ผ่าปัญหา “เด็กหลุดจากระบบ’ ความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

“..…จากเดิมข้อมูลเด็กออกนอกระบบของประเทศไทยมีเป็นล้านคนอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 เหมือนยิ่งซ้ำเติมปัญหาหลักให้หนักมากยิ่งขึ้น ผลกระทบจากโควิดทำให้ผู้ปกครองหลายครอบครัวตกงานไม่มีเงินมาใช้จ่าย ส่งผลให้เด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือบางคนไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ข้อมูลสภาการศึกษาเคยสำรวจไว้จากเดิมเด็กอยู่ในระบบประมาณหนึ่ง1ล้าน 2 แสนคน หมายความว่าในทุกๆ 100 คนจะมีเด็ก 16 คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งนี่เป็นฐานข้อมูลเดิม ก่อนที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเข้ามาประเทศไทยด้วยซ้ำ … ”

เบญจมาศ เกกินะ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการศึกษา นสพ.มติชน ยอมรับว่า กลุ่มเด็กเปราะบางของบ้านเราจริงๆ เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยมีเด็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ทรัพยากรและงบประมาณส่วนใหญ่จะมาสนับสนุนให้กับโรงเรียนขนาดใหญ่ประจำจังหวัดเป็นส่วนมาก ทำให้บางพื้นที่อาจได้รับการจัดการศึกษาที่คุณภาพไม่เท่าเทียมกัน เป็นผลกระทบของงบประมาณที่ไม่ทั่วถึง แม้กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่งบส่วนใหญ่กลับถูกใช้ไปกับเงินเดือนบุคลากร งบที่จะพัฒนาเด็กกลุ่มเปราะบางจึงไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาการทุจริต ยิ่งส่งผลให้งบประมาณถูกบั่นทอนไปอีกจำนวนมาก

เบญจมาศ เล่าว่า ช่วงปลายปี 2564 เคยมีโครงการดึงน้องเข้าเรียน ซึ่งทั้งอาชีวะและสพฐ. พยายามเข้ามาช่วยเนื่องจากสถานการณ์เริ่มวิกฤติมากขึ้น มีโควิด-19 เข้ามา ผู้ปกครองตกงาน เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะไม่มีเงิน บางคนไปช่วยแม่ทำงาน ขณะที่เด็กหลายคนหันเข้าสู่เส้นทางผิดๆ ทั้งยาเสพติดและการคบเพื่อนไม่ดี จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ เคยมีระบบการช่วยเหลือแต่ระบบนี้จะถูกกระจายไปในพื้นที่ที่ต้องดูแลเฝ้าระวังเด็กกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเด็กที่เสี่ยงเข้าสู่วงจรยาเสพติด จากประสบการณ์ที่เคยทำงานรู้สึกว่าการดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จะไม่ค่อยขับเคลื่อนมากนัก เพราะปัญหาของเด็กในวัยเรียนมีเยอะ ทั้งการถูกทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กลายเป็นเราต้องการแก้ปัญหากันรายวัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว บางเรื่องก็นำเสนอเป็นข่าวไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการทำร้ายเด็กซ้ำๆ

ทั้งนี้ เบญจมาศ ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กหญิงวัย 14 ที่จังหวัดพัทลุง ยอมรับว่า เท่าที่ดูจากข่าวปัญหามาจากทั้งโรงเรียนและครอบครัวทั้งสองส่วน เด็กมีความกดดันจากผู้ปกครองเป็นหลัก จึงนำไปสู่การตัดสินใจแบบนั้น เพราะเราไม่รู้ว่าคนในครอบครัวพูดในลักษณะไหน พอมาเจอปฏิกิริยาของครูจึงเป็นไปได้ที่เด็กจะขาดสติจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย จริงๆแล้วหากไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปดูแล ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องเข้าไปดูแลเด็ก คอยสังเกตว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงกับตัวเองและผู้อื่นได้มากน้อยแค่ไหน อย่างในบางเขตพื้นที่จะมีชุดเฉพาะกิจ สพฐ. ที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เร็วขึ้น โดยการทำงานจะประสานกับนักจิตวิทยาด้วย ระบบนี้ของสพฐ.ต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นข่าวถึงจะขับเคลื่อน มันเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานราชการ

ส่วนตัวมองว่า ครอบครัวกับโรงเรียนหากมีการร่วมกันในการดูแลเด็ก คาดว่าจะสามารถช่วยเด็กให้ไปต่อได้ ก่อนหน้านี้เคยมีเคสคล้ายกัน แต่โชคดีที่ผู้ปกครองเข้าไปพูดคุยกับโรงเรียน จึงทำให้เด็กสามารถก้าวต่อไปได้โดยไม่คิดสั้น แต่จริงๆควรเริ่มจากตัวเด็กเองที่ต้องขนขวยเป็นด่านแรก หากต้องการเงินแต่ไม่มีเงินควรเสาะหาทุนการศึกษา หรือหากเกิดความรุนแรงในครอบครัวก็ต้องร้องเรียนหน่วยงานหรือปรึกษาผู้ใหญ่ แต่เพราะส่วนใหญ่เด็กเลือกที่จะเก็บตัวเงียบอยู่แต่ภายในบ้าน ทุกคนจึงไม่รู้ปัญหา มันจึงเป็นเรื่องยากที่โรงเรียนจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือฉุดเด็กขึ้นมาจากปัญหานั้นๆ

เบญจมาศ เล่าว่าที่ผ่านมากระทรวงฯ มีการสนับสนุนให้เด็กไปเรียนในสายอาชีพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตที่จะต้องมีการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่บ้านเรามีไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากค่านิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต้องมีใบปริญญา ดังนั้นที่ผ่านมาอาชีวะ จึงไม่ตอบโจทย์ค่านิยมแบบนี้ เด็กๆหันไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อจะเอาใบปริญญา แต่จบออกมาแล้วตกงาน เพราะงานมันมีไม่เพียงพอ ขณะที่กลุ่มสายอาชีพมีตำแหน่งงานว่างจำนวนมาก มีเส้นทางเติบโต กลับไม่มีคนสนใจเรียนสายอาชีพ กระทรวงฯ จึงมีความพยามยามดึงเด็กเข้ามาจุดนี้ด้วยการเรียนควบคู่การทำงาน อย่างโครงการอาชีวะเรียนดีมีงานทำ หรือบางวิทยาลัยจะมีการจับมือร่วมกับสถานประกอบการ คือเข้าไปเรียนที่สถานประกอบการเลยเป็นทุนให้เรียนฟรีและทำงานด้วย ตอนนี้เริ่มมีเด็กๆให้ความสนใจและเข้ามาเรียนในสายอาชีพมากขึ้น

ปัญหาหลักของการดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา คือเด็กไม่มีเงินเรียน ดังนั้นทางแก้เดียวคือต้องจัดสรรงบประมาณเข้ามา ให้เด็กกลุ่มนี้สามารถกลับเข้าเรียนได้มากขึ้น เด็กที่เข้าสู่ระบบอาจเลือกไปเรียนสายอาชีพ เพื่อเรียนแล้วจะได้มีงานทำ ดังนั้น งบของอาชีวะจะได้ค่อนข้างน้อย เช่นงบอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องมือของเด็กสายอาชีพ ไม่เหมือนเด็กสายสามัญ งบที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ส่วนใหญ่เด็กต้องไปจัดหาเอง ซึ่งหากเด็กจัดหาเองได้ก็ไม่มีปัญหา แต่กรณีที่เด็กไม่มี จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนตรงนี้เพิ่มเติมหรือจับมือกับผู้สนับสนุนที่ต้องการจะเข้ามาช่วยเหลือเด็ก เพราะเรามีภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะพัฒนา มีหลายโครงการที่ทำอยู่แต่ดูเหมือนแรงจขับเคลื่อนยังไม่มาก ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิดก็ต้องหยุดชะงัก เงินส่วนใหญ่ถูกปรับงบเพื่อนำมาช่วยแก้ปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด – 19

แต่จริงๆหากเป็นไปได้ ไม่ต้องพึ่งพางบจากภาครัฐมากนัก คือการจับมือร่วมกับเอกชนเข้ามาช่วยเป็นระบบทวิภาคี คาดว่าจะสามารถช่วยพัฒนาอาชีวะได้ เบญจมาศ กล่าวทิ้งท้าย….