ปัจจุบันบทบาทของนักข่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในยุคสื่อสังคมออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงข่าวสารและถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างสาธารณะ จากเดิมที่นักข่าวมีบทบาทสำคัญในการเป็น “ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร” (Gatekeeper) หรือผู้คัดกรอง เรียบเรียงและขยายข่าวสารแต่เพียงผู้เดียว สู่ยุคที่ใคร ๆ สามารถเป็นผู้ผลิตข่าวสารได้เองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอย่างการเข้ามาของระบบอัลกอริธึมในโซเชียลมีเดียที่บางครั้งอาจคัดเลือกข่าวได้แม่นยำกว่าบรรณาธิการมืออาชีพ มันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับนักข่าวยุคใหม่ทั่วโลกที่จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนบทบาทให้ทันกับสถานการณ์ในทุกวันนี้
เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร รายงานจาก “เดอะ คอนเวอร์เซชั่น” (The Conversation) เว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์อิงงานวิจัยชั้นนำของโลก ได้รายงานโดยอ้างอิงแบบสำรวจว่า นักข่าวรุ่นใหม่ในสหราชอาณาจักรมองว่า สื่อมวลชนมีบทบาท “นักเคลื่อนไหว” ในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่โลกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ภาวะเผด็จการที่พบได้มากขึ้น สงครามในยุโรป และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
การสำรวจดังกล่าวเป็นการสอบถามกลุ่มตัวอย่างนักข่าวในสหราชอาณาจักรจำนวน 1,130 คน เพื่อใช้ประกอบรายงานเกี่ยวกับสถานภาพวิชาชีพสื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรช่วงทศวรรษ 2020 โดยสอบถามว่า บทบาทของนักข่าวที่มีการคัดเลือกจำนวน 24 บทบาท อาทิ “เป็นผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง” “ส่งเสริมสันติภาพและความอดกลั้น” รวมไปถึง “ให้ความบันเทิงและความผ่อนคลาย” มีความสำคัญกับพวกเขามากน้อยเพียงใด
คำตอบไล่ระดับได้ตั้งแต่ “ไม่สำคัญเลย” ไปจนถึง “สำคัญมาก” นอกจากนี้ แบบสอบถามดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระดับโลก “Worlds of Journalism Study” ที่ดำเนินการใน 75 ประเทศ เมื่อปี 2023 และเคยมีการเก็บข้อมูลมาก่อนหน้าในปี 2015 ทำให้สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของมุมมองนักข่าวได้ชัดเจน
สิ่งที่เหมือนเดิมและสิ่งที่เปลี่ยนไป
แบบสำรวจดังกล่าวระบุว่าบทบาทที่กลุ่มตัวอย่างนักข่าวในสหราชอาณาจักรยังคงให้ความสำคัญมากที่สุดล้วนเป็นบทบาทดั้งเดิมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของการเป็นนักข่าว ได้แก่:
- การเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ลำเอียง สะท้อนความเป็นกลางของนักข่าว
- การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน
- การเป็นผู้เฝ้ายาม (watchdog) ตรวจสอบและจับตาผู้มีอำนาจ
ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่าครึ่งยังคงมองว่าบทบาทเหล่านี้ “สำคัญมาก” หรือ “สำคัญ” อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นั่นคือ แม้นักข่าวยังเห็นคุณค่าในบทบาทดั้งเดิมแต่จำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เลือกคำตอบกลับน้อยลง โดยในปี 2015 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 77 คิดว่าการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ลำเอียงนั้น “สำคัญมาก” หรือ “สำคัญ” แต่ในปี 2023 กลับลดเหลือร้อยละ 69 ขณะที่นักข่าวมีแนวโน้มใหม่ในการให้ความสำคัญกับบทบาทเชิงเคลื่อนไหวสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักข่าวอายุน้อย โดยในปี 2015 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 มองว่าเป็นเรื่อง “สำคัญ” หรือ “สำคัญมาก” ในการตรวจสอบผู้นำทางการเมือง และร้อยละ 59 คิดเห็นเช่นเดียวกันในการตรวจสอบภาคธุรกิจ ขณะที่ในปี 2023 ตัวเลขผู้ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผู้มีอำนาจโดยรวมได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65
ขณะเดียวกัน ที่ต้องจับตา คือ บทบาทอื่น ๆ ที่สะท้อนผ่านมุมมองนักกิจกรรมหรือผู้เคลื่อนไหวสังคม เช่น “การเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ถูกกดขี่” และ “เปิดโปงปัญหาในสังคม” ก็ได้รับความนิยมมากสำหรับนักข่าวรุ่นใหม่หรือในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี
แบบสำรวจยังระบุอีกว่า ร้อยละ 88 ของนักข่าวที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการ “ให้ความรู้แก่ผู้ชม” เป็นบทบาทสำคัญ แม้ว่าจะมีบางคนมองว่าบทบาทดังกล่าวละเมิดความเป็นกลาง เพราะบางครั้งนักข่าวอาจถ่ายทอดค่านิยมหรือศีลธรรมส่วนบุคคล ขณะที่นักข่าวที่ทำงานในสื่อวิทยุและพอดแคสต์จะให้ความสำคัญกับบทบาทนี้มากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบทบาทประชาธิปไตยมักอยู่ในสื่อท้องถิ่น โดยนักข่าวที่ทำงานในสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับภูมิภาคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับบทบาทที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย เช่น “การให้ข้อมูลที่ช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้” ขณะที่นักข่าวในสื่อออนไลน์กลับให้ความสำคัญกับบทบาทด้านนี้น้อยกว่าผู้ที่ทำงานในสื่อกระแสหลักแบบเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ นักข่าวยังมีความสนใจใน “การนำเสนอข่าวที่ดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุด” ลดลงอีกด้วย
ความคิดต่อบทบาทของนักข่าวสหราชอาณาจักรที่เปลี่ยนไปนี้อาจเป็นการตั้งคำถามต่อ “ความเป็นกลาง” ซึ่งเคยถือเป็นหัวใจของวิชาชีพ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งสงครามในยูเครน ปัญหาภูมิอากาศและภาวะโลก้อน รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติที่เข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับความคิดของนักข่าวไทยต่อบทบาทของการเป็นสื่อมวลชน ที่นอกจากจะเป็นผู้รายงานข่าวตามความเป็นจริงแต่ยังควรเป็นกระบอกเสียงของประชาชนและผู้ตรวจสอบอำนาจ จุดที่แตกต่างจากนักข่าวในอังกฤษคือความคิดเห็นดังกล่าวไม่ใช่เทรนด์ที่เพิ่งเริ่มเปลี่ยนไปในปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏในวงการสื่อไทยมาอยู่แล้ว
บทความวิจัยเรื่อง “ความคิดสื่อมวลชน ต่อบทบาทในการเป็นโรงเรียนของสังคม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เขียนโดย กันยิกา ชอว์ และเผยแพร่เมื่อปี 2017 ระบุว่า นักข่าวและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมองว่าตนเองมีบทบาทเป็น “โรงเรียนของสังคม” หรือสื่อที่ไม่ได้แค่รายงานข่าวแต่ยังสะท้อนความจริง ให้ความรู้ที่ช่วยพัฒนาความคิดผู้คนในวงกว้างอยู่แล้ว โดยผลการศึกษาพบว่า สื่อมวลชนเห็นว่าตนมีบทบาทที่สำคัญในการสอดส่องดูแลและรายงานเหตุการณ์ในสังคม สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสังคม ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงให้ความบันเทิงแก่ผู้รับชมข่าวสาร สอดคล้องกับแนวโน้มความคิดเห็นที่เปลี่ยนไปของนักข่าวในสหราชอาณาจักรที่กล่าวไปข้างต้น
กล่าวโดยสรุปรายงานจากสหราชอาณาจักรสะท้อนชัดว่า วัฒนธรรมวิชาชีพของนักข่าวกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะออกจากบทบาทเดิม และหันไปสู่การมีส่วนร่วมในประเด็นทางสังคมมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของสื่อไทยที่มีปรากฏอยู่แล้ว ตอกย้ำบทบาทการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชนคนธรรมดาในการต่อสู้กับความท้าทายและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
-----
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/pimjournal/article/download/97896/76281/