รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ
เส้นทางการทำงานของ“นักข่าวภาคสนาม”จะพบว่า หลายคนเมื่อสะสมประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น ก็จะเติบโตในสายงานไปตามวิถีของตัวเอง เช่นบางคนก็ขยับขยายเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นหัวหน้าข่าว-ผู้ช่วยบก.ข่าว บางคนก็ใช้ไมล์ในการทำงานข่าวขยับไปทำงานสายอื่นเช่น ฝ่ายสื่อสารองค์กร-ประชาสัมพันธ์ในองค์กรเอกชน-ภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน บางคนก็ยังทำงานสายข่าวเหมือนเดิม แต่มีการต่อยอดการทำงานของตัวเองด้วยการไปเป็น”ทีมงานเบื้องหลังรายการข่าวแนวนิวส์ทอล์ค-ฮาร์ดทอล์คหรือทอล์กโชว์เชิงข่าว”ที่พบว่าหลายคนนอกจากเป็นทีมงานเบื้องหลัง-โปรดิวเซอร์แล้ว ก็ยังเป็นผู้ดำเนินรายการควบคู่กันไปด้วย
“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ”พาไปพูดคุยกับคนข่าวภาคสนาม-อดีตนักข่าวภาคสนาม ถึงการทำงานเบื้องหลังรายการทอล์กโชว์เชิงข่าว-ฮาร์ดทอล์คสองคน เพราะเราอยากรู้ว่า “ประสบการณ์การทำข่าวภาคสนาม”จะมีผลหรือมีประโยชน์ต่อการเป็นทีมงานแบคอัพดังกล่าวหรือไม่ ?
เริ่มจากคนแรก "อัมพร แววบุตร-บก.ข่าวรายการ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ช่อง 3 และหนึ่งในทีมงานรายการโหนกระแส"ที่เพื่อนๆ ในวงการข่าวหรือคนรู้จักเรียกเธอว่า"โรส ช่องสาม" หรือ”โรส-โหนกระแส”
โดยเธอเล่าเส้นทางการทำงานข่าว-วงการสื่อมวลชน ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันว่า เข้ามาเป็นนักข่าวครั้งแรก ในสังกัด นสพ.สยามรัฐ โดยเป็นนักข่าวสายการเมือง ตอนนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักๆ ก็คือ เป็นนักข่าวประจำกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ยุคร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นรมว.มหาดไทย โดยทำข่าวที่สยามรัฐประมาณห้าปี จากนั้นย้ายค่าย ไปเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองที่ นสพ.ผู้จัดการรายวัน โดยอยู่ที่ค่ายบ้านพระอาทิตย์-ผู้จัดการฯ ประมาณ 3 ปี
จากนั้น เริ่มเปลี่ยนเส้นทาง จากนักข่าวนสพ.มาทำข่าวโทรทัศน์ ที่ช่อง TNN เริ่มด้วยการเป็นนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม ต่อมาโยกมาเป็นนักข่าวสายการเมืองที่ถนัดอีกครั้ง และตามด้วยไปเป็นกองบรรณาธิการข่าวทีวีดาวเทียมช่อง Spring News โดยอยู่ประมาณ 8 เดือน จากนั้น ก็มาอยู่ที่ช่อง3 เมื่อช่วงประมาณปี 2557 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วก็ประมาณ10 ปี
"โรส ช่องสาม-คนข่าวมากประสบการณ์จากการทำข่าวภาคสนาม ที่มาเป็นทีมงานแบคอัพเบื้องหลังรายการดัง โหนกระแส"เล่าเส้นทางการทำงานของตัวเองต่อไปว่า สำหรับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบปัจจุบันคือ เป็น”บก.ข่าวรายการ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ และเป็นทีมงานรายการโหนกระแส“
..สำหรับเบื้องหลังการทำรายการ โหนกระแสนั้น ในส่วนของ"ประเด็นข่าว"ที่จะนำมาพูดคุยและเชิญแขก-แหล่งข่าวมาร่วมรายการ-ให้สัมภาษณ์ในรายการ ด้วยชื่อของรายการที่บอกอยู่แล้วว่า โหนกระแส ดังนั้น ประเด็นที่จะนำมานำเสนอหรือนำมาเล่นแต่ละวัน จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส-เป็นข่าวใหญ่ของแต่ละวัน
...ทีมงานเบื้องหลังรายการจะมีด้วยกันประมาณแปดคน ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ จะมีทีมงานที่อยู่ในกองบก.ข่าวของช่อง 3 สองคน คือตัวเราเองกับพี่อีกคนที่อยู่ทีมข่าวอาชญากรรม ส่วนอีกหกคน จะเป็นทีมงานของบริษัทพี่หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย
..ในส่วนของวิธีการทำงานในแต่ละวันที่พอเล่าได้ ก็คือ ทีมงานทั้งหมด รวมถึงตัวพี่หนุ่ม กรรชัย จะมีการหารือกันทุกวัน หลักๆ ก็เช่น ในช่วงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำของแต่ละวัน ทีมงานจะคุยกันในไลน์กลุ่มของทีมงานฯ ว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจ แต่ละคนก็โยนประเด็นกันเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล-ความเห็นกันว่า น่าสนใจหรือไม่ โดยบางเรื่องอาจจะไม่เคยเป็นข่าวมาก่อน แต่ทีมงานแต่ละคนอาจได้ hint ข่าวมาก็มาแชร์ไอเดียกัน
"โดยสุดท้าย พี่หนุ่ม กรรชัยจะเป็นคนเคาะ แต่หากมีหลายประเด็น พี่หนุ่ม ก็จะมาให้ทีมงานโหวตกันว่าจะเลือกประเด็นไหน เช่น สมมุติ วันนั้น มีทั้งประเด็น "ตั๊ก" ผู้ต้องหาคดีหลอกขายทอง กับเรื่องคดีดิไอคอนฯ เราจะคุยกันว่า จะเอาเรื่อง ตั๊กดีไหม แล้วหากเอาเรื่องนี้ แขกหรือแหล่งข่าวที่จะเชิญมา ได้ใครมาร่วมรายการบ้าง ถ้าตั๊กมา ก็ต้องมีผู้เสียหายมาร่วมรายการด้วย ถ้าเคาะว่าเอาเรื่องนี้ จากนั้นทีมงานก็จะไปติดต่อคนให้มาออกรายการ แต่มีบางครั้ง ที่ทีมงานไปติดต่อแขกมาก่อน จากนั้น ทีมงานก็คุยกันว่า ถ้าเลือกเรื่องนี้ แขกที่จะมาได้มีใครบ้าง แล้วถ้าเป็นอีกเรื่อง แหล่งข่าวที่จะมาได้มีใครบ้าง
จากนั้นพี่หนุ่ม จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาประเด็นไหน สุดท้าย ทีมงานจะโหวตเพื่อตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งการคุยแบบนี้ ทีมงานจะคุยกันแบบวันต่อวัน เพื่อให้รายการมีความสด ใหม่"
...แต่ก็มีบางเคส ที่ทีมงานคิดประเด็นไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า ที่ทีมงานจะทำเป็นแบบ Story ยาวๆ เลย เช่นเรื่อง "แม่ตั๊ก" ผู้ต้องหาคดีหลอกขายทอง ที่จะมีคนที่เกี่ยวข้อง ตัวละครเยอะ หรือเรื่องดิไอคอนฯ ที่จะมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ลักษณะแบบนี้ ทีมงานจะคิดล่วงหน้าเป็นตอนๆ ได้เลย ว่าวันนี้เรื่องดิไอคอนฯ จะเปิดประเด็นอะไร จะเอาตัวละครคนไหน ซึ่งบางทีตัวละครที่มาออกรายการ เขาก็ส่งเรื่องร้องเรียนมาในเพจโหนกระแส หรือร้องมาทางเรา ผ่านคนที่ทีมงานรู้จัก ทางทีมงาน ก็จะไปคุยกับพี่หนุ่มว่า คนนี้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เขาติดต่อมา จะเชิญมาออกรายการดีหรือไม่ ต้องมีการคุยกันอีกเหมือนกัน
...บางประเด็น หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เช่นเรื่องสามี-ภรรยา มีปัญหากัน ก็จะต้องเชิญแขกมาให้ครบทั้งสองฝั่ง รวมถึงประเด็นต่างๆ ก็จะต้องเชิญแหล่งข่าวมาให้ครบทั้งสองฝั่งเช่นกัน เพื่อให้สองฝ่ายได้รับความเป็นธรรม เพื่อไม่ให้กลายเป็นว่า นำเสนอโดยกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่จะพบว่ารายการโหนกระแส แขกหรือแหล่งข่าวที่มา จะมาจากทั้งสองฝั่ง มีน้อยมากที่จะมาจากฝั่งเดียว
เบื้องหลังเชิญแขกร่วมรายการ
กว่าจะได้เห็น งานบนหน้าจอ
กับสมรภูมิการแข่งขัน ชิงเรตติ้ง
"อัมพร-โรส โหนกระแส"เล่าสีสัน เบื้องหลังการทำงานบางส่วนให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นรายการสด ก็ทำให้มีเหมือนกันที่บางครั้ง ทางทีมงานฯ เตรียมประเด็นหนึ่งไว้แล้ว ติดต่อเชิญแขกคอนเฟิร์มกันเรียบร้อยในช่วงค่ำก่อนที่จะมีการจัดรายการในวันพรุ่งนี้ช่วงเที่ยงฯ
...แต่ปรากฏว่า ตอนเช้า เกิดมีข่าวใหญ่หรือเหตุการณ์ใหญ่ ทำให้เราก็ต้องเปลี่ยนประเด็นใหม่ ติดต่อเชิญแขกใหม่เลยภายในช่วงเช้าวันนั้น โดยทีมงานก็ต้อง cancel แขกไป โดยแจ้งเหตุผลเขาดีๆ ว่า ทำไมต้องเลื่อนการมาออกรายการไปก่อน แต่หากแขกที่ติดต่อเชิญมา หากเขามาจากต่างจังหวัด ต้องบอกก่อนว่า ทางรายการ จะซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายทั้งหมดเช่นหากเขานั่งเครื่องบินมา เราก็จองตั๋วเครื่องบินไป-กลับให้ แล้วปรากฏว่าเขาเดินทางมาแล้ว แต่เกิดว่าวันนั้นมีข่าวใหญ่ที่เราต้องเล่นก่อน เราก็ต้องบอกเหตุผลเขา แล้วบอกว่า มาอีกทีวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ ค้างกรุงเทพฯก่อนหนึ่งคืนได้หรือไม่ ถ้าเขาบอกโอเคอยู่ได้ เราก็จะจองโรงแรมที่พักให้ วันต่อไป เราก็มาเล่นเรื่องนี้ได้ แต่เคสแบบนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก
"เพราะว่าอย่างไรเสีย เราก็ต้องนำเสนอประเด็นที่ดีที่สุด เพราะต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ มันแข่งกันด้วยเรตติ้ง เราก็ต้องคิดและนำเสนอเรื่องที่สังคม ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดของแต่ละวัน และทันเหตุการณ์
เรื่องการเชิญแขกมาออกรายการ ยอมรับเลยว่ามันก็ยาก และมีการแข่งขันกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่า แต่ละช่องหรือรายการคู่แข่งของเรา เขาจะเล่นประเด็นเหมือนเราหรือไม่ แต่เราก็ต้องหาแขก-แหล่งข่าวให้ได้มากที่สุดและต้องดีที่สุด หากคู่แข่งเขานำเสนอประเด็นเดียวกับเรา"
เพื่อให้เห็นภาพการแข่งขันดังกล่าว "โรส-โหนกระแส"ยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังว่า เช่น หากเป็นเรื่องแนวแบบเรื่องในครอบครัว ผัว-เมีย ทะเลาะกันแล้วเป็นข่าว คนก็ชอบเล่นกัน เพราะคนชอบเรื่องผัวเมีย สังคมจะชอบ ชอบเพราะอะไร เพราะชอบ"เผือก"เรื่องผัวเมีย อยากรู้ ผัวเมียทะเลาะกันแล้วยังไงต่อ มีคลิปหลุดอะไรหรือไม่ เมียหลวงไปตามตบเมียน้อยหรือไม่ คนก็ชอบ
"สมมุติคู่แข่งเรา เขาได้ฝั่งผู้หญิงไปออกรายการก่อนแล้ว ทางเราก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร เราต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถได้ตัวฝั่งผู้ชายมาออกรายการพร้อมกับผู้หญิงด้วย รวมถึงได้เมียน้อยมาออกด้วย เราต้องให้ได้มากกว่าเขา ถ้าเราจะเล่นเหมือนเขา เราต้องได้มากกว่าคู่แข่ง"
และแน่นอนว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า รายการโหนกระแสที่ทำมาตลอดทั้งปี 2567 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เรื่องไหน-ประเด็นใด ที่มียอดคนชม-เรตติ้งสูง ซึ่งหลายคนก็คงเดาได้ไม่ยากว่า ต้องเป็นเรื่อง "ดิไอคอนฯ"กับ"แม่ตั๊ก ขายทอง" เพราะเป็นรายการที่นำเสนออย่างต่อเนื่องหลายอีพี คนติดตามกันทั้งประเทศ แต่บางเรื่อง ก็คาดไม่ถึงว่าจะติดอันดับต้นๆ ของเรตติ้งรายการโหนกระแส โดย"โรส"เล่าว่า เรื่องที่มีคนดูเยอะๆ ในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากเรื่องดิไอคอนฯและเรื่องแม่ตั๊ก-ทนายตั้ม แล้ว ก็มีเช่นเรื่องของหนุ่มโรงงานที่มีแฟน แต่ผู้หญิงที่ทำงานอีกโรงงานหนึ่ง แล้วฝ่ายหญิงแอบไปมีกิ๊ก แล้วต่อมา ชู้ไปฆ่าตัวแฟนผู้ชายเสียชีวิต และพอฆ่าเสร็จ ยังไปรับตัวผู้หญิงไปดูศพ แล้วกอดร้องไห้กัน โดยบอกกับคนอื่นว่าเป็นเพื่อนที่ทำงาน แล้วสืบไปสืบมา ถึงรู้ว่าเป็นชู้แล้วข่าวเล่นไปหลายวัน ปรากฏว่าผู้หญิงคนนี้ยังมีกิ๊กอีกหลายคน ระหว่างนั้นก็มีเรื่องเข้ามามากมาย เรื่องนี้เล่นไปหลายอีพี มีดราม่าอะไรต่างๆ มีตัวละครปริศนา แล้วต่อมา ตำรวจจับตัวฆาตรกรได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่เล่นอยู่หลายวัน ปรากฏว่า เรตติ้งกระฉูด
"เรตติ้งปีนี้ที่ดีๆ หากไม่มีเรื่องดิไอคอนฯ หรือแม่ตั๊ก และทนายตั้ม เรื่องพวกเกี่ยวกับผัวเมีย จะพีค คนชอบดูเรื่องผัวเมีย คนชอบเรื่องฆาตกรรมอำพราง มันเป็นอะไรที่น่าค้นหา ที่พีคอาจเพราะคนเขาเครียด แต่ข่าวแบบนี้มันก็เครียด แต่คนชอบ ยิ่งเรื่องพวก เมียไปบุกจับผัว จับกิ๊ก ก็จะพีค แต่ก็เล่นไม่ได้หลายวัน ก็อาจแค่วันเดียว แต่ถ้าได้ทั้งผัวทั้งเมียมาออกรายการ ก็จะยิ่งพีกไปอีก เรื่องที่เราทำปีนี้ ก็มีหลายเรื่องที่พีคๆ แต่อันดับต้นๆ ก็ ดิไอคอนฯ แม่ตั๊ก และทนายตั้ม"
เทคนิค-เบื้องหลังวิธีการ
หาแขก-แหล่งข่าว มาออกรายการ
และด้วยความที่เป็นรายการที่ส่วนใหญ่จะเน้นประเด็นที่ ภาษาวงการข่าวเรียกว่า"ข่าวชาวบ้าน"ซึ่งจะพบว่า แขก-แหล่งข่าวที่มาออกรายการ ส่วนใหญ่จะเป็น"คนธรรมดา"ที่อยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บางคนก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เมื่อแหล่งข่าวกลุ่มดังกล่าว ไม่ใช่แหล่งข่าวพวกนักการเมือง-นักธุรกิจ-นักวิชาการ ที่ยังพอหาช่องทางติดต่อได้ ทำให้ก็น่าสนใจว่า แล้วทีมงานฯ ไปหาช่องติดต่อ-หาเบอร์โทรศัพท์ จนเชิญมาออกรายการได้อย่างไร "โรส-ทีมงานโหนกระแส"เล่าเรื่องนี้แบบยาวๆ แต่สรุปรวมว่าเป็นเรื่องของ"คอนเนกชั่น"ในการติดต่อ เช่น ด้วยความที่อยู่กองบก.ช่อง 3 ก็ทำให้จะมีนักข่าวประจำจังหวัดที่เป็นสตริงเกอร์ แต่ก็ไม่ได้มีทุกจังหวัด ก็จะติดต่อผ่านสตริงเกอร์ หรือคอนเนกชั่นตามเพจต่างๆ ที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวแล้วเขานำเสนอประเด็นที่เราสนใจ เราก็จะติดต่อไปว่า แหล่งข่าวคนนี้รู้จักไหม มีเบอร์ติดต่อหรือไม่ ที่บางที เขาก็ให้เฟซบุ๊กคนนั้นมา จากนั้นเราก็ inbox ไปหาเพื่อขอเบอร์เขา จะได้คุยกัน หรือบางทีเพจก็ให้เบอร์คนใกล้ชิดแหล่งข่าวคนนั้นมา รวมถึงคอนเนกชั่นกับเพื่อนๆ หรือน้องๆ นักข่าวสังกัดอื่น ที่รู้จักกันที่เขาทำข่าวนั้นอยู่ ก็ขอเบอร์มา แล้วก็ติดต่อไป
...การที่เราเคยเป็นนักข่าวภาคสนามมาก่อน ทำให้นำประสบการณ์ในการทำข่าว การสัมภาษณ์แหล่งข่าว มาใช้ในการติดต่อเชิญแขก แหล่งข่าวมาออกรายการได้เยอะมาก แต่บางคน แม้จะเป็นบุคคลธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่ว่าติดต่อไปแล้ว เขาจะมาง่ายๆ บางคนคุยกันหลายชั่วโมงมาก กว่าเขาจะเชื่อใจเรา อยากบอกว่า บางทีมันไม่ใช่ว่าเชิญแขกมาออกรายการได้ง่ายๆ บางคนก็ถามว่า เป็นพวกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์หรือเปล่า แอบอ้างรายการโหนกระแสโทรมาหรือเปล่า บางคนคุยกันหลายชั่วโมงหลายรอบ ตั้งแต่กลางวันจนค่ำ บางคนนัดกันไว้แล้วตอนบ่าย พอวันรุ่งขึ้น โทรมาบอกขอยกเลิกตอนเช้า บอกไม่มาแล้ว บางครั้งต้องเปลี่ยนเรื่องที่จะทำเลย บางทีแขกอยู่ต่างจังหวัด ทีมงานติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินให้แล้ว ตอนเช้าเขาโทรมาบอกไม่บินมาแล้ว เป็นต้น ต้องบอกว่า อุปสรรคมีเยอะ ไม่ได้ง่ายเรื่องการติดต่อแขกมาออกรายการ
"โรส-โหนกระแส อดีตนักข่าวภาคสนามสายการเมือง"บอกว่า การทำรายการโหนกระแส ทำให้ต้องติดตามข่าวสารทุกแนว รวมถึงต้องดูรายการลักษณะเดียวกันของช่องอื่นหรือคู่แข่งด้วย รวมถึงต้องดูเรตติ้งทุกวัน เพราะเรตติ้งส่งมาทุกวัน อย่างรายการลักษณะเดียวกัน เราก็จะดูว่าเขาเล่นเรื่องอะไร หากซ้ำกัน เราจะได้รู้ว่าจะเลี่ยงยังไง ซึ่งทั้งหมด พี่หนุ่ม กรรชัย จะเป็นคนคิดและตัดสินใจ ซึ่งเขาเป็นคนที่ครีเอทและคิดหลายชั้น คิดได้เร็วมาก เป็นคนที่ทำการบ้านเยอะมาก ส่วนทีมงานมีหน้าที่ในการหาข้อมูลและคอยทำงานส่งเสริมสนับสนุนเขา การที่รายการประสบความสำเร็จ ก็ต้องยกความดีความชอบให้เขาที่ทำงานหนักมาก และการร่วมมือร่วมใจของทีมงานฯ
"บางเรื่อง ประเด็นมาตอนกลางคืน ทีมงาน คุยกันถึงตีสอง ตีสาม ยังไม่ได้แขกมารายการ ก็ต้องหาแขกกันให้ได้ ทีมงานก็เครียดกันมาก ถ้าให้เล่า คงเล่าไม่หมด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการหาแขกมาออกรายการ และกว่ารายการจะมาถึงวันนี้ ยากมาก หลายเคสมีอุปสรรคตลอด แต่การทำงาน การหาแขกมาออกรายการ ก็สนุก และเป็นความท้าทายของทีมงานในแต่ละวัน"
แน่นอนว่า คำถามหนึ่งที่ไม่ถามไม่ได้ ก็คือ เสียงวิจารณ์ที่ว่า โหนกระแส ทำแต่เรื่องแนวชาวบ้าน บางเรื่องก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์กับประชาชน "โรส-ทีมงานโหนกระแส"บอกว่า ก็รับฟัง จะบอกว่าไม่รู้สึกคงไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าเรื่องชาวบ้าน เรื่องสังคม เราก็ต้องให้ความสำคัญ อย่างรายการเอง ก็ช่วยเหลือคนหลายเคส บางคนที่วิจารณ์เรา ก็ไม่ได้มาดู ทั้งที่คนขอบคุณเราเยอะ เราเจอกับตัวเองเลย เวลาเราเชิญแขกคนไหนมา
ยกตัวอย่าง มีคนหนึ่งเป็นคนโคราช แต่มีฐานะ มีล้งทุเรียน ที่จันทบุรี ระยอง แต่สามีมีกิ๊ก โดยหลอกเอาเงินไปหลายล้าน มาออกรายการแล้วทนายเจมส์ ก็ทำคดีให้เขา ซึ่งแม้คดียังไม่สิ้นสุดว่าชนะหรือไม่ชนะ แต่เขารู้สึกว่าเราช่วยเหลือเขาเต็มที่ ก็อยากบอกว่าคนที่ชื่นชมเราก็มีเยอะ และเป็นธรรมดาที่คนจะไม่ชื่นชมก็ต้องมี เสียงวิจารณ์ต่างๆ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้โกรธ แม้เราช่วยเหลือทุกเคสไม่ได้ แต่ก็พยายามช่วยเหลือ
เราถามปิดท้ายว่าการเป็น"นักข่าวภาคสนาม"มีประโยชน์ต่อการมาทำงานในส่วนนี้ เป็นทีมงานเบื้องหลังรายการฯ หรือไม่ "อัมพร-บก.ข่าวเที่ยงวันฯ ช่อง 3 และทีมงานรายการโหนกระแส"ตอบทันที"เป็นประโยชน์มาก ต้องบอกว่า ต้องขอบคุณที่เราเคยเป็นนักข่าวภาคสนาม เป็นนักข่าวสายการเมืองมา จนได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาต่อยอดในการทำงานวันนี้ได้ดีมาก เช่นการคิดประเด็น การติดต่อแขก การพูดคุยกับคนที่เราไปติดต่อ เช่น การสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เราติดต่อไปว่า หากเขามารายการแล้ว เขาจะไม่โดนทัวร์ลง หรือจะโดน ก็โดนน้อยลง แล้วเราจะซัพพอร์ตเขายังไง แล้วเราไม่ทิ้งเคส ยกเว้นว่าเราช่วยเหลือไม่ได้จริงๆ "
นักข่าวการเมือง- Content Creator
กับบทบาทใหม่ Host-เบื้องหลังทีมฮาร์ดทอล์ค
“ไพศาล ฮาแว”หรือ”ซัน” ที่นักข่าวภาคสนามสายการเมือง คงรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ วิ่งทำข่าวสายการเมืองมาหลายปี แต่ตอนนี้ งานหลักคือการเป็นผู้ดำเนินรายการแนว ฮาร์ดทอล์ค ที่ชื่อ Story Live ที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ของสำนักข่าว SpringNews
“ซัน-ไพศาล”แนะนำตัวเองว่า จบการศึกษาจาก คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยได้เข้าไปฝึกงานข่าวที่ THE STANDARD และต่อมาได้เข้าทำงานเป็นนักข่าวภาคสนามและเป็นสื่อมวลชนในตำแหน่ง Content Creator ที่ THE STANDARD โดยอยู่ในสังกัด THE STANDARD ยาวนานเกือบห้าปี
..ตอนอยู่ THE STANDARD งานที่รับผิดชอบหลักๆ ก็คือ ข่าวการเมือง-ข่าวสถานการณ์ ซึ่งใน 2 ปีแรกของการเข้ามาทำข่าว ตอนนั้นข่าวสถานการณ์ที่แรงๆ ก็เช่น การแพร่ระบาดของโควิดฯ และข่าวม็อบต่างๆ (ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. การเข้ามาทำข่าวช่วง 3-4 ปีแรก ก็เป็นจังหวะดีที่สถานการณ์การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นโอกาสที่ได้สะสมประสบการณ์การทำข่าวภาคสนาม จนมาถึงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 และปัจจุบันก็เปลี่ยนบทบาทมาทำรายการแบบ HardTalk NewsTalk ที่ SpringNews ในเครือเนชั่น โดยเป็น Host ประจำรายการ STORY LIVE
..เริ่มเข้ามาทำที่ SpringNews ในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่พอจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสร็จ ตอนนั้นเป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้ว ว่าอยากหาภารกิจอะไรใหม่ๆ ที่ท้าท้าย พอดีทางเนชั่นเขากำลังจะเปิดแบรนด์ใหม่ เดิมชื่อ Nation Story ซึ่งเป็นเหมือนเซคชั่นย่อยๆ ในองค์กรเหมือนหน่วยทดลอง ก็มารวมอยู่ที่ SpringNews แต่ชื่อรายการยังเป็นชื่อเดิม STORY LIVE สำหรับงานของผมจริงๆ ก็คือเป็น Host ผู้ดำเนินรายการ แต่ว่าเนื้อหา-รายละเอียดต่างๆ ผมก็จะเป็นคนดูเองเป็นหลัก มีทีมงาน มีโปรดิวเซอร์ มีทีมงานหลังบ้าง แต่ผมก็จะดูการลีดประเด็นเป็นหลัก เรื่องของประเด็นที่จะนำเสนอ ในทีมงานก็จะมีการช่วยกันโยนประเด็นว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจ เช่นโปรดิวเซอร์ -หัวหน้ารายการ มีความเห็นอย่างไร แล้วตัวผมคิดอย่างไร แล้วก็อาจมีการเลือกมาสักหนึ่งประเด็น จากนั้นทีมงานลองติดต่อแขก เพราะรูปแบบรายการ มันก็ขึ้นอยู่กับแขกด้วยส่วนหนึ่งเช่นเราเลือกประเด็นหนึ่งไว้ ที่เป็นประเด็นร้อนมาก คนสนใจเยอะมาก แต่ปรากฏว่าติดต่อไปแล้วแขกอาจไม่ว่าง แขกติดไปออกรายการที่อื่นแล้ว แบบนี้สุดท้ายก็อาจต้องเลือกเอาประเด็นอื่นแทน ที่เป็นประเด็นรองหรือเล่นประเด็นอื่นแทน มันขึ้นอยู่กับแขกด้วยครึ่ง-ครึ่ง
“เช่นรายการวันนี้จะคุยประเด็นอะไร ผมก็จะเป็นคนตัดสินใจ หรือการเลือกแขกที่จะเชิญมาร่วมรายการ ส่วนการเรียงสคริปต์ต่างๆ ผมจะดูเองทั้งหมด แล้วเข้าไปจัดรายการ ที่เหลือจะเป็นงานหลังบ้าน ผมจะบอกทีมงานในรายละเอียดต่างๆ เช่นการเลือกภาพประกอบ พอสัมภาษณ์เสร็จ จะมาทำไฮไลท์สำคัญของรายการ ทำเป็นคลิปสั้นลงในโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ที่ทีมงานก็จะมาช่วย โดยผมจะเข้ามาช่วยเลือกประเด็นสำคัญๆ ในการทำคลิป”ไพศาล เล่ารายละเอียดในการทำงานของตัวเองทั้งการเป็นผู้ดำเนินรายการและการวางแผนการทำงาน-การทำงานหลังบ้านให้เราฟัง
“ไพศาล”เล่าถึงการคิดประเด็นที่จะนำเสนอในรายการ STORY LIVE ที่มีด้วยการสัปดาห์ละสามวัน คือ อังคาร-พุธ-พฤหัสบดี ว่าเรื่องการคิดประเด็นแต่สัปดาห์หรือแต่ละวัน หลักๆ ก็คือจะดูธีมหรือทิศทางข่าวในแต่ละสัปดาห์หรือคาดการณ์สถานการณ์ในสัปดาห์ถัดไป เช่นพอถึงปลายสัปดาห์นี้ เราก็มองทิศทางข่าวสัปดาห์หน้าแล้วว่าจะมีอะไรบ้าง ก็คิดไว้ในใจ
...รายการ STORY LIVE มีสัปดาห์ละสามวัน การทำงานของเราคือ เราจะทำงานของพรุ่งนี้ในวันนี้ โดยจินตนาการว่างานของพรุ่งนี้มันเกิดขึ้นในวันนี้แล้ว เช่นผมจะสัมภาษณ์แขกในวันนี้ แต่ผมก็จะติดต่อแขกไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เพราะเรามองแล้วว่าเรื่องที่คิดไว้จะเป็นเรื่องร้อน หรือเรื่องที่คนให้ความสนใจ
“สำหรับเทคนิคของผมในการเตรียมประเด็น ผมจะดูหนังสือพิมพ์ เพราะว่าหนังสือพิมพ์เขาเสียเปรียบสื่ออื่นตรงที่เขาต้องนำเสนอช้ากว่าสื่อออนไลน์ เพราะฉะนั้น วิธีการหาข่าวของหนังสือพิมพ์ เขาจะหาข่าวล่วงหน้า หาทิศทางข่าวไว้ก่อนแล้ว หน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ จะบอกให้เราไปข้างหน้าตลอดเวลา มองประเด็นไปข้างหน้า อะไรจะร้อน อะไรจะเป็นข่าวสำคัญ ผมก็จะนั่งดูหนังสือพิมพ์ทุกวัน เพื่อมาเลือกประเด็นในตอนบ่าย เพื่อจะมาทำในวันรุ่งขึ้น เพราะหนังสือพิมพ์จะตีข่าวไปวันหนึ่งล่วงหน้า อย่างหนังสือพิมพ์ฉบับวันนี้ ก็จะพาดหัวข่าวของเรื่องในวันพรุ่งนี้ เป็นต้น
ผมมองว่าหนังสือพิมพ์ช่วยให้กับคนทำงานในการเลือกประเด็น หรือการช่วยมองข้างหน้า เพราะอย่างพี่ๆ ที่ทำข่าวหนังสือพิมพ์เขาจะมีประสบการณ์มายาวนาน เขาจะเล่นข่าวไปล่วงหน้า เขาจะมีแหล่งข่าวที่เอ็กซ์คลูซีฟกว่า ก็จะช่วยในการทำข้อมูลสำหรับเราได้มาก สำหรับสื่อออนไลน์ เราก็ไว้อ่านข่าวทั่วๆไป ข่าวสั้นๆ ซึ่งผมว่าหนังสือพิมพ์ช่วยคนทำงานรายการแบบ HardTalk อย่างผมมาก หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเลย ผมบอกได้เลย บางฉบับอาจพาดหัวข่าวล่วงหน้าที่มันไม่เหมือนกัน ก็ทำให้เราได้รู้ว่าแต่ละฉบับมีมุมมองที่แตกต่างกัน แล้วพอเลือกประเด็นได้ในวันนี้ จากนั้น ก็ติดต่อแขก แล้วแขกก็จะมาร่วมรายการในวันพรุ่งนี้ และจัดรายการไป”
แน่นอนว่ารายการแบบ News Talk - Hard Talk โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการสด ตัว”แขก-แหล่งข่าว”ที่มาออกรายการถือว่ามีความสำคัญมากในการทำให้รายการมีความน่าสนใจ เรตติ้งดี ซึ่งการติดต่อเชิญแขกมาออกรายการ คนที่ทำงานด้านนี้จะรู้ว่า บางครั้งถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส การแข่งขันจะสูง เพื่อให้ได้แขกที่น่าสนใจมาออกรายการ เราเลยถามถึง การเลือกแขกหรือการติดต่อแหล่งข่าวให้มาออกรายการ STORY LIVE เป็นอย่างไรบ้าง “ไพศาล- Host ประจำรายการ STORY LIVE”เล่าถึงเรื่องการติดต่อแขกมาให้สัมภาษณ์ในรายการว่า เราก็จะมีการเลือกแขกที่เกี่ยวข้องกับประเด็นให้มากที่สุด ซึ่งทีมงาน ก็จะมีการช่วยกันโยนชื่อแขกกันมา จากนั้นก็ไล่ติดต่อแขกให้มาร่วมรายการ โดยเอาคนสำคัญที่เกี่ยวข้องมากที่สุดก่อน จากนั้นโปรดิวเซอร์จะเป็นคนติดต่อแขก แต่หากแหล่งข่าวคนไหน ในทีมงานรู้จักสนิทกว่า ใครคอนเนคได้ดีกว่า ก็ติดต่อไปก่อน อย่างบางคนผมสนิทกว่า ผมจะโทรหาไปก่อนแล้วแจ้งว่าจะมีทีมงานติดต่อไป
...สำหรับรายการแบบ Hard Talk ก็เป็นเรื่องปกติ ที่บางทีต้องเปลี่ยนประเด็นหน้างาน จะต้องยกเลิกแขก หรือเปลี่ยนตัวแขก หรือแม้แต่แขกยกเลิกการมารายการเรา ก็มีทุกแบบ อย่างบางที หากต้องยกเลิกแขก ผมจะบอกเขาตรงๆ แล้วบอกโอกาสจะเชิญมาใหม่ ที่เขาก็เข้าใจ บางคนเขาก็บอก พี่ไปคุยเรื่องนี้ ก็ไม่มีคนดูหรอกน้อง อะไรแบบนี้ แขกบางทีเขาก็เข้าใจเพราะบางครั้งก็มีเรื่องอื่นเข้ามา
... แต่ที่จะมีปัญหาคือแขกจะขอยกเลิก เพราะทำให้เราต้องรีบหาแขกคนใหม่ และเราไม่รู้ว่าที่เขาขอยกเลิกเพราะเหตุผลอะไรจริงๆ บางทีเขาอาจบอกว่าติดงานอื่น แม้เขาจะคอนเฟริม์กับเราไว้แล้ว หรือว่าเพราะเปลี่ยนใจ พอดูสถานการณ์แล้ว ไม่อยากมาออกรายการ ก็มี บางที ต้องมีการเจรจาให้ถึงที่สุด จนบางคนก็มา แต่บางคนบอกไม่สะดวกมา เราก็บอกว่าโฟนอินก็ยังดี ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ก็มีการพูดคุยเจรจาแบบ case-by-case ของพวกนี้ก็มีศิลปะที่แตกต่างกันไป ผมว่าคนที่ทำงานข่าว ก็จะรู้วิธีการดีลกับแหล่งข่าว แต่ละคนก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันเยอะมาก
ประสบการณ์ภาคสนาม
สร้างแต้มต่อทำรายการข่าว
“ไพศาล- Host ประจำรายการ STORY LIVE”ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันรายการข่าวประเภทรายการฮาร์ดทอล์ค คุยเชิญแขก ตอนนี้มีอยู่เยอะมาก ตลาดแน่นมาก ตัวผู้เล่นรายใหญ่ๆ หรือรายการที่อยู่มานานมีเยอะมาก แต่ก็เป็นความท้าทายในการเข้ามาทำรายการ STORY LIVE ที่ก็ลองผิดลองถูกมาได้สักครึ่งปี ตอนนี้ก็เริ่มยืนพื้น จากที่วันแรกที่เปิดรายการออกมา คนดูสด อยู่ที่หลักสิบหลักร้อย แต่ทุกวันนี้ เดินทางมาถึง อย่างดูสดยืนพื้นสักหนึ่งพัน -สองพัน หรือบางวันที่ประเด็นพีคมาก ๆคนดูสดอาจดันไปถึงเกือบหมื่นได้ ความยากของรายการแนวนี้คือ “ต้องหาจุดแตกต่าง”คือบางทีแขกคนเดียวกัน ไปออกรายการต่างกัน แต่มูสแอนด์ โทนที่เขาพูดกับเราอาจต่างกัน บางคนไปออกรายการทีวี ที่มีแสงสีเยอะๆ เขาก็บอกว่าไปแล้วเกร็ง แต่ของเราด้วยความที่สตูดิโอเรามีข้อจำกัด คือสตูดิโอเราเล็ก เลยทำให้เป็นลักษณะเหมือนบ้าน แขกที่มาก็เหมือนมานั่งคุยกันในบ้าน หลายคนบอกว่ามาแล้วผ่อนคลายกว่า ไม่ต้องใส่สูทมาออกรายการก็ได้ อยากหัวเราะ อยากอะไรก็ได้ ด้วยความเป็นรายการออนไลน์ แขกบางคนคุยแล้ว หากต่อเวลาคุยได้ ก็คุยกันต่ออีกเช่นคุยกันไปสักหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
“ไพศาล-จากนักข่าวภาคสนามของ THE STANDARD ที่ตอนนี้เป็นทั้ง Host และผู้อยู่เบื้องหลังการทำรายการ STORY LIVE ของสำนักข่าว SpringNews” ย้ำว่า การเริ่มต้นทำงานข่าวด้วยการเป็นนักข่าวภาคสนาม ทำให้เราเห็นสนามข่าวจริง -เห็นแหล่งข่าว เห็นบุคลิกคน ได้สัมผัสแหล่งข่าว ผมคิดว่าประสบการณ์ของการทำข่าวภาคสนาม เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่ทำงานในวงการสายข่าว ผมเชื่อว่า ทุกคนที่เติบโตในวงการข่าวทุกวันนี้ ก็เริ่มต้นจากการเป็น”นักข่าวภาคสนาม”เกือบหมดเลย ทุกคนเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน คือการเป็นนักข่าวภาคสนาม ที่ช่วยบ่มเพาะให้เรามองเห็นประเด็นข่าว ที่จะมองมากกว่าที่คนทั่วไปมอง เพราะการเป็นนักข่าวภาคสนามมาก่อน จะหูตาไว มองท่าทีแหล่งข่าว ทำให้รู้จักในการที่จะตั้งคำถามแหล่งข่าว เช่นเจอแหล่งข่าวคนนี้ต้องถามเรื่องอะไร แล้วเจออีกคนต้องถามเรื่องอะไร
“ประสบการณ์ในการทำข่าวภาคสนามเป็นความจำเป็นของในวงการข่าวมาก ถ้าอยากเติบโตในวงการข่าวจริงๆ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าควรต้องมีประสบการณ์สักกี่ปี แต่ผมวางไว้ควรจะสักประมาณห้าปี ก็น่าจะเพียงพอต่อการไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้
อย่างเช่นผมมาทำรายการทอล์ค ความคุ้นเคยในการอยู่สนามข่าว จากการเคยไปติดตามทำข่าวแหล่งข่าว ก็ทำให้แขกตัดสินใจจะมาออกรายการที่ทำง่ายขึ้น ความคุ้นเคยเหล่านี้มันเป็นแต้มต่อมากสำหรับคนทำงานข่าว และช่วยในการเลือกประเด็นข่าวที่จะทำรายการด้วย เช่นการมีอินไซด์ข่าวในเรื่องที่คนไม่ได้เห็นในหน้าจอ”ไพศาล กล่าวไว้ตอนท้าย