กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และโครงการ Media Alert จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี “มองสื่อและสังคมไทย...ทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดียขยับ ข่าวปรับ ละครเปลี่ยน” เพื่อถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านสื่อผ่านผลการศึกษาวิจัยของปี 2567 ใน 3 ชิ้นงาน ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านการสื่อสารออนไลน์ การยกระดับคุณภาพรายการข่าว และการประเมินคุณภาพรายการละคร พร้อมการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวของคนทำงานสื่อในปัจจุบันและการพัฒนาผู้รับสื่อในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสื่ออย่างยั่งยืน

โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเวทีสัมมนาในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนและสังคม และยังเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการสร้างฐานข้อมูลความรู้ เพื่อให้มีงาน Media Academy และ Media Learning Center ที่เท่าทันสถานการณ์สื่อและสังคม ส่งเสริมบทบาทพลเมืองในนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
“ เวทีในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาที่ดำเนินการโดยโครงการ Media Alert และภาคีใน 3 หัวข้อได้แก่ “แนวโน้มการสื่อสารออนไลน์ของสื่อและสังคมไทยปี 67”, บทบาทของสื่อและการยกระดับคุณภาพข่าวสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมและ "คุณภาพละครไทย" ในทีวีดิจิทัลกับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของกสทช. โดยหวังว่าผลที่ได้รับจากงานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและร่วมกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนและสร้างระบบนิเวศของสื่อที่ดีรวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้คนเท่าทันสื่อ ” ดร.ธนกร กล่าว
งานวิจัยย้ำชัด! ปี 2567
Influencer ยึดโลกออนไลน์แทนที่สื่อหลัก

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนองานวิจัย “แนวโน้มการสื่อสารออนไลน์ของสื่อและสังคมไทยปี 67” โดยผลการวิจัยพบว่า ในปี 2567 ภูมิทัศน์สื่อออนไลน์กลับมาสู่สภาวะปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีความเข้มข้นทางการเมืองสูง เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือ การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น โดยในปี 2567 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจ คือ กลุ่มสื่อบันเทิง สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของกระแสวัฒนธรรมประชานิยม รองลงมาคือเทศกาล และข่าวสารด้านอาชญากรรมดังๆ ที่กลับมาได้รับความนิยม และความสนใจในบุคคลสำคัญที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนภาพรวมการใช้แพลตฟอร์มสื่อสารในโลกออนไลน์นั้น หรือ Engagement ทั้งหมดในปี 2567 พบว่า TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการโพสต์วิดีโอสั้น มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด ขณะที่สื่อและสำนักข่าวกลับมีบทบาทลดลงในการสื่อสารของสังคมไทย

“ 50 % ของ Engagement ทั้งหมดในปี 2567 อยู่บนแพลตฟอร์ม Tiktok สูงถึง 46.4 % รองลงมาคือ X อยู่ที่ 22.5 % อันดับ 3 Instagram 14.9 % และ Facebook อยู่ที่ 10.7 % Youtube อยู่ที่ 5.5 % ตามลำดับ ส่วน Line ไม่ถูกนำมาจัดรวมในการวิจัยครั้งนี้ เพราะข้อมูลใน Line ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะ แต่เป็นข้อมูลแชทระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งอยู่ภายใต้การปกป้องทาง PDPA จึงไม่สามารถเอาข้อมูลใน LINE มาวิเคราะห์ได้ ”

ส่วนภาพรวมของผู้สื่อสารในโลกออนไลน์ จากเดิมในปี 2566 คือ ผู้ใช้งานทั่วๆไปสื่อสารกัน 50% แต่ในปี 2567 ข้อมูลน่าสนใจที่พบ คือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ กลับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการสื่อสารสูงสุดบนโลกออนไลน์ในสังคมไทย ด้วยสัดส่วน 42.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เป็นเท่าตัว รองลงมาคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 29.1 % ส่วนสื่อหรือสำนักข่าว อยู่ที่ 15.7 %
“ สัญญาณและแนวโน้มที่เราเห็นคือปัจจุบันนี้ Influencer เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่สร้าง engagement บนโลกออนไลน์ในบ้านเรา ขณะที่ engagement ขององค์กรสื่อจากปี 2566 เคยอยู่ที่ 24 % แต่พอมาปี 2567 ลดเหลือ 15.7 % เราต้องมานั่งคิดแล้วว่าทำไมองค์กรสื่อหรือสำนักข่าวการเข้าถึงผู้บริโภคหรือปฏิสัมพันธ์จากผู้บริโภคมีจำนวนน้อยลง แม้กระทั่งผู้ใช้งานทั่วไปเราก็สื่อสารกันน้อยลง เพราะเราไปตาม influencer กันมากขึ้น ข้อมูลทั้งหมดนี้ชัดเจนว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะปรับตัวแบบไหน ” นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าว
สื่อหลักยังสำคัญกำหนดวาระข่าวสารสังคม
ข่าวคุณภาพยังมีอยู่ แต่มีหลายเฉด

ด้าน ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีด้านวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab นำเสนองานวิจัย “บทบาทของสื่อและการยกระดับคุณภาพข่าว สู่การเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งเป็นการศึกษาบทบาทการรายงานข่าว 4 ลักษณะ คือ inform, Explain, solution และ investigate ผ่านงานข่าวที่เป็นสถานการณ์สำคัญ 4 เรื่อง คือ ข่าวการเมือง กรณีศึกษาข่าวข้าว 10 ปี, บทบาทการรายงานข่าวน้ำท่วม, บทบาทการรายงานข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน, ศึกษาการรายงานข่าวภาคค่ำ 9 รายการ จากทีวีดิจิทัล 9 ช่อง
ผลการวิจัยพบว่า สื่อยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสารของสังคม และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ พบความพยายามในการให้คำอธิบาย ขยายความ (Explain) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่สามารถไปถึงข่าวสืบสวนได้ เพราะอยู่ในภาวะที่การลงทุนทำข่าวอาจไม่ได้มากหรือเต็มที่ได้เท่าเมื่อก่อน แต่ก็ถือเป็นข้อดี ที่ยังมองเห็นความพยายามที่จะหาทางออกหนึ่งของสื่อในการทำข่าว
พร้อมมีข้อเสนอว่า ควรมีการขยายบทบาทการทำข่าวที่มีการเจาะลึก และส่งเสริมการทำข่าวที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น และผู้นำเสนอข่าวควรระมัดระวังในการนำเสนอหรือเล่าข่าวอย่างใส่ความคิดเห็นหรือเร้าอารมณ์

“ สิ่งที่เราพบคือการเล่าข่าว ผู้ประกาศเล่าแทนโดยไม่ใช้ภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เล่าเกินกว่าที่มันควรจะเป็น หรือก้าวรุกล้ำสิทธิของเขาไป หรือการแสดงความเห็นของการเล่าข่าวที่มันมีอารมณ์ประกอบ ซึ่งมันมีความรุนแรงอยู่ในอารมณ์ที่นำเสนอข่าวนั้น อาจจะน่ากลัวกว่าภาพที่เห็นด้วยซ้ำไป เพราะว่าการพูดการเล่าของผู้สื่อข่าวหรือผู้ประกาศ มันทำให้คนเชื่อในความคิดนั้นได้ง่าย ”
“ ถามว่าเรายังมีความหวังไหม เอาเป็นว่าวันนี้สิ่งที่เราทำมันมี Quality อยู่ อย่าเพิ่งท้อใจ การทำข่าวยังมีคุณภาพอยู่ แต่มีคุณภาพที่แตกต่างกัน มีหลายเฉด...อยากให้ความหวังที่มีนั้นมันถูกทำให้เป็นระบบ spotlight สิ่งที่ดีให้ชัดเจน ก่อนหน้านี้เราอาจจะวิพากษ์วิจารณ์สื่อที่ทำผิด เราก็จะลุกขึ้นมาด่ากันเต็มไปหมดเลย ในวันนี้หากสื่อไหนทำดี ก็อยากให้ช่วยบอกต่อ ช่วยแชร์ต่อ ช่วยกันเปิดการมองเห็นให้ข่าวที่ดี เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำสื่อที่ทำสิ่งดีๆเหล่านี้ ” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว
มาตรฐานจัดเรทละครไทยยังไม่ชัด
แนะใช้เกณฑ์ประเมินละครกับเวอร์ชั่นออนไลน์ด้วย

ขณะที่รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ อาจารย์สาขาดิจิทัลมัลติมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นำเสนองานวิจัยหัวข้อ "คุณภาพละครไทย" ในทีวีดิจิทัลกับ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินของ กสทช. โดยเป็นการทดสอบ (ร่าง) เกณฑ์ ดังกล่าวฯ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ละคร 4 เรื่อง แบ่งเป็น ละครเรท “ท” สงครามสมรส และนางฟ้ากรรมกร และละครเรท “น13+” คือ ลมเล่นไฟ และใจซ่อนรัก ผลการศึกษาทดลองการประเมินคุณภาพละครครั้งนี้ พบว่าการจัดเรทอาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง ปัญหาเกิดจากมาตรฐานการจัดเรทที่ไม่ชัดเจน และเป็นการใช้วิจารณญาณที่ต่างกันของผู้ผลิตและการกำกับดูแลของ กสทช.
โดยในส่วนของ (ร่าง) เกณฑ์การประเมินคุณภาพรายการละครนั้น เสนอให้มีการพัฒนามาตรวัดที่ละเอียดขึ้น ควรเปลี่ยนจากแบบ “พบ/ไม่พบ” เป็น มาตรประมาณค่า (Rating Scale) รวมถึงทบทวนตัวชี้วัดบางตัวที่สะท้อนถึงความนิยม ซึ่งหมายถึงเป็นกระแส แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพ และมีข้อเสนอต่อผู้ผลิตควรออกแบบรายการที่สมดุลระหว่างความบันเทิงและสาระประโยชน์ เหมาะกับเรทหรือการกำหนดความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
“ ที่ผ่านมาทราบว่าการจัดเรทเป็นของช่องผู้ผลิต ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามว่าอาจมีปัญหาคุณภาพการจัดเรทหรือไม่ ขณะที่ละครเวอร์ชั่นที่ออกอากาศทางทีวีดิจิทัลกับที่ออกอากาศทางออนไลน์ พบว่ามีการเซ็นเซอร์แตกต่างกัน โดยทีวีเซ็นเซอร์มากกว่า ซึ่งจากพฤติกรรมผู้ชมละครที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการประเมินคุณภาพละครอาจจะต้องขยับข้ามแพลตฟอร์มตามไปด้วย ” รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าว
Influencer-สื่อดั้งเดิมไปด้วยกันได้
สังคมต้องสนับสนุน หากยังอยากได้สื่อคุณภาพ

ขณะที่วงเสวนา “จากการสื่อสารของสื่อและสังคมไทยในปี 2567 สู่ข้อเสนอการสื่อสารที่สร้างสรรค์” นายเทพชัย หย่อง ผู้เชี่ยวชาญงานข่าว อดีตผู้บริหารองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อในระดับประเทศและในภูมิภาคระหว่างประเทศ สะท้อนถึงผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวโน้มการสื่อสารออนไลน์ของสื่อและสังคมไทยปี 67” ที่พบว่าบทบาท ของ Influencer ขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการสื่อสารสูงสุดบนโลกออนไลน์ นำหน้าสื่อหรือสำนักข่าวไปแล้วนั้น ว่าในเรื่องนี้เกิดในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย ส่วนตัวแล้วมองว่าจริงๆแล้ว Influencer กับสื่อกระแสหลักไปด้วยกันได้ ในการที่จะทำให้เรื่องต่างๆ ที่มีสาระ หรือมีประโยชน์ต่อสังคม ได้เป็นที่รับรู้แล้วก็เป็นที่ถกเถียงกัน
“ วันนี้คำว่าสื่อกระแสหลักอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้คำว่าสื่อดั้งเดิม เพราะกระแสของ influencer ที่มาแรง ผมเชื่อว่าระหว่าง influencer กับสื่อกระแสหลักสามารถไปด้วยกันได้ เพราะ influencer ทั้งหลาย บางทีวิธีการสื่อสารของเขาค่อนข้างที่จะหวือหวาเร้าอารมณ์ จึงเป็นเวทีสำคัญของสื่อกระแสหลักในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ให้ความคิดเห็นที่มันมีเหตุและผลมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เถียงกันด้วยอารมณ์อย่างเดียว”
“ ถ้าเราย้อนไปหลายสิบปีที่แล้ว เราได้ยินคำว่าหนังสือพิมพ์หัวสีทั้งหลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุด จนมีการแซวกันว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เป็นขยะออกจากข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์และมีสาระ แล้วก็เอาข้อมูลข่าวสารที่เป็นขยะนั่นแหละ มาทำเป็นข่าว คนไม่น้อยที่มองสื่อมวลชนด้วยสายตาแบบนั้น
แต่ตนมีความรู้สึกว่าตอนนี้มันมีความสมดุลมากขึ้น เห็นความพยายามของคนในวงการสื่อทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ที่พยายามจะให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์มากขึ้น ต้องยอมรับความจริง ไม่มีทางที่จะหนีวัฏจักรแบบนี้พ้นว่าข่าวที่มันขายดีที่สุด อาจจะไม่ใช่มีสาระมากนัก เป็นเรื่องปกติ ขึ้นกับว่าสังคมต้องการสื่อแบบไหน อยากได้สื่อที่สาระมีประโยชน์ อยากให้สื่อทำข่าวสืบสวน สังคมก็ต้องช่วยสนับสนุนด้วย ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานข่าวอดีตผู้บริหารองค์กรสื่อ ยังสะท้อนว่าการที่สื่อกระแสหลัก ต้องลดจำนวนคน ลดการลงทุนสร้างคน ในอนาคตคนทำข่าวอาจมีแค่คนพูดเก่ง ไม่มีนักข่าวสืบสวน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญข่าวเฉพาะด้านอย่างที่เคยมี
“ สังคมต้องร่วมกันสร้างสื่อที่มีคุณภาพภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องพยายามหาโมเดลการทำงานที่ผู้บริโภคสื่อมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้สื่อคุณภาพอยู่รอดได้ ไม่ใช่เรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ของตัวเอง ให้มีวุฒิภาวะที่ดีเป็นปากเป็นเสียงให้กับสังคมได้ แต่ว่าปล่อยให้สื่อเผชิญกับชะตากรรมทางด้านธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว...แบบนี้สื่อก็ไปไม่ได้
เพราะสื่อก็เป็นเหมือนบริการสาธารณะมันอยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ ต้องมีการสนับสนุนจากคนในสังคมจากหน่วยงานต่างๆด้วย ขณะเดียวกันระบบสังคมและการศึกษาต้องช่วยกันบ่มเพาะการเท่าทันสื่อให้กับสมาชิกของสังคมตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อสร้างวิจารณญาณในการเลือกการรับสื่อการวิเคราะห์สื่อและการสะท้อนกลับต่อการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมีคุณภาพ ” นายเทพชัยกล่าว
กสทช. รับติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก
พร้อมดันงบสนับสนุนผลิตสื่อคุณภาพ

นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ กล่าวว่า ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของ Wisesight และ Media Alert ทำให้เห็นบทบาทที่มาแรงของ Influencer และคิดว่าการทำงานของ กสทช.ต้องเร่งเครื่อง จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ โดยเมื่อเร็วๆนี้ กสทช.เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมองทั้งวงจรไม่เฉพาะผู้ประกอบกิจการ แต่สนับสนุนกลไกการผลิต คุณภาพเนื้อหา เช่น การเสนอข่าวเชิงลึก การพัฒนาบทละครโทรทัศน์ สารคดี ไปจนถึงช่องทางการเผยแพร่
ขณะที่เรื่องสัญญาสัมปทานทีวีดิจิทัลที่จะหมดอายุลงใน ปี 2572 ทาง กสทช. ยังคิดกันอยู่จะใช้วิธีการประมูลหรือไม่ประมูล ถ้าใช้การประมูล ต้นทุนผู้ประกอบการก็จะสูง แต่ถ้าไม่ใช้การประมูล อุตสาหกรรมก็ไปได้ แต่อย่างไรต้องมีการดูแลคุณภาพ สื่อหลักยังจำเป็นต้องมีเป็นแกนหลักเป็นเสาหลัก สิ่งที่ กสทช.ต้องดูแล คือ ส่งเสริมให้ต้นทุนลดลง มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ตัดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นออก ส่วนการพัฒนาผู้บริโภคสื่อนั้น กสทช.อาจพิจารณาใช้ผ่านการจัดสรรเงินให้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็ได้ โดยส่วนตัวมองว่า การพัฒนาคุณภาพสื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต หรือหน่วยงานกำกับดูแลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องมุ่งพัฒนาที่โครงสร้างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมไทย โดยเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น
“ สิ่งที่มันติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกของประเทศไทย คือเอาคลื่นความถี่ด้านสื่อมาประมูลทำให้เกิดต้นทุน แม้มาจาก กสทช. ก็ต้องขอเรียนตรงๆ มันติดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่แรก ประมูลแล้วเกิดมูลค่า ใช่ แต่พอเราเอาเรื่องของทรัพยากรที่ต้องเอาไปส่งเสริมให้เกิดเนื้อหาคุณภาพ มาอยู่บนฐานของต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มูลค่ามหาศาล หลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ
ฉะนั้นในส่วนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีแนวความคิดว่าแล้วอีก 5 ปีต่อไป ยังจำเป็นต่อไปหรือไม่ที่การให้ใช้คลื่นความถี่เหล่านี้ ต้องเกิดมาจากการประมูลคลื่นความถี่หรือสร้างต้นทุนเหล่านั้น แล้วมีคำถามต่อกันไปอีกว่าถ้าต้นทุนเหล่านั้นหายไป จะทำให้สื่อสามารถที่จะเอาทุนของตัวเองที่ไม่ต้องมาจ่ายค่าประมูลคลื่นไปสร้างสรรค์เนื้อหาได้มากขึ้นกว่านี้ใช่หรือไม่ ”
“ ชวนคิดค่ะ ถ้าวันนี้ประมูลแล้วสุดท้ายอุตสาหกรรมล่มสลายเพราะต้นทุนสูง แต่ถ้าเราไม่ประมูล ทุกอย่างเพิ่มขึ้นหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้น แรงงานมีงานเพิ่มขึ้น รวมถึงคุณภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้น มาตรวัดแล้วน่าจะไปทางไหน อันนี้ก็สื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในเชิงนโยบายการคลังของประเทศด้วย เรื่องนี้ก็สำคัญ
เพราะว่าหลายๆคนก็มีคำถามว่าถ้า กสทช.ไม่ประมูลแล้ว รายได้ไม่เข้ารัฐ แล้วรัฐจะว่าเราไหม กสทช.อาจจะต้องมีการนำเสนอข้อมูลและมุมมองต่างๆเหล่านี้ออกไป ทำให้เห็นว่ามาตรวัดที่มันเกิดขึ้นอะไรจะเป็นบวกมากกว่ากัน เรื่องนี้เราคิดอยู่ในองค์กรเช่นเดียวกัน ” นางสาวมณีรัตน์กล่าว

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ข้อเสนอจากกิจกรรมในวันนี้ไปไกลกว่าผลการวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ เช่น พบปัญหาการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา การยืนยันว่าสื่อมวลชนยังมีความสำคัญ เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อเนื้อหาของ Influencer และถึงเวลาแล้วที่องคาพยพทั้งหมดของประเทศไทยต้องขยับร่วมกัน โดยยกระดับให้สื่อเป็นวาระที่สำคัญของชาติ วางเป้าหมายร่วมกันในอนาคต และวางแผนแม่บทของการสื่อสาร โดยยึดเอาหลักการและมาตรฐานการทำหน้าที่ของสื่อในระดับสากล ตลอดจนหลักคุณธรรมจริยธรรมของไทย เป็นตัวตั้งและพัฒนาร่วมกัน