รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ
ในช่วงที่สองของเวทีสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ครั้งที่ 19 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเสวนาหัวข้อที่น่าสนใจ ไม่ใช่น้อยนั่นก็คือ
: “The Possible Solution: จะพัฒนา “คนข่าว” ให้ทำงานในNew Journalism Business Ecosystem อย่างไร”
โดยมีผู้ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น-มุมมองในเรื่องนี้ ทั้งคนทำสื่อที่อยู่ในระดับฝ่ายบริหารขององค์กรธุรกิจสื่อ -นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ -ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ก็คือ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น-ผศ. ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
เวทีเสวนาเริ่มต้นด้วยการตั้งประเด็นพูดคุยกันว่า คนทำสื่อ-นักข่าว ยุคปัจจุบัน ควรจะทำงานอย่างไรในระบบนิเวศน์ข่าวใหม่ รวมถึงคนข่าวยุคนี้อยู่กับปัญหาอะไรบ้าง และจะก้าวข้ามไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างไร
สื่อเริ่มไม่แข่งกับตัวสื่อด้วยกันเอง
Pain Point -สื่อไม่รวย
"วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น"ให้ทัศนะว่า หลายภาคส่วนธุรกิจตอนนี้อ้างว่า ขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากมีการสร้างบุคลากรมาไม่ตรงกับสเปค-ทักษะที่เขาต้องการ ซึ่งในฐานะที่เคยร่วมทำกิจกรรมกับสมาคมนักข่าวฯ มาก่อนในอดีตก่อนหน้านี้ เรื่องนี้เราก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นว่า ฝ่ายวิชาการกับฝ่ายวิชาชีพต้องคุยกัน เช่น ฝ่ายวิชาชีพ ต้องการสื่อสารมวลชนแบบไหน ก็เลยมีการคิดโครงการนี้ขึ้นมา ที่ถือว่าเป็นเรื่องดี สิ่งที่อยากฝากข้อคิดไว้เพื่อว่าจะได้นำไปต่อยอดอะไรได้ ก็คือ การสะท้อนถึงปัญหา ที่ Pain Point ที่เห็นเวลานี้ของวงการสื่อในปัจจุบัน ในมุมมองของคนที่ทำงานด้านนี้มาเฉียดๆ จะสี่สิบปี
อันแรกเลยคือ สื่อปัจจุบันไม่ได้แข่งกับสื่อด้วยกัน ผมคิดแบบนี้มาตลอดคือ"สื่อเริ่มไม่แข่งกับตัวสื่อด้วยกันเอง" แต่เราแข่งกับสื่อใหม่ที่เป็นmedia landscape ที่มันค่อนข้างเปลี่ยน อย่าง"กรุงเทพธุรกิจ"ที่ผมทำอยู่ ก็แข่งกับ ผู้จัดการ โพสต์ทูเดย์ ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละวันเราจะรู้เลยว่า เราชนะหรือไม่ชนะ สะใจมาก มันส์มาก
...เมื่อก่อนมันแข่งกับสื่อด้วยกัน แต่มาถึงวันนี้ผมรู้สึกว่า ไม่ได้แข่งกับสื่อด้วยกันเอง เช่น เราแข่งกับ อินฟลูเอนเซอร์ -คอนเทนครีเอเตอร์ ซึ่งหากถามว่า อินฟลูเอนเซอร์ -คอนเทนครีเอเตอร์ เป็น journalist เป็นreporter หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่สำหรับผม แต่ว่าทุกองค์กรสื่อสามารถมีคอนเทนครีเอเตอร์ แต่ถ้าเรียกjournalist หรือ reporter หรือไม่ ในความหมาย ที่เราถูกสอนมาหรือว่าในอาชีพเราที่เราตระหนัก และเราเดินมาตลอด มันไม่ใช่ แต่ตอนนี้เรากำลังแข่งกับคนเหล่านี้ ซึ่งอันตรายมาก
"อันตรายอย่างไร เราแข่งกับ อินฟลูเอนเซอร์ เราแข่งกับคอนเทนครีเอเตอร์ อย่าง อินฟลูเอนเซอร์ ก็มี communityของตัวเอง ซึ่งหลายๆ เรื่อง สินค้าต่างๆ คอร์ปอเรทต่างๆ หรือสปอนเซอร์ต่างๆ เขาเลือกที่จะใช้อิน มากกว่าที่จะเลือกใช้สื่อ มากกว่าหรือไม่ และใช่หรือไม่ อันนี้ฝากเป็นโจทย์ให้นักวิชาการด้านสื่อ และคนที่อยู่ในวงการสื่อได้คิด เขาจ้างอินฟลูเอนเซอร์ เขาได้communityมาด้วย Engagement มันก็ใช่ แต่ก็อยู่ที่ว่าอินฟลูเอนเซอร์ นั้นเป็นอย่างไร เรากำลังแข่งกับอันนี้ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็อีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นความท้าทายและเราก็กำลังแข่ง"
ส่วน Pain Point ที่สอง ที่เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมา คือคนทั่วไป กำลังเข้าใจว่า อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือสื่อ คือคนเข้าใจไปแบบนั้น แต่คนในแวดวงสื่อเราเข้าใจดีว่ามันไม่ใช่ จะเรียกว่า เป็นjournalist หรือ reporter คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่อาจจะก้ำกึ่งหรืออย่างไร แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน คนกำลังเข้าใจผิดว่า อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เหล่านั้นคือสื่อ สิ่งที่สะท้อนไปและเป็นPain Point ใหญ่ก็คือ กำลังล้ำ กำลังเกินเส้นจริยธรรม ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ไม่ใช่แค่โจทย์ใหญ่ในวงการวิชาการ และวงการวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ถ้าตราบใด คนทั่วไป มองว่าสิ่งนั้นคือสื่อ แล้วก็เชื่อแบบนั้น มันจะเข้าใจผิด และจะเป็นปัญหาใหญ่
ปัญหาที่สามคือ ทำให้ประชาชนแยกแยะไม่ออกว่านี้คือสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์ ไม่ต้องยกรายการ หรือยกตัวอย่างอะไรมาอ้าง
"วีระศักดิ์"กล่าวต่อว่า สำหรับ Pain Point ที่สี่ เป็นเรื่องปรากฏการณ์การเข้ามาของ AI มันทำให้ตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่งว่า ปรากฏการณ์ ที่ครั้งหนึ่ง มันเป็นจุดแข็งของสื่อด้วย สมัยที่เทคโนโลยียังไม่ได้มีการพัฒนา เช่น ปรากฏการณ์ Breaking News ของช่อง CNN ที่ตอนนั้นมันยิ่งใหญ่มาก แต่การมาของเทคโนโลยี ของAI ข่าวที่เป็นปรากฏการณ์ ผมว่ามันจบแล้ว คืออะไรที่เป็นข่าวเบื้องต้น ผมว่า AI มันทำงานได้แล้ว มันเลยเป็น Pain Point ที่คนทำสื่อต่อไปต้องพิจารณา
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีการแถลงข่าว มีการถอดเทป เราสั่งให้ AI สรุป มันสรุปเลย แล้วย่อเป็นแบบ summary ซึ่งเมื่อก่อน ตรงนี้มันเป็นอาชีพนักข่าว ตั้งแต่ฟัง -ถอดเทป -จับประเด็น ตรงนี้เป็น Pain Point ที่สำคัญ คือนักข่าวจะเป็นสเต็ปสอง คือทำขั้นที่สอง ส่วนขั้นแรกง่ายๆ ฟัง สรุป ถอดเทป มันเป็นหน้าที่ของ AI ได้เลย
ตอนนี้ผมเชื่อว่า หลายคนที่อยู่ในวงการสื่อ ทำแบบนี้ไปแล้ว มีเครื่องมือที่ช่วยได้เยอะ ตรงนี้เป็น Pain Point ที่ต้องคิดต่อว่า เมื่องานฟัง-สรุป-ถอดเทป AI ทำให้แล้ว เราควรจะทำอย่างไร ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด -เวลาที่มีจำกัด เพื่อให้สื่อมวลชนที่แท้จริงได้ทำสิ่งอื่นที่มีคุณค่าของข่าวมากขึ้น
Pain Point ที่ห้า ที่ผมว่าน่าจะเป็นข้อเท็จจริง คือ "คนทำสื่อไม่รวย" ผมว่าเป็นตั้งแต่วันแรกที่ผมทำข่าวจนถึงวันนี้้ สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ คนทำข่าวไม่มีทางรวย ซึ่ง Pain Point นี้ผมว่ายังมีอยู่ แล้วหันมามองตัวเอง ผมว่านั่นน่าจะใกล้ความจริง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็จะได้คนอีกแบบหนึ่ง คนก็ไม่อยากทำสื่อ แต่เราอยากให้คนทำสื่อ เพื่อที่จะทำหน้าที่ซึ่งคิดว่าทำอะไรกับสังคมนี้ได้
อินฟลูเอนเซอร์
กับหลัก ethic ในการทำงาน
ด้าน"ชวรงค์-ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ"กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า Pain Point ก็คือ challenge ความท้าทายของสื่อปัจจุบันที่มีเยอะมาก
...อย่างที่นายวีระศักดิ์ ยกตัวอย่างมาเรื่องของ อินฟลูเอนเซอร์ เรื่องนี้เริ่มมีการคุยกันในสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการยกประเด็นขึ้นมาว่าในเมื่อ ความเข้าใจของสาธารณชนว่า อินฟลูเอนเซอร์ คือสื่อ คือชาวบ้านที่บริโภคสื่อ เขาแยกไม่ออก ก็มีคำถามโยนมาที่ทีมของพวกเราว่า ทำอย่างไรที่เราจะengage กับอินฟลูเอนเซอร์ แล้วไปดูว่าเขาคิดอะไร -อย่างไร และทำอย่างไรให้เขามีหลักที่ยึด แบบที่เรายึด
แน่นอนหลักจริยธรรม เขาอาจจะมีไม่เหมือนเรา เขาอาจมีเกณฑ์จริยธรรมของเขาอีกแบบหนึ่ง เราก็มีของเราแบบหนึ่งที่เราทำ-เรายึดกันมาตั้งนานแล้ว ดังนั้น เราก็จะเห็นว่า อย่างปัจจุบัน สภาการสื่อมวลชนฯ ก็มีหลักสูตรเล็กๆ ชื่อว่า"กระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อหลังโลกาภิวัฒน์" คือเรานำเสนอความรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วสื่อไทยเวลาเรามอง Local content ต่างๆ ให้มองทุกอย่างเชื่อมโยงกับโลก เพราะทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เกิดอยู่ในประเทศนี้แล้วก็อยู่แต่แค่ในประเทศนี้เท่านั้น แต่ว่ามันเชื่อมโยงกับโลกหมด เช่นเรื่องโลกร้อน ,ปัญหาภูมิอากาศที่เราเจออยู่ ก็เอาธีมนี้มาจัด และเป็นครั้งแรกที่เราเอาอินฟลูเอนเซอร์ เข้ามาร่วมอบรมด้วย โดยเราก็มีการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ใช่อยู่ๆ ไปจิ้มมา แต่เลือกอินฟลูเอนเซอร์ ที่ทำเรื่องข้อมูลข่าวสาร ก็เป็นจุดร่วมกัน คือเขาก็สามารถใช้องค์ความรู้จากตรงนี้ไปต่อยอดได้ด้วย และเราก็กำลังนัดกับบริษัทที่เขาดูแลอินฟลูเอนเซอร์ ว่าเราจะทำอะไรร่วมกัน เพื่อสร้างมาตรฐาน
"ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ" ที่เคยเป็นอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2554 – 2555 ให้ข้อมูลว่า การที่เราจะคุยกับอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อให้มีมาตรฐานจริยธรรม ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดตั้งแต่ตอนช่วงปี 2553 ที่ตอนนั้นอินฟลูเอนเซอร์ ยังไม่เยอะขนาดนี้ โดยอินฟลูเอนเซอร์ สายที่เราพยายาม Engageก็คือ สายTecn แล้วก็มีสายรถยนต์ สายบิ้วตี้
..ก็เริ่มเกิดจากสายTech ก่อน โดยเกิดขึ้นจาก มีการแถลงข่าวเปิดตัวโทรศัพท์ ไอโฟน ทางบริษัท ก็เชิญทั้งนักข่าวและอินฟลูเอนเซอร์ แล้วเขาก็แจกไอโฟน แต่สื่อถามว่ารับได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ต้องคืน แต่อินฟลูเอนเซอร์รับไอโฟนเสร็จ เขาทวิสเตอร์โชว์เลย ว่าเขาได้ไอโฟนมา ซึ่งมันต่างกันแบบฟ้ากับเหวเลย ก็เลยเริ่มคิดว่าควรจะคุย ควรจะengageกันหรือไม่ ตอนนั้นก็มีการนัดคุยกัน เช่น อินฟลูเอนเซอร์ เขาเห็นว่าเขาควรมีเรื่องของจริยธรรม ของเขาหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยในหลักการว่าควรจะมี ซึ่งตอนนั้นเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหม่มาก ก็มีการแจกการบ้านกันไปว่า ลองไปศึกษาว่าประเทศอื่นมีหรือไม่ แต่ปรากฏว่าตอนนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฯ (ปี 2554) ก็วงแตก เลยไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่ผมว่าวันนี้ อินฟลูเอนเซอร์ มันซับซ้อน มันเยอะกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาเยอะมาก วันนี้เรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ และเราก็กำลังทำเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเมื่อเราได้engageกับเขา ตั้งแต่ชวนเขาเข้ามาร่วมอบรมกับเรา ก็คงได้มีเอนเกจเมนต์ กันต่อไปในอนาคต ซึ่งอันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะพัฒนากันต่อไปอย่างไร จะต้องมาดูว่าเมื่อเรามีหลัก ethic แล้ว ก็คงมาดูกันต่อไปว่าแล้วเราจะมาพัฒนาร่วมกันต่อไปอย่างไร คนของสื่อเรา ที่เป็นสื่อหลัก เราจะพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันเขา ให้มันอยู่ใน level ที่อย่างที่คุณวีระศักดิ์บอกว่าเราไม่ได้แข่งกับสื่อด้วยกันเองแล้ว แต่เราต้องแข่งกับเขา(อินฟลูเอนเซอร์ )ด้วย แล้วเราจะแข่งกันอย่างไร
เพราะอย่างที่รู้กันในวงการสื่อว่าวันนี้เรื่องของรายได้ของสื่อออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ที่มีอยู่ในตลาด เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ไปที่Global platformและอีก 20 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศ ซึ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังกล่าว ครึ่งหนึ่ง รายได้ไปที่ อินฟลูเอนเซอร์ และเหลืออีกครึ่งหนึ่ง คือ 10 เปอร์เซ็นต์มาที่พวกเราอย่างที่นั่งกันอยู่วันนี้ ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก
ผศ. ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราไม่ได้เป็นประเทศเดียว ที่เผชิญความไม่แน่นอนในเรื่องของสื่อ เราอยู่ในภาวะที่เราต้อง Being professional คือต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย แต่เราอยู่ใน uncertainty industry คือไม่มีความแน่นอนเลย และมันก็เป็นแบบนี้ทั่วโลก เราไม่รู้เลยว่า Career Path(เส้นทาง-ความก้าวหน้าในสายอาชีพ) ที่สำคัญๆ เราจะไปถึงตรงไหนได้ นักข่าวที่อยู่ในอาชีพเอง บางทีก็ยังมองไม่เห็นว่าตัวเองจะไปจบที่จุดไหน เวลาดู จะขยับขึ้นไปอีกได้หรือไม่ หรือเงินเดือนจะอยู่แค่ระดับนี้ แล้วจบเพียงเท่านี้หรือไม่
...อย่างนิสิตนักศึกษา แม้เขาจะเลือกมาเรียนนิเทศศาสตร์ แต่วันที่ต้องเลือกว่าจะไปทำงานองค์กรสื่อ เขาก็ต้องคิดเหมือนกันว่าเขาไปได้แค่ไหน หรือเขาจะไปทางไหนได้บ้าง อย่างเวลาเขามาลองกางเงินเดือนนักข่าว อย่างที่คุณวีระศักดิ์บอกว่า นักข่าวไม่รวย เขาก็อาจไปทำงานตรงอื่นที่ได้เงินเยอะกว่า แล้วเขาก็อาจคิดว่าจะต้องเหนื่อยแบบนั้นเลยหรือ ทำให้มันก็จะเหลือคนที่มีอุดมการณ์ หรือมี passion เช่นบอกว่าอยากเข้าไปเปลี่ยนสังคม แต่ก็มีน้อยที่จะใช้คำนี้ แต่เมื่อนำ Value Chain ของวารสารศาสตร์มาพิจารณา เราก็จะเห็นว่า มันมีทักษะมากกว่าที่เราเคยคิดว่าเป็น core journalist มาก คือ core journalist ที่เราเคยมีเช่น การ report การรายงานข่าวคือสิ่งสำคัญเรายังต้องมีอยู่ เพราะวารสารศาสตร์ คือรากของสื่อสารมวลชน และเราก็บอกนักศึกษาอยู่เสมอว่า คุณอาจไม่อยากเรียนจบแล้วไปเป็นนักข่าวก็ได้ แต่ถ้าคุณเข้าใจเรื่องวารสารฯ base ที่สำคัญของ fact มันทำให้คุณต่อยอดได้ ที่เราไม่ควรทิ้งมันไป แต่มันก็จะปรับเปลี่ยนหน้าตาไป เพราะเราเองก็จะสอนแบบเดิมไม่ได้ Value Chain ที่มีทั้งเรื่องการทำเนื้อหา เรื่องของ audience การกระจายเนื้อหาไปสู่ผู้คน และ Business Model มันมีทักษะ และ knowledge ที่ต้องทำอีกเยอะมาก ซึ่งในหนึ่งหลักสูตร หรือหนึ่ง training การฝึกอบรม เราต้องหา specialize ให้เจอ เพื่อดูว่าใน Value Chain นี้คุณจะโดดเด่นที่จุดไหน เพื่อให้สุดท้าย เขาสามารถที่จะไปเชื่อมกับคนอื่นได้
"ผศ. ดร.สกุลศรี นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พบว่าทั่วโลก ก็มีการปรับหลักสูตร(การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์) อย่างมีงานวิจัยที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกา -อังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ ไปในทางคล้าย ๆกันว่า ต้อง Beyond Journalism ก็คือแน่นอนว่ามันจะมีสองขาเวลาเราสอนในสาขา J-school คือ ขาที่เรารู้ว่านักศึกษาจะออกไปทำข่าวแน่ๆ ต้องเก็บไว้ แม้อาจไม่เยอะ ก็ต้องใส่ความเป็น specialize ลงไป เพราะหากเราสอนเด็กแค่ว่า คอยรายงานข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ value ที่ต้องมีเช่น การเข้าถึงแหล่งข่าวได้มากกว่าที่รายงานข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นได้หรือไม่ หรือการมองประเด็นข่าวได้มากกว่า คือนักข่าวต้องทำข่าวที่context ได้ in-depth มากขึ้น
....ซึ่งมันก็น่าเสียดายที่เวลาเราเปิดวิชาเช่น ข่าวสืบสวน จะมีเด็กนักศึกษามาเรียนน้อยมาก เพราะเขาไม่เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน อย่างเวลาถามถึงเรื่องจำนวนข่าวสืบสวน มันก็น้อย เขาก็ไม่เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่เหมือนตอนเราสมัยก่อน ที่เราเรียนนิเทศศาสตร์ว่านักข่าวเท่ห์มากเลย เขาเปิดโปงคนนั้น เขาทำอันนี้ คือตอนนี้มันก็ยังมี แต่มันไม่ถูกทำให้ชัดขึ้น เด็กรุ่นใหม่ ความรู้สึกของเขา ก็เลยยังไม่เกิดความรู้สึกว่าเขาอยากเปลี่ยนโลกใบนี้ เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ความรู้สึกของเด็กรุ่นใหม่เขามี แต่เขาไม่รู้ว่าอาวุธของ Journalism มันเป็นอาวุธที่ดีมากในการทำสิ่งนั้น เขาก็เลยไม่แน่ใจว่าเขาจะไปอย่างไร ที่เราต้องทำให้เขาเห็น มีตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเขาไปได้
...อันหนึ่งที่เป็นเทรนด์มากๆ ก็คือใส่การสอนเรื่อง"ผู้ประกอบการ"เข้าไปด้วย ซึ่งหากย้อนกลับไปสมัยที่เราเรียนนิเทศศาสตร์ วิชาที่สอนเรื่อง Business ที่จะมาสอนให้เราเข้าใจเรื่อง business ของงานข่าวจะไม่มี มันจะมี mind-set หนึ่งว่าถ้าเราสอนเด็ก JR เราต้องไม่ให้เขาแตะ business เพราะเรากลัวว่า เขาจะหลุดจากอุดมการณ์ แต่ในความเป็นจริง การสอนให้เขาเข้าใจเรื่องธุรกิจ คือการติดเกราะคุ้มกันที่ดีให้เขา
เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาเข้าใจว่า ธุรกิจเป็นแบบนี้ ออกไปต้องเจอแรงกดดันแบบนี้ แต่คุณต้องรักษา Value Journalism ของตัวคุณไว้ ก็จะทำให้เขารู้วิธี เวลาเขาไปที่หน้างาน เขาก็จะเข้าใจว่ามันต้องได้ยอด ต้องได้การรีวิว ได้เรตติ้ง แต่จะรักษาบทบาทของตัวเองไว้อย่างไร ดังนั้น มุมมองทางธุรกิจก็สำคัญเพราะสุดท้ายนักข่าว ก็ต้องเข้าใจว่าเราจะทำคอนเทนต์ของเราให้เข้าถึงคนอย่างไร ทำแล้วจะนำไปเสนอแต่ละแพลต์ฟอร์มของสื่อได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งมองว่า จะมีเรื่องของรายได้อะไรบ้าง ที่จะทำให้เขามีcreativity มากขึ้นในการดีไซน์คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ บวกกับอยู่รอดได้ คือเราต้องมีทั้งอุดมการณ์ มีประโยชน์สาธารณะ และอยู่รอดได้
กำแพงจริยธรรมสื่อ
ช่วงหลังหลุดหมด-หย่อนยาน
ประเด็นที่ ผศ. ดร.สกุลศรี กล่าวว่า คนทำสื่อต้องมีทั้งอุดมการณ์ -นำเสนอข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะและอยู่รอดได้ ทำให้ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับ "วีระศักดิ์"ว่า ทางเครือเนชั่นฯ จะทำอย่างไรให้คนข่าวทั้งรุ่นใหม่-รุ่นเก่า อยู่บนเส้นดังกล่าว เรื่องนี้ "บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น" มีมุมมองว่า เมื่อก่อนเราจะถูกสอนให้มี chinese wall กำแพงกั้นรุนแรงมาก แต่ช่วงหลังๆ มันค่อนข้างหย่อนยาน มันก็มีอย่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จากเมื่อก่อนกำแพงเข้มมาก อย่างสมัยคุณสุทธิชัย หยุ่น อยู่ที่เนชั่นฯ ฝ่ายขายกับกองบก.ที่อยู่คนละชั้นกัน ก็บอกฝ่ายขายห้ามขึ้นมาที่กองบก. ห้ามเจอกับกองบก. ขนาดนั้นเลย เมื่อก่อนเข้มมาก แต่ระยะหลังกำแพงพวกนี้มันหลุดหมด แล้วเกิดอาชีพที่คนไม่รู้เลยว่า เป็นสื่อมวลชน หรือเป็น อินฟลูเอนเซอร์ -คอนเทนครีเอเตอร์ หรือเป็นฝ่ายขาย คือแยกไม่ออกเลย ที่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ต้องมานั่งคิด ต้องมา เวิร์กชอป มาดีเบต เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่ามันคืออะไร
"วีระศักดิ์"กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนเราถูกสอนว่า Content is King อันนี้คือจบเลย หาก content คุณดี คุณคือสุดยอดของคนทำสื่อ ณ ตอนนั้น จะทำข่าวเจาะลึกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนหลังมันก็มีการพรีเซนต์ด้วย มีการเล่าเรื่อง มี storytelling ที่มันสำคัญมาก เพราะแม้คุณมี content ดี แต่ storytelling ไม่ใช่ หรือเล่าเรื่องไม่เก่ง ก็ไม่ใช่เลย ซึ่งบางสำนักสื่อใช้ตัวนี้นำ แต่หากถามผม ผมว่าต้องให้ content นำ แต่ว่า Content is king อย่างเดียวอาจไม่เวิร์ค ต้องนำเรื่องการพรีเซนต์มาใช้ด้วย แต่ต้องเล่าเรื่องให้มันใช่ และมายุคนี้ ต้องมีเรื่องของแพลตฟอร์มด้วย จากผลของเรื่องเทคโนโลยี การสื่อสาร เพราะหาก content ดี storytelling ดี แต่หากคุณเลือกแพลตฟอร์มผิด ก็จบเหมือนกัน เพราะแพลตฟอร์มสำคัญ ตรงที่เป็นเรื่องของ Gen อายุและตัวบุคคล ก็จะทำให้การเล่าเรื่องต่างกัน
อย่างการเล่าเรื่องใน facebook กับการเล่าเรื่องในหนังสือพิมพ์ ก็ต้องต่างกัน ทั้งที่คอนเทนต์อันเดียวกัน แต่การเล่าเรื่องต้องเล่าเรื่องคนละแบบกันในแต่ละแพลตฟอร์ม ถึงจะ success ของคนที่ทำสื่อ และคนทำธุรกิจสื่อ
ในช่วงหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการได้ถาม ผศ. ดร.สกุลศรี ถึงการที่ นักศึกษานิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ช่วงหลัง เมื่อมาฝึกงานกับองค์กรสื่อต่างๆ แล้ว พอเรียนจบ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากเข้ามาเป็นนักข่าว อยากรู้ว่า คนรุ่นใหม่เขามีวิธีคิดอย่างไร เพราะหลายออฟฟิศสื่อ ก็ยังเปิดรับสมัครนักข่าว แต่ปรากฏว่าไม่มีนักศึกษาที่เรียนจบด้านนี้ไปสมัครทำงานเป็นนักข่าว
คำถามนี้ มีคำตอบจากนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ -ดร.สกุลศรี ที่ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เจอในรั้วมหาวิทยาลัย กลางเวทีเสวนาฯ ว่า ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับคนที่สอนด้วย
...แต่จริงๆ เด็ก-นักศึกษาก็มีเป้าหมายในชีวิตของเขาอยู่บ้าง ทำให้บางคน เรียนแล้วได้ประสบการณ์ และเขารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้ ก็มาช่วยเติมเต็มหรือมาต่อจิ๊กซอว์ให้ไปทำอย่างอื่น โดยใช้ฐานที่ได้ก็เหมาะกับตัวเขาเอง มันไม่ได้หมายความว่าเขา negative กับวงการข่าว หรือไปฝึกงานมาแล้ว ไม่ชอบ เพราะหลายครั้งก็เห็นเขาก็แฮปปี้กับสิ่งที่ได้ไปเห็น ได้ไปฝึกและรู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาบางอย่าง แต่ว่ามันไปต่อจิ๊กซอว์สิ่งอื่นที่เขาสนใจมากกว่า และเด็กเขาก็เสพสื่อแบบที่ไม่ได้ตามองค์กรสื่ออย่างจริงจัง ที่แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เวลาถามว่า ตามสื่ออะไร ก็ยังมีชื่อสำนักสื่อที่ pop-up ขึ้นมา แต่เดี๋ยวนี้ก็น้อยลง หรืออย่างในห้องเรียน เวลาถามว่าติดตามสื่ออะไร ก็ยังเกือบไม่เหมือนกันทั้งห้องเลย จึงมีความ niche มาก มีความ Personalize ตามความสนใจของพวกเขา และเขาก็อยู่กับเครื่องมือที่ทำสื่อได้หลากหลาย
โจทย์ของเขาก็คือ เขาอยากทำสื่อ เขาก็ทำได้เลย ไม่ต้องอยู่ในองค์กรสื่อก็ได้ ขณะเดียวกัน การทำสื่อของเขา ก็มองว่าเป็น job freelance ได้เลย โดยก็ยังมีงานอื่นที่ทำได้ เด็กที่เข้ามาเรียน แล้วบอกว่าอยากเป็นนักข่าว แล้วไปฝึกงานแล้วกลับมาบอกว่าจะออกไปเป็นนักข่าว เอารุ่นหนึ่งให้มีสัก 5 เปอร์เซ็นต์ยังต้องลุ้นเลย อันนี้เป็นความจริง แต่ก็เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ที่เรามองว่าเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ที่แข็งแรง ต่อให้มี 10 คน แล้วสุดท้าย มี 2-3 คนที่เขาออกไปเป็นนักข่าว อันนี้คือเขาอยากเป็นจริงๆ ก็ทำให้เราคัดแล้วว่าเป็นครีมจริงๆ พอส่งไปในอุตสาหกรรมสื่อ เขาก็ไปต่อได้
หลายคนที่เป็นแบบนี้ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นนักข่าวอยู่ เราก็มองว่าเราคงไม่สามารถป้อนให้อุตสาหกรรมได้ในเชิงปริมาณ แต่ถ้าเรามีน้อย แต่ดีในระดับหนึ่ง เพราะเขามี passion ที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมได้ เราก็ยังอยากทำต่อ
สเปคนักข่าวยุคปัจจุบัน
ที่องค์กรสื่ออยากได้มาร่วมงาน
ประเด็นดังกล่าวทำให้ "วีระศักดิ์-บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น" กล่าวเสริมว่า ในมุมของคนที่อยู่ในองค์กรสื่อ ที่ต้องรับนักศึกษาที่เรียนจบเข้ามาทำงานในวิชาชีพสื่อ พบว่า วิชาที่สอนด้านนิเทศศาสตร์ หากยังทำแบบแตะๆ ผมว่า จบ คือต้องทำแบบ เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ให้เขามีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ มากขึ้น เพราะพวกเราต้องการได้นักข่าวที่รู้เรื่องนั้นจริง ที่ผ่านมา ที่รับคนไม่ได้ หาคนไม่ได้ ทั้งที่จำนวนปริมาณมีเยอะ
...แต่สิ่งที่กองบก.บ่นกันในเครือเนชั่นฯ ที่มีด้วยกัน 10 สื่อคือ หานักข่าวไม่ได้ คำว่าหานักข่าวไม่ได้คือ หาคนที่ตรงสเปก ที่จะมาทำไม่ได้ คือต้องมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตรงนี้ที่มันเกี่ยวข้องเพราะธุรกิจสื่อปัจจุบัน กับธุรกิจทั่วไป คือเป็นเรื่องของ segment คือ ใครทำสื่อแบบ mass ผมว่าจบในยุคปัจจุบัน เมื่อก่อนคนก็จะบอกว่าทำสื่อ mass ก็ดี คนจะเข้าร่วมเยอะ มีการ engage เยอะ ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ใช่ คนทำสื่อจะรู้ดี ว่าต้อง segment หมด
เมื่อเป็น segment คนข่าวที่ต้องการจะได้ ไม่ใช่คนข่าวแบบรู้อะไรก็ได้ ไม่ใช่ แต่ต้องได้คนข่าวแบบที่รู้จริงใน segment นั้น เมื่อก่อน คนข่าวก็คนข่าว นักเขียนก็นักเขียน นักวิเคราะห์ก็นักวิเคราะห์ แต่ผมว่าถ้าจะสร้างคนข่าวในยุคที่ธุรกิจสื่อต้องการเป็น segment ไม่ใช่ mass ก็ต้องได้นักข่าวที่ segment ที่รู้เรื่องนั้นจริงๆ
"บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น" ย้ำว่า ในนิยามของผม ถ้าถามว่า นักข่าวยุคใหม่ต้องมีทักษะอะไรบ้าง เพื่อตอบโจทย์ในการค้นหาคนมาร่วมทำงาน ก็เช่นมีความเป็นนักเขียน เมื่อก่อนนักข่าวกับนักเขียน แยกกัน นักข่าวก็คือนักข่าว นักเขียนก็คือนักเขียน อย่างสายวรรณกรรม เขียนเรื่องสั้น เรื่องยาว คนเขียนบทภาพยนต์ นักข่าวก็คือนักข่าว แต่การเล่าเรื่อง storytelling สำคัญ วิธีการเล่าเรื่องสำคัญ แพลตฟอร์มสำคัญ Content is King บวกกับ การพรีเซนต์ต่างๆ ภายใต้แพลตฟอร์มต่างๆ
...การเล่าเรื่อง นักข่าวยุคพวกผม จะเล่าไม่ค่อยเก่ง อย่างที่มาจัดรายการทางทีวี เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นอุบัติเหตุ เพราะเป็นคนที่ชอบอยู่หลัง อยู่เบื้องหลังมาตลอด เพราะนักข่าวชอบอยู่เบื้องหลัง ไม่ชอบอยู่ข้างหน้า ไม่ชอบเล่าเรื่อง ไม่ชอบพูด แต่ความเป็นนักข่าวยุคใหม่ต้องเล่าเรื่องเป็น แต่ไม่ใช่พูดอย่างเดียว เขียนด้วย จึงต้องมีความเป็นนักเขียน ซึ่งการเป็นนักเขียน ทักษะนี้ต้องได้มาจากการต้องอ่าน ต้องฟัง เช่นการเขียนบทภาพยนต์ ให้มันกระชับ ใช้คำน้อยแล้วมีพลัง ต้องทำยังไง การพูดก็เหมือนกัน หากเราหัดพูด หัดทำ สคริปต์ลงในยูทูป ลองดู บางคำตัดออกไป แล้วความหมายยังได้ นี้คืออารมณ์ของนักเขียน ไม่ใช่นักข่าว
เรื่องแบบนี้ถ้านักข่าวที่ดี หรือคณะที่สอน(ด้านการสื่อสารมวลชน) จะใส่ความเป็นนักเขียนไปด้วย มันจะใช่ นักข่าวยุคใหม่ต้องมีความเป็นนักเขียน และต้องมีความเป็นนักวิเคราะห์ คือเป็นนักวิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจง มีความเชี่ยวชาญ คือรู้เรื่องนั้นจริง เพราะเมื่อเป็น segment คือมึงต้องลึกจริงๆ เพราะอย่างที่บอกตอนแรก คนทำสื่อ หากคุณทำแค่ปรากฏการณ์ คุณจบครับ ชีวิต เพราะทุกคนในโลกนี้ ทำหน้าที่ปรากฏการณ์ได้หมด เพราะมีเครื่องมือต่างๆ และสร้างได้ด้วย เมื่อปรากฏการณ์จบ โลกของ segment จึงต้องมีความลึก ต้องมีความเป็นนักเขียน ต้องรู้เรื่องนั้นจริง อยู่ในสายไอที ก็ต้องรู้เรื่องไอทีจริงๆ อยู่สายหุ้น ก็ต้องรู้เรื่องหุ้นจริงๆ หุ้นแปดร้อยตัว คุณต้องรู้จักผู้บริหารยังไง จะวิเคราะห์หุ้นยังไง หุ้นกู้ที่ออกมาเป็นอย่างไร ต้องรู้แบบนั้นเลย อยู่สายการเมือง ก็ต้องรู้การเมือง แต่ไม่ใช่รู้การเมืองแบบปิงปอง คนนี้พูดทีหนึ่ง ก็พาดหัวทีหนึ่ง อีกคนพูดที ก็พาดหัวทีหนึ่ง ที่ก็คือ คุณต้องspecializeและต้อง segment มากขึ้น ต้องมีความลึก ซึ่งหากสร้างคนเหล่านี้ได้ ก็จะตอบโจทย์ทั้งคนที่ผลิตออกมาและคนที่อยู่ในวงการสายวิชาชีพสื่อ