จับสัญญาณ หนี้สิน-ว่างงาน แรงกดดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“เรื่องการบริโภคภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ถ้าการฟื้นตัวในส่วนนี้ เครื่องยนต์ตัวนี้ยังดับอยู่ ต่อไปการที่เราจะพูดคำว่า “ยั่งยืน” อาจจะเลิกใช้ได้เลยหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้”

ความน่ากลัวของโควิด-19 ที่พัฒนาสายพันธุ์ แพร่กระจายได้ง่ายรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้น ขณะที่ยังมองไม่เห็นทางออกปลายอุโมงค์ ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไหร่ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การจ้างงานลดลงอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและหนี้ครัวเรือนของคนไทยก็พุ่งสูงขึ้นตามมาเช่นกัน “วสวัตติ์ โอดทวี ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล” ให้ความเห็นผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

สถานการณ์วิกฤติโควิดวันนี้มีตัวเลขสะสมที่สูงอยู่ สะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้น  การเดินทางทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นได้ยาก หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้จะส่งผลกระทบตามมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของหนี้และการว่างงาน

ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลข GDP พบว่าภาวะหนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานพุ่งสูง หลายคนประสบปัญหารายจ่ายมากกว่ารายรับ และรายได้มีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น การจ้างงานลดลง พ่อค้าแม่ค้าขายของได้น้อยลง คนเดินตลาดน้อยลง ต้นทุนสูงขึ้น การเดินทางต้องมีค่าใช้จ่าย รวมถึงภาวะหนี้สินต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความรู้ทางการเงินที่ยังขาดวามเข้าใจ อย่างเรื่องของอัตราดอกเบี้ยทบต้นในแต่ละปี และที่น่าห่วงคือคนเป็นหนี้แล้วไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ เมื่อมีการติดตามทวงถามหนี้ ก็จะมีต้นทุนตามมาทำให้มูลหนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนตัวเลขการจ้างงานไตรมาสสองของปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำไว้ โดยสภาพัฒน์ไปรวบรวมมาพบว่า ตัวเลขการว่างงานค่อนข้างสูง ยังไม่นับแรงงานแฝงหรือเด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาอีก จนน่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก ขณะที่บางอุตสาหกรรมนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน  แน่นอนว่าแรงงานที่มีทักษะน้อยได้รับผลกระทบ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไข คือ แรงงานต้องพัฒนาทักษะมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ เพราะถ้าว่างงานนานเกินไปสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากขาดรายได้แล้วยังส่งผลต่อทักษะการทำงานหายไปหรือประสิทธิภาพลดลง กระทบต่อค่าจ้างแรงงานในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ยังต้องติดตามกรณีแรงงานเคลื่อนย้ายจากเดิมอยู่ในอุตสาหกรรม ไปอยู่ภาคบริการหรือภาคเกษตรกรรม ซึ่ง 2 ภาคนี้ต้นทุนและค่าแรงน้อยมาก เพราะภาคเกษตรกรรมขึ้นอยู่กับฟ้าฝน ทำให้เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ ถ้าไม่มีการพัฒนาทักษะของตัวเอง  ส่วนภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมาเกือบ 2 ปี คือ เรื่องการท่องเที่ยว แรงงานสาขานี้ไม่รู้ว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไร รัฐบาลก็ปวดหัวเหมือนกัน  

ก่อนหน้านี้ธุรกิจแรงงานกลุ่มการท่องเที่ยว การโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ มีรายรับอ้วนเลย แต่สุดท้ายก็มาเจอวิกฤตโควิดโดยที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้นำเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมแทบจะไม่เคยเห็นภาพนี้เกิดขึ้น คือมีอัตราการเข้าพัก 5 - 10% จากเดิมที่เต็มมาตลอด 

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนคาดหมายเรื่องนโยบายการเปิดประเทศ ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ยังทำไม่ได้ภายใน120 วัน เพราะขณะนี้เหลือเวลาอีก 50 กว่าวันเท่านั้น แน่นอนย่อมส่งผลกระทบอย่างหนัก เพราะประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 19% ต่อ GDP 

“ทั้งเรื่องภาวะหนี้สินและการว่างงาน ยิ่งซ้ำเติมและเป็นแรงกดดันต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงต่อไป นั่นคือเรื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักตัวสำคัญนอกเหนือจากการส่งออก ถ้าการฟื้นตัวในส่วนนี้ เครื่องยนต์ตัวนี้ยังดับอยู่ ในระยะต่อไปการที่เราจะพูดคำว่า “ยังยืน” อาจจะเลิกใช้ได้เลยหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้” 

วสวัตติ์ บอกว่า หลายมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชน เป็นเพียงการประคองให้ชีวิตอยู่รอดไปได้ในช่วงนี้   โดยเฉพาะการเยียวยาในกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน ในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สำหรับภาคธุรกิจมีเรื่องมาตรการสินเชื่อออกมาหลายส่วน , ประชาชนรายย่อยมีเรื่องของการพักหนี้ ,  เงินช่วยเหลือเยียวยาเรื่องค่าเล่าเรียนบุตร แต่มาตรการอื่นๆที่จะช่วยในระยะยาวยังไม่ออกมาชัดเจน แม้ว่าตอนนี้รัฐบาลมีการกันเงินไว้ 2 ก้อน

ก้อนแรกใช้ไปเกือบหมดแล้วคือเงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นเงิน พรก.กู้เงินเหลืออยู่ขณะนี้ประมาณ 3,000 กว่าล้าน ส่วนใหญ่จะใช้ไปในเรื่องของการเยียวยา แต่เรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้ไปแค่บางโครงการเท่านั้น เพราะติดในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด ส่วนเงินอีกก้อนหนึ่งตอนนี้เหลืออยู่ค่อนข้างมาก คือเงินกู้ 5 แสนล้านซึ่งเป็นเงินกู้ ที่เอาไว้ใช้เป็นกระสุนนัดสุดท้าย 

ซึ่งก็เตรียมนำมาใช้ แต่สถานการณ์โควิดเป็นอย่างนี้แล้ว หลายคนมองว่าเงินกู้ก้อนนี้ส่วนใหญ่น่าจะนำไปใช้เรื่องการเยียวยา  เหมือนกับเงินกู้ก้อนแรกเพราะสถานการณ์ยังไม่จบ ก็ต้องรอดูต่อไปว่ามาตรการของรัฐจะออกมาในรูปแบบไหน

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation