศึกษาภูมิเมืองกาญจน์ บ้านฉัน ที่ จ.กาญจนบุรี แล้ว ชมรมฯ ยังให้ความสำคัญในด้านของสวัสดิการให้กับนักข่าวอาวุโส โดยสวัสดิการปัจจุบันที่ให้กับสมาชิก คือ สวัสดิการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยนอก ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท เบิกได้ 12 ครั้งต่อปี ส่วนผู้ป่วยใน ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท เบิกได้ 2 ครั้งต่อปี
“พอนักข่าวอายุมากแล้ว ตกงานแล้วหรือว่าไม่ได้มีงานแล้ว ก็เหมือนกับว่าไม่มีใครดูแล...ไม่มีใครรู้จักเลย บางคนก็หายไปจากวงการ ขาดการติดต่อ พูดตรงๆก็ค่อนข้างจะว้าเหว่นะ การที่มีชมรมนักข่าวฯอาวุโสเกิดขึ้น ทำให้เรามีกำลังใจกันมากขึ้น ยังรู้สึกว่ามีคุณค่า ได้มีโอกาสพบปะกัน ความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มดูแลกันและกัน โดยมีสมาคมนักข่าวฯ คอยให้การสนับสนุน ทำให้ไม่ต้องมากังวลว่าพอถึงวันที่เราเกษียณแล้ว ชีวิตจะเป็นอย่างไร”
“ การสร้างพื้นที่ให้นักข่าวอาวุโสมีความสำคัญมาก เพราะอาชีพนักข่าวเรา ตั้งแต่อดีตมา มันก็ไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ และยังเป็นอาชีพที่เสียสละมาก สมาคมนักข่าวฯ ตั้งชมรมนี้ขึ้นมา นอกจากการเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของนักข่าวอาวุโสแล้ว ยังต้องการให้กำลังใจนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ให้เห็นว่าแม้จะเกษียณแล้วก็ยังมีคนดูแล มีการจัดกลุ่มผู้อาวุโสอยู่ด้วยกัน มีการสังสรรค์ มีการประชุม และก็มีการติดต่อบ้างในยามที่ว่างงานไป เป็นกลุ่มที่ให้กำลังใจทั้งนักข่าวรุ่นหลังด้วย และนักข่าวที่อาวุโสด้วย ” ผุสดี กล่าว
ยุคต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ
สร้างประชาธิปไตยให้คนข่าวรุ่นหลัง
การทำงานของนักข่าวในอดีต กับยุคปัจจุบัน คนข่าวรุ่นอาวุโสพูดเป็นเสียงเดียวตรงกันว่า แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ในความยากและลำบากทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ ในสมัยก่อนไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นยุคนี้ การส่งข่าวต้องใช้ทั้งวิธีการพิมพ์ดีด แล้วส่งเข้าไปสำนักงาน ในทำเนียบรัฐบาล จะมีเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องหนึ่ง ที่นักข่าวทุกคนจะมานั่งพิมพ์ข่าวกัน หรือบางครั้งใช้วิธีโทรศัพท์ไปเล่า โดยจะมีคนที่สำนักงานคอยรับข่าวและพิมพ์ให้ ขณะที่การถ่ายภาพยุคนั้นยังเป็นกล้องฟิล์ม ไม่สามารถที่จะตรวจเช็คภาพที่ถ่ายได้ทันที ทุกชัตเตอร์ที่กดคือค่าใช้จ่าย หากเป็นข่าวจากต่างจังหวัด ยังต้องใช้การเดินทางกลับมาส่งภาพ หรือใช้ส่งทางไปรษณีย์ หรือแม้แต่การส่งฟิล์มกันทางเครื่องบิน
ผุสดี บอกว่า ในความยากลำบากเหล่านี้ ยังไม่รวมถึงการ “ต่อสู้” เพื่อให้ได้มาซึ่ง“สิทธิและเสรีภาพ” ในการนำเสนอข่าวได้อย่างเสรี
“ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์สมัยก่อน ลำบากมากในการทำข่าว อย่างพี่เอง เข้ามาในวงการประมาณปี 2506 ยุคนั้นเป็นยุคของทหาร เราไม่มีโอกาสเข้าทำเนียบเลย วันแรกที่พี่ไปทำงานหัวหน้าสั่งเลยว่าไปเอาข่าวที่ทำเนียบ เราเองก็ไม่รู้ว่าเขาห้ามเข้า ก็เดินดุ่ยๆเข้าไป ตำรวจก็ไม่ได้ห้ามเรา ไปถึงปรากฏว่าหัวหน้าประชาสัมพันธ์ก็ตกใจเห็นเรา เอ๊ะ เดินเข้ามาได้ยังไง โชคดีว่าตำรวจที่เฝ้าทำเนียบไม่โดนขัง เพราะโดยปกติแล้วนักข่าวจะเข้าทำเนียบไม่ได้เลย เวลาไปทำข่าวที่ทำเนียบ นักข่าวจะทำได้แค่นั่งริมคลองผดุงกรุงเกษมหน้าทำเนียบ รอรถของรัฐมนตรีออกมา ใจดีหน่อยก็เปิดกระจกมาตอบ 1-2 คำถาม แต่ยากที่จะมาซักไซ้ไล่เรียงได้แบบสมัยนี้
จนยุคจอมพลถนอม ก็เริ่มดีขึ้นมาหน่อย อาทิตย์หนึ่งให้เข้าไปทำเนียบนั่งสัมภาษณ์ได้ แต่ต้องส่งข้อคำถามก่อน ให้เขาเตรียมตัว เตรียมคำตอบ ข่าวยุคนั้นจึงเรียกว่าเป็นข่าวที่แห้งมาก ยิ่งการจะทำข่าวเจาะเป็นเรื่องที่ยากมากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยแทบจะไม่เป็นประชาธิปไตย การมีสิทธิมีเสียง มีน้อยมาก หากไม่เชื่อฟัง พูดอะไรมากไป หรือต่อต้านรัฐบาลมากไป จะถึงขั้นถูกปิดหนังสือพิมพ์ได้...ปฏิวัติทุกครั้ง ก็จะมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ ”
การรวมตัวกันของคนข่าวในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เรียกร้องเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม เพื่อปลดโซ่ตรวนของอำนาจเผด็จการ ตั้งแต่การเรียกร้องปลดแอก ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่เป็นมรดกชิ้นสำคัญของเผด็จการทหารจนประสบความสำเร็จ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ตรา พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ซึ่งมีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ 2484 ที่ใช้มาเป็นเวลา 66 ปี รวมทั้งก่อนหน้านี้กับการต่อสู้ ปลดโซ่ตรวน ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฉบับที่ 42
ขณะที่ บุตรดา ซึ่งเป็นอดีตคนข่าวสายอาชญากรรม เล่าว่า ในยุคนั้นนักข่าวใช้วิธีการเรียนรู้จากสนามจริงแบบพี่สอนน้องต่อๆกันไป โดยทัพใหญ่ที่สุดของนักข่าวสมัยก่อน คือสายอาชญากรรม รองลงมาคือการเมือง กีฬา และบันเทิง แต่คนที่เป็นนักข่าวอาชญากรรมจะต้องทำข่าวได้ทุกประเภท ขณะที่บทบรรณาธิการในสมัยก่อนจะถือเป็นธงนำ คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ จะอ่านจากบทบรรณาธิการก่อน แล้วถึงค่อยไปอ่านข่าวอื่นๆ
“แม้ว่าสิทธิเสรีภาพของนักข่าวในแต่ละยุคสมัยจะไม่เท่ากัน แต่วงการหนังสือพิมพ์ ถือเป็นตัวต้นนำของการสร้างระบอบประชาธิปไตยและปูทางเพื่อสิทธิเสรีภาพให้คนข่าวรุ่นหลัง ซึ่งนักหนังสือพิมพ์หลายคนต้องแลกมากับการถูกจับกุม ขังคุก ดำเนินคดี ”
“สมัยก่อนหากมีเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนต่างๆ ประชาชนจะนึกถึงหนังสือพิมพ์ก่อนหน่วยงานราชการด้วยซ้ำเพราะสื่อเสมือนตัวแทนปากเสียงของประชาชน หนังสือพิมพ์ไม่ได้ทำเฉพาะข่าว แต่ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนอีกทางหนึ่งด้านวิชาชีพ ซึ่งทุกครั้งเมื่อนำเสนอออกไปจะมีน้ำหนักทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองให้ความสนใจกับปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน” บุตรดา เล่า
ขณะที่ “บุญรัตน์” เสริมว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักข่าว คือการไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง โดยไม่ให้ “อายุ” เป็นขีดข้อจำกัด แต่เหนืออื่นใด คือการตระหนักถึงเรื่องของ อุดมการณ์และจริยธรรม
“การทำข่าวสมัยก่อนเวลาทำงานต้องบอกว่าทำด้วยใจ และจะคิดอยู่อย่างเดียวว่าทำเพื่อผู้อ่าน เวลาที่มีการปฏิวัติ ยึดอำนาจ หรือข่าวสำคัญใหญ่ๆ ไม่ว่านักข่าวหญิงชาย ทุกคนจะอยู่นอนค้างในโรงพิมพ์ทั้งหมด เรียกได้ว่าทำงาน 24 ชั่วโมง เราได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะจากรุ่นพี่ที่ทั้งอาวุโสและมากประสบการณ์ และในแต่ละช่วงเวลา เราจะได้บทเรียนจากการทำงานเสมอ
นักข่าวสมัยก่อนไม่ได้อะไรมาง่ายๆอย่างสมัยนี้ ต้องหาความรู้เองด้วย เช่น พี่อยากจะได้เบอร์โทรศัพท์ของแหล่งข่าวในกระทรวงต่างประเทศ ไม่มีใครให้เลย ง่ายๆไม่มีได้ เราต้องขวนขวาย ถ้าเราอยากได้ความ รู้เราต้องไปขอคุยกับเจ้าหน้าที่หลังเลิกงาน อ่านให้เยอะ แล้วคุยกับนักข่าวรุ่นพี่
การทำข่าวเราจะรู้แค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ เราต้องรู้เบื้องหลัง รู้ประวัติศาสตร์ รู้เหตุการณ์ปัจจุบัน เราถึงจะสามารถเขียนบทความวิเคราะห์อนาคตได้ แต่ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย ถามตามเกมไปวันๆ และถามแต่คำถามเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ทำการบ้าน ไม่ศึกษาหาข้อมูลเพื่อที่จะได้มีประเด็นคำถามของตนเองที่ลึกซึ้ง แล้วไปถาม แต่ปล่อยให้นักการเมืองนำเกมไปเรื่อยๆ ปล่อยข่าวและล่อหลอกเรากับข่าวรายวัน เพราะรู้ว่าเราจะต้องหาข่าวพาดหัว ถ้าเป็นแบบนั้นคุณก็จะไม่สามารถที่จะเป็นนักข่าวที่ดีได้ ” บุญรัตน์ กล่าว
ราคาที่ต้องจ่ายของสื่อยุคนี้
นักข่าวอาวุโสตกงาน เพราะต้นทุนมาก่อนคุณภาพ
“เขาบอกว่าอาชีพนักข่าวไม่มีวันตาย อยู่ทำงานจนตาย นักข่าวหลายคนที่อยู่จนแก่เฒ่า ถึงวัยเกษียณ 60 ปีแล้ว แต่ยังมีจิตวิญญาณของการทำข่าว เพียงแค่เปลี่ยนบทบาทจากการวิ่งภาคสนาม มาเป็นการเขียนวิเคราะห์ในมุมประเด็นต่างๆ แต่ทุกวันนี้ทุกครั้งที่เจอปัญหาเศรษฐกิจ แต่ละองค์กรมักเลือกปลดนักข่าวที่มีประสบการณ์มากมาย แล้วดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมา คุณบอกเป็นคนรุ่นใหม่ แต่จริงๆคือค่าตัวถูกกว่า แต่รุ่นใหม่นั้น คือขาดประสบการณ์
...คุณบอกว่ามีสื่อโซเชียลมีเดียเยอะแยะ คุณรุ่นใหม่ต้องใช้สื่อพวกนี้เป็น แต่คุณก็คือรายงานข่าวเท่านั้นเอง สื่อโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือ แต่วิญญาณนักข่าวนี้มันหดหายไปเยอะ เห็นชัดที่สุดก็คือยุคต้มยำกุ้ง นักข่าวอาวุโสมากประสบการณ์ตกงานกันเป็นแถว แล้วก็เอาคนใหม่ๆมาแทน
...เด็กบางคนทำงานได้ 2 ปี ขึ้นไปเป็น บก.แล้ว ค่อยมาสร้างประสบการณ์กันทีหลัง แต่อย่าลืมว่าเขาขาดองค์ความ ขาดช่วงประสบการณ์จากรุ่นพี่ สิ่งที่เห็นจึงกลายเป็นการที่ บก.รุ่นหลังสั่งงานไม่เป็น ทั้งที่เวลาจะสั่งงานใคร คุณต้องไกด์ไลน์ว่าต้องการประเด็นนั้น ประเด็นนี้ แต่ปัจจุบันที่เห็นคือไม่มีการไกด์ไลน์เลย ให้ไปตายเอาดาบหน้า สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อองค์กรเลือกต้นทุนมาก่อนคุณภาพ” บุญรัตน์ สะท้อนความเห็น
ปัจจุบันสมาคมนักข่าวมีสมาชิกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 500 กว่าคน ขณะที่ชมรมนักข่าวฯอาวุโส มีผู้สมัครเป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 50 คน สมาชิกที่อายุมากที่สุดคือ 92 ปี
นอกเหนือจากการจัดงานกิจกรรมต่างๆแล้ว ในทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมนักข่าวฯ จะมีการมอบวุฒิบัตรให้กับนักข่าวที่อายุครบ 80 ปี และมีการบายศรีผูกข้อมือให้กับนักข่าวอาวุโส ถือเป็นประเพณีและเป็นกิจกรรมหลักที่ทำต่อเนื่องกันมาทุกปี สร้างความสุข รอยยิ้ม และกำลังใจให้กับนักข่าวอาวุโส ให้ครอบคลุมในการดูแลด้าน สวัสดิการ สวัสดิภาพ และกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ ให้กับ “นักข่าว” หลังจากเกษียณการทำงานแล้ว ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการจัดตั้งชมรมฯให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ฝากนักข่าวยุคใหม่
ยึดมั่นจริยธรรม-อุดมการณ์-เป็นผู้นำทาง
“อยากฝากไปถึงนักข่าวรุ่นหลัง การที่เราจะเป็นนักข่าวที่ดี เราจะต้องนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงเป็นหลัก คำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมว่านำเสนอไปแล้วสังคมได้อะไร และที่สำคัญจะต้องรักษาสัจจะกับแหล่งข่าวด้วยชีวิตของตัวเอง 86 ปีที่แล้วหนังสือพิมพ์ถือว่ามีความสำคัญที่สุด นักข่าวนักหนังสือพิมพ์สมัยแรกๆมีอุดมการณ์และจริยธรรมสูง “นักข่าว” ในยุคนั้นจึงอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผย ไม่มีข้อครหา เพราะทุกคนทำด้วยอุดมการณ์ และข่าวที่เสนอไป ผิดพลาดน้อย ความศรัทธาของผู้อ่านของประชาชนต้องเป็นที่ตั้ง ” บุตรดา ฝากข้อคิด
บุญรัตน์ เสริมว่า นักข่าวต้องยึดมั่นในเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างที่เราเห็นว่ายุคหลังๆเรื่องนี้ นักข่าวหย่อนยานไปเยอะ ซึ่งจะทำให้ตัวของเรามีคุณค่า และการเป็นนักข่าวเป็นอาชีพที่จะต้องเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะเกษียณแล้ว แต่สมองคุณจะต้องไม่ “ตกขอบ” ต้องไขว่คว้าหาความรู้เรื่องต่างๆตลอด
“ความหวังของดิฉัน อยากจะให้นักข่าวรุ่นใหม่ และอาวุโส มีโอกาสที่จะมาเจอกันบ้าง จัดสัมมนาหรือว่ามาพูดคุยกันว่าในอดีตเป็นยังไง การหาข่าว การเสนอข่าว ปัจจุบันกับอดีตมันต่างกันแค่ไหน เพราะว่าตอนนี้เราก็เข้มข้นขึ้นเรื่องจริยธรรม เรามีสภาการสื่อมวลชน คิดว่าเรื่องนี้เป็นงานสำคัญอันหนึ่งของสมาคมนักข่าวฯ เป็นสวัสดิการที่ให้กำลังใจกับผู้อาวุโสกับคนรุ่นใหม่ที่มีอาชีพสื่อมวลชน
ขณะที่ ผุสดี ให้ข้อคิดว่า นักข่าวยุคก่อนจะยึดหลักจริยธรรมมาก แม้ว่ายุคนั้นเราจะยังไม่มีสภาสื่อมวลชนที่จะมาคุมจริยธรรม แต่ทุกคนทำงานแบบมีอุดมการณ์ เราแทบจะไม่มีเรื่องของการรีดไถเงิน ทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้มีเกียรติ ซึ่งการยึดมั่นอุดมการณ์เป็นสิ่งที่นักข่าวยุคใหม่ก็ควรจะมีและยึดมั่นเช่นกัน
การมีจิตวิญญาณที่เสียสละ ทำงานเพื่อผู้อ่าน เพื่อปวงชน เพื่อคนส่วนมาก เราต้องทำหน้าที่ “นำ” ผู้อ่าน หมายความว่า เราจะต้องเป็นคนนำทางให้ผู้อ่าน สิ่งเหล่านี้จำเป็นมาก และมันทำให้ “สื่อมวลชน” ยังคงมีความสำคัญ มีความหมายที่จะอยู่ต่อไป...แต่ทุกวันนี้ “สื่อ” บ้านเรา “ตามใจผู้อ่าน” ผู้อ่านชอบอะไร ก็เอาอย่างนั้น ” ผุสดี ทิ้งท้าย
หากหัวใจของการเป็น “นักข่าว” คือการนำเสนอข้อเท็จจริงภายใต้หลักจริยธรรมและอุดมการณ์ การวัดคุณค่าของ “นักข่าว” ก็คงไม่สามารถใช้ “อายุ” เป็นตัวชี้วัดตัดสินได้ ดังคำที่เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า อาชีพ “นักข่าว” เป็นอาชีพที่เมื่อเป็นแล้ว ก็ต้องเป็นไปตลอดชีวิต