โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
หนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวที่น่าสนใจ คือ บริษัท ดาต้าเช็ต (dataxet infoquest) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท อินโฟเควสท์ จํากัด ผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่าน “นิวส์เซ็นเตอร์” แพลตฟอร์มรวมข่าวสารจากสื่อที่หลากหลายให้กับสมาชิกกลุ่มธุรกิจเป็นสมาชิกโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายบริการนิวส์เซ็นเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ในปัจจุบันให้บริการในชื่อ NCX ผู้บริหารและทีมงานหลักของดาต้าเช็ตมีประสบการณ์การทํางานในวงการมาตั้งแต่สมัยบริษัทบิสนิวส์ ซึ่งถือเป็นสื่อรายแรกๆ ที่นำเสนอข้อมูลข่าวออนไลน์ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในไทย
จุดเปลี่ยนที่ทําให้บริษัทยอมเปลี่ยนนโยบายให้บริการข่าวใน “ระบบปิด” มาสู่ “ระบบเปิด” ก็จากพายุดิสรัปชั่นเทคโนโลยีที่กระทบทุกวงการเมื่อสิบปีก่อน จากธุรกิจสื่อเล็กๆเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้เติบโตเป็น บริษัทชั้นนําในนาม dataxet ดำเนินธุรกิจมีเดียอินเทลลิเจนซ์ หรือข่าวกรองด้านสื่อติดตามข้อมูลข่าวสารครอบคลุมสื่อกระแสหลัก ออนไลน์ไปจนถึงโซเชียลมีเดียครบ 360 องศาให้ลูกค้าทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกนํามาวิเคราะห์ กําาหนด กลยุทธ์การสื่อสาร สร้างแบรนด์ให้มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน dataxet ยังเป็นผู้จัดทํารายงานภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทย (Thailand Media Landscape) ประจําปี เผยแพร่ทุกต้นปี ซึ่งทําต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เป็นข้อมูล เทรนด์ให้กับคนในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อ
ขณะที่บริษัท ยังคงมีสํานักข่าวของตัวเองชื่ออินโฟเควสท์ วิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์

“อินโฟเควสท์” เน้นข่าวเศรษฐกิจ ประเด็นน่าสนใจบนเว็บ infoquest.co.th และอีกเว็บชื่อ ryt9.com ย่อมาจากคําว่า “อะไร ที่ไหน" ที่ทดลองเปิดเมื่อ 20 ปีก่อน ยังมีเว็บ thaipr.net ที่หลายคนคุ้นตา เน้นข่าวพีอาร์องค์กร หน่วยงานต่างๆ และหมายข่าวให้สื่อได้หยิบนำไปใช้
ไม่เฉพาะข่าวบนเว็บไซต์ ยังมีการนําเสนอข่าวสาร รายงานที่น่าสนใจ บทสัมภาษณ์ผ่านมัลติมีเดียในยูทูบ ติ๊กต๊อกเจาะกลุ่มวัยรุ่น มียอดติดตามแล้ว 7 แสนกว่าราย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือของบริษัทจากเมื่อก่อนสำนักข่าวแห่งนี้เน้นรายงานข่าวผ่านตัวอักษรอย่างเดียว
วิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์

“พรรณี ยงปิยะกุล” ผู้บริหารระดับอาวุโสและบรรณาธิการบริหารบริษัทดาต้าเช็ต จํากัด เล่าว่า เดิมบริษัททําธุรกิจติดตามข่าวสารเป็นหลัก แต่เมื่อปี 2564 บริษัทได้ลงทุนทําระบบ social listening platform ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบนโลกออนไลน์สามารถเก็บรายละเอียดในระดับคอมเมนต์บนเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ X ยูทูบ ไอจี เป็นการเฝ้าดูข้อมูลปริมาณระดับล้านชิ้นต่อวันปัจจุบันเราจึงเป็นผู้ให้บริการติดตามข้อมูลข่าวสารครบทั้ง mainstream online และโซเชียลอันดับหนึ่ง มีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่นิวส์เซ็นเตอร์ พีอาร์ เว็บไซต์ข่าวคลิปปิ้งข่าวออนไลน์ รวมถึง social listening platform ที่มีลูกค้าทั้งหมด 500 ราย ตั้งแต่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทที่เป็นเมเจอร์คอเปอเรชั่นของประเทศไทย สถานทูต องค์กรต่างประเทศ มหาวิทยาลัย สำนักวิจัย พีอาร์เอเจนซี่รวมถึงองค์กรสื่อทำให้ 3 ปีหลังนี้ ดาต้าเซ็ทมีรายได้ใหม่จากกลุ่มลูกค้าหน่วยราชการใหญ่ๆ ที่ต้องการให้เราทำเรื่องการจัดการกับภาวะวิกฤตข่าวสาร ซึ่งปกติเอเจนซี่จะเข้าไปทำ แต่วันนี้เราสามารถเข้าไปดูแลได้
“ความต้องการของลูกค้าไม่เหมือนกัน บางกลุ่มไม่ต้องการข้อมูลเชิงลึก บางกลุ่มแค่มอนิเตอร์ข่าว หรือแค่ติดตามแบรนด์ตัวเองว่าไปปรากฏที่ไหนบ้างในสื่อสิ่งพิมพ์ในเว็บไซต์ในโซเชียลหรือสื่อทีวี หรือวิทยุ ซึ่งเรามอนิเตอร์ได้หมด นอกจากติดตามแล้ว บางทีเขายังขอให้ช่วยดูด้วยว่า มีการพูดถึงเขาเชิงบวก หรือลบอย่างไร ถ้าลบ ระดับไหน และบอกได้ไหมว่า กลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ไหน ส่งผลกระทบอย่างไรกับองค์กร และขั้นตอนต่อไป องค์กรจะแก้อย่างไร แต่ความต้องการโดยรวม คือ มีข่าวอะไรที่กระทบกับเขาบ้าง ประเด็นไหนสําคัญ ที่เขาต้องหันมาดูแบบเร่งด่วน”
ประเด็นที่ใดลูกค้ากังวลมากที่สุด? พรรณี อธิบายว่า ส่วนใหญ่คือจะแก้ข้อมูลดราม่าที่ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เราอาจไม่ได้เป็นคนเดียวที่เขาปรึกษา เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้มันต้องใช้ความรู้ทางด้านนักสื่อสารประชาสัมพันธ์เป็นหลัก บทบาทของสื่อเราก็เกี่ยวข้องด้วยเพราะเป็นผู้ส่งสาร ซึ่งในอดีตหน่วยงานภาครัฐเอกชน อาจใช้บริการเอเจนซี่ แต่ปัจจุบันบทบาทของเรากินความเข้าไปในธุรกิจเอเจนซี่ เรามีทั้งกองบรรณาธิการที่ติดตามข่าวสารเอง มีทีมงานบริการลูกค้า ทั้งการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ มีเทคโนโลยี และยังมีแพลตฟอร์ม social listening ดังที่กล่าวมา
ความท้าทายต่อ AI
พรรณี กล่าวว่า ทุกวันนี้รูปแบบการบริโภคข่าวสารเปลี่ยนไปเยอะมากไม่เหมือน 30 ปีก่อน ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและบทบาทของสำนักข่าวด้วย จากแต่ก่อนที่มีหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ ทีวีไม่กี่ช่อง เพราะภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ช่วงอินเตอร์เน็ตเข้ามา หรือช่วงที่เฟซบุ๊กกำลังเติบโต ตอนนั้นเราลังเลจะเอาอย่างไร ถ้าลงทุนในเฟซบุ๊กอาจควบคุมไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่บ้านตัวเอง จึงกระโดดไปเฟซบุ๊กหลังสื่ออื่น แต่หลักๆ เราจะเน้นที่เว็บตัวเองไว้ก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยง

“ดาต้าเซ็ต หรือ อินโฟเควสท์ ต่างจากสื่ออื่นๆ สื่ออื่นเขาเป็นสายสื่อมวลชนเป็นหลัก แต่ของเราเป็นสื่อที่ทําธุรกิจ Media Monitoring, Media Analytics และ Social Listening เราเป็นสื่อที่ยังช่วยลูกค้าในกลุ่มขององค์กร คัดกรองเฟคนิวส์ ติดตามข่าวสาร แยกข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับเขา เราสนับสนุนข่าวที่เราผลิตที่ยังเน้นตัวตน ความถูกต้อง”
สําหรับรายงาน “ภูมิทัศน์สื่อไทยประจําปี” ที่ดาต้าเซ็ตได้มีบทบาทจัดทําเผยแพร่สู่สังคม เป็นประจํามาหลายปี ในปี 2568 มีบทสรุปว่า สื่อยังคงกําลังเผชิญคลื่นลูกใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัลที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ สตรีมมิ่งที่แข่งขันดุเดือด หรือโซเชียลมีเดียที่กําลังพลิกโฉมไปสู่บทบาทใหม่ ซึ่ง พรรณี อธิบายถึงที่มาการจัดทํารายงานสถานการณ์สื่อประจําปีว่า เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นนักประชาสัมพันธ์ บางครั้งต้องการใช้ข้อมูลเพื่อไปวางแผน แต่ละปีเราจึงพยายามหาให้ครอบคลุมสื่อใหม่ๆ ด้วยการสอบถามมุมมองนักวิชาการสื่อ ดูงานวิจัย ยกสถิติมาประกอบเพื่อต้องการให้คนเห็นว่า ดาต้าเช็ตก็มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ภูมิทัศน์สื่อ เป็นเรื่องที่ได้รับคําชมจากลูกค้ามาตลอดทั้งในสายธุรกิจและสื่อมวลชนด้วยกันเอง แพลตฟอร์มที่เฝ้าจากระบบนิวส์เซ็นเตอร์ ถือเป็นกําลังใจให้พวกเราจัดทํารายงาน ประจําปีต่อไป
ความท้าทายของบริษัทในปัจจุบัน เธอให้มุมมองว่า ทําอย่างไรก็ได้ที่ทําให้ฐานรายได้ของบริษัทไม่หายไป ขณะเดียวกัน ต้องการให้องค์กรและทีมงานทันต่อกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นคือ AI ที่ เราไม่มีทางฝืนกระแสได้ มันเป็นโอกาส แต่ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็มีผลเสีย

“เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI ใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ แต่ไม่ใช่ให้มันมาแทนคน เพราะมนุษย์ต้องเป็นคนคิด ส่วน AI มาช่วยในเรื่องการสรรหา เกลาภาษาให้สละสลวย ให้ความเห็นเชิงกรอบ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะเราพบว่าข้อมูลที่ AI ให้ ผิดเยอะ ถ้าคนไม่ควบคุม ใช้ไม่ถูกต้อง ความเสี่ยงที่จะผิดพลาดมันสูง และไม่เห็นด้วยที่พูดกันว่าใน เอา AI มาเขียนข่าว ไม่ต้องใช้นักข่าวแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องมีสํานักข่าวหรือเปล่า และความพยายามของเราที่สร้างสรรค์งานขึ้นมามันจะเป็นอย่างไร นี่จะเป็นประเด็น ที่น่ากังวลใจของคนในวงการสื่อด้วย”
ทิศทางธุรกิจในปัจจุบัน พรรณี มองว่า บริษัทจะขยับในเรื่องการให้คําแนะนําเชิงลึก และเป็นโครงการ ๆเพราะแนวโน้มขณะนี้องค์กรเอกชน หรือส่วนราชการ ยังคงถูกพูดถึงมากในโลกโซเชียลมีเดีย เขาทําเอง คงไม่ไหว อาจต้องการให้เรามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้
“โอกาสปีนี้ตอบยากมาก ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ค่อยดี องค์กรต่างๆระมัดระวังการใช้เงิน แต่เราก็มองว่าแต่ละองค์กรเขาไม่สามารถทิ้งเรื่องการติดตาม และวิเคราะห์ข่าวสารได้ เพียงแต่อาจมีปัญหาในแง่กําลังซื้อจึงเป็นความยากในการกําหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจของเรามันก็อาจโตได้ แต่ไม่ได้ในระดับที่หวือหวาหรือเยอะขนาดนั้น แต่หลักการของเรามีความตั้งใจที่จะอยู่ในธุรกิจ media intelligence แบบเป็นพันธมิตรกับทุกคน แต่บางครั้งเราอาจต้องแข่งกันในแบบที่ไปกันได้ทุกคน” กรรมการผู้จัดการบริษัทดาต้าเช็ตฯ กล่าวทิ้งท้าย