นักข่าวสายกทม. ทำงานอย่างไร? ยุค”ชัชชาติ” นั่งผู้ว่าฯเมืองหลวง

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าว จุลสารราชดำเนิน 

.............................................................................

"การทำข่าวกทม.ยุคผู้ว่าฯกทม.ชื่อชัชชาติ ประเด็นมีเยอะมาก นักข่าวก็อาจเหนื่อยมากขึ้น ทำงานเยอะขึ้น เพราะผู้ว่าฯกทม.ตอบทุกเรื่อง และมีนโยบายตอนหาเสียงเยอะ นักข่าวก็อาจเก็บทุกประเด็น และคอยติดตามว่านโยบายที่ชัชชาติหาเสียงไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามนโยบายได้อย่างไร ก็ทำให้นักข่าวมีงานเยอะขึ้นในส่วนนี้"

            พื้นที่ข่าวช่วงนี้ ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ ข่าวเกี่ยวกับ"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร"ที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ร่วมสองเดือนแล้ว แต่ก็ยังเป็นแหล่งข่าวที่สื่อนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวการทำงานและความคิดเห็นในด้านต่างๆของชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.อย่างต่อเนื่องและให้พื้นที่ในการนำเสนอค่อนข้างมาก รวมถึงข่าวกทม.อื่นๆ ก็ได้รับความสนใจตามไปด้วย 

            จึงน่าสนใจว่า "นักข่าวสายกทม."มีการทำข่าวอย่างไรในยุค ชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม. เพราะหลายคนคงเห็นแล้วว่า ชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม.-นักการเมืองที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะการใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเอง ไลฟ์สดโปรโมตการทำงาน-การลงพื้นที่-การทำกิจกรรมต่างๆ แม้แต่กับการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นแบบนี้ การทำงานของนักข่าวสายกทม.ในยุคชัชชาติ จะมีความแตกต่างจากอดีตผู้ว่าฯกทม.ยุคอื่นๆ อย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่"ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน"ไปพูดคุยกับนักข่าวที่ทำข่าวสายกทม.มาเพื่อให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน

            ทั้งนี้นักข่าวที่ทีมข่าวฯ พูดคุยด้วย เราเลือกไว้ว่าเป็นนักข่าวสายกทม.ที่เป็นนักข่าวที่ทำข่าวประจำอยู่กทม.มาตลอดต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนหน้า ที่ชัชชาติ ยังไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.เพื่อต้องการรู้ว่า มีข้อแตกต่างในการทำข่าว กทม.ก่อนหน้านี้กับยุคชัชชาติ อย่างไรบ้าง   

            

เริ่มที่"ธนัชพงศ์ คงสาย-ผู้สื่อข่าวสายกทม.จากกรุงเทพธุรกิจ"เล่าให้ฟังว่า เข้ามาทำข่าว เป็นนักข่าวสายกทม.แบบเต็มตัวหลังได้รับมอบหมายจากที่ทำงานคือกองบรรณาธิการข่าว ให้รับผิดชอบการทำข่าวกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมษายนปี  2554 ซึ่งยุคนั้นผู้ว่าฯกทม.คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยแรก จากนั้นก็รับผิดชอบทำข่าวกทม.เรื่อยมา จนมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จึงเท่ากับ ทำข่าวกทม.มาแล้วสามยุค คือยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ -พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองและยุคปัจจุบัน  ชัชชาติ รวมเวลาเป็นนักข่าวสายกทม.ประมาณ11 ปี 

            เมื่อเราถามถึงข้อแตกต่างในการทำงานและการสื่อสารการประชาสัมพันธ์ ระหว่างผู้ว่าฯกทม.ทั้งสามคน "ธนัชพงศ์"ให้ความเห็นว่า ข้อแตกต่างอยู่ที่สไตล์การทำงานของผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน ซึ่งก็มีที่มาแตกต่างกัน เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับ ชัชชาติ มาจาการเลือกตั้งโดยตรง แต่พล.ต.อ.อัศวิน มาจากแต่งตั้งด้วยมาตรา 44 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงรัฐบาลคสช. ซึ่งในช่วงคาบเกี่ยวการทำงาน แต่ละคนก็อาจจะมีบริบทการทำงานที่แตกต่างกันเช่น ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.รอบสองด้วยการเลือกตั้งปี 2556 แต่พอปี2557 มีรัฐประหารโดยคสช. ก็ทำให้บริหารกทม.ในช่วงคสช. แล้วต่อมามีการใช้มาตรา 44 เปลี่ยนตัว ผู้ว่าฯกทม.แล้วก็ให้พล.ต.อ.อัศวิน จากรองผู้ว่าฯกมท.มาเป็นผู้ว่าฯกทม.เต็มตัว ซึ่งหากพูดถึง สไตล์การทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ชัชชาติ-ผู้ว่าฯกทม. ช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน จนถึงตอนนี้ ก็จะทำงานเจ็ดวัน ส่วนผู้ว่าฯกทม.คนอื่นก่อนหน้านี้ อาจไม่ได้ถึงกับทำเจ็ดวันติดกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานไม่ออกมา เพราะกลไกการขับเคลื่อนการทำงานของกทม.ก็มาจากนโยบายที่ผู้ว่าฯกทม.สั่งไว้ เพียงแต่ว่าภาพที่ออกมาอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันทั้งสามคน เพราะมีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน 

            ....ยิ่งวิธีการสื่อสารการทำงานต่อสังคมยิ่งมีความแตกต่างกัน เพราะอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Live ก็เข้ามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งในยุค ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ตอนนั้นยังไม่มีFacebook Live  แต่ช่วงม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. ก็แบกรับการทำงานกทม.ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในบางช่วงเช่น สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ช่วงปลายปี2554 ที่ตอนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ทำงานหนัก ลงพื้นที่ทุกวันไม่หยุดในช่วงสามเดือนที่น้ำท่วมหนักเข้ามาในพื้นที่กทม. แต่วิธีการสื่อสารทำงานอาจแตกต่างจากคนอื่น เพราะยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เครื่องมือการสื่อสารยุคนั้นก็แตกต่างจากปัจจุบันมาก รวมถึงบุคลิกส่วนตัวของม.ร.ว.สุขุมพันธ์เอง รูปแบบ การให้สัมภาษณ์ คำพูด ก็แตกต่าง

            "พูดตรงไปตรงมา ก็ต้องยอมรับว่า ชัชชาติ เข้าถึงง่ายที่สุดในบรรดาผู้ว่าฯกทม.สามคนที่มีประสบการณ์ทำข่าวมา ทั้งในแง่การตอบคำถาม การให้สื่อซักถามประเด็นต่างๆ ชัชชาติ จะเปิดโอกาสให้สื่อซักถามได้เต็มที่ทุกเรื่อง พยายามตอบทุกคำถาม เรื่องไหนตอบไม่ได้ ก็ไปหาคำตอบมาให้ พยายามจะลดกำแพงระหว่างสื่อเหมือนกัน 

            อย่างอดีตผู้ว่าฯก่อนหน้านี้ อันนี้ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่เราก็รู้สึกว่าเหมือนจะมีกำแพง หรือจะมีองครักษ์ที่คอยบล็อกสื่อ คอยสกรีน  ในสถานการณ์ต่างๆ ระดับหนึ่ง ทำให้การเข้าถึงก็ยากพอสมควร บางทีสื่อถามในฐานะตัวแทนประชาชน ก็เจอพูดกลับมาว่า "ทำไมสื่อถามแบบนี้" เหมือนกับมองว่าเรามีธง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่" 

            -การทำงานนักข่าวกทม.แต่ละวัน ปัจจุบันทำงานอย่างไร ต้องคอยมอนิเตอร์ คอยดูFacebook Liveของ ชัชชาติ ตลอดไหมเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว?

            ใช่ด้วย เพราะด้วยความเคลื่อนไหวที่ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ตัว ชัชชาติเฟสบุ๊คไลฟ์ แต่ละวัน อย่าง ที่เขาไลฟ์ที่ไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า บางทีก็ต้องดู เพราะอาจจะมีประเด็นเกิดขึ้น เพราะนักข่าวที่ทำข่าวกทม.ก็ไม่ได้ไปทุกหมายงานที่ชัชชาติ ออกไปทำภารกิจ แล้วหน่วยราชการคือสำนักประชาสัมพันธ์กทม.เอง เขาก็ไม่ได้ไปติดตามทำข่าวชัชชาติ ทุกงาน ที่พอชัชชาติ ไปยังจุดต่างๆ แล้วเขาเฟสบุ๊คไลฟ์ ด้วย เช่นไปตรวจพื้นที่ตามเขตต่างๆ นักข่าวก็จะมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ก็จะเห็นนายชัชชาติ ออกไปวาระงานข้างนอกค่อนข้างบ่อย  ไม่ค่อยอยู่ประจำศาลากทม. 

             "ธนัชพงศ์-ผู้สื่อข่าวสายกทม."ที่ทำข่าวประจำศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้ามาเกินสิบปี ให้มุมมองเกี่ยวกับการทำข่าวกทม.ว่า ส่วนตัวในการทำข่าวกรุงเทพมหานคร จะแบ่ง part การทำข่าวออกเป็นสองส่วนโดยส่วนแรกคือข่าวกทม.ที่เป็นข่าวเชิงสังคม และอีกส่วนหนึ่งเป็นข่าวเชิงการเมือง ที่จะเชื่อมโยงบริบทการเมืองทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ทำให้นักข่าวกทม.เองนอกจากตามทำข่าววาระงานปกติทั่วไปแล้ว เช่นที่ชัชชาติไปงานต่างๆ แล้ว ก็ยังมีประเด็นข่าวที่สื่อต้องถามชัชชาติด้วย หากว่ามีแหล่งข่าวฝ่ายการเมืองให้สัมภาษณ์แล้วมีประเด็นคาบเกี่ยวกับกทม.และชัชชาติ ก็ต้องนำประเด็นดังกล่าวไปถามความเห็นจากชัชชาติ ที่เป็นประเด็นเชิงการเมือง อย่างเช่น การซักถามความคืบหน้าว่าหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.แล้ว จะไปเจอนายกรัฐมนตรี เมื่อใด-เจอในโอกาสใด เลยทำให้ข่าวกทม.จึงมีทั้งข่าวเชิงสังคมและข่าวเชิงการเมือง ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้มาหลายยุค เพียงแต่ว่าต้องดูว่าผู้ว่าฯกทม.คนไหนจะแบ่งสัดส่วนการให้สัมภาษณ์ประเด็นข่าวอย่างไร เช่น การชี้แจงการทำงานของกทม.หรือการตอบโต้แสดงความเห็น ประเด็นเชิงการเมือง 

ส่องไลน์กลุ่มสื่อ กทม.ยุคชัชชาติ

            -เรื่อข่าวที่ส่งในไลน์กลุ่มสื่อ ที่ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติแล้ว ในส่วนของการทำข่าวสายกทม.ไลน์กลุ่มนักข่าวกทม.หรือไลน์กลุ่มชัชชาติ เป็นข่าวลักษณะอย่างไร?

            ข่าวกทม.ปัจจุบัน จะมีไลน์กลุ่มสื่อมวลชน ที่ใช้ติดต่อสื่อสารส่งข่าวแต่ละวัน  ออกเป็นสองไลน์กลุ่ม  คือไลน์กลุ่มผู้ว่าฯชัชชาติ และไลน์กลุ่มกทม. ที่เป็นของสำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร 

            สำหรับไลน์กลุ่มชัชชาติ พบว่าจะมีนักข่าวส่วนหนึ่งที่เป็นนักข่าวสายกทม.คือประจำศาลากทม.เลยอยู่ในไลน์กลุ่มดังกล่าวด้วย  ซึ่งแต่ละวันก็จะเป็นลักษณะเช่น ไลน์กลุ่มกทม.ตอนเย็น จะโพสต์แจ้งวาระงานของผู้ว่าฯกทม.และรองผู้ว่าฯกทม.ในวันพรุ่งนี้ว่ามีอะไรบ้าง พอนักข่าวเห็นวาระงาน นักข่าวเองก็อาจจะมีการคุยกันเพื่อวางแผนการทำข่าวในวันพรุ่งนี้ ว่าจะติดตามการทำข่าวอย่างไร เพราะบางวัน วาระงานที่น่าสนใจน่าติดตามไปทำข่าวผู้ว่าฯกทม.กับรองผู้ว่าฯกทม.ที่ไปงานคนละจุด  แต่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ไม่สามารถไปทำทั้งสองจุดได้ นักข่าวก็อาจเลือกไปงานใดงานหนึ่ง ส่วนอีกงานหนึ่ง นักข่าวอาจรอข่าวจากกองประชาสัมพันธ์ของกทม. ที่จะส่งข่าวเข้าไปในไลน์กลุ่มกทม. เว้นแต่อาจจะมีบางกรณีเช่น นักข่าวบางสำนัก มีประเด็นข่าวส่วนตัว ต้องไปตามทำข่าวรองผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งเพื่อไปตามประเด็นที่ต้องการ  ไม่สามารถไปทำข่าวของชัชชาติได้ ก็อาจเลือกไปทำข่าวรองผู้ว่าฯกทม.แทน ทั้งหมดก็อยู่ที่การบริหารจัดการของนักข่าวแต่ละสำนัก

            พบว่าข่าวในไลน์กลุ่มชัชชาติ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข่าวเดียวกันกับ ที่ส่งอยู่ในไลน์กลุ่มกทม. โดยทีมงานแอดมินที่ติดตามชัชชาติตลอด ที่อยู่ในไลน์กลุ่มกทม.และอยู่ในไลน์กลุ่มชัชชาติ ก็จะcopy เนื้อหาในไลน์กลุ่มกทม.มาใส่ในไลน์กลุ่มชัชชาติ เพราะคงเผื่อให้นักข่าว-สื่อ ที่ไม่ได้อยู่ในไลน์กลุ่มกทม.ได้นำไปใช้ ก็เป็นข่าวที่มีเนื้อหาเดียวกัน ภาพแบบเดียวกัน 

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ก็คือ ไลน์กลุ่มชัชชาติ จะมีเนื้อหาคอนเทนต์ที่เป็นความเคลื่อนไหวของชัชชาติ นอกเวลาราชการ เช่น ข่าวชัชชาติ นอกเวลาราชการ ก่อนแปดโมงเช้า หรือเวลาชัชชาติ ลงพื้นที่ต่างๆ ในไลน์กลุ่มชัชชาติ จะมีคอนเทนต์ส่วนนี้ที่แตกต่างจากไลน์กลุ่มกทม. ทำให้นักข่าวสายกทม.ก็ต้องอยู่ในไลน์กลุ่มสองกลุ่มนี้ 

            โดยไลน์กลุ่มกทม. พบว่าก็มีทั้งเนื้อหาข่าว- ภาพนิ่ง รวมถึง คลิป แต่ว่าก็มีมาตั้งแต่ยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. เพียงแต่ว่า เมื่อสื่อเห็นเนื้อหาในไลน์กลุ่มทั้งไลน์กลุ่มกทม.และกลุ่มชัชชาติแล้ว นักข่าวเอง ก็นำมาเขียนให้แตกต่าง เพราะเนื้อหาในไลน์กลุ่มกทม. รูปแบบอาจเป็นลักษณะแบบราชการ นักข่าวก็ต้องนำมาปรับให้เป็นภาษาข่าวมากขึ้น หรือว่าบางประเด็นที่เขาส่งคลิปมามีประเด็นการเมือง  แต่ในข่าวที่ส่งในไลน์กลุ่ม ไม่ได้มีประเด็นดังกล่าว นักข่าวฟังจากคลิป ก็ต้องนำประเด็นดังกล่าวมาเขียนนำเสนอเอง  

            ผมเคยบอกน้องนักข่าวรุ่นหลังๆ ที่เข้ามาทำข่าวกทม.ว่า กรุงเทพมหานคร เปรียบไปก็เหมือนประเทศๆหนึ่ง ที่มีผู้ว่าฯกทม.เป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีและมีรองผู้ว่าฯกทม.เป็นเหมือนรองนายกรัฐมนตรี โดยมีสำนักต่างๆ ของกทม.เช่น สำนักการศึกษา สำนักแพทย์ ที่เปรียบเหมือนกับกระทรวง โดยรองผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน จะกำกับดูแลงานแต่ละสำนัก ก็เหมือนกับการบริหารงานระดับประเทศ ทำให้เวลาเกิดเหตุแต่ละเรื่อง แล้วมีประเด็นจะทำข่าว นักข่าวก็ต้องรู้ว่า ตัวรองผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน กำกับดูแลหน่วยงานใดเพื่อจะได้ไปสัมภาษณ์ให้ตรงคน นอกเหนือจากที่จะไปสัมภาษณ์ผู้ว่าฯกทม. รวมถึงยังไปสัมภาษณ์ รองปลัดกทม.และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย      และระหว่างวัน หากมีประเด็นอะไร นักข่าวสายกทม.ที่จะมีเบอร์ของแหล่งข่าวสายกทม.ในแต่ละส่วนอยู่แล้ว ก็จะโทรศัพท์สัมภาษณ์ประเด็นต่างๆ 

            ...ยกตัวอย่างเช่นการทำงานของนักข่าวสายกทม.ที่ผ่านมา เช่นการเช็คประเด็นต่างๆ เช่น งบประมาณของกรุงเทพมหานคร หรือการติดตามความคืบหน้าการทำโครงการต่างๆ ของกทม. ตัว นักข่าวสายกทม.ก็ทำกันมาเป็นปกติ บางประเด็นก็ได้ข้อมูลบ้าง ไม่ได้ข้อมูลบ้าง แต่อย่างเรื่องงบประมาณของกทม.จริงๆ สื่อมวลชนก็สามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ยุคชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม.  ก็นำข้อมูลมาเปิดเผยนำขึ้นเว็บไซด์ของกทม. มีการทำอินโฟกราฟฟิค แยกงบของแต่ละสำนัก ตรงนี้ก็เป็นผลดีกับสื่อสายกทม.เพราะทำให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่เร็วมากขึ้นในการนำเสนอ

            สำหรับทีมงานพีอาร์ ทีมโฆษก ของผู้ว่าฯกทม.สามยุคที่ได้ทำข่าวที่กทม.มา พบว่า ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นไปในทางการชี้แจงประเด็นเชิงการเมือง เพราะว่าตอนนั้น ผู้บริหารกทม.กับฝ่ายรัฐบาลอยู่กันคนละขั้ว(รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการเลือกตั้งปี 2554 ) 

            ส่วนยุค พล.ต.อ.อัศวิน ทีมงานฝ่ายโฆษกฯ ไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงตอบโต้ทางการเมืองมาก จะเน้นเป็นการนำข้อมูลมาชี้แจงประเด็นต่างๆ เป็นหลัก ส่วนยุค ชัชชาติ จะพบว่าส่วนใหญ่ ชัชชาติ ก็จะตอบคำถามสื่อทุกประเด็นอยู่แล้ว ทำให้สื่อก็ยังไม่ค่อยโฟกัสทีมโฆษกกทม.ยุคนี้เท่าใดนักเพราะน้ำหนักข่าวไปอยู่ที่ชัชชาติ เป็นส่วนใหญ่ เพราะสื่อมีประเด็นอะไรก็ถามชัชชาติ และเขาก็ตอบหมด 

            -ตั้งแต่ชัชชาติ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.1 มิถุนายน มีนักข่าวมาประจำกทม.เพิ่มขึ้นหรือไม่? 

            ถ้านักข่าวที่มาตามชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.เลย พบว่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ที่เพิ่มดังกล่าวไม่ใช่นักข่าวที่จะมาอยู่ประจำกทม.ตลอด มาทำข่าวกทม.เลยเพื่อติดตามประเด็นข่าวกทม.ในด้านอื่นๆ นอกจากข่าวชัชชาติ เช่นข่าวงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักข่าวที่มาตามชัชชาติ แต่ละวันในช่วงที่ผ่านมา เขาจะไม่มาตามประเด็นเหล่านี้ 

            แต่หากถามว่าตั้งแต่ชัชชาติเข้ามา นักข่าวที่มาทำข่าวที่ศาลากทม.เพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ส่วนสื่อกระแสหลักเช่นสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ยังมีอยู่กันครบเหมือนเดิม แล้วก็มีสื่อโทรทัศน์ก็มาทำข่าวที่กทม.มากขึ้น หลายคนพบว่า เป็นนักข่าวที่ตามทำข่าวชัชชาติ ตั้งแต่ยุคหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ก็มาตามทำข่าวชัชชาติที่กทม.ต่อ โดยบางส่วนที่เป็นสื่อออนไลน์ เน้นไลฟ์สด ก็มีที่ไปติดตามทำข่าวชัชชาติตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าที่ชัชชาติ ออกไปวิ่ง แต่สื่อสายกทม.บางส่วนก็เน้นไปที่การทำข่าวผลประชุมเวลาชัชชาติ ไปประชุมงานต่างๆ 

            แต่พบว่าตอนนี้ นักข่าวที่ตามชัชชาติ เทียบกับช่วงแรก หลังเข้ามาตอนแรกๆ ตั้งแต่รับตำแหน่ง ช่วงนี้ เริ่มลดลงแล้วในการไปทำข่าวชัชชาติ ตามจุดต่างๆ  เพราะบางส่วนก็เริ่มปรับ มีการวางแผนการทำข่าว เช่นมอนิเตอร์เวลาชัชชาติลงพื้นที่แล้วมีไลฟ์สด หรือทีมงานในไลน์กลุ่มชัชชาติ มีคลิปสัมภาษณ์ส่งมาให้ด้วย นักข่าวก็แกะจากคลิปดังกล่าว มานำเสนอเป็นข่าว เพราะบางทีทีมงานเขาก็ไม่ได้แกะเทปสัมภาษณ์ให้ 

            ในส่วนของทีมงาน ประสานสื่อ-ทีมแอดมินไลน์กลุ่มชัชชาติ เข้าใจว่าเป็นทีมงานที่ติดตามชัชชาติและประสานสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวชัชชาติ ตั้งแต่ช่วงเปิดตัวลงเลือกตั้งหาเสียง พอชัชชาติ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ก็เลยเข้ามาทำงานประสานสื่อต่อเนื่อง 

คลายข้อสงสัย หมายด่วน"ชัชชาติ"

ตรวจน้ำท่วม-ไฟไหม้ ประสานสื่อยังไง

            -เวลามีงานด่วน หมายด่วน เช่นชัชชาติ ไปจุดเกิดเหตุไฟไหม้ ไปตรวจน้ำท่วม แบบนี้ ประสานกับสื่ออย่างไร ?

            ก็จะมีการแจ้งในไลน์กลุ่มชัชชาติ เช่น จะบอกว่า ผู้ว่าฯชัชชาติ มีงานด่วน จุดไหน ที่ก็จะเป็นหมายแทรกงานด่วน นอกเหนือจากวาระงานปกติ ก็จะแจ้งให้สื่อรู้ก่อน บางทีก็แจ้งก่อน 15 นาทีที่จะออกเดินทาง ไปที่จุดเกิดเหตุ บางทีก็ 30 นาที แต่จริงๆ งานแบบนี้ ผู้ว่าฯกทม.ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพล.ต.อ.อัศวิน ก็ทำคือลงพื้นที่งานด่วน เพียงแต่ก็อาจไม่ได้แจ้งสื่อล่วงหน้าทุกงาน 

            -มองการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ของชัชชาติ ที่คนพูดถึงกันมาก พวกไลฟ์สดการลงพื้นที่ กิจกรรมต่างๆ  อย่างไรบ้าง?

            มองว่า ผู้ว่าฯกทม.ไม่ว่าคนไหน ต้องทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด ยิ่งกับ Facebook Live ที่เป็นTwo way communication  ทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงผู้ว่าฯกทม.ได้ง่าย 

            มองว่าเป็นเรื่องดี สำหรับบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง ที่ควรต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าประชาชนที่สื่อสารด้วยจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนตัวเองก็ตาม ก็ควรต้องรับฟังก่อนว่าเขามีความคิดเห็นมีความต้องการอย่างไร เช่นในฐานะคนที่อยู่ในกทม. เขาต้องการอะไร แล้วคนที่อยู่ในอำนาจ คนที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ก็รับฟัง

             การสื่อสารแบบนี้มองว่าเป็นเรื่องดีมากในการเปิดช่องให้มีการสื่อสารแบบสองทางดังกล่าวได้ สำหรับผู้ว่าฯกทม. ซึ่งรูปแบบการสื่อสารและการรับฟังดังกล่าวควรเป็นโมเดลที่นำไปใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกคน

            ส่วนที่คนบางส่วนโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมือง "ธนัชพงศ์"มีมุมมองของเขาว่า เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนก็ต้องมีคนชอบ คนไม่ชอบ แต่มองว่าผลของการใช้เครื่องมือสื่อสารกับประชาชน มันน่าจะเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสใหัคนเข้าถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ดีกว่าไม่มี เพราะอย่างน้อยก็ช่วยในเรื่องการตรวจสอบ ทำให้รู้ว่าผู้ว่าฯกทม.ทำอะไรอยู่ ทำหน้าที่อะไร หน่วยงานต่างๆทำอะไร เพราะก่อนหน้านี้ คนรู้สึกว่า ประชาชนกับผู้มีอำนาจ มีกำแพงใหญ่มาคอยกั้นไว้อยู่ โดยเฉพาะเวลาจะร้องเรียนปัญหาต่างๆ มีกำแพงกั้นไว้อยู่ ต้องไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ มีขั้นตอนมากมาย แต่เมื่อมีเครื่องมือสื่อสารแบบใหม่เข้ามา แล้วใครใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะเกิดประโยชน์เอง 

            ถามปิดท้ายว่า สรุปว่านักข่าวสายกทม.ยุคชัชชาติ ทำงาน เหนื่อกว่าทำข่าวกทม.ยุคก่อนหน้านี้หรือไม่ และนักข่าวกทม.ต้องปรับตัวมากขึ้นหรือไม่ "ธนัชพงศ์-คนข่าวเสาชิงช้า"สรุปให้ฟังว่า จริงๆ นักข่าวสายกทม.ทำงานหนักอยู่แล้ว ถามว่าเหนื่อยกว่าเดิมไหม ก็ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยกว่าเดิม แต่ถามเช่นกันว่าทำงานสบายขึ้นไหม ก็ไม่ได้รู้สึกว่าทำข่าวสบายขึ้น เพราะนักข่าวสายกทม.ไม่ได้แค่ทำข่าวรายวันที่ ผู้ว่าฯกทม.ให้สัมภาษณ์ เพราะนักข่าวสายกทม.ก็ต้องทำข่าว เช็คข่าวประเด็นอื่นเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเช่น ช่วงกทม.ต้องทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือช่วงเกิดน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาหลักของกทม. ซึ่งทุกปี สำนักการระบายน้ำของกทม. ก็จะมีแผนงานประจำปี นักข่าวสายกทม.ก็ต้องไปเช็คตรวจสอบว่าแผนงานรับมือน้ำท่วมแต่ละปี มีอะไรบ้าง จุดเสี่ยงน้ำท่วมมีที่ไหน มีมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหน 

            "เพียงแต่ว่าการทำข่าวกทม.ยุคผู้ว่าฯกทม.ชื่อชัชชาติ ประเด็นมีเยอะมาก นักข่าวก็อาจเหนื่อยมากขึ้น ทำงานเยอะขึ้น เพราะผู้ว่าฯกทม.ตอบทุกเรื่อง และมีนโยบายตอนหาเสียงเยอะ นักข่าวก็อาจเก็บทุกประเด็น และคอยติดตามว่านโยบายที่ชัชชาติหาเสียงไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามนโยบายได้อย่างไร ก็ทำให้นักข่าวมีงานเยอะขึ้นในส่วนนี้" ธนัชพงศ์ ให้ความเห็น  

ทำข่าวกทม.ยุค สุขุมพันธุ์-อัศวิน-ชัชชาติ 

แตกต่าง-เหมือนกันตรงไหน?

            ถัดมาที่อีกหนึ่งผู้สื่อข่าวสายกทม. ที่มีประสบการณ์การทำข่าวสายกทม.มาร่วม 12ปีติดต่อกัน"น.ส.คัคนานต์ ดลประสิทธิ์"ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวประจำกทม. สังกัดสื่อค่ายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ขอสงวนชื่อ โดยเธอเล่าถึงการเข้ามาเป็นนักข่าวสายกทม.ว่าเข้ามาเป็นผู้สื่อข่าวประจำสายงานกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2553 ในยุคที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม.จากนั้นก็ทำข่าวสายกทม.มาต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุค ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จนถึงปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 

            ... สำหรับเรื่องความแตกต่างในการทำข่าวกทม.ของผู้ว่าฯกทม.ทั้งสามคน พบว่ายุคชัชชาติ มีความแตกต่างจากม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ และพล.ต.อ.อัศวิน ค่อนข้างมากเพราะยุคนายชัชชาติ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามา มีการไลฟ์สดตลอดเวลา ซึ่งข้อดีก็คือ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าได้ทำอะไร แต่ข้อเสียก็มีเพราะบางอย่างที่สื่อสารไป ก็ไม่จริง ที่อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เช่นกรณี ข้อมูลเรื่อง การขุดลอกคูคลอง (กรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางไปที่สำนักระบายน้ำ ในคืนวันที่ 3 มิ.ย. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนกำลังตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยระหว่างที่ไลฟ์สดนั้น นายชัชชาติได้สอบผอ.สำนักระบายน้ำถึงแนวทางการขุดลอกคูคลอง จนมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น)  ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าได้ศึกษาระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของกรุงเทพมหานครมาดีพอหรือยัง ซึ่งหากทำได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่หลายอย่างก็ติดที่ข้อกฎหมาย ระเบียบการบริหารกทม.โดยเฉพาะพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528ที่ใช้มานานแล้วซึ่งเวลาจะทำอะไรบางอย่างก็จะติดขัดที่ระเบียบดังกล่าว รวมถึงปัจจุบันก็มีพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่ที่ออกมา ทำให้เรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก ก็กำลังดูว่าสิ่งที่ผู้ว่าฯชัชชาติ เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำหลายโครงการตามที่หาเสียงให้เสร็จก็อาจจะไปติดขัดตรงนี้ 

            เมื่อถามถึงการทำข่าวของนักข่าวสายกทม.ยุคชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม.มีรูปแบบการทำงานแต่ละวันอย่างไร "น.ส.คัคนานต์-นักข่าวมากประสบการณ์สายกทม." เล่าให้ฟังว่า ก็ต้องมอนิเตอร์ตลอด เพราะผู้ว่าฯกทม.มักจะไลฟ์สดตลอด และเราก็ไม่รู้ว่าจะมีตอนไหนที่เขาจะไปพูดในสิ่งที่จะเป็นประเด็นขึ้นมาที่จะเกี่ยวข้องกับสายงานข่าวกทม.หรือไม่ เพราะบางทีเกิดไปพูดอะไรแล้วบางส่วนเสียหาย แล้วออกมาขอโทษทีหลัง หรือเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด การสื่อสารผิด ซึ่งบางที อาจจะมีสื่อโซเชียลฯที่ไม่ใช่สื่อหลัก การทำข่าวจะเป็นลักษณะเขียนตามที่ชัชชาติ พูดทุกคำ ที่บางทีพอเขียนไปแล้ว ตัวนักข่าวเองก็ไม่เข้าใจ เพราะบางทีเขาพูดวนไปวนมา 

            ...ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนที่นักข่าวเราจะใช้วิธีการจับประเด็น แล้วเลือกประเด็นขึ้นมานำเสนอ แต่สมัยนี้เหมือนกับ มีการก็อปทุกคำพูดของเขา แล้วก็มีการยกบางประโยคขึ้นมา แล้วใส่รูปภาพเป็นโค้ดคำพูด แล้วมาแชร์ในโซเชียลมีเดีย โดยตัดคำพูดออกมาแค่เป็นประโยคสั้นๆ ก็ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด เช่นเดียวกับ ยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่บอกว่า "ถ้าไม่อยากเจอน้ำท่วม ก็ให้ไปอยู่ดอย" แต่สมัยผู้ว่าฯชัชชาติ ทำทุกเรื่องให้เป็นประเด็นทุกเรื่อง แล้วค่อยมาแก้ทีหลังว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่างที่ทางทีมงานยุทธศาสตร์-ทำนโยบายของชัชชาติ ที่ออกนโยบายมาดูแล้วก็เป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ ที่เรียกเส้นเลือดฝอย แต่การทำงานจะมานั่งแก้ปัญหาอย่างเดียวมันคงไม่ได้ ต้องพัฒนาเมืองไปด้วย แล้วก็ต้องสร้างจิตสำนึกคนใหม่ อย่างเรื่องการทิ้งขยะ ทุกวันนี้ก็ยังทิ้งกันอยู่หรือบ้านรุกล้ำริมคลอง คนก็ยังมีที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา 

            ...การทำงานเราก็ต้องมอนิเตอร์ติดตาม facebook liveของผู้ว่าฯกทม.ตลอด ต้องมีการตั้งแจ้งเตือนไว้เลย พอมีเสียงดังขึ้น เราก็จะมอนิเตอร์ การทำงานของผู้ว่าฯ ดูแล้วเขาไม่ได้สนใจสื่อหลัก เขาสนใจในfacebook ในโซเชียลมีเดีย เพราะในแพลตฟอร์มนั้นมีประชาชน ที่เวลามีประชาชนถามเรื่องต่างๆ เขาก็มักจะตอบทุกอย่าง ส่วนสื่อ เขาก็ตอบคำถามเช่นกัน แต่อันไหนที่เขาไม่รู้ เขาก็จะบอกว่า ไม่รู้ ขอไปหาข้อมูลและบอกว่าขอบคุณมากที่บอก แต่เรื่องไหนที่เรารู้แต่เขาไม่อยากบอก เขาก็จะปัดไป ที่แตกต่างจากยุคม.ร.ว.สุขุมพันธ์กับพล.ต.อ.อัศวิน ที่ไม่ตอบเลย แล้วก็มักจะทำท่าทีฉุนเฉียว แล้วพอสื่อไปหาข้อมูลมาได้เอง ก็โกรธ

            เราถามต่อไปว่า การทำข่าวยุคชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม.ตัวนักข่าวสายกทม.ต้องปรับตัวเยอะหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะยุคม.ร.ว.สุขุมพันธ์ สื่อโซเชียลมีเดีย ก็ยังไม่มีช่องทางในการสื่อสารแบบตอนนี้ "น.ส.คัคนานต์"ให้มุมมองว่า ก็ไม่ถึงกับต้องปรับตัว แต่นักข่าวก็ต้องตาม เพียงแต่ว่าเมื่อดูแล้ว เรื่องไหนที่ไม่เป็นประเด็นข่าว เช่นการที่เขาไปวิ่งออกกำลังกาย แบบนี้เราก็จะไม่เอา เพราะมองว่าคนไม่ได้ประโยชน์จากการวิ่งของเขา แต่ว่าหากเป็นกรณีแบบผู้ว่าฯกทม.ไปลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อลงตรวจพื้นที่เช่นไปติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก บริเวณห้าแยก ณ ระนอง เขตคลองเตยหรือโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์ กับถนนพรานนก แบบนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเป็นกรณี ผู้ว่าฯกทม.ไปวิ่ง หรือผู้ว่าฯไปกินข้าว แบบนี้มองว่าไม่จำเป็นเพราะไม่ได้ทำรายการแบบเรียลลิตี้ ที่จะต้องไปตามติดชีวิตผู้ว่าฯกทม. เราก็ต้องเลือก แต่ก็อาจจะมีบ้างที่มีสื่อบางส่วนก็ตามทุกมิติ ตามทุกรอบ ซึ่งเขาอาจจะมีทีมที่ทำแบบนั้นได้ แต่เราทำงานรับผิดชอบข่าวกทม.คนเดียว 

            ...สำหรับข่าวที่ส่งให้สื่อผ่านไลน์กลุ่ม ทั้งกลุ่มไลน์นักข่าวกทม.กับกลุ่มไลน์ชัชชาติ เราก็ไม่ได้เลือกหมดทุกข่าว เราจะเลือกเฉพาะข่าวที่จะเป็นข่าวความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ อย่างเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือโครงการทำถนนต่างๆ หรือเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วม เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องเจอ และคนต้องรู้แล้วว่า เมื่อไหร่ที่โครงการต่างๆ ของกทม.เมื่อไหร่จะเสร็จ ความล่าช้าติดขัดที่อะไร 

            -หนึ่งเดือนกว่าที่ทำข่าวกทม.ยุคชัชาติ กับยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับยุคพล.ต.อ.อัศวิน มีข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง?

            หากดูบางกรณีอย่างเรื่อง ข้อมูลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร ที่ยุคปัจจุบันบอกว่าให้มีการเปิดเผย แต่จริงๆ data เหล่านี้ที่ยุคนี้บอกว่ามีการเปิดเผย แต่จริงๆ  มีการเปิดเผยอยู่แล้ว ว่าหน่วยงานไหนในกทม.ปีนั้นๆ ได้งบเท่าไหร่  มีการก่อสร้างโครงการอะไรบ้างในแต่ละปีและโครงการต้องแล้วเสร็จช่วงไหน ข้อมูลเหล่านี้มีการเปิดเผยไว้หมด   เพียงแต่คนไม่รู้ หรือเรื่องการประกวดราคา การประมูลโครงการต่างๆ มีการเปิดเผยหมดเป็นปกติ ทั้งตอนประมูล การประกาศว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคากี่ราย และการประกาศผลผู้ชนะการประกวดราคาหรือการประมูล มีการขึ้นเว็บไซด์ที่เกี่ยวข้องของกทม.หมด มีการทำมานานแล้ว แต่คนไม่รู้เองมากกกว่า พอมีการบอกในยุคนี้คนก็ตื่นเต้น 

            อีกทั้งอย่างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของกทม. ทางกทม.ก็มี ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร /ศูนย์กทม.1555 หรือยุคพล.ต.อ.อัศวินก็มีไลน์@ "อัศวินคลายทุกข์" เช่นเดียวกับยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็มีการเปิดช่องทางการร้องเรียนร้องทุกข์เช่นกัน ทุกคนก็มีแบบนี้หมด แต่อาจเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ คนก็เลยไม่รู้ ที่ถามมา ก็เลยไม่รู้ว่า มีข้อแตกต่างตรงไหน อาจจะแตกต่างก็ตรงที่ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน มีไลฟ์สด ซึ่งเท่าที่เห็น เขาก็จะเลือกไลฟ์สดในส่วนที่เขาอยากให้ประชาชนมองเขาอย่างที่เขาต้องการให้มอง แต่สิ่งไหนที่เขาไม่อยากให้ประชาชนมองเห็น เขาก็จะไม่ไลฟ์  

            ส่วนเรื่่องการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ที่ยุคปัจจุบันให้มีการถ่ายทอดทางทีวีออกมาข้างนอก  ก็ถือเป็นครั้งแรก แต่ปกติ ของกทม.จะมีเรียกว่า"เสียงตามสาย"ที่ใครพูดอะไรเวลาประชุมสภากทม.  ทุกคนก็จะได้ยินหมดอารมณ์จะเหมือนกับรายการวิทยุของกทม. 

            -สรุปว่าข้อแตกต่างจากที่เคยทำข่าวผู้ว่าฯกทม.มาสามยุค ข้อแตกต่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ ยุคปัจจุบัน เป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ใช้โซเชียลมีเดียเยอะ มีไลฟ์สด?

            ใช่ ก็ไม่ได้แตกต่างมาก เพียงแต่ยุคนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามา แต่ก็ทำให้นักข่าวสมัยนี้ก็อาจไม่ค่อย รีเช็ค ข้อมูลให้ชัวร์เสียก่อน ก็คือ เขาพูดอะไร ก็ใส่ตามที่เขาพูดไปเลย ซึ่งจริงๆ ที่พวกเรานักข่าวถูกสอนมาคือต้องฟังทั้งสองฝ่าย เช่นเขาพูดแบบนี้มา เราก็ต้องไปเช็คหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงว่า ที่พูดมาดังกล่าว เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ทั้งสองด้าน ซ้าย-ขวา ให้มันบาลานซ์กัน ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้เรื่องชุดลูกเสือ ที่ผู้ว่าฯกทม.บอกว่า ให้กทม.ทำ กทม.ก็พร้อมทำที่กระทรวงมหาดไทยสั่งแต่ว่าก็ให้นำงบมาให้ด้วย แต่กลับกัน สำนักการศึกษาบอกว่าทางสำนักจัดสรรงบให้มีการจัดซื้อชุดลูกเสือให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.อยู่แล้ว แต่ทำแบบปีเว้นปี เช่นปีนี้ชุดลูกเสือ ปีหน้าก็ชุดพละโรงเรียน  ซึ่งกลายเป็นว่าเหมือนช่วงนั้น พอมีข่าวเรื่องนี้ คนก็มันส์มากกว่า ซึ่งจริง ๆมันไม่ใช่ เพราะบางอย่าง ที่เขามีนโยบายอยู่แล้ว ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับราชการด้วย 

            "น.ส.คัคนานต์-คนข่าวสายกทม."ยังได้พูดถึงนักข่าวที่มาทำข่าวกทม.ในยุคปัจจุบันหลังชัชชาติ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ว่า เรื่องของจำนวนนักข่าว-สื่อที่มาติดตามทำข่าวที่กทม. ช่วงแรกๆนี้พบว่ามีเยอะขึ้นมาก แต่พบว่าไม่ใช่สื่อหลัก เช่น พวกเพจอะไรต่างๆ แล้วก็มีสื่อที่มาแล้วเหมือนกับมาทำรายการเรียลลิตีติดตามชีวิตชัชชาติ ซึ่งบางทีเรามองว่าไม่มีประโยชน์ 

            ...อย่างไรก็ตาม พบว่า ในส่วนของชัชชาติเอง ช่วงหลังพบว่า เวลาชัชชาติ ออกสื่อ เขาก็จะเริ่มออกตัวว่า สิ่งที่ทำ กทม.เคยมีการทำมาแล้ว เช่นบอกว่า เรื่องนี้กทม.เคยมีการทำมาแล้วในยุคก่อนหน้านี้ ใครเคยทำมา จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยบอกเลย ก็คือเป็นลักษณะสิ่งที่กทม.ทำไว้มีอยู่แล้วมา adap

            -คนภายนอกที่เห็นการทำงานของชัชชาติ มีการไลฟ์สดเช่น ไปตรวจน้ำท่วมดึกๆ หรือมีความเคลื่อนตั้งแต่เช้า ทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก คนก็คงมองว่า นักข่าวสายกทม.คงเหนื่อยไม่ใช่น้อย ในการติดตามทำข่าวผู้ว่าฯกทม.ยุคนี้?

            จริงๆ การทำงานเหล่านี้ ของผู้บริหารกทม.เป็นเรื่องที่จะรู้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา ผู้บริหารกทม.ไม่เคยมาไลฟ์ และการทำข่าวลักษณะเช่นนี้เช่นช่วงฝนตกแล้วจะมีน้ำท่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักระบายน้ำของกทม. เขาจะสแตนบายเตรียมพร้อม24 ชั่่วโมง อย่างพวกเรดาห์หรือคลอง-ประตูระบายน้ำ นักข่าวสายกทม.จะรู้ว่าต้องเข้าไปกดเว็บอะไรแล้วจะมีกระพริบ บอกทิศทางลมแต่ละวันหมด ที่จะมีการแจ้งเตือน เพราะฉะนั้น เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม.มาไลฟ์สดตอนกลางคืน คิดว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่นักข่าวต้องตาม ต้องมอนิเตอร์อยู่แล้ว และนักข่าวก็จะเช็คข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มด้วย  แต่เผอิญว่าผู้ว่าฯกทม.คนอื่น เขาไม่ได้มานั่งไลฟ์แบบนี้ 

            ถามปิดท้ายว่า การทำข่าวเชิงตรวจสอบ ในยุคผู้ว่าฯชัชชาติ จะเข้มข้นหรือไม่ "น.ส.คัคนานต์"ย้ำหนักแน่นว่า เข้มข้น โดยเฉพาะการทำโครงการต่างๆ เช่น การจ้างกรมราชทัณฑ์มาขุดลอกคูคลอง ซึ่งการจ้างกรมราชทัณฑ์โดยปกติก็จะใช้งบสูงกว่าปกติ ซึ่งหลายคนมักมองว่า เอกชนชอบมาฟันราคามาเสนอราคาต่ำไว้ก่อน แต่ไม่มีคุณภาพ แบบนี้ก็จะมีข้อเปรียบเทียบกันว่า ยุคนี้จะใช้ของแพง แต่มีประสิทธิภาพ จริงหรือไม่

            "นักข่าวกทม.ช่วงนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องมาคอยมอนิเตอร์สิ่งที่เขาไลฟ์สดและให้สัมภาษณ์เพื่อดูว่าจะมีประเด็นอะไรที่จะกระทบกับประชาชน แต่ในส่วนของพวกไลฟ์สไตล์ชีวิตของผู้ว่าฯชัชชาติ สำหรับเรา คงไม่เอา แต่สำหรับคนอื่นเราคงไม่รู้ โดยเรื่องใดที่เห็นเป็นประเด็นว่ากระทบกับประชาชน เราก็ต้องนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เราจะเปิดเผยออกมาให้หมด"คือคำกล่าวของ น.ส.คัคนานต์ ถึงการทำข่าวสายกทม.ยุคปัจจุบันในตอนท้ายของการพูดคุย