2566 ปีแห่งการเลือกตั้ง สื่อต้องเสนอข่าวให้สมดุล  

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

............................................

         ปี 2566 ทิศทางและแนวโน้มวงการสื่อมวลชน จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเทรนด์ของแพลตฟอร์มสื่อ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2565 หรือไม่ มีมุมมองที่น่าสนใจจากนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน”รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล รองคณบดี และอาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ที่ได้ให้ทัศนะไว้

และที่น่าสนใจ คือ ปี 2566 ที่จะเป็นปีซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นแน่นอนคือเรื่อง”การเลือกตั้ง” ทำให้ปี 2566 คือปีแห่งการเลือกตั้ง ทาง”รศ.พิจิตรา”ให้มุมมองต่อการเสนอข่าวของสื่อในช่วงการเลือกตั้งไว้ โดยเน้นหนักว่าสื่อต้องนำเสนอข่าวแบบให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะการให้พื้นที่กับนักการเมือง-พรรคการเมือง ที่จะนำเสนอตัวเองและนโยบายพรรคต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือโหวตเตอร์ อันมีเนื้อหารายละเอียด ของความเห็น ดังนี้ 

เริ่มที่”รศ.พิจิตรา”มองว่า สำหรับเทรนด์สื่อในปี 2565   คิดว่าสื่อกระแสหลัก จะยังคงเน้นปรับตัวไปในทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเทรนด์ ที่เกิดขึ้นลักษณะดังกล่าวมา5-6 ปีติดต่อกัน จากสาเหตุที่ผู้บริโภคไปอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เราก็จะเห็นสิ่งที่อุตสาหกรรมสื่อ จะมีการปรับตัว แต่ก็ใช้เวลาในการปรับตัวนานมาก

 อย่าง"ระบบเรตติ้ง"คิดว่าปี 2566 น่าจะออกมาแล้วก็คือ แพลตฟอร์มเรตติ้ง ที่จะทำให้อุตสาหกรรมจะได้เห็นเรตติ้งทั้งสื่อที่เป็นมีเดียหรือสื่อแบบดั้งเดิม กับเรตติ้งของสื่อออนไลน์ไปพร้อมกัน ซึ่งเท่าที่ทราบ ทางสมาคมด้านโฆษณากับทางสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช.ได้ร่วมมือกันและให้ทาง เอซี นีลเส็น (บริษัทสำรวจเรตติ้งสื่อ)ดำเนินการ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเทรนด์ เรื่องหนึ่งที่เราจะเห็นในปี 2566คือทิศทางสื่อจะไปออนไลน์อยู่แล้ว 

            เรื่องที่สองที่เราจะเห็นเทรนด์สื่อในปี 2566 คือเรื่องการปรับตัวเข้ามาของการส่งภาพและเสียงผ่านการนำเสนอทางออนไลน์ที่เดิมก็มีอยู่แล้วทางแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook  YouTube และStreaming ที่เข้ามาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะเห็นในปี 2566 ก็คือกลุ่มพวกที่ทำทีวีเดิม จะปรับตัวไปทำคอนเทนต์มากขึ้น โดยมีการผลิตเนื้อหาเอง จากเดิมที่เป็นลักษณะที่เป็นช่องทีวี แล้วก็ให้มีการเช่าช่วงเวลา แต่ระยะหลังเราจะเห็นได้ว่า ทีวีแบบดั้งเดิม ปรับตัวเป็น"คนทำคอนเทนต์"มากขึ้น คือมีการนำเสนอ-นำลงในช่องตัวเอง แล้วก็มีการนำไปขายต่อ ขายในเชิงลิขสิทธิ์ มีการผลิตร่วมหรือรับผลิต นำไปเผยแพร่บนระบบ Streaming มากขึ้น อย่างเช่น ที่เห็นก็จะมี AIS Play ก็จะเป็นอีกเทรนด์ที่เราเห็นเป็นเทรนด์ที่สอง

            เทรนด์ที่สามคือเรื่อง"การทำงานของสื่อ"จากเดิมที่เราจะเห็นเช่น สื่อทำข่าวต่างๆ หรือมีการผลิตละครเพื่อออกฉายในช่องของตัวเอง เพื่อให้ได้เม็ดเงินโฆษณาแต่ตอนหลังเทรนด์ที่จะมาก็คือ รูปแบบจะเปลี่ยนไป คือเขาจะทำหน้าที่ นอกจากผลิตคอนเทนต์แล้ว เขาจะทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นเอเจนซี่ ทำคอนเทนต์เพื่อให้ดีลที่ได้ที่ไม่ใช่แค่เม็ดเงินโฆษณาแล้ว แต่ให้ได้เป็นเหมือน product placement(การวางผลิตภัณฑ์ประกอบฉาก) หรือ การTie-in (การรับทำโฆษณาโดยการแทรกโฆษณาแฝงเข้าไปกับตัวเรื่อง) ที่ก็คือตัวสื่อที่เป็นช่องและผู้ผลิตสื่อ จะทำเหมือนเอเจนซี่สมัยก่อน แต่ว่าการหาเม็ดเงินจะไม่ได้เป็นลักษณะแบบ Ad โฆษณา แต่จะมีแฝง product เข้าไป 

            “รศ.พิจิตรา”กล่าวต่อไปว่า สำหรับ เทรนด์สื่อในปี 2566 ที่เป็นเทรนด์ที่สี่ คิดว่าจะยังเป็นเหมือนเดิมคือการใช้ Influencer อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มมันแข่งขันกันมากขึ้น ที่ก็จะมี  TikTok -Facebook -Twitter แต่ที่เราเห็น คือพวกแพลตฟอร์มสาย อเมริกา เขาเปลี่ยนเยอะมาก เขาแข่งขันสู้กับ TikTok ไม่ได้ แม้จะมีการปรับฟีเจอร์ ปรับ อัลกอริทึมใหม่ ที่ก็ส่งผลกระทบเหมือนกันกับคอนเทนต์เชิงคุณภาพ อย่าง Twitter  เราจะเห็นเขามีการเปลี่ยนผู้บริหาร มีการยกทีมออกหมดเลย หลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อ Twitter

            "เราจะเห็นได้ว่าการแข่งขันของแพลตฟอร์มออนไลน์ ในปี2566 คาดว่าจะมีมากขึ้นและทำให้ไม่ว่าจะเป็นเอเจนซี่  อินฟลูเอนเซอร์ และคนที่ทำคอนเทนต์ ต้องปรับตัวตามด้วย ตอนนี้ยังหาแพลตฟอร์มที่นิ่งๆไม่ค่อยได้ จากสมัยก่อนที่คนบอกว่า Facebook ชัวร์เลย แต่ตอนนี้ อย่างคนทำเพจต่างๆ ยอดวิว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีรายได้ที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ "

            ส่วนทีวีดิจิตอล มองว่าก็ยังเป็นศูนย์รวมอยู่ ในเชิงคอนเทนต์ ทีวีดิจิตอล ยังเป็นก้อนใหญ่ที่สุด เพราะตัวทีวีดิจิตอล ก็ไปบรอดแคสต์อยู่ในสื่ออื่นๆเช่น เคเบิ้ลทีวี คือมันก็ยังปูพรหมอยู่ ในฐานะที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ต่างๆ จึงทำให้ทีวีดิจิตอล ยังได้เรตติ้งสูงอยู่ และยังทำแต้มต่อไปขายลิขสิทธิ์ต่อได้ ทีวีดิจิตอล มองว่ายังเป็นสื่อหลักอยู่ในวงการสื่อไทย แต่ในเชิงละคร หรือรายการเชิง  เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ยังรอดอยู่ แต่ในเรื่องของ"ข่าว"ทีวีดิจิตอล ก็ถูก challenge โดยข่าวออนไลน์มากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องเม็ดเงินโฆษณาก็ยังอยู่ในทีวีดิจิตอลเยอะ แต่ก็ไปอยู่ในออนไลน์แต่เป็นลักษณะเบี้ยหัวแตกเยอะ แต่หากจะถามว่ามีคนทำคอนเทนต์ช่องไหนจะร่ำรวยแบบโดดเด่นเหมือนกับช่อง 7 ช่อง 3 ในอดีต คงไม่มีแล้วเพราะว่าเรื่องรูปแบบของการให้งบโฆษณามันเป็นเบี้ยหัวแตกไปหมดแล้ว 

            เมื่อถามมุมมองว่า การที่กลุ่มบุคคลหรือตัวบุคคลต่างๆ ใช้ช่องทางผ่านสื่อเช่น เพจ และปัจจุบัน ก็มีบทบาทในปัจจุบัน เช่น สายไหมต้องรอด รวมถึงคนดังวงการต่างๆ เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ออกมาเดินหน้าตรวจสอบเรื่องทุนจีนสีเทา ผ่านเพจของตัวเอง จนสร้างกระแสต่างๆ ได้ มองบริบทดังกล่าวในเชิงสื่ออย่างไรบ้าง “รศ.พิจิตรา" มองเรื่องนี้ว่า ด้วยความที่ปัจจุบันเรื่องของสื่อ  เป็นรูปแบบ User-generated Content หรือUGC คือใครๆ ก็ผลิตสื่อได้ ที่เปิดมาก แต่จริงๆ ก็เปิดมานานแล้ว ไม่ได้เป็นเทรนด์ใหม่ มันเปิดโลกมานานแล้วที่ทำให้ใครๆ ที่มีพื้นที่ซึ่งสามารถเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนได้ จากสมัยก่อนต้องอยู่ในสื่อที่ต้องขอสัมปทาน สื่อทีวีที่เป็นช่องๆ แต่ตอนนี้แต่ละบุคคลคล้ายๆ เป็นเจ้าของช่องของตัวเองได้ ที่แน่นอนว่าการจะได้มาซึ่ง Engagement มากๆ มันต้องมีหลายปัจจัย 

.....อย่างกรณี"ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์"เขาเคยทำสื่อมาก่อน และเขามี issue  ที่ประชาชนสนใจ เขาก็กลายเป็น อินฟลูเอนเซอร์ เวลาพูดเรื่องเชิงประเด็นการเมืองได้ ส่วนอย่างที่ตั้งคำถามบางเพจเช่นสายไหมต้องรอด ก็ทำเป็นแบบเพจกลุ่ม แล้วทำเพจ ที่นอกจากใช้สื่อแล้วก็ยังมีการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เหมือนกับเขาใช้แพลตฟอร์มในการสื่อสารเพื่อให้เขาทำงานได้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกับ"ภาคประชาสังคม"ที่สามารถใช้แพลตฟอร์มในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ทั้งรับเรื่องราวร้องทุกข์ การระดมทุน รวมถึงประชาสัมพันธ์ตัวเองได้ด้วย 

เสียงสะท้อน อยากเห็นสื่อ

เสนอข่าวอย่างไรช่วงเลือกตั้ง 2566     

สำหรับในปี 2566 ที่เป็นปีซึ่งจะมี"การเลือกตั้งใหญ่"เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาฯหรือจะอยู่ครบเทอม โดยหากอยู่ครบเทอมสี่ปี ก็จะมีการเลือกตั้ง 7 พ.ค. 2566 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เคยประกาศไทม์ไลน์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่หากมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น ก็จะทำให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น จึงทำให้ปี 2566 คือ"ปีแห่งการเลือกตั้ง"นั้น

เราถามมุมมอง-ความเห็นนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์-การสื่อสารมวลชน"รศ.พิจิตรา "ว่าการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ควรจะวางหลักในการนำเสนอข่าวสารการเมือง การเลือกตั้งในปี2566 เพื่อสื่อไปถึง"ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือโหวตเตอร์"อย่างไร โดย "รศ. พิจิตรา"ให้ความเห็นว่า ในส่วนของสื่อกระแสหลัก ก็คงจะมีการเสนอข่าวในเรื่องนี้ โดยแม้ว่าต่อให้ในปี2566 จะมีการทำแคมเปญการเลือกตั้งผ่านสื่อออนไลน์อย่างไรก็ตาม แต่สื่อกระแสหลักก็ยังมีบทบาทอยู่ รวมถึงสื่อออนไลน์ที่เป็นสื่อกระแสหลักด้วย เราก็จะเห็นบทบาทในส่วนนี้ในช่วงการเลือกตั้ง รวมถึงการที่ช่วงดังกล่าวจะมีนักการเมือง พรรคการเมือง ก็จะใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ แต่การนำเสนอของเขาจะถูกคุมโดยกติกาของFacebook และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องแสดงความโปร่งใสในการใช้เม็ดเงิน เพื่อซื้อโฆษณา ซื้อแอดโฆษณา เพราะ Facebook มีกฎในการกำกับอยู่ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งก็คอยกำกับดูอยู่ 

            ....และในช่วงเลือกตั้ง สิ่งที่จะเจอก็คือพวก"เพจลูก"ที่จะออกมาช่วงนั้น ที่อาจไปตรวจดูได้ยากว่า เป็นเพจลูกของพรรคการเมืองไหนทำออกมา ที่ไม่รู้ว่าจะออกมาแนวไหน เช่นอาจจะออกมาปล่อยเฟกนิวส์ เพื่อเน้นเรื่องการโจมตี หรือออกมาเพื่อสื่อสารเรื่องแคมเปญ เชื่อว่าช่วงนั้นจะมีเพจลูกต่างๆ ออกมา 

            ...สื่อกระแสหลักก็จะเป็นตัวหลักในช่วงดังกล่าว แต่ก็จะมี Eyeballs วิ่งไปตามสื่อออนไลน์พวกสำนักข่าวต่างๆด้วย ที่อาจจะมีการจัดงานต่างๆในช่วงเลือกตั้งเช่นการเปิดเวทีดีเบต แต่เท่าที่ดูจากตอนช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปีนี้ พบว่าที่ทำให้เกิดกระแสเหวี่ยง เกิดกระแสต่างๆ ที่ทำให้เกิด awareness พบว่ายังเป็นดีเบตที่จัดโดยช่องทีวี ไม่ใช่เวทีดีเบตที่เกิดจากสำนักข่าวออนไลน์ อย่างพวก campaigner ก็เคยมาเล่าว่า พวกสถานีโทรทัศน์เช่น ช่อง 3 จัดดีเบต หรือทีวีต่างๆ จัดเวทีดีเบตช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มันได้ output  มากกว่าพวกสำนักข่าวออนไลน์พวก The ต่างๆ  จัด เพราะพวกนั้น กลุ่มเป้าหมายังแคบอยู่ เลยมองว่าสื่อทีวี ยังมีความสำคัญอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็อยากบอกว่า ก็ต้องวางจุดยืนให้มันนิ่งๆด้วย เพราะยังไงการนำเสนอของสื่อก็จะมีผลกระทบต่อคะแนนการเลือกตั้งอยู่แล้ว 

            ถามถึงว่า บทบาทสื่อในช่วงการเลือกตั้ง ควรเป็นอย่างไร เช่น สื่อควรต้องนำเสนอการตรวจสอบนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้หรือไม่เช่น บางพรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่ามีนโยบายให้มีค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน  สื่อต้องนำเสนอเชิงตรวจสอบหรือไม่ว่าที่พูดไว้ ทำได้จริงหรือไม่ "รศ.พิจิตรา-นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ"ให้มุมมองว่า หากจะให้สื่อไปตรวจสอบ คิดว่าอาจเกินกำลังสื่อ คือมันอาจตรวจสอบย้อนหลังได้ กับคนที่เคยเป็นรัฐบาลมาแล้ว แต่บางคนที่ยังไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วจะไปบอกว่า ที่หาเสียงไว้ทำไม่ได้หรอก แบบนี้สื่ออาจไม่มีกำลังในการไปตรวจสอบ แต่หากจะให้สื่อนำเสนอแบบเปรียบเทียบเชิงนโยบาย เช่นพรรคการเมืองไหน นำเสนอนโยบายหาเสียงไว้อย่างไร แบบนี้ก็เป็นไปได้ และหลังจากเลือกตั้ง ที่หายจากฝุ่นตลบแล้ว สื่อก็อาจไปมอนิเตอร์ว่าสิ่งที่หาเสียงไว้ ทำได้หรือไม่ได้ สื่อก็สามารถทำในส่วนตรงนี้ได้ แต่หากจะให้สื่อมาประเมินว่า แพทองธาร ชินวัตร ประกาศไว้ว่า เพื่อไทยมีนโยบายค่าแรง 600 บาท แล้วสื่อบอกว่า ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง หากสื่อบอกว่า ทำไม่ได้ ก็อาจtake side หรืออีกสื่อบอกว่า ทำได้ ก็ต้องถูกมองว่า take side เช่นกัน เพราะจริง ๆเราก็อาจไม่รู้ได้ว่านโยบายที่เขาจะทำจริงๆ จะออกมารูปแบบไหน สื่อก็ต้องนำเสนอแบบมีหลักเกณฑ์มี objective มาก ไม่ใส่ความเห็นหรือเวลาไปเลือกคนที่จะมาสัมภาษณ์เพื่อให้คอมเมนต์ สื่อก็ต้องคิดหนักพอสมควร 

            "รศ.พิจิตรา"ยังกล่าวถึงสถานการณ์เฟกนิวส์หรือข่าวปลอม ในปี 2566ที่จะมีการเลือกตั้งด้วยว่า เรื่องเฟกนิวส์ในปี 2566 ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งสำหรับเฟกนิวส์อาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่ที่น่าห่วงคือเฟกนิวส์ที่มี Hate Speech อย่างพอ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ออกมา เดี๋ยวก็อาจจะมีการไปขุดเรื่องเพื่อไทยสมัยก่อน หรือหาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาในทางการเมืองอีกครั้ง ก็อาจมีการไปขุดเรื่องกปปส.ออกมาอีก หรือไปขุดเอาเรื่องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อันนี้ก็จะเป็นปกติที่จะเกิดขึ้น

            ...สื่อจึงต้องเป็นตัวหลักในการนำเสนออย่างเที่ยงตรง ซึ่งที่ผ่านมาสื่อไทย ก็ทำหน้าที่ได้โอเคพอสมควร เช่นการจัดเวทีดีเบตให้นักการเมืองมาเจอกัน แล้วนักการเมืองเป็นคนพูดเอง สื่อก็ทำหน้าที่ได้โอเคพอสมควร เพียงแต่ต้องระมัดระวัง และหากจะจัดดีเบต ก็ต้องดูด้วยว่า พรรคการเมืองต่างๆ พรรคเล็ก ได้มีสิทธิ์มีเสียง ในการจะไปดีเบตหรือไม่ 

            “ช่วงเลือกตั้ง สื่อต้องให้พื้นที่แต่ละพรรคการเมืองแบบเท่าเทียมกัน แม้อาจจะยาก ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ที่ก็พอเข้าใจได้ ที่จะมีเวลาจำกัดในการนำเสนอแคมเปญหรือนโยบายพรรคการเมืองแบบให้เท่าๆกันคงทำได้ยาก แต่ก็ควรพยายามให้เกิดความสมดุลให้ได้มากที่สุด"

            "รศ.พิจิตรา"ให้ข้อเสนอแนะอีกว่า ในการเสนอข่าวช่วงเลือกตั้ง หากสื่อมีการเปรียบเทียบผลงานด้วยdata ก็จะดีเช่น การนำเสนอเรื่องของงบประมาณมีสัดส่วนที่จัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับแต่ละกระทรวง เปรียบเทียบแต่ละรัฐบาล เป็นอย่างไร ก็จะเป็น data ที่ช่วยในเรื่องการตัดสินใจของประชาชน โดยสื่อแทบไม่ต้องใส่ความเห็นอะไรลงไปเลย หรือเรื่องหนี้สาธารณะ ที่แสดงให้เห็นถึงหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐบาล แบบนี้ก็จะเป็น data ที่จะช่วยในเรื่องการตัดสินใจของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่อยากให้สื่อทำ เพราะเป็นการทำข่าวที่ลึกขึ้นมา มากกว่าการไปนั่งสัมภาษณ์ปกติว่านักการเมืองแต่ละคนคิดเห็นอย่างไร

            "รศ.พิจิตรา-นักวิชาการจากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ"กล่าวสรุปตอนท้ายถึงทิศทางภาพรวมของสื่อในปี 2566 ว่า อยากให้กำลังใจสื่อ โดยเฉพาะสื่อด้านงานข่าวเพราะที่ผ่านมา ดิ้นรนกันมาค่อนข้างเยอะ เพราะอย่างที่เราเห็น สำนักข่าวของต่างประเทศ การอยู่รอดของเขาก็อยู่ยากเหมือนกัน ก็ต้องได้รับการสนับสนุน แต่ครั้นจะให้รัฐบาลสนับสนุน ก็จะเกิดการควบคุมสื่อ ตัวสำนักข่าวก็ต้องหาวิธีสร้างรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งสมาคมวิชาชีพ ก็อาจต้องหาทางช่วยเหลือเขาด้วย เช่นปัจจุบันแพลตฟอร์มสื่อเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเขาควรต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้เขาอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องไปพึ่งพางบประมาณ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ จนทำให้เขาไม่เป็นกลาง