AI กับอนาคตของวงการข่าว : บทเรียนจาก AP และ BBC

ปัจจุบัน “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ที่ “โอเพน เอไอ” (OpenAI) ผู้พัฒนา AI ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัว “แชตจีพีที” chatGPT เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2022 เทคโนโลยีดังกล่าวก็ได้เขย่าโลกโดยการเข้ามามีบทบาทในหลายหลายอุตสาหกรรมและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงอุตสาหกรรมข่าว เนื่องจากความสามารถในการสรุปข้อมูล การถอดเสียงสัมภาษณ์ หรือแม้แต่การเขียนข่าวเบื้องต้น หลายคนกล่าวว่า AI จะช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซากและเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้จดจ่อไปกับการรายงานข่าวเชิงลึกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม  หลายคนได้ตั้งข้อคำถามเกี่ยวกับการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าว ทั้งในเรื่องความแม่นยำของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และเรื่องจริยธรรมในการใช้ AI แทนมนุษย์ ส่งผลให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ AI ในสำนักข่าวและความมีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

เดอะ เจอร์นัลลิสต์ รีสอร์ซ (The Journalist’s Resource) เว็บไซต์ที่รวบรวมงานวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับสื่อ จัดทำโดยฮาร์วาร์ด เคนเนดี สกูล (Harvard Kennedy School) นำเสนอ 2 ผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ AI ในองค์กรข่าวระดับโลกอย่าง สำนักข่าวเอพี (AP) และ สำนักข่าว BBC ที่ได้จับภาพช่วงเวลาสำคัญขณะที่สำนักข่าวเริ่มรับมือกับการเข้ามาของ AI ในอุตสาหกรรมซึ่งแน่นอนว่ามีอิทธิพลต่อความเป็นไปและอนาคตของวงการข่าว รวมถึงบุคลากรเป็นอย่างมาก

การเรียนรู้จาก AP: การจัดการความคาดหวังและการสนับสนุนจากผู้บริหาร

งานวิจัยแรกมีชื่อว่า “AI Hype and its Function: An Ethnographic Study of the Local News AI Initiative of the Associated Press” เขียนโดย Nadja Schaetz นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (the University of Hamburg) ประเทศเยอรมนี และ Anna Schjøtt นักวิจัยด้าน AI มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (the University of Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในวารสารดิจิทัล เจอนัลลิสม์ (Digital Journalism) มุ่งศึกษาโครงการริเริ่มของ AP ที่ช่วยให้ห้องข่าวท้องถิ่นนำ AI มาใช้ในการทำงาน โดยมุ่งเน้นที่ความคาดหวังของแต่ละสำนักข่าวต่อ AI  

โครงการของ AP เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2021 ด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิไนต์ ฟาวน์เดชัน (Knight Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 2 ปีแรก และทุนสนับสนุนจาก AP ในช่วงเวลาต่อมา มีเป้าหมายหลักในการช่วยให้ห้องข่าวขนาดเล็กใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดการข้อมูลข่าวสารจำนวนมากหรือการสรุปการประชุม

ในช่วงแรก ผู้จัดการโครงการริเริ่มดังกล่าวได้จัดทำแบบสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมในการใช้ AI จำนวน 192 ข้อ กับสำนักข่าวทั่วทุกรัฐในสหรัฐ รวมถึงเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย กวม และเปอร์โตริโก ทั้งยังทำการสัมภาษณ์ติดตามผลกับผู้นำจากสำนักข่าวจำนวน 25 แห่ง และค้นพบว่าสิ่งที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ต้องการคือระบบจัดการข้อมูลพื้นฐานอัตโนมัติ อาทิ คอนเทนต์ในสื่อออนไลน์ เนื่องจากการประสบปัญหาข้อมูลล้นมือ นอกจากนี้ทีมงาน AP ยังจัดงานสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้และทำงานร่วมกับสำนักข่าวในท่องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงการที่ใช้ AI ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านสำหรับสื่ออีกด้วย

ผู้เขียนบทความวิจัยได้สังเกตการณ์การประชุมออนไลน์จำนวนหลายสิบครั้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม 2023 ซึ่งครอบคลุมทั้งการประชุมภายในระหว่างผู้จัดการโครงการของ AP และบุคลากรจากสำนักข่าว รวมถึงการสัมมนาออนไลน์สาธารณะเพื่อให้ข้อมูลแก่อุตสาหกรรมข่าวในวงกว้างเกี่ยวกับเครื่องมือ AI และผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ต่อวงการสื่อมวลชน พบว่าทีมงานของ AP ต้องปรับสมดุลความคาดหวังของนักข่าวต่อ AI ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากบางครั้งความคาดหวังนั้นอาจไม่สมเหตุสมผลซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินงานจริง ทั้งยังต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเกี่ยวกับขีดความสามารถของเทคโนโลยีนี้

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2022 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของโครงการริเริ่มนี้เพราะบริษัท OpenAI เปิดตัว ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่เขย่าโลกในเดือนดังกล่าว ส่งผลให้ผู้คนต่างพากันสนใจ AI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ของ AP ไม่ถึง 100 คน กลับทะยานขึ้นเป็นมากกว่า 1,500 คนภายในชั่วข้ามคืน ด้านเหล่าผู้บริหารสำนักข่าวก็เริ่มตระหนักถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรมนี้ในการผลิตบทความและทำงานสนับสนุนนักข่าว รวมถึงความเสี่ยงของ AI ในขณะเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2023 แนวคิดที่ว่า AI จะสามารถช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซาก เช่น การสรุปข้อมูลการสัมภาษณ์ และทำให้นักข่าวมีเวลาในการวิเคราะห์ข่าวเชิงลึกมากขึ้นจึงแพร่หลายไปทั่วอุตสาหกรรม สอดคล้องกับที่ผู้เขียนระบุว่า ตัวแทนจากสำนักข่าวท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการของ AP เห็นว่าการใช้ AI ช่วยให้พวกเขามีเวลาสำหรับการทำข่าวต้นฉบับมากขึ้น ลดความเหนื่อยล้าในการทำงาน ทั้งยังให้ความเห็นว่าควรมอง AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการทำข่าว มากกว่าเทคโนโลยีที่จะมาแทนที่นักข่าว นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเน้นว่า ความคาดหวังของนักข่าวและผู้บริหารต่อ AI มีผลต่อการกำหนดทิศทางอนาคตของวงการข่าวอย่างมาก

ตัวอย่างของสำนักข่าวที่นำ AI ไปใช้ภายใต้โครงการริเริ่มของ AP 

• KSAT-TV (สหรัฐฯ): ใช้ AI เขียนบทสรุปจากงานแถลงข่าว

• Michigan Radio: พัฒนาเครื่องมือถอดเสียงการประชุมสภาท้องถิ่น พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อมีคำสำคัญปรากฏ

• El Vocero (เปอร์โตริโก): พัฒนา AI แจ้งเตือนสภาพอากาศอัตโนมัติ

• WFMZ-TV: ใช้ AI คัดกรองอีเมลเพื่อจัดระเบียบข่าว

• Brainerd Dispatch (สหรัฐ): ใช้ AI เขียนข่าวจากรายงานของตำรวจ ที่สามารถป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องหา

แม้ว่าหลายโครงการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักข่าวได้จริง แต่ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการใช้งาน AI ยังต้องมีมนุษย์เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอ และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า AI สามารถช่วยให้นักข่าวมีเวลามากขึ้นเพื่อพัฒนาข่าวเชิงลึกได้จริงตามที่มีการกล่าวอ้าง

บทเรียนจาก BBC: ความร่วมมือระหว่างนักข่าวและนักวิจัย

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Action research at the BBC: Interrogating artificial intelligence with journalists to generate actionable insights for the newsroom” เขียนโดย Bronwnyn Jones หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านวารสารศาสตร์และ AI จาก BBC และ Rhianne Jones หัวหน้าฝ่ายวิจัยจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาจาก BBC และได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมเช่นกันในวารสารเจอนัลลิสม์ (Journalism) ได้สำรวจการใช้ AI ใน สำนักข่าวชื่อดังดังกล่าว ระหว่างปี 2020-2023 ทั้งยังสัมภาษณ์ รวมถึงพูดคุยแบบไม่เป็นทางการอื่น ๆ กับนักข่าว BBC จำนวนหลายสิบคน เกี่ยวกับทัศนคติต่อ AI พบว่านักข่าวส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจการมีอยู่ของเทคโนโลยีนี้และมองว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือสำเร็จรูป ในขณะที่พวกเขาเป็นแค่ผู้ใช้ ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือความเกี่ยวข้องอะไรในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีนี้

ผู้เขียนกล่าวว่าทัศนคตินี้เป็นกำแพงที่ปิดกั้นความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ซึ่งนำไปสู่การเพิกเฉยต่อการพัฒนา ต่อรอง หรือแม้แต่คัดค้านการใช้เทคโนโลยีที่ว่าในสำนักข่าว ส่งผลต่อการไม่มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตของวิชาชีพ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าการมีอยู่ของ AI เป็นสิ่งที่นามธรรมและจับต้องไม่ได้ในสายตาของนักข่าวเหล่านี้ 

นักวิจัยยังกล่าวอีกว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับ AI ผ่านคำอธิบายที่เข้าใจง่ายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะ AI มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องไกลตัวจากการทำงานของนักข่าวในชีวิตจริง อาทิ การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเภทของ AI ต่าง ๆ และประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในงานข่าว งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าสำนักข่าวควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักข่าวในการพัฒนา AI และสร้างแนวทางที่ทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ต่อการรายงานข่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เขียนยังระบุด้วยว่าการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักข่าวและนักวิจัยอาจจะช่วยลดข้อจำกัดในการใช้งาน AI ที่เกิดจากอคติต่อเทคโนโลยีดังกล่าวได้

งานวิจัยนี้ยังเน้นความสำคัญของ “การแปลความรู้” ระหว่างนักวิจัย AI และนักข่าว โดยภาษาที่ใช้ต้องเข้าใจง่ายและเกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชน อีกทั้งยังย้ำว่าการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยให้นักข่าวมีเวลาเรียนรู้และทดลองใช้ AI เพื่อเข้าใจการใช้งานให้ดีขึ้น นอกเหนือจากงานประจำที่ต้องทำในทุกวัน

AI กับอนาคตของวงการข่าว

แม้ว่า AI จะมีศักยภาพในการช่วยให้นักข่าวทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สามารถสรุปได้จาก 2 บทความวิจัยข้างต้นคือ การบริหารความคาดหวังของนักข่าวต่อ AI และการได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารเป็นปัจจัยสำคัญของการทดลองใช้ AI ในอุตสาหกรรมข่าว กล่าวคือความมีประสิทธิภาพของ AI นั้นขึ้นอยู่กับการวางเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและการปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของแต่ละสำนักข่าว ขณะที่การที่ฝ่ายบริหารเข้าใจและอนุญาตให้นักข่าวเรียนรู้เทคโนโลยีนี้จะเป็นผลดีต่อการทำงานในอนาคต อย่างไรก็ดี ระบบ AI ในปัจจุบันยังต้องมีมนุษย์คอยกำกับดูแล เนื่องจากยังไม่สามารถทำงานแทนนักข่าวได้อย่างสมบูรณ์ แต่เป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่มีประโยชน์

แน่นอนว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรข่าวและนักวิจัยจะสามารถช่วยให้การนำ AI มาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการให้ทีมนักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมสามารถช่วยพัฒนาเครื่องมือ AI ที่จะช่วยตอบโจทย์องค์กรข่าวได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการใช้ AI ตามกรอบความคิดหรืออคติเดิม ๆ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า AI จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของนักข่าวและผู้อ่านได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต 

ที่มาข้อมูล https://journalistsresource.org/home/ai-ap-bbc/