“สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ยกระดับกำกับ …ขอผู้บริโภคเป็นพลังตรวจสอบ

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้มีมติยกระดับเป็น “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ”  พร้อมกับประกาศใช้ ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2563  

หลักการสำคัญ คือ จากเดิมที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ กำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมในส่วนของกิจการหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ในสังกัดสมาชิก ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจการสื่อมวลชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือรูปแบบอื่นใดที่ทำหน้าที่สื่อข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ รวมถึงการเพิ่มจำนวนกรรมการจาก 21 คน เป็น 23 คน เนื่องจากการขยายขอบข่ายสมาชิกให้ครอบคลุมถึงสื่อประเภทต่างๆ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวกับ “จุลสารราชดำเนินออนไลน์”ถึง เหตุผลที่สภาการฯ ไปสู่การเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และบทบาทในการตรวจสอบจริยธรรมสื่อของสภาการฯ ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันของสื่อว่า ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีการพูดกันมานานแล้วว่าทำไมสภาสื่อถึงยังชื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

“2-3 ปีที่ผ่านมามีสื่อปิดตัวหลายแห่งเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ไม่มีกระดาษแล้ว เคยมีการถกเถียงกันว่าพอไม่เป็นหนังสือพิมพ์แล้วยังเป็นสมาชิกได้ไหม เราเคยแก้ธรรมนูญมาครั้งหนึ่งว่าจะกำกับดูแลไปถึงสื่อดิจิทัลของสมาชิกด้วย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่เป็นออนไลน์ทั้งหมด ที่หยุดตีพิมพ์ไปก็ยังคงเป็นสมาชิกอยู่ ก็เลยเปลี่ยนชื่อให้มันครอบคลุมกับสื่อใหม่ๆ เพราะแบบเดิมกำหนดว่าถ้าจะเป็นสมาชิกสภาการ ก็ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ การไปครอบคลุมเว็บออนไลน์เป็นแค่ส่วนประกอบ ก็เลยคิดว่าต้องขยายตัวเอง ให้ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ถ้าต้องการเข้ามาร่วมก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าไปแย่งสมาชิก

...การเปลี่ยนธรรมนูญใหม่ก็ทำให้ไทยรัฐเอง ซึ่งมีไทยรัฐทีวี ก็ถือว่าไทยรัฐทีวีเป็นสมาชิกสภาการไปโดยปริยาย ไม่ต้องมาสมัครสมาชิกใหม่ เนชั่นทีวีก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็สามารถมาที่สภาการเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาได้"

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ชวรงค์ กล่าวว่า เมื่อสภาการหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไปสู่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ 3 ปี ประมาณต้นเดือนมีนาคม ก็จะมีกรรมการชุดใหม่ แล้วให้เริ่มต้นเป็นกรรมการสภาสื่อมวลชนแห่งชาติชุดที่ 1 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการกำเนิดของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังอยู่ในช่วงเลือกกรรมการสภาจากสมาชิก และช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์เมื่อได้กรรมการ 15 คน แล้ว กรรมการจะไปเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน รวมแล้ว 23 คน ส่งมอบงาน 6 มีนาคม เป็นกรรมการชุดใหม่ ซี่งจะมีการเลือกประธาน เลขาธิการ ในวันนั้นทันที

เขาบอกว่า จากนี้ การขยายการกำกับดูแล จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ใหม่ๆและสื่อวิทยุโทรทัศน์หากต้องการจะเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

“จากที่คิดว่าจะเปลี่ยนชื่ออย่างเดียวกรรมการที่ไปดูเรื่องนี้คิดว่าควรจะตั้งธรรมนูญใหม่หมดเลย เพราะต้องปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง ทั้งจำนวนกรรมการ กระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ ก็กลายเป็นต้องยกร่างธรรมนูญใหม่แทนของเก่า”

ส่วนบทบาทหน้าที่นั้น ชวรงค์ ยืนยันว่ายังเหมือนเดิม เพราะเน้นกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม ซึ่งในบ้านเรายังเป็นระบบดูแลกันเองแบบสมัครใจ คนไม่สมัครใจก็ไม่มาเป็นสมาชิก หน้าที่ยังเหมือนเดิมคือกำกับดูแลด้านจริยธรรม ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ กิจการสื่อมวลชน

“การกำกับดูแลสื่อ ประเทศ ประชาธิปไตยทั่วโลกก็ใช้การกำกับดูแลกันเอง การลงโทษเหมือนกันหมดคือเป็นการลงโทษโดยสังคม เพราะการลงโทษโดยกฎหมาย เช่น ไปปรับ ไปถอนใบอนุญาตก็จะกระทบกับเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ถ้ามีบทลงโทษทางกฎหมายผู้ที่มีอำนาจก็สามารถที่จะแทรกแซงเข้ามาได้โดยการเข้ามาเป็นกรรมการ แล้วเมื่อไหร่ที่กรรมการถูกครอบงำมันก็จะกระทบกับเสรีภาพของสื่อ เพราะฉะนั้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงให้สังคมลงโทษ 

ส่วนข้อวิจารณ์ว่า องค์กรสื่อที่ติดตามดูแลจริยธรรมสื่อ เป็นเสือกระดาษ เอาผิดใครไม่ได้นั้น  ชวรงค์มองว่า ทั้งหลายทั้งปวง ต้องอยู่ที่ผู้บริโภคสื่อที่ต้องช่วยกันด้วย

ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่สื่อเป็นสมาชิกสภาสื่อมวลชนมีถึง 99% เพราะถ้าไม่เป็นสมาชิกประชาชนก็จะไม่ยอมรับว่าเป็นสื่อที่มีมาตรฐาน เวลาสภามีการตัดสินว่าละเมิดจริยธรรมประชาชนก็เอาด้วย ถ้าสื่อไม่ขอโทษประชาชนก็จะไม่ซื้อคุณ ไม่อุดหนุนโฆษณาที่ลงในช่อง ในหนังสือพิมพ์คุณ  ฉะนั้นสังคมต้องเข้ามามีส่วนตรงนี้ด้วย คนไปมองว่าทำไมสภาไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ถ้ามีอำนาจทางกฎหมายเมื่อไหร่จะอันตรายขึ้นมาทันที ที่ผานมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทำงานในเชิงรุกไม่ต้องรอให้คนร้องเรียนมา

คำถามคือในเมื่อประเทศไทยสื่อที่เป็นสมาชิกของสภาการฯ ยังมีเพียงเล็กน้อย นั่นหมายถึงยังไม่มีสื่อให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของสภาการฯมากพอใช่หรือไม่  ชวรงค์ เห็นว่า  การที่จะมีน้ำหนักไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก แต่ขึ้นอยู่กับสมาชิกที่มีอยู่ให้ความร่วมมือ หรือให้การยอมรับกับสภามากน้อยแค่ไหน ผู้บริโภคสื่อให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรสื่อด้านจริยธรรมมากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้นเรื่องจำนวนไม่ใช่ประเด็น เพียงแต่วันนี้ที่เรายังไม่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตราบใดที่ยังไม่มีเราก็ยังเป็นระบบสมัครใจ จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสื่อส่งเสียงว่าหนังสือพิมพ์นี้ สถานีโทรทัศน์ไม่ยอมเป็นสมาชิกสภาใดเลยแปลว่าอะไร ก็แปลว่าเขาไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยใครเลย ก็ต้องรณรงค์ว่าผู้บริโภคสื่อจะไปบริโภคสื่อนั้นไหม ต้องใช้วิธีนี้ไปก่อน เมื่อกฎหมายออกมาจะไม่มีใครหลุดพ้นจากการตรวจสอบแล้วเพราะถ้าวันนั้นคุณไม่เป็นสมาชิกสภาองค์กรสื่ออะไรเลยจะต้องถูกตรวจสอบจากสภาตามกฎหมายที่ตั้งขึ้นเรียกว่าสภาวิชาชีพสื่อมวลชนโดยตรง ณ วันนี้ที่ยังไม่มีกฎหมายเราก็ต้องส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกันเองสังคมก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

แล้วร่างกม.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  จะทำให้เกิดสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะมีความเกี่ยวโยงมาถึงสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติหรือไม่อย่างไร? ชวรงค์  กล่าวว่า โดยอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนก็มีเหมือนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย  แต่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเราก็ต้องไปจดแจ้งว่าเราเป็นองค์กรที่ดูแลตรวจสอบกันเอง แล้วเราก็กำกับดูแลสมาชิกของเราเองสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะมาตรวจสอบสมาชิกของเราไม่ได้

สำหรับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฏีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จและเสนอไปที่คณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งครม.จะมีการส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุมวิปรัฐบาล หารือว่าควรจะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาหรือไม่อย่างไร

ชวรงค์ ยอมรับว่า จากการศึกษาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่มีข้อติดใจใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ก็ไม่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม มีความกังวลประเด็นเดียวคือ การได้มาซึ่งสภากรรมการ ฯที่จะต้องได้ผู้มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ ไม่ใช่ได้บุคคลที่มาจากการสนับสนุนทางการเมืองหรือเข้ามาเพื่อหาประโยชน์

“จุดเป็นห่วงคือ การได้มาซึ่งกรรมการจะเป็นไปตามเจตนารมย์หรือไม่ ตรงนี้ทุกฝ่ายก็ต้องดูเนื้อกฎหมายให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเข้ามาเป็นกรรมการมีความรู้ความสามารถเข้าใจวิชาชีพสื่อ แม้เป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ เราต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร  ปราศจาการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ คนเข้ามาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อต้องการตำแหน่ง มามีอำนาจ เราไม่ต้องการ เราต้องการผู้ทรงคุณวุฒิจริง ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ สร้างมาตรฐานสื่อได้จริง ๆ”

ส่วนเรื่องอื่นไม่น่าห่วง เพราะไม่มีตรงไหนจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ไม่สามารถไปลงโทษทางกฎหมายทางปกครอง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยอุดช่องว่างกรณีสื่อที่ละเมิดจริยธรรม ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้ไม่มีองค์กรเข้าไปตรวจสอบได้  ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

ชวรงค์ เล่าว่า ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับตัวพรรคการเมืองบางพรรค  พร้อมอธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพเหมือนที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เคยยกร่างเอาไว้ หวังว่าในส่วนของพรรคการเมืองผลักดันเข้าสู่สภา 

ชวรงค์ยอมรับว่า ข้อกังวลจุดห่วงการได้มาซึ่งกรรมการจะเป็นไปตามเจตนารมย์หรือไม่ ดูเนื้อกฎหมายให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให่คนเข้ามาเป็นกรรมการมีความรู้ความสามารถเข้าใจวิชาชีพสื่อ เป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ เราต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร  ปราศจาการเมืองเข้ามาแทรกแซง คนเข้ามาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อต้องการตำแหน่ง มามีอำนาจ เราไม่ต้องการ เราต้องการผู้ทรงคุณวุฒิจริง ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ สร้างมาตรฐานสื่อได้จริง ๆ

 เรื่องอื่นไม่น่าห่วง เพราะไม่มีตรงไหนจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ไม่สามารถไปลงโทษทางกฎหมายทางปกครอง แต่จะช่วยอุดช่องว่างไม่มีใครตรวจสอบสื่อ สื่อที่ละเมิดจริยธรรม ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ก็ไปตรวจสอบไม่ได้ ก็จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

ชวรงค์ ยังมองปัญหาสื่อกับการละเมิดจริยธรรมว่า มีอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่อยู่ในระบบตรวจสอบ

“การละเมิดจริยธรรมก็มีอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีความรวดเร็ว อยู่ที่ว่ากระบวนการตรวจสอบมีมากน้อยแค่ไหน แต่สื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเราจะไปตรวจสอบก็คงไม่ได้เพราะเป็นระบบสมัครใจ เราอยากให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งมากขึ้น ถ้ามีคนมาร้องเรียนมากๆ องค์กรวิชาชีพก็ต้องทำงานมากขึ้น รวดเร็วขึ้น ถ้าผู้บริโภคมาร้องเรียนแล้วเกิดความล่าช้าประชาชนก็ต้องมากดดันองค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพก็จะทำงานรวดเร็วขึ้น สุดท้ายมันต้องทำงานด้วยกันทั้งหมด จะคาดหวังทั้งหมดกับองค์กรก็คงยาก วันนี้พลังที่จะตรวจสอบสื่อให้อยู่ในร่องในรอยไม่ละเมิดจริยธรรมก็คือผู้บริโภคสื่อ”

“ในส่วนที่มีการละเมิดจริยธรรม มันไม่ใช่สื่ออาชีพ ปัญหาคือผู้บริโภคสื่อก็แยกไม่ออก คนที่เป็นสื่ออาชีพก็ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ อย่าไปทำตามเขา ถ้าเรารักที่จะเป็นสื่ออาชีพตามมาตรฐานจริยธรรม ต่อไปผู้บริโภคสื่อมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่าสามารถแยกแยะได้ว่าแบบไหนเป็นสื่ออาชีพ มันก็จะทำให้มาตรฐานของสื่อยังคงอยู่” ชวรงค์ กล่าวในที่สุด

0 เปิดร่าง กม.สภาวิชาชีพสื่อ

สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาเสร็จแล้วมีดังนี้

1.ให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

2.สภาวิชาชีพฯ มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรม ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรม ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ฯลฯ

3. รายได้หลักของสภาวิชาชีพฯ มาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เป็นรายปีตามที่สภาร้องขอตามความจำเป็น แต่ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท

  4.กรรมการสภาวิชาชีพฯ ประกอบด้วย 1.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการเลือกกันเองและสรรหารวม 5 คน 2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนมาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อฯ กฎหมาย สิทธิมนุษยชน คุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ด้านละ 1 คน และ 3.กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมแล้วมีกรรมการทั้งหมด 11 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

5.คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาฯ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการละเมิดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พิจารณาอุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พิจารณารับรองหลักสูตรหรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน ฯลฯ

6.ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จัดให้มีสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาและคณะกรรมการสภา

7.ให้คณะกรรมการสภาฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน 7 คนจากกรรมการสภาฯ 2 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน และผู้แทนนักวิชาการสื่อฯ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและสภาทนายความ อีกด้านละ 1 คน โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน

8.คณะกรรมการจริยธรรรมมีอำนาจตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดแจ้งกับสภาฯ เท่านั้น ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจขององค์กรวิชาชีพที่จดแจ้งแล้ว จะต้องส่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นพิจารณา โดยคณะกรรมการจริยธรรมและสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ (ตามหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อ) เว้นแต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นเพิกเฉยดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือดำเนินการพิจารณาต่ำกว่ามาตรฐานจริยธรรมที่สภาวิชาชีพกำหนด

9. โทษจากการฝ่าฝืนจากการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ อาจสั่งให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนด้วย และในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้

10.บทเฉพาะกาล กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยธุรการของสภาฯ และมีคณะกรรมการสภาชั่วคราวจำนวน 11 คน จากกรมประชาสัมพันธ์ กสทช. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่จัดทำข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ และดำเนินการให้มีคณะกรรมการสภาฯ ชุดแรกภายในเวลา 270 วัน (เมื่อครบ 2 ปี กรรมการชุดแรกจะต้องมีการจับสลากออกจำนวน 4 คน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของคณะกรรมการสภาฯ)