รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวสิ่งแวดล้อมบนหน้า “สื่อกระแสหลัก” ลดน้อยลงมากจนแทบจะเลือนหายไป บางข่าวที่เป็นประเด็นดังและคดีใหญ่บนหน้าหนึ่ง เช่น การลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ข่าวความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ หรือชุมชนกับโรงงานของบริษัทเอกชน แต่ข่าวเหล่านี้มักได้รับความสนใจเพียงไม่กี่วัน ก่อนถูกเบียดออกไปด้วยข่าวดราม่าโซเชียลที่เรียกเรตติ้งและให้กระแสได้มากกว่า
ความกดดันจากโครงสร้างของวงการสื่อที่เน้นยอดเรตติ้งและกระแสไวรัล ทำให้ข่าวสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าไม่คุ้มทุนและไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีความยากและท้าทายในการทำงาน เพราะเป็นข่าวที่มีความซับซ้อน และต้องใช้องค์ความรู้หลายด้าน ไม่ใช่แค่การบอกเล่าถึงความขัดแย้งเท่านั้น
ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดอบรมประเด็นความยุติธรรรมทางสิ่งแวดล้อม หัวข้อ “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” โดยจัดขึ้นทั้งหมด 2 รุ่น ที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน และ จ.ระยอง ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นการให้ความรู้การทำข่าวสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งสื่อมวลชน และนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชน
“ปัญหาของข่าวสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่แค่สารเคมีที่ถูกทิ้ง แต่คือระบบที่ปิดกั้น”
“การทำข่าวสืบสวนสิ่งแวดล้อม ทักษะที่นักข่าวต้องมี ไม่ได้แตกต่างจากการทำข่าวสืบสวนประเภทอื่นๆ คือต้องรู้จักสังเกต สืบค้นหาข้อเท็จจริง แกะรอยไปตามข้อมูลและเบาะแสที่ถูกทิ้งไว้และที่ได้มา เหมือนกับการไล่ต่อจิ๊กซอร์ เช่น การลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม เลขทะเบียนรถสามารถจะบ่งบอกไปถึงตัวบริษัทได้ เพราะรถที่ขนสารเคมีได้จะต้องได้รับอนุญาตเฉพาะ นอกจากนี้พฤติกรรมของบริษัทที่รับจ้างลักลอบไปทิ้ง มักจะนำไปทิ้งจุดเดิม หรือต่อให้เปลี่ยนไปทิ้งที่ใหม่ ก็จะไม่ไกลไปจากรัศมีเดิม เพราะหากออกไปไกลจากจุดเดิมมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ก็มากขึ้นเท่านั้น”
มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าว “ข่าว 3 มิติ” หนึ่งในวิทยากรการอบรมฉายภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของคนข่าวภาคสนามในการทำข่าวเจาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่างเมื่อครั้งที่เขาลงพื้นที่ติดตามข่าวการลักลอบทิ้งกากสารเคมีอุตสาหกรรม ต้องใช้ทั้งการเฝ้าสังเกตและการแกะรอยจากเบาะแสเล็กๆ ก่อนที่จะขยายไปถึงตัวบริษัทที่เป็นผู้ลักลอบนำกากสารเคมีอุตสาหกรรมไปทิ้ง เขาเล่าว่าในการทำงานข่าวสืบสวนสิ่งแวดล้อมยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ข้อมูล บางครั้งเจอคนที่เป็นพวกเดียวกับผู้กระทำผิด ก็ทำให้นักข่าวเขวได้ จึงต้องใช้วิจารณญาณ ที่สำคัญสื่อควรที่จะมีแหล่งข้อมูลที่เป็นกลาง เพื่อช่วยในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีส่วนได้เสีย
“นักข่าวที่ทำข่าวประเภทนี้ต้องมีความรู้เฉพาะด้านหลายอย่าง รวมถึงความรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางครั้งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการช่วยหาคำตอบ เพราะเราไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้ด้วยตัวเองเพียงแค่การมองด้วยสายตา ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น เรื่องกากขยะอันตราย หน่วยงานที่เชี่ยวชาญและรับผิดชอบคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าเราไปเจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดี มีส่วนได้เสีย เขาอาจให้ข้อมูลเราผิดเพี้ยน แค่นั้นก็ทำเราหลงทางแล้ว หรือแม้แต่สารเคมีที่พบว่าเป็นสารอะไร แต่ถ้าเราไปเจอคนที่มีจิตสำนึก เขาจะชี้เป้าให้ได้ว่าของแบบนี้ต้องเป็นบริษัทประเภทนี้เท่านั้น บริษัทอื่นไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับมาได้ เบาะแสเพียงแค่นี้ก็จะช่วยนำทางเราได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญต่อให้มีหลักฐานแล้ว นักข่าวเองก็ต้องมั่นใจว่าหลักฐานนั้นจะเพียงพอในชั้นศาล เพราะโทษปรับของคดีเหล่านี้ต่ำมาก จนไม่จูงใจให้บริษัทเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น โทษปรับแค่ 200,000 บาท แต่การลักลอบทิ้งสารเคมี ทำให้ให้บริษัทประหยัดได้มากกว่านั้นอีกหลายเท่า จึงทำให้กล้าที่จะก่อเหตุ”
คนข่าว 3 มิติ ยังสะท้อนจากประสบการณ์ในการทำข่าวกากอุตสาหกรรมให้ฟังว่า นอกจากอุปสรรคทางข้อมูลแล้ว การทำข่าวสิ่งแวดล้อมหลายครั้งที่นักข่าวยังเจอปัญหา “ประเด็นตัน” บางครั้งเกิดจากระบบที่ล้มเหลว เช่น สั่งปิดโรงงานตามกฎหมายแล้ว แต่ยังลักลอบดำเนินการต่อโดยไม่มีการลงโทษขั้นสูงสุด และหน่วยงานรัฐเองบางครั้งก็เลือกที่จะ “ปล่อยผ่าน” ปัญหาเหล่านั้น
“ผลสำเร็จของการทำข่าวไม่ใช่แค่มีการออกคำสั่งทางกฎหมาย แต่มันอยู่ที่ว่าพฤติกรรมการละเมิดนั้นหยุดลงจริงหรือไม่ บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าผมทำเต็มที่แล้ว แต่ความจริงแล้วตามกฎหมาย หากมีคำสั่งแล้วยังฝ่าฝืนทำต่อ โทษมันต้องแรงขึ้นเป็นสเต็ปๆ ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาตหรือดำเนินคดีอาญา หากเราไม่รู้ข้อกฎหมายตรงนี้เราก็จะจมอยู่ในวังวนว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำเต็มที่แล้ว ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว และตัวเราเองก็ทำเต็มที่แล้วออกข่าวไปแล้ว แต่ปัญหานี้จะวนซ้ำไปเรื่อยๆไม่ได้ถูกแก้ไข ซึ่งเราต้องจี้เจ้าหน้าที่รัฐให้ได้ เพราะกฎหมายมันมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ”
การอบรม “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” นอกจากการบรรยายในหัวข้อต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้าใจในการทำข่าวสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งประมวลความรู้พื้นฐานสถานการณ์ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในประเทศไทย เช่น คำศัพท์เฉพาะ ข้อกฎหมายที่ต้องรู้, ข้อมูลเชิงลึกการขยายตัวของปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และการผลักดันให้ข้อมูลมลพิษต้องเป็น "ข้อมูลเปิด” , พื้นที่ประสบภัยและรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดย ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม , ความเป็นมาและความจำเป็นในการผลักดันร่างกฎหมาย PRTR โดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ , ถอดบทเรียนการทำคดีกากอุตสาหกรรม โดย มนตรี อุดมพงษ์ ข่าว 3 มิติ , ถอดบทเรียนการต่อสู้ทางกฎหมายคดี โดย ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความ และปัญหาเชิงเทคนิคที่นักข่าวควรรู้ในการทำข่าวโรงงานอุตสาหกรรม
ยังมีการพาผู้เข้าร่วมอบรมลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์จริงของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของเสียอันตราย กลุ่มทุนจีน ที่ จ.ปราจีนบุรี และโรงงาน วิน โพรเสส บ้านหนองพะวา ที่ จ.ระยอง และรับฟังพูดคุยกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
“ชาวบ้านอาจชนะในศาล
แต่ไม่เคยชนะในชีวิตจริง”
สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนถึงประเด็น “ความยุติธรรรมทางสิ่งแวดล้อม” ที่ผ่านมาการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หลายคดีที่จบลงด้วยการที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะคดี แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมา ไม่ต่างจากชัยชนะที่สูญเปล่า เพราะแม้คำตัดสินของศาลจะยืนยันชัยชนะของประชาชน แต่ความเสียหายจากสารพิษที่ปนเปื้อนสู่ดินและน้ำยังคงอยู่ ขณะที่โรงงานผู้กระทำผิดมักอ้างว่าล้มละลายเพื่อหลีกเลี่ยงการชดเชยเยียวยา
“ ที่ผ่านมาเวลาเกิดปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ผลกระทบและความสูญเสียค่อนข้างมาก ทั้งพื้นที่ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เพราะสารเคมีต่างๆ เมื่อปนเปื้อนลงสู่ดินและแหล่งน้ำ มันยากต่อการฟื้นฟูให้กลับมาคืนสู่สภาพเดิม สิ่งเดียวที่ชาวบ้านทำได้ คือการลุกขึ้นสู้ขอความยุติธรรมให้ตนเอง
แต่ทุกคดีที่มีการฟ้องร้องไว้ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ราชบุรี , จ.ระยอง หรือที่ จ.เพชรบูรณ์ แม้ชาวบ้านจะชนะคดีแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับคืนมาจริงๆ มีแค่คำพิพากษาว่าเป็นผู้ชนะคดีแล้ว เป็นชัยชนะในเอกสารทางกฎหมาย แต่ความเสียหายกลับอยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านไม่เคยได้รับเงินชดเชยเยียวยาจากทางโรงงานเลย เพราะโรงงานจะอ้างว่า “ฉันไม่มีเงินแล้ว” “ฉันล้มละลายแล้ว” สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากชัยชนะนั้นจริงๆ คือ ชีวิตของพวกเขายังต้องทุกข์ทรมานกับสารพิษเหล่านั้นเหมือนเดิม... ”
การจับมือร่วมกันของภาคีเครือข่าย จัดอบรมสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายหลักคือการสร้าง “ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และสร้างเครือข่ายร่วมกัน ทั้งในกลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มภาคประชาชน ประชาสังคม หน่วยงานรัฐ สร้างความเข้าใจที่ตรงกันร่วมกัน เพื่อจะทำให้การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน สามารถเป็นไปได้อย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่การที่มีชาวบ้านมาร้องเรียนว่ามีสารเคมีถูกลักลอบทิ้ง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จุดชุดลงไปตรวจสอบ แล้วจบลงแค่การบอกว่าสั่งปิดโรงงานแล้ว... แต่ยังต้องการแรงขับเคลื่อนจากสังคมในทุกระดับ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และส่งเสียงของชาวบ้านไปให้ถึงผู้มีอำนาจ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รับความยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม” สถาพร กล่าว
อบรมสื่อฯ เสริมกำลัง
เปลี่ยนคนข่าวสู่เครือข่าย : ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของสมาคมนักข่าวฯ ที่จัดอบรมด้านการทำข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หัวใจของการอบรม เพื่อให้นักข่าวมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ “ต้องรู้”ในการทำข่าวเจาะกากขยะอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นอีกพาร์ทหนึ่งของการทำข่าวสิ่งแวดล้อม การจัดอบรมครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังแค่การสร้างความตระหนักรู้ แต่เป็นการติดอาวุธความรู้แก่สื่อมวลชนและเครือข่ายคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยตรวจสอบและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
“ต้องยอมรับว่านักข่าวที่เชี่ยวชาญการทำข่าวสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม นับวันจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งการทำข่าวกากขยะอุตสาหกรรมและข่าวสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่การที่โรงงานโรงงานหนึ่งปล่อยมลพิษ แต่ยังมีรายละเอียดต่างๆ ทั้งมิติในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจ การบังคับใช้กฎหมาย สมาคมนักข่าวฯจึงคาดหวังว่า การอบรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสื่อมวลชนในการทำข่าวด้านสิ่งแวดล้อม”
“กำลังใจ” ถึง “คนข่าวสิ่งแวดล้อม”
เปลี่ยนแปลงสังคมได้
“ อยากให้กำลังใจสื่อฯและคนข่าวทุกสำนัก ที่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมอยู่ แม้จะเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีเรตติ้ง หรือมียอดแชร์เยอะๆ แต่เป็นข่าวที่มีความสำคัญมากต่อสังคมและต่อโลก ถ้าเกิดเราสามารถรวมตัวกันได้ของกลุ่มคนเล็กๆที่มีความสนใจข่าวสิ่งแวดล้อม เริ่มจาก 10 คน 20 คน แล้วค่อยๆ ขยายเป็นเครือข่าย เป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อมในเชิงคุณภาพ ก็จะสร้างความเข้มแข็งในการทำงานด้านข่าวสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ” จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
“ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้จะเป็นความสำเร็จระยะยาว เชื่อว่าสื่อมวลชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆที่เข้ามาสู่งานสื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอุดมการณ์อยากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทำมีคุณค่าระยะยาวกับลูกหลานของเรา ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่านี้ และคนที่เป็น “ผู้ได้รับผลกระทบ” อย่างน้อยที่สุดเขาจะรู้สึกว่ายังมีสื่อมวลชนที่ยังรับฟังเขาและพยายามจะแก้ปัญหาให้เขาอยู่
มันอาจจะเป็นเรื่องยากในการทำงาน แต่อยากให้กำลังใจ...การเป็นสื่อที่มีคุณภาพแล้วก็ได้รับการยอมรับ สิ่งเหล่านี้มันไม่มีใครแย่งจากคุณไปได้” สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
“วิชาชีพสื่อเป็น 1 ในพลวัตของสังคม มันไม่ได้อยู่ได้ด้วยแค่เรตติ้งอย่างเดียว แต่เราตอบสนองสิ่งที่ดีแก่สังคมด้วย ข่าวสิ่งแวดล้อมอาจเปลี่ยนแปลงช้า เหมือน "เข็มสั้นของนาฬิกา" แต่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงและยั่งยืน ถึงไม่เป็นกระแสหวือหวา ไม่ได้รับความสนใจจากตลาดก็ตาม แต่ว่าคุณค่าของมันจะหล่อเลี้ยงจิตใจและวิธีคิดในการทำงานว่าเราได้ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่ทำ มันจะเป็นกำลังใจที่ดีให้กับคนที่ทำข่าวด้านนี้
คนเราจะไม่เห็นความสำคัญ ตราบใดที่ปัญหานั้นยังไม่มาถึงตัวเอง แต่ในฐานะที่เราเป็นสื่อ เราไม่สามารถรอจนความเดือดร้อนมาถึงตัวเรา สิ่งที่เราต้องทำคือส่งเสียงแทนคนที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง และทุกครั้งที่เราลงพื้นที่ทำข่าว เราไม่ได้แค่รายงานปัญหา แต่เราต้องคิดว่าจะช่วยชี้ทางออกได้อย่างไร” มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าว “ข่าว 3 มิติ”
---