รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
“ปี 2568 คิดว่า เรื่องการเลิกจ้างพนักงานสถานีโทรทัศน์ จะไม่เหมือนแบบเดิมๆ ที่มีประกาศเลิกจ้างอะไรต่างๆ แต่จะใช้วิธีการอ้างเรื่องปรับโครงสร้าง- ยุบส่วนที่ไม่จำเป็น อ้างเรื่องลดเวลาการออกอากาศ พอลดเวลาก็ลดคน จะมีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ผมยืนยันว่าคนที่มีอุดมการณ์ มีความตั้งใจ และพัฒนาตัวเอง มีการปรับตัว ก็จะอยู่ได้”
อิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
"วันนักข่าว 5 มีนาคม 2568" ปี2568 ยังคงเป็นปีที่ คนในวงการสื่อสารมวลชน-นักวิชาการด้านสื่อ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ยังคงเป็นปีที่”นักข่าว-คนสื่อ”ยังต้องต่อสู้กันอย่างหนักต่อไปบนถนนสายวิชาชีพนี้ ซึ่งจริงๆ ทุกสาขาอาชีพ ต่างก็ต้องแข่งขัน-ต่อสู้ดิ้นรนทางธุรกิจกันทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่วงการสื่อ
หากโฟกัสไปที่ ทิศทางของ”สื่อโทรทัศน์”ในปี 2568 และต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร มีมุมมองของคนที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ โดย"อิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย -คนข่าวที่มากด้วยประสบการณ์การทำงานข่าวทั้งนักข่าวภาคสนามและการเป็นผู้บริหารงานข่าวในองค์กรสื่อหลายแห่ง"เช่นหัวหน้าข่าวการเมืองASTV -รองผอ.ฝ่ายข่าว TNN 24-ผอ.ฝ่ายข่าว Post TV -ผอ.ข่าวช่อง 8 เป็นต้น โดยปัจจุบัน เป็นผู้ดำเนินรายการข่าวหลักๆ เช่นรายการ เรื่องดังหลังข่าว ทางช่อง NBT และรายการ "คลุกวงใน ถามตรงถามจริง ที่ช่องอัมรินทร์ทีวี 34 HD
"นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย"มองภาพรวมของ "วงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์"ในปัจจุบันว่า ก่อนหน้านี้ สื่อวิทยุโทรทัศน์ เมื่อเจอสภาวะดิสรัปชั่น ทำให้เริ่มเกิดปัญหาขึ้นตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดระบาดหนักในประเทศไทย และยิ่งพอเจอวิกฤตโควิดระบาด ปัญหาวงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์เริ่มมีมากขึ้น พอพ้นจากวิกฤตโควิด สิ่งที่เห็นคือ โซเชียลมีเดียมีการเติบโตมาก โดยเฉพาะทางออนไลน์ และงบโฆษณาเทไปที่ออนไลน์กันจำนวนมาก
สิ่งที่เห็นสำหรับรายการทีวีระยะหลัง โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ขายสินค้ากันหนักมาก รายการโทรทัศน์หลายสถานีขายของกันหนัก เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เรียกได้ว่าขายเกือบทุกอย่าง ซึ่งเดิมในอดีต พวกรายการแบบ TV Shopping จะมาออกอากาศช่วงดึกหลังเที่ยงคืน ประมาณ ตีหนึ่ง -ตีสอง แต่ระยะหลังมาออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ หลังรายการดังๆ จบ ก็ตัดเข้ารายการขายสินค้า
...สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า เงินทุกเม็ดสื่อทีวีเขาต้องการหมด และช่วงหลัง จะเห็นได้ชัด การแข่งขันเรื่องข่าวสาร ใช้แหล่งข้อมูล จากโซเชียลมีเดียมากขึ้น วิ่งตามโซเชียลมีเดีย ทำให้ขนาดของกองบก.ข่าวโทรทัศน์เริ่มมีขนาดเล็กลง และ"อายุงาน-ชั่วโมงบิน"จะไม่ค่อยมีความหมายเท่าใด จะใช้งานเด็กใหม่ๆ ที่คล่องแคล่ว ที่ไม่ได้มีประสบการณ์งานข่าวมากนัก แต่ให้มาเน้นคอยตามโซเชียลมีเดีย เพื่อคอยหาแหล่งข้อมูล คนที่เคยอยู่เดิม ค่อยๆ ทยอยออก วงการสื่อโทรทัศน์ช่วงหลัง คนที่อายุประมาณ 30 ปีปลายๆ จะขึ้นมาเป็นบก.ข่าว -บก.บห.จากเดิมซึ่งกว่าจะขึ้นมาได้ อายุ 40 ปีปลายๆ ยังห่างไกลที่จะขึ้นมาได้

"อิทธิพันธ์"มองว่าด้วยภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยน และฝ่ายที่กำกับดูแล คือ กสทช.ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะส่งเสริมประคับประคองและสนับสนุนให้โทรทัศน์-วิทยุ อยู่ได้อย่างแข็งแรง โดยเฉพาะการเสนอ"ข่าวสาร" ซึ่งผมมองว่าข่าวสารก็เหมือนอาหารหลักห้าหมู่ ที่หากกินอาหารแบบใดมากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ชอบหวานกินแต่ของหวานก็จะเป็นเบาหวาน ก็มีแต่การนำเสนอข่าวสารที่คนอยากดู จากเดิมที่จะมีความหลากหลาย มีข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ กีฬา บันเทิง ทำให้ประชาชนมีองค์ความรู้ แต่ตอนนี้เสนอแต่ข่าวที่คนอยากดู ซึ่งข่าวสารที่แยกเป็นหมวดใหญ่ๆ จะมีสามหมวดคือ หนึ่ง ต้องรู้ เช่น ข่าวเตือนภัยพิบัติต่างๆ เพราะหากไม่รู้อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต สอง ข่าวที่ควรรู้ เช่นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ ข่าวเกี่ยวกับสวัสดิการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ภาครัฐให้กับประชาชน สาม คือข่าวอยากรู้ เช่น กีฬา บันเทิง แต่ปัจจุบันกลายเป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคมเช่น ข่าวผัวเมียของนักแสดง-นักร้อง ที่บางช่วง สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งก็เล่นข่าวนั้นกันตลอดทั้งวัน ที่ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
จากสภาพการณ์ข้างต้น "นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย" ระบุว่า ส่งผลต่อเรื่องคุณภาพข่าวอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จาก ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ฯ จัดประกวดข่าวยอดเยี่ยมประกวดรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ที่แบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่น รางวัลสารคดีข่าวเชิงโทรทัศน์ รางวัลข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม การรายงานสด เป็นต้น
" พบว่าการส่งประกวดข่าวสืบสวนสอบสวน จะมีน้อยมาก"
... ก็มีไทยพีบีเอส ที่ได้รับงบปีละสองพันล้านที่ยังมีประสิทธิภาพยังทำเรื่องข่าวสืบสวนสอบสวน แต่ข่าวช่องอื่นๆ ที่แข่งขันกันหนักๆ ไทยรัฐ อมรินทร์ทีวี ช่อง8 เขาใช้ระบบ"ลอยทีม"คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น จะได้เข้าถึงเหตุการณ์ได้เร็ว จะมีทีมไปตะเวนเลย ภาคเหนือสิบห้าวัน ภาคอีสานสิบห้าวัน ภาคใต้สิบห้าวัน เขาเรียกลอยทีม ใช้วิธีนี้เลย เพราะระบบสตริงเกอร์ต่างจังหวัด บางทีลูกไล่ไม่พอ และต้องส่งหลายช่อง อีกทั้งที่ทำเพราะต้องให้มารายงานสดผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย เพราะปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง ก็จะมีช่องทางโซเชียลมีเดียไว้อีกต่างหากเพื่อไลฟ์สด แต่ว่า ความแข็งแรงของกองบก.ก็จะน้อย แล้วก็ใช้ระบบ ผู้ประกาศข่าว เป็นบรรณาธิการข่าว บรรณาธิการบริหาร ให้ผู้ประกาศคอยคอนโทรลข่าวด้วย ที่ก็น่าจะดี แต่ในมุมมองผม คิดว่ามันก็อาจจะขาดการกลั่นกรอง การตรวจสอบ การบาลานซ์ ข่าวสารทุกวันนี้มันถึงมีข้อผิดพลาดอะไรต่างๆ
..สื่อหลักยังมีความจำเป็นมาก เพราะสุดท้าย คนก็ต้องกลับมาติดตามข่าวสารที่สื่อหลัก เพราะมีความน่าเชื่อถือ แต่ตอนนี้สื่อหลักไปแข่งกับโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือเลยลดลงไปด้วย คือสื่อหลักต้องยืนหยัดว่า จะไปติดตามโซเชียลมีเดียอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้าย ต้องมาติดตามตรวจสอบข่าวจากสื่อหลัก อย่างวิทยุโทรทัศน์ เพื่อเช็กตรวจสอบข่าว
...จะเห็นได้ว่า โทรทัศน์ปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีงานที่มีคุณภาพออกมาให้เห็น อย่างปัจจุบัน ที่พอจะเห็นในลักษณะข่าวแบบที่ผมเติบโตมาก็จะมีเช่น ข่าว3มิติ ที่ยังมีสกู๊ปอะไรต่างๆ ส่วนไทยพีบีเอส ก็ทำของเขา แต่ส่วนที่เหลือต้องมาวิ่งแข่งขันหาเรตติ้ง
เพราะปัจจุบันเรตติ้งทีวี เขาดูกันแบบนาทีต่อนาที ไม่ใช่วันต่อวัน เอาคู่แข่งมาวางเลยสี่ช่อง นาทีนี้ เขาเล่นข่าวอะไร เรตติ้งช่องอื่นเท่าไหร่ ช่องนี้เล่นข่าวอะไร เรตติ้งเป็นอย่างไร แล้วช่องเราเรตติ้งอยู่ที่เท่าใด ทำไมแพ้คู่แข่ง มีการทำเป็นกราฟวัดกันเลย มีการนั่งวิเคราะห์กันทุกวันว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็วางเรตติ้งไว้เลยว่า ต้องได้เรตติ้งประมาณนี้ หากทำไม่ได้ คนที่รับผิดชอบในช่องนั้น ก็อาจไม่ผ่านการประเมินประจำปี เงินเดือนจะไม่ขึ้น และถ้าผ่านไปยังไม่ดีขึ้นอีก ก็จะไปสู่มาตราการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย ปัจจุบันเป็นแบบนี้
"ดังนั้น ที่พูดกันว่าทำไมทีวีทำข่าวกันแบบนี้ ก็ไม่ทำไม่ได้ เพราะมันถูกกำหนดมาด้วยเรตติ้ง ถือว่าสาหัสมาก"
... ทำให้ที่ผ่านมา เราจะเห็นคนที่ทำทีวีบางคนก็จะลาออกหรือเปลี่ยนแนว แต่คนที่เปลี่ยนแนวแล้วประสบความสำเร็จ ก็มีน้อย และงบโฆษณาสินค้า-ผลิตภัณฑ์ ต่างๆ ช่วงหลังก็ไม่ได้เข้าที่ทีวีมากเหมือนเดิม ก็ไปที่สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ ทีวีก็อยู่ลำบาก

เมื่อถามว่าในปีนี้ ที่ผ่านมาสองเดือนแล้ว ในส่วนสื่อโทรทัศน์ จะมีการลดคน-ลดจำนวนพนักงานในกองบก.ข่าวโทรทัศน์แบบที่เกิดขึ้นในปี 2567 หรือไม่ "นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย" บอกว่า ปัจจุบันจะไม่เหมือนยุคก่อนหน้านี้ ที่จะเป็นลักษณะเช่น บริษัทมีนโยบายลดคน ก็ออกประกาศเลย์ออฟ แต่ยุคนี้จะเป็นแบบเช่น บางรายการ ทำแล้วไม่รอด ก็ยุบรายการ แล้วคนที่รับผิดชอบทำรายการนั้น ต้องออกหรือบางแห่ง ลดเวลาการออกอากาศลง พอลดเวลาลง ก็ลดคน เอาคนออก หรือยุบแผนก ก็เอาคนนอก และวิธีการเอาคนออก จะไม่มีการประกาศให้พนักงานเข้าร่วมโครงการ เออร์ลี่รีไทร์แบบเดิม แต่ใช้วิธีมีประกาศบริษัทออกมาแล้วก็ส่งอีเมล์ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือเรียกมาแจ้งว่าถูกเลิกจ้าง จบเลย จะไม่มีเลิกจ้างแบบเอิกเกริก ก็มีลักษณะนี้ตลอด
อย่างล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง มีการยุบรายการอยู่รายการหนึ่ง พอยุบแล้ว คนที่ทำรายการ ก็ต้องออกมา 3-4 คน และบางแห่งก็ใช้วิธีเลิกจ้าง โดยอ้างว่าบริษัทมีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่จึงต้องเลิกจ้างพนักงาน พอปรับโครงสร้างเสร็จ ก็ตั้งชื่อฝ่ายต่างๆ ที่ก็ใกล้เคียงกับของเดิมและทำงานแบบเดิมก่อนปรับโครงสร้าง แต่ใช้วิธีรับคนใหม่เข้ามาทำงาน ก็มีการใช้วิธีการนี้
"ปี 2568 คิดว่า เรื่องการเลิกจ้างพนักงานสถานีโทรทัศน์ จะไม่เหมือนแบบเดิมๆ ที่มีประกาศเลิกจ้างอะไรต่างๆ แต่จะใช้วิธีการอ้างเรื่องปรับโครงสร้าง ยุบส่วนที่ไม่จำเป็น ลดเวลาการออกอากาศ พอลดเวลาก็ลดกำลังคน จะมีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ผมยืนยันว่าคนที่มีอุดมการณ์ มีความตั้งใจ มุ่งมั่นและพัฒนาตัวเอง มีการปรับตัวเอง ก็จะอยู่ได้"
จากอดีตนักข่าวสายทหาร-การเมือง
สู่นักวิชาการด้านสื่อ
แนะทักษะสำคัญ ที่นักข่าวยุคนี้ต้องมี
ส่วนสถานการณ์และทิศทางสื่อในปีนี้ ในมุมมองของนักวิชาการ ที่เป็น“อดีตนักข่าวสายการเมือง-สายทหาร ที่เคยสังกัดสำนักข่าวแห่งหนึ่งมาร่วมสิบปี แต่ปัจจุบัน เป็นนักวิชาการ อาจารย์สอนหนังสือด้านสื่อสารมวลชน คือ ผศ.ดร.ประกอบเกียรติ อิ่มศิริ ประธานสาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัลเเละมัลติมีเดีย คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ให้ทัศนะสถานการณ์สื่อปี 2568 ว่าปี 2568 ภูมิทัศน์สื่อไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เท่าที่เห็นหลักๆ ก็เช่น การเติบโตของคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มและบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ แนวโน้มสื่อไทยในปี 2568 แสดงถึงโอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆการสร้างคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาตรงกับความสนใจเฉพาะกลุ่มกำลังได้รับความนิยม ขณะเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ส่งผลให้สื่อดั้งเดิมต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเกิดภาวะฟองสบู่สื่อออนไลน์อาจแตก เนื่องจากปริมาณสื่อออนไลน์ที่ล้นตลาด
นอกจากนี้ ในส่วนความท้าทายด้านจริยธรรมและการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การนำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตข่าวสารเพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้ AIอย่างไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรม เช่น การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง ขณะที่ แนวโน้มสื่อกระแสหลัก อย่างทีวี วิทยุหนังสือพิมพ์ มองว่า สื่อกระแสหลักของไทยอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัล
อย่าง โทรทัศน์ : แม้ว่าโทรทัศน์ดิจิทัลจะยังคงมีบทบาทในสังคมไทยแต่จำนวนผู้ชมและรายได้โฆษณาจะลดลงอย่างต่อเนื่องสาเหตุหลักมาจากผู้บริโภคหันไปใช้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดียมากขึ้นผู้ประกอบการโทรทัศน์จึงต้องปรับกลยุทธ์ โดยมุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายและขยายการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนวิทยุ: สื่อวิทยุยังคงมีผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตามการแข่งขันจากพอดแคสต์และสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ทำให้วิทยุต้องปรับตัวด้วยการนำเสนอรายการที่มีความเฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับความสนใจของผู้ฟังรวมถึงการขยายการเข้าถึงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ ประสบปัญหายอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากผู้อ่านหันไปเสพข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ สำนักข่าวหลายแห่งจึงปรับตัวด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเองนำเสนอข่าวสารผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันรวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียในการกระจายข่าวเพื่อเข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น
“โดยสรุป สื่อกระแสหลักของไทยในปี 2568จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตของสื่อดิจิทัลการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายรวมถึงการขยายช่องทางการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สื่อเหล่านี้ยังคงมีบทบาทในสังคมไทยต่อไป”

“ผศ.ดร.ประกอบเกียรติ”กล่าวถึงสื่อโซเชียลมีเดียฯ ว่า ปีนี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในประเทศไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTokที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ Facebook และ YouTube ยังคงรักษาฐานผู้ใช้ได้อย่างมั่นคงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและความสำคัญของการปรับตัวของธุรกิจในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ การแข่งขันในสื่อโซเชียลมีเดียมีความเข้มข้นขึ้น โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น TikTok, Facebook และ YouTubeต่างพยายามดึงดูดผู้ใช้และผู้โฆษณาTikTokมีการเติบโตอย่างรวดเร็วการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และยูทูบเบอร์กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโฆษณา การแข่งขันในสื่อโซเชียลมีเดียยังคงเข้มข้น โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้ใช้และผู้โฆษณาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้าง คนข่าว นักข่าว กองบก.ในปีนี้ คิดว่า ในส่วนนักข่าวและกองบรรณาธิการเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะใหม่ ๆและรักษามาตรฐานวิชาชีพเพื่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าในสายงานในยุคดิจิทัล
นักข่าวต้องมีทักษะที่หลากหลายมากกว่าการเขียนข่าวและสัมภาษณ์แหล่งข่าวทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการทำงานข่าวในปี 2568 เช่นการใช้โซเชียลมีเดียในการรายงานข่าวเพื่อเผยแพร่ข่าวสารและดึงดูดผู้อ่าน , Social Listening: การติดตามกระแสข่าวและปฏิกิริยาของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย-การตรวจสอบข้อมูล (Fact-Checking): การวิเคราะห์ข่าวปลอมที่แพร่กระจายบนโลกออนไลน์
รวมถึงทักษะการตัดต่อวิดีโอและเสียง การใช้เครื่องมือตัดต่อวิดีโอ เช่น Adobe Premiere Pro, DaVinci Resolve หรือ CapCut-การทำวิดีโอสั้น (Short-form video) บนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok, YouTube Shorts, Instagram Reels ส่วนพอดแคสต์และเสียงก็ต้องมีทักษะ การตัดต่อเสียงด้วย Audacity หรือ Adobe Audition เพื่อทำพอดแคสต์ข่าว-การถ่ายภาพและวิดีโอด้วยมือถือ การใช้กล้องมือถือให้ได้คุณภาพสูง การไลฟ์สด (Live Streaming) บน Facebook, YouTube หรือ TikTok-การใช้แอปแต่งภาพและกราฟิก เช่น Canva, Adobe Express
...การเล่าเรื่องแบบอินเทอร์แอกทีฟ (Interactive Storytelling)-การใช้ Infographics และ Data Visualization ผ่านเครื่องมืออย่าง Canva-การใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลข่าว เช่น ChatGPT หรือ Google Gemini ความเข้าใจด้าน AI และเทคโนโลยีใหม่ ๆเช่น การใช้ AI ช่วยตรวจสอบข่าวปลอม เช่น Deepfake หรือข่าวที่ผ่านการตัดต่อ-การใช้เครื่องมืออัตโนมัติ เช่น ChatGPT ในการสร้างคอนเทนต์ เป็นต้น
“คาดการณ์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลิกจ้างานในปี 2567 คาดการณ์ว่าแนวโน้มในปีนี้ 2568การปรับลดพนักงานยังคงมีแนวโน้มการเลิกจ้างเกิดขึ้น”
สาเหตุเนื่องจากสื่อหลายแห่งต้องการลดค่าใช้จ่ายและปรับตัวให้เข้ากับการย้ายฐานการเผยแพร่ไปสู่สื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลอดจนการผลิตสื่อที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นแม้จะยังคงใช้มนุษย์เป็นตัวกำกับอาทิ การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในขั้นตอนการผลิตและกระบวนการออกอากาศบนแพลตฟอร์มออนไลน์กระบวนการทำงานไม่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก คนๆเดียวสามารถทำงานได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตสื่อ (3Ps)และการเปิดตัวสื่อกระแสหลักในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีมากขึ้นทำให้เม็ดเงินโฆษณาย้ายฐานจากสื่อดั้งเดิมไปลงโฆษณาในแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อเม็ดเงินขาดไปจากสื่อกระแสหลักการจ้างงานย่อมได้รับผลกระทบที่ต้องลดพนักงานขณะเดียวกันแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมากในกระบวนการทำสื่อ
เป็นทัศนะและการวิเคราะห์ทิศทางสื่อในปีนี้ จากคนในวงการสื่อและนักวิชาการด้านสื่อ ที่ทำให้พอเห็นทิศทางอะไรได้หลายอย่าง