คนข่าววิทยุอยู่อย่างไร ในวันที่ถูกกระแส “คลื่นดิจิทัล” ถาโถม

โดย ดารินทร์ หอวัฒนกุล

ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อ ถูก ดิสรัปชั่น ด้วยกระแสการเข้ามาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค จนทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไป ของหลายๆสื่อ ตั้งแต่สื่อหนังสือพิมพ์ เรื่อยมาจนสื่อโทรทัศน์ สื่อบางสำนักที่ต้องปิดตัวจากไป ขณะที่อีกหลายแห่ง ก็ต้องปรับตัว ทั้งการลดจำนวนคน ลดสวัสดิการ เพื่อความอยู่รอด

สื่อวิทยุเอง ก็ต้องมีการปรับตัวไม่ต่างกัน จุลสารราชดำเนิน จะพาไปสำรวจ คนข่าววิทยุแต่ละแห่งวันนี้เป็นอย่างไร  ยังมี-อยู่ดีหรือไม่-และอยู่อย่างไร  ในยุค “ดิสรัปชั่น”

FM 100.5: การปรับตัวครั้งใหญ่

"เราถูก disruption ค่อนข้างหนักเหมือนกัน ในยุคที่สื่อวิทยุต้องแข่งขันกับโซเชียลมีเดีย แล้วก็อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ"  ยุดากร สุนทรยาตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคลื่น FM 100.5 เล่าถึงผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างตรงไปตรงมา  

FM 100.5 ของ อสมท. คลื่นวิทยุข่าวที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีคอนเซปต์ เป็น news update  คือมีการอัปเดตข่าว ทั้งต้นชั่วโมง กลางชั่วโมง และในรูปแบบของรายการ ที่จะทำให้คนที่ฟัง 100.5 สามารถรู้ข่าวได้ตลอดทั้งวัน มีทั้งการเล่าข่าว และวิเคราะห์บ้างเล็กน้อย แต่เกี่ยวกับข่าวทั้งหมด ซึ่งวันนี้กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่บีบให้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคข่าว สถานีที่เคยเป็น "วิทยุจ๋า" เน้นการออนแอร์เพียงอย่างเดียว ก็ต้องเริ่มขยายปีกสู่โลกออนไลน์

แต่ความท้าทายใหญ่คือ ฐานผู้ฟังหลักของ 100.5 เป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือ "วัยหลังเกษียณ" ซึ่งแม้จะพยายามตามเทคโนโลยี แต่การทำให้พวกเขาเข้าถึงช่องทางดิจิทัลเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

"การปรับตัวเริ่มจากการไลฟ์สดผ่าน Facebook ควบคู่ไปกับการออนแอร์และนำเนื้อหารายการโดยเฉพาะส่วนสัมภาษณ์แหล่งข่าวสำคัญไปลงบน YouTube เพราะเรามองว่าเข้าถึงง่ายกว่าในการเป็นพอดแคสต์

แต่สิ่งที่ท้าทายของเราในยุค Digital Disruption คือเราต้องพยายามทำให้การเข้าถึงดิจิทัลของคนฟังวิทยุของเรากลุ่มที่เป็นฐานเดิมเนี่ยง่ายที่สุด ทำให้เราต้องพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน"

เสน่ห์วิทยุ: คือการเสพสื่อเสียง

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะขยายสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ 100.5 พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาเสน่ห์ของวิทยุไว้ ด้วยหลีกเลี่ยงการใส่ "ภาพ insert" ในการไลฟ์สด

"ตอนที่เรา Facebook ไลฟ์ใหม่ๆ เนี่ย มันก็มีการต่อต้านเหมือนกันว่า มันจะทำให้เสน่ห์ความเป็นวิทยุหายไป ซึ่งเราก็พยายามที่จะทำให้เสน่ห์วิทยุคงอยู่"

ยุดากร บอกว่าเหตุผลคือผู้ฟังวิทยุส่วนใหญ่ "เสพแต่สื่อเสียง" การใส่ภาพมากเกินไปจะทำให้ "หมดเสน่ห์ความเป็นวิทยุ" อีกทั้งผู้ฟังบางส่วนจะเข้ามาดูเพื่อจำหน้าได้ แล้วก็คว่ำหน้าจอมือถือไว้ แล้วเปิดแต่เสียงฟัง  

แต่ผลลัพธ์ที่ได้ กลับทำให้ค้นพบสิ่งที่น่าประหลาดใจ เมื่อพบว่าจริงๆ แล้ว คนฟังจะปรับตัวตามคลื่นที่เขาติดตามมากกว่า การเปลี่ยนจากการฟังผ่านเครื่องรับวิทยุหลายจุดในบ้าน มาเป็นการฟังผ่านสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวที่พกพาไปได้ทุกที่ เป็นการปรับตัวที่ลื่นไหลกว่าที่คาด

"คนฟังปรับตามเราก็คือว่า คุณไม่ต้องมีวิทยุฝังอยู่ทุกจุดในบ้าน ถ้าจะได้ฟังเรา มีมือถือเครื่องเดียว เดินถือไปได้"

แต่เบื้องหลังความสำเร็จในการปรับตัว กลับมีปัญหาใหญ่ที่ท้าทาย นั่นคือต้นทุนจากการประมูลคลื่นที่สูงลิบ ในขณะที่มูลค่าสื่อโฆษณาทางวิทยุลดลง จึงเป็นแรงผลักดันให้ต้องหาทางออกใหม่

" วิทยุถ้ามันจะตาย มันจะตายจากต้นเหตุอย่างเดียวคือต้นทุนจากการประมูล เอาจริงๆเลยอันนี้คือเรื่องจริง เพราะว่ามันสูงมาก ดังนั้นถ้าเรายังเกาะออนแอร์อยู่อย่างเดียวต้นทุนมันสูงมาก"

กิจกรรมสร้างรายได้

จับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ

เมื่อรายได้จากโฆษณาลดลง 100.5 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากการพึ่งพารายได้โฆษณาเป็นหลัก มาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ไปสู่การสร้างรายได้จากกิจกรรมที่จัดร่วมกับผู้ฟัง

"ทำยังไงให้ผู้ฟังของเรา กลายมาเป็นลูกค้า ซึ่งเราก็ทำได้สำเร็จระดับนึง"

เป้าหมายคือการสร้าง "ความสัมพันธ์กับผู้ฟัง" โดยใช้กลยุทธ์การสร้าง "แบรนด์เลิฟ"

"ทำยังไงให้เขารักเรามากกว่าความจงรักภักดีตอนนี้ ความจงรักภักดีต่อแบรนด์เนี่ย มันกลายเป็นสิ่งที่ยากแล้ว เพราะการแข่งขันสูง แต่ถ้าเขารักเรา เขาจะพร้อมตามเราไปทุกที่ ก็เหมือนด้อม"

ด้วยการรู้จักกลุ่มเป้าหมายดี ว่าส่วนใหญ่คือกล่มนักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง คนวัยหลังเกษียณ100.5 จึงออกแบบกิจกรรมที่ตรงความต้องการ ทั้งการจัด ทัวร์ดูงานและทัวร์วัฒนธรรม ที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ , งานทอล์กโชว์แบบ Exclusive Talk  ที่นำทีมผู้ดำเนินรายการชื่อดังมาพบปะแฟนคลับ และการจัด หลักสูตรอบรม เช่น MCOT CEO of ASEAN ที่ใช้จุดแข็งด้านอาเซียนของคลื่น

"คนฟัง 100.5 เรารู้กลุ่มเป้าหมายแล้วเป็นคนที่โหยหาข้อมูลแล้วก็พร้อมเติมเต็มข้อมูลให้ตัวเองตลอดเวลา กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงสร้างรายได้ แต่ยังช่วย "รักษา” ฐานลูกค้าของเรากลุ่มนี้ไว้ให้ได้ด้วย”

ในการที่จะขายกิจกรรมต่างๆ ด้วยความเป็น MCOT และความเป็นคลื่นข่าวอยู่แล้ว ทำให้มีความน่าเชื่อถือขึ้น แต่การปรับตัวตรงนี้ ช่วงแรกทุกคนก็รู้สึกต่อต้านเหมือนกัน ฉันมาเป็นนักข่าวนะ ไม่ได้มาทำ Event แต่สถานการณ์องค์กรหรือวิกฤตแบบนี้มันต้องทำทุกอย่างให้ได้ เราต้องทำ Event ให้เป็น

“ถึงแม้เราจะมีทีมทัวร์ที่ไปกับเรา แต่น้องๆทีมงานของเรา ซึ่งก็เป็นนักจัดรายการด้วย จะทำหน้าที่เหมือนไกด์คนหนึ่ง ที่คอยช่วยดูแลคนฟัง ดูแลห้องพัก คอยให้ข้อมูล คนฟังจะรุ้สึกว่าเขามีทีมงานของคลื่น 100.5 มาดูแลเขาด้วยตัวเองเลย มาช่วยยกกระเป๋า มาดูเราทานอิ่มหรือยัง หรืออะไรอย่างนี้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังเขาอิ่มใจ เพราะทีมงานของคลื่นที่มาดูแลเขาคือนักจัดที่เขาติดตามชื่นชอบ ขณะที่ทีมงานเราพอกลับมาก็ใจฟูเหมือนกันว่าพี่ๆเขาจำเราได้ บางคนในระดับ ceo เลยนะ เขารู้จักเรา เราแค่นักข่าวตัวเล็กๆจัดรายการอยู่ในอยู่ในออฟฟิศ น้องๆทุกคนเริ่มซึมซับแล้วว่าฉันได้ออกไปเจอผู้ฟังที่ติดตามฟังฉันมา มันก็เป็นการเสริมสร้างกำลังใจในการทำงานอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทั้งผู้ฟัง ทั้งเรายุดากร กล่าว

อนาคตระหว่างความหวัง

กับความท้าทาย

ความท้าทาย วิทยุข่าว 100.5 ยังมีจุดแข็งสำคัญที่ยังคงอยู่ คือ แบรนด์ที่น่าเชื่อถือของ MCOT และสำนักข่าวไทย การเป็นแม่ข่ายกระจายข่าวทั่วประเทศ ทีมผู้ดำเนินรายการที่เป็นกูรูในแต่ละด้าน โดยเฉพาะข่าวต้นชั่วโมงจากสำนักข่าวไทยที่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญ

ยุดากร วิเคราะห์ถึงอนาคตของวิทยุ โดยรวมยังมีความไม่แน่นอน โดยความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือ "ต้นทุนจากการประมูล" ซึ่งสวนทางกับมูลค่าสื่อที่ลดลง อย่างไรก็ตามยังมีความหวังว่าจะมีการขยายอายุสัมปทาน เพื่อให้วิทยุมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ควบคู่ไปกับความพยายามที่จะ "เปลี่ยนตัวเองไปอยู่ในออนไลน์"  และสร้างการจดจำแบรนด์  "MCOT News"  แทนการจำที่ตัวเลขคลื่นในอนาคต

" เป้าหมายของ 100.5 ตอนนี้ คือ Content และ Concept ของคลื่น เรายังคงสโลแกน รู้ทัน รู้ลึก รู้จริง รู้ทุกสิ่งที่เป็นข่าว ให้คนที่เขามาฟัง 100.5 ไม่มีความรู้สึกผิดหวังที่ได้มาเปิดฟังคลื่นเรา และที่สำคัญคือเขาจะไม่ตกข่าว ตามทันทุกข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ต่างประเทศ หรือแม้แต่อาเซียน ”

สำหรับ MCOT News เนื้อหาข่าวยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอกย้ำจุดยืนของคลื่นเรา แม้จะต้องปรับตัวท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะข่าวคุณภาพและข่าวสารบ้านเมืองในช่วงเหตุการณ์สำคัญเพราะนั่นเป็นเวลาที่ผู้ฟังต้องการ "ข่าวคุณภาพ" ซึ่งเขาจะกลับมาหาเรา มันคือความท้าทายว่าเราจะดูแลกลุ่มผู้ฟังของเรากลุ่มนี้ให้เขาอยู่กับเรานานที่สุดได้อย่างไร ยุดากร กล่าวทิ้งท้าย

คลื่นวิทยุยุคดิสรัปชั่น

อยู่ได้เพราะเข้าถึงที่สุด

อีก 1 สื่อวิทยุ ที่ครองใจคนฟังมายาวนาน  และยังเปรียบเสมือนเป็น “โรงเรียน” สร้างคนข่าวคุณภาพออกไปเติบโตบนหน้าจอสื่อโทรทัศน์มาหลายต่อหลายรุ่น  ศูนย์ข่าวแปซิฟิค  ศูนย์ข่าววิทยุที่ก่อตั้งมายาวนานถึง 32 ปี  จุดเด่นคือการนำเสนอข่าวทั้งในและต่างประเทศด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น 

บุษบง บุษปวณิช หัวหน้าศูนย์ข่าวแปซิฟิค ให้มุมมองถึงภาพรวมของการวิกฤตดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมสื่อทุกวันนี้  ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก และจริงๆแล้วมีการปรับตัวกันมาโดยตลอด

แม้แต่สื่อวิทยุอย่าง “ศูนย์ข่าวแปซิฟิค” เอง หลังไม่ได้มีการผลิตข่าวต้นชั่วโมงให้กับสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก ตั้งแต่ปี 2547  ก็หันมามุ่งทำข่าวป้อนให้กับสถานีวิทยุ จส. 100  และปรับรูปแบบการทำงาน จากที่ทำข่าว แล้วนำข่าวไปออกอากาศที่ จส.100 มาเป็นการทำงานแบบหลอมรวมกันระหว่าง จส. 100 กับ Pacific  นำจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีและถนัดมาผสมกันให้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน 

“ คือ จส.100 มีจุดแข็งด้านความเร็ว เด่นด้านข่าวสถานการณ์ - จราจร - อุบัติเหตุ และมีคนฟังที่พร้อมจะโทรเข้ามาแจ้งเหตุหรือเล่าเหตุการณ์จากสถานที่จริง  ส่วนศูนย์ข่าวแปซิฟิค  จุดแข็งคือการเป็นศูนย์ข่าวมืออาชีพ โดยเฉพาะข่าวการเมืองและข่าวต่างประเทศ  มีแหล่งข่าวและมีผู้สื่อข่าวในต่างประเทศ  เมื่อนำมารวมกันจึงทำให้ข่าวที่นำเสนอมีทั้งความเร็ว ลึก และรอบด้าน  อีกทั้งมีการต่อยอด แตกประเด็น ยิ่งเข้มข้นเป็นประโยชน์กับคนฟังมากยิ่งขึ้น ”

 “ Business Model ของเรา คือเราพยายามปรับตัวเราเองมากกว่า ให้รับกับสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป และให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน  โดยที่ยังยึดมั่นในการทำข่าวที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและมีจริยธรรม  ที่สำคัญคือยังคงเป็นไปตามสโลแกนที่เรายึดถือมาตลอด “ด้วยใจ เพื่อสังคม”  คือ เป็นสื่อวิทยุ ที่เป็นทั้งเพื่อนและที่พึ่ง  แม้เราจะเป็นสื่อวิทยุ แต่หากมีสถานการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้น เราก็จะมีการล้มผังเพื่อรายงานสดเกาะติดสถานการณ์

สิ่งหนึ่งที่เราได้ปรับและเปลี่ยนมากคือรูปแบบในการนำเสนอข่าวจากเดิมที่เป็นการอ่านข่าว ใช้ภาษาทางการเปลี่ยนมาเป็นการเล่าข่าวใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่ายมากขึ้น เหมือนการพูดคุยกันแต่ก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง-ข้อมูลจริง ฟีดแบ็กที่กลับมาคนฟังก็ค่อนข้างชอบ เพราะถึงแม้จะเป็นข่าวประเด็นหนักหรือเรื่องยาก แต่ทำให้เขารู้สึกว่าเข้าใจง่าย

ฐานเดิมคนฟังของวิทยุคลื่น จส.100  เป็นกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป และคนที่ชอบติดตามข่าวสาร แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ทำให้มีฐานคนฟังที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุ เข้ามาเพิ่มด้วย เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือหรือโทรเข้ามาแจ้งเหตุต่างๆ  

นอกจากรูปแบบการนำเสนอแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มแพลตฟอร์มให้เข้าถึงคนมากขึ้น เดิมมีแค่ช่องทางวิทยุ  ก็ขยายไปบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Facebook เพจ JS100 Radio , YouTube และ TikTok  รวมถึงทำ Application JS100 ที่รวบรวมบริการข่าวสาร พร้อมฟังก์ชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสถานการณ์บนท้องถนน ดูแผนที่เดินทาง ติดตามข่าวสารจากศูนย์ข่าวแปซิฟิค ข้อมูลทวิตเตอร์ และการแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ SOS

“ เมื่อก่อนนี้เรายังมีความรู้สึกว่าวิทยุ จส.100 อยู่แค่ในกรุงเทพฯไปไหนไม่ไกล แต่ตอนนี้พอเรามีแอปพลิเคชันรวมถึงช่องทางต่างๆทำให้สามารถฟังเราได้จากทั่วโลกเลย โลกมัน world wide ทุกอย่างแคบลงหมด เราพยายามใช้เทคโนโลยีมาเสริมงานเสริมความเข้มแข็งของเราเองให้เราเดินหน้าต่อไปให้ได้ ซึ่งผู้บริหารของเรามีมุมมองในเรื่องนี้มานานแล้ว เราถือเป็นรุ่นแรกๆที่ทำข่าวออนไลน์บนทวิตเตอร์ได้รับความเชื่อถือจนมียอดผู้ติดตามมากกว่า 3 ล้าน เพราะการรายงานข่าวที่รวดเร็ว ฉับไว และถูกต้อง”

โจทย์ยากเมื่อคนรุ่นใหม่

เมินอาชีพนักข่าววิทยุ

ในภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรมสื่อ ที่หลายคนเชื่อว่า AI จะเข้ามาทดแทนที่ของ “คน” ในการทำงานส่วนต่างๆ  แต่คนข่าววิทยุมืออาชีพ กลับมองต่าง โดยยังเชื่อว่า แม้เทคโนโลยีจะล้ำพัฒนาไปเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถมาทดแทน “ความเป็นมนุษย์ ได้  

บุษบง มองว่าความท้าทายของคนข่าววิทยุ จึงอาจไม่ใช่ Digital Disruption ในเรื่องของเทคโนโลยี  แต่คือการที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป  จนทำให้การหานักข่าวภาคสนามของสื่อวิทยุในยุคนี้  เป็นเรื่องยากมาก คนรุ่นใหม่จบมาแทบจะไม่มีใครอยากเป็นนักข่าววิทยุ  และสวนทางกับการเติบโตของตลาดแรงงานสายอินฟลูเอนเซอร์ 

สาเหตุที่ทุกวันนี้หานักข่าววิทยุยากเพราะนักข่าววิทยุรายได้น้อยและเวลาไปภาคสนามต้องทำงานคนเดียวทั้งหมด แม้จะมีเปิดหน้าไลฟ์สดแต่ก็ต่างกับการได้ออกหน้าจอทีวี จึงอาจจะไม่จูงใจคนรุ่นใหม่เท่ากับไปเริ่มต้นเป็นนักข่าวโทรทัศน์ทีเดียวเลย เพราะเขาอาจมองว่ามันจะเพิ่มมูลค่าในบทบาทของแต่ละคนได้มากกว่าเมื่อต้องการจะไปเติบโตต่อที่อื่น ที่สำคัญคือค่านิยมของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้เขาอยากเป็นเจ้าของกิจการ เป็นอินฟลูฯ หรือขายของซึ่งได้เงินมากกว่า ” 

สื่อวิทยุไม่มีวันตาย

AI ทดแทนไม่ได้

เสน่ห์ของการฟังวิทยุ คือการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนักจัดรายการและคนฟัง ที่หลายครั้งก็สร้างความประทับใจ และเป็นความผูกพันที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ AI ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้  

"ช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่เราเริ่มขยายช่องทางไปในแพลตฟอร์มอื่นๆ ทำให้ดีเจและข่าวเปลี่ยนหน้าไป แต่ด้วยความที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิคเราอยู่กันมานาน พอเรากลับไปจัดรายการ คนฟังก็มีความรู้สึกว่าเพื่อนฉันกลับมาจัดรายการแล้ว ก็โทรเข้ามาหาเราว่าอยากเล่าให้ จส.100 ฟังจังเลยว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ๆ

เวลาเราไปขึ้นแท็กซี่ เจอคนขับบอกว่าทำไมเสียงพี่คุ้นๆจัง อ๋อเนี่ยคุณบุษบงแน่ๆเลย ผมจำได้ๆ แล้วก็ฝากความคิดถึงไปถึงดีเจคนอื่น ข่าวคุณน่ะดีนะ มันได้ความรู้ดี พวกผมไม่รู้เรื่อง คุณเอามาย่อยง่ายๆให้พวกผมรู้เรื่อง สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ"

ไม่เพียงเป็น “เพื่อน” แต่วิทยุยังเป็น “ที่พึ่ง” และเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือคน

“ มีครั้งหนึ่งมีคนฟังโทรมาแจ้งขอความช่วยเหลือ เพราะพี่ชายมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และหลงลืมเป็นอัลไซเมอร์ด้วย หายตัวไป  เราช่วยประสานกันมาตลอด 2 วัน จนสุดท้ายตำรวจเห็นภาพจาก จส.100 แล้วจำได้จึงไปรับกลับมาให้ เหตุการณ์นั้นต่อยอดเป็นโครงการ "คนไทยใส่ใจผู้ป่วยสมองเสื่อม" ให้ลงทะเบียนผู้ป่วยรับสัญลักษณ์ดอก Forget Me Not ติดเสื้อ หากพลัดหลงสามารถสแกน QR Code เพื่อติดต่อ จส.100 ช่วยประสานงานนำผู้ป่วยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ”

 “ คนอาจจะมองว่าวิทยุมันใกล้จะใกล้แตกดับแล้วเดี๋ยวนี้ใครๆก็ไม่ค่อยเปิดวิทยุฟังแต่ว่าจริงๆแล้วเราอาจจะให้ความสำคัญกับ AI หรือให้ความสำคัญกับดิจิทัลมากเกินไปจนลืมไปว่าคนในต่างจังหวัดของประเทศไทยเขาก็ยังมีวิทยุทรานซิสเตอร์ของพวกนี้มันยังขายได้ในต่างจังหวัดเพราะชาวบ้านเขายังฟังวิทยุมันยังเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับคนที่เขาไม่มีโอกาส...อย่างน้อยยังมีคนทำให้เขาได้รู้ได้ฟังพอถึงเวลาที่ไม่มีใครช่วยใครเรายังช่วยได้เราเชื่ออย่างนั้นนะ...ว่าเรายังช่วยได้

หัวหน้าศูนย์ข่าวแปซิฟิค ยอมรับว่าท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อ องค์กรและคนสื่อยังคงคงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา และไม่ลืมเรื่อง จรรยาบรรณ จริยธรรมของสื่อ ที่ถือเป็นหัวใจหลักในวิชาชีพ

สิ่งสำคัญที่คนสื่อวิทยุในยุคนี้จะต้องคิดคือจะอยู่ยังไงให้รอดแล้วก็อยู่ให้ได้ด้วยอย่างพัฒนาและก็อยู่อย่างมีคุณค่ามีประโยชน์ความมีคุณค่าของสื่อมันยังคงต้องมีอยู่การรายงานข่าวที่ถูกต้องตรงไปตรงมาไม่เลือกข้างและมีจรรยาบรรณพื้นฐานที่เราเรียนและถูกปลูกฝังมาสิ่งเหล่านี้มันต้องไม่ตายหายไป ”  บุษบงกล่าวทิ้งท้าย

สื่อมวลชนยุคใหม่

ต้องเร็วแม่นทันเหตุการณ์

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.  สำนักข่าววิทยุอีกหนึ่งแห่ง ที่ก่อตั้งมายาวนาน 33 ปี และบุกเบิกการนำเสนอข่าว 24 ชั่วโมง และข่าว SMS

สิริธรา เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. คอนเนกซ์จำกัด  ผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งได้เข้ามาบริหาร สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.  ตั้งแต่ปี พ.ศ 2565  มีมุมมองและวิสัยทัศน์ที่จะนำ INN ก้าวสู่อนาคต ด้วยการผสมผสานระหว่างความเป็นสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมที่มีคุณภาพ กับนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ

" ภาพของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบันเรื่องของแพลตฟอร์มดิจิทัลและสตรีมมิ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆทำให้ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกชมเนื้อหามากขึ้น เพราะแต่ละสื่อก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งเรื่องของความเร็ว เนื้อหาที่น่าสนใจสอดแทรกความรู้ โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการเติบโตของ Short-form Content บนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok, YouTube Shorts, และ Instagram Reels ที่กำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของอนาคต "

ปฏิวัติโมเดลธุรกิจ

จากข่าวสู่ Exclusive Content

" Business Model ของบริษัท ยังตั้งเป้าในการนำเสนอคอนเทนต์พิเศษ หรือ Exclusive Content เพื่อจูงใจให้ผู้ที่สนใจเข้ามาติดตาม เพิ่มการรับรู้มากขึ้น ส่วนเป้าหมายการสร้างรายได้จะเพิ่มความหลากหลายและการหาพันธมิตร ในการผลิตสื่อเพื่อขยายฐานผู้รับชม  โดยไม่เพียงแค่การผลิตงานด้านข่าวอย่างเดียว ยังมีกิจกรรม  รับผลิตงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์  และมีแนวพิจารณาในการแตกส่วนไปทำด้านออแกไนซ์ เพิ่มเติมด้วย "

แม้จะปรับตัวให้มีความเปิดกว้างในการผลิตงานมากขึ้น  แต่ผู้บริหาร สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ย้ำว่า INN ก็ยังคงยึดแนวทางตามสโลแกนเดิม คือ สดทันที ที่มีข่าว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. เสมอมา

" เพราะเราเติบโตมาจากงานข่าววิทยุและข่าว SMS ที่ต้องมีความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และมีความถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านข่าวที่น่าสนใจเราจะเจาะไปที่ประเด็นนั้นๆเพราะเราเข้าถึงหัวใจของผู้ชมข่าวสารว่าเขาต้องการจะรู้เรื่องอะไรที่เป็นคุณเป็นโทษเป็นประโยชน์ต่อผู้คน

สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง คือ การบริหารงานข่าว ที่ครบถ้วนทั้งเนื้อหา ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ผ่านการนำเสนอเนื้อภาพ ภาพ เสียง การตัดต่อ ที่น่าสนใจ  การสรุปข้อมูลข่าวสารให้กระชับ น่าสนใจ เข้ากับสถานการณ์  ผนวกกับภาพข่าว ในความยาวที่ไม่มากเกินไป  หรือที่เราเรียกว่าสกู๊ปข่าว  ก็ยังคงเป็นเสน่ห์และจุดดึงดูดให้คนเข้ามาสนใจติดตามข่าวสารในแนวนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา และเรายังยกให้เป็น content คุณภาพ เพราะทุกครั้งที่ปล่อยออกไป จะได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก

ส่วน content ที่ตลาดต้องการจะเป็นงานวาไรตี้ที่ดูแลสนุกสนานน่าสนใจเพราะบางครั้งคนอาจจะเครียดจากภาวะการณ์ปัจจุบันจึงต้องการเสพสื่อที่ไม่เครียดมากดูเพลินสนุกจรรโลงใจ " สิริธรา กล่าว

AI กับสื่อมวลชน

พันธมิตรแห่งอนาคต

สิริธรา มองว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือการยอมรับเทคโนโลยี AI และการสร้างเนื้อหาอัตโนมัติที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การเขียนบทความ ข่าว การตัดต่อวิดีโอ หรือการสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และถ้า AI ผนวกรวมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของคนข่าว จะยิ่งทำให้คอนเทนท์มีความน่าสนใจ และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการนำเสนอของสื่อ

" ซึ่งกลยุทธ์ของ INN คือการปรับเนื้อหาตามพฤติกรรมผู้บริโภคโดยนำข้อมูลข่าวสารของช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์น่าสนใจมาประยุกต์ให้เข้ากับแพลตฟอร์มที่เรามีอยู่ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย " สิริธรา อธิบาย

ในขณะที่ต้องปรับตัวและพัฒนาให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวสารในยุคนี้ ขณะเดียวกัน INN ก็ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ Fake News หรือ ข่าวเท็จ ที่ไม่มีการยืนยันข้อมูล ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุน Fake News ที่สร้างความสับสนในสังคม เพื่อให้ผู้บริโภคสื่อหันกลับมาให้ความสำคัญกับข่าวที่มาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

เป้าหมายกลุ่มใหม่

จาก 35-60 ปีสู่ Gen Z

ผู้บริหารรุ่นใหม่ ของ INN บอกว่าการขยายฐานผู้บริโภคถือเป็นความท้าทายใหม่ เพราะที่ผ่านมาฐานผู้ชมในทุกแพลตฟอร์มข่าวของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น จะเป็นช่วงวัยทำงาน 35-60 ปี แต่เราต้องการขยายฐานของผู้บริโภคและติดตามสื่อเป็นกลุ่ม Gen Z และ Millennials ซึ่งตามสถิติ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในโลกดิจิทัลมากที่สุด ชอบเนื้อหาที่มีความหลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย เช่น Short-form Video บน TikTok หรือ YouTube Shorts"

สิริธรา เน้นย้ำถึงเป้าหมายและความท้าทายขององค์กร คือให้ความสำคัญของการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

" เป้าหมายของสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. คือการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์และตรงใจมีความหลากหลายเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนอกจากข่าววิทยุยังเน้นการผลิตสื่อที่ตรงตามความสนใจของผู้บริโภคขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่ม Engagement  ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์หรือเนื้อหาเช่นการสร้างชุมชนออนไลน์หรือกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาโดยไม่ลืมจุดยืนของการเป็นสำนักข่าวที่ต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

ที่สำคัญสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ยังต้องการเป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือสังคมควบคู่กันไปโดยมีร่วมด้วยช่วยกันและสื่ออาสารวมถึงอาสาสมัครอยู่จำนวนมากสามารถช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนไปพร้อมๆกันด้วย "

“ เรามองว่าอนาคตอุตสาหกรรมสื่อกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ การเปิดใจรับเทคโนโลยี AI การต่อสู้กับข่าวเท็จ และการรักษาความเชื่อถือได้ของแหล่งข่าวสาร คือสิ่งที่จะทำให้องค์กรสื่อยืนหยัดได้ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ” สิริธรา กล่าวทิ้งท้าย