จากนักหนังสือพิมพ์ สู่ ยูทูบเบอร์สายรถยนต์…ล้านวิว 

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

............................................

ในวงการยูทูบเบอร์รถยนต์ ชื่อหนึ่งที่หลายคนรู้จัก  เต้ย - นิธิ ท้วมประถม แห่งช่อง autolifethailand.tv

ด้วยบุคลิก ดุดัน ไม่เกรงใจใคร ยามอยู่หน้าจอ อาจไม่มีใครรรู้ว่า เขาอยู่ในสนามข่าวธุรกิจมา เกือบ 30 ปี ที่เริ่มจากการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ขยับมาจับงานทีวี แล้วกระโจนสู่โซเชียลมีเดีย  

จนตอนนี้คลิปวีดีโอบน youtube ของเขา แต่ละคลิปมียอดวิวทะลุแสน จนถึงหลายแสนวิว กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน สนทนากับเขา ถึงเส้นทางอาชีพ “นักข่าว” 

แม้วันนี้หลายคนอาจนิยามเขาว่าเป็นยูทูบเบอร์ - อินฟลูเอนเซอร์ แต่เขายืนยันว่า ตัวตนเขายังเป็น “นักข่าว” 

  

“นิธิ” เล่าย้อนความไปถึงปี 2537 สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา ม.หอการค้าไทย มาฝึกงานที่ “มติชน” ที่โต๊ะเศรษฐกิจ ก่อนจะรับเขาเข้าทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ  

“เราเริ่มทำงานข่าวเศรษฐกิจมาตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งข่าวรถยนต์ สายโทรคมนาคม สายคมนาคม สายท่องเที่ยว สายตลาด ฝึกเราให้มีความรู้ในเรื่องอื่นๆ รอบด้าน เป็นการรับผิดชอบหลากหลายธุรกิจ และรถยนต์ก็เป็นหนึ่งในขาหลักของเรา เริ่มต้นตั้งแต่วันนั้น”

“มีหน้ารถยนต์ให้เรารับผิดชอบ มีการทดสอบรถ วิเคราะห์ เราค่อยๆ เก็บเกี่ยวมาเรื่อยๆ ทำมติชนมา 10 ปี แล้วย้ายไปหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ตั้งแต่เล่มแรก ครั้งแรกเข้าไปก็เป็นนักข่าวซีเนียร์ รับผิดชอบข่าวรถยนต์ และข่าวการตลาด ท่องเที่ยว โทรคมนาคม” 

“ขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวของโพสต์ทูเดย์ แต่ยังเป็นปริ้นท์อยู่ จากนั้นก็เป็นเว็บไซต์ ตอนนั้นเราก็เปาะแปะๆ เป็นไดโนเสาร์อยู่ เรายังไม่รู้จักกระบวนการของดิจิทัล รู้จักแค่พิมพ์ข่าวก็จบ ยังไม่รู้จัก SEO คืออะไร”

จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ “นิธิ” ขยับไปทำนิตยสาร Forbes Thailand ที่เครือบางกอกโพสต์ เพิ่งซื้อหัวนิตยสารเข้ามาประดับ เขาจึงถูกดึงเข้ามา บก.เศรษฐกิจ อยู่ 2-3 ปี 

แล้วโอกาสมาหาเขาอีกครั้ง ภายหลังเครือบางกอกโพสต์ขยับมาทำทีวีดิจิทัล เพราะผู้ใหญ่เห็นว่าเคยจับงานทีวีเล็กๆ น้อยๆ สมัยที่โพสต์ทูเดย์จับมือทำข่าวกับช่อง 11 

“ผู้ใหญ่บอกเต้ย..คุณลองไหม ไปทำเป็น บก.ข่าวเศรษฐกิจ ของโพสต์ทีวี ผมก็อยากไปเรียนรู้ ขยับไปเป็น บก.ข่าวที่โพสต์ทีวี ทำให้เรียนรู้ภาพเคลื่อนไหว ตัดต่อแบบไหน ยังไง กระบวนการเป็นแบบไหน แต่เราไม่ได้เป็นคนทำ เราเป็นคนคุม ได้รู้จักขั้นตอน” 

แต่ด้วยทิศทางทีวีดิจิทัลในวันนั้นไม่ประสบความสำเร็จ – จำต้องเลิกรา ทำให้ “นิธิ” ต้องตัดสินใจ ว่าจะ “เลิก” หรือ “เดินหน้า” กับงานข่าว 

“จะไปขายก๋วยเตี๋ยว หรือ ทำข่าวต่อ แต่เรารักความเป็นนักข่าวอยู่แล้ว เราคิดว่าลองทำเองแล้วกัน ทำเสียหน่อยว่าจะได้หรือไม่ได้ เพราะเรารู้ว่า งานเขียนเรา และประสบการณ์เราน่าจะไปได้ในวันที่เรากระโดดออกมา” 

นิธิ กระโจนเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียครั้งแรกด้วยการเปิดเว็บไซต์ autolifethailand.tv เพราะตอนนั้นนามสกุลเว็บ .com จดไม่ได้ ทำให้ดูเป็นเรื่องบังเอิญ ที่หลายปีต่อมาเขาโลดแล่นอยู่ในคลิปในยูทูบ 

แต่การทำเว็บไซต์ข่าวรถยนต์ไม่ได้ใช่ของง่าย “นิธิ” ถึงกับบ่นว่า “ท้อ”

“กระโดนเข้ามา 6 เดือนแรกไม่ประสบความสำเร็จเลย (เน้นเสียง) แม้ว่าเราเขียนข่าวดีแค่ไหน ทำข่าวดีแค่ไหน แต่การก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างปริ้นท์กับดิจิทัล มีรายละเอียดที่เยอะมากๆ มีเครื่องมือในการทำให้คอนเทนท์เราขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้วให้คนเห็น แต่เราไม่รู้จักเครื่องมือนั้นเลย”

“สมัยทำปริ้นท์ เรามีหน้าที่พิมพ์แล้วจบ กระบวนการส่งไปถึงมือคนอ่านไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ในความเป็นเว็บไซต์ โซเชียล กระบวนการต่างๆ อยู่ที่เราด้วย เราต้องทำ SEO ทำ แฮชแทค ให้มีคนเห็นบทความเรา ซึ่งผมในวันนั้นไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย”

“ผมเป็นไดโนเสาร์มากๆ ที่กระโดดเข้าไป คิดว่าก็แค่เขียน แต่เขียนเท่าไหร่ก็ไม่มีคนเห็น 6 เดือนนะครับ ท้อมาก โคตรท้อ ทำไงดี”

“ผมท้อในลักษณะที่ว่าทำแล้วไม่มีคนอ่านแบบนี้จะทำทำไม เพราะผมไม่ขอโฆษณาจากสปอนเซอร์เพราะงานยังไม่ดีพอ”  

“ซึ่งเราค่อนข้างเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ คิดเสมอว่าจะต้องเป็นไดโนเสาร์ที่เล่นไอแพดได้ ยังไงเราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ แม้เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่ง เราต้องเรียนรู้กับมัน แต่เราต้องใช้เวลากว่าเราจะเรียนรู้กับมัน” 

แต่แล้วก็ถึงจุดพลิกผัน “นิธิ” เล่าว่า ประมาณปี 2561 วันหนึ่งนั่งกินเหล้าในวงเพื่อนๆ ชาวเว็บไซต์ ช่วงที่ไปเทสต์รถ เพื่อนก็คอมเมนท์มุมหนึ่ง อีกคนก็พูดมุมหนึ่งในรถคันเดียวกัน แต่พอดูงานที่เขียนของพวกเขากลับไม่มีในสิ่งที่คุยกันในวงเหล้า เขาจึงทำในสิ่งที่ต่างออกไปจากงานเขียน

“ถ้าอย่างนั้นขออีกก้าวหนึ่ง ลองทำ youtube เราพอที่จะพูดได้ นำเสนอได้ เคยยืนคุยกับกล้องมาแล้ว แต่เราไม่มีความรู้เรื่อง youtube เลย” 

นิธิ จึงลงทุนกับของ 2 สิ่ง ...“กล้องเราก็ไม่มี ใช้กล้องโกโปร 5 ไม่มีไมค์ เสียงอย่างแย่ เราไม่มีความรู้เรื่องอุปกรณ์ เพราะเราโตมาจากภาพนิ่ง ลองยืนพูดหน้ากล้อง ถ่ายเอง ทำเอง ตัดเอง โดยใช้ Macbook ซื้อมา 1 เครื่อง เพราะมีโปรแกรม iMovie เพราะผมไม่มีความรู้โปรแกรมตัดต่ออีกเหมือนกัน เป็นการลงทุน 2 ชิ้นแรกในวิชาชีพภาพเคลื่อนไหว”  

“วันนั้นตัดต่อไม่เป็น คัทชนอย่างเดียว ตัดช่วงเสียงที่สะดุดออก เราทำมาทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ถ่ายเอง ตัดเอง ผลิตทั้งหมดเรารู้ เราทำเอง ไม่ได้นอน เหล้าไม่กินเลย เป็นอะไรที่รีบถ่ายงาน insert ใส่ไม่เป็น แต่ทำให้เรารู้จักทุกขั้นตอนของงานว่าอุปสรรคคืออะไร” 

นิธิ เล่าต่อว่า “คนเข้าไปดูแรกๆ หลักสิบ หลักร้อย และหลักพัน ค่อยๆ มา ช่วงที่แรงที่สุดคือ เปิดตัว Honda CRV แต่ก็มีคอมเมนต์เยอะ เพราะคนไม่รู้จักเรา เพราะคนในวงการรถรู้จักผม แต่เวลาลงสู่โซเชียลไม่รู้จักผมเลย นิธิ ท้วมประถม ในการรู้จักของคนเป็นศูนย์”

“ทุกอย่างบั่นทอนค่อนข้างแรงเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำ อยากพูด อยากเป็นที่พึ่งให้คนดู ว่า ถ้าจะซื้อรถคันหนึ่ง รถคันนี้เหมาะกับใคร ข้อดีข้อด้อยคืออะไร แล้วไปชั่งน้ำหนักกันว่าข้อดีข้อด้อยนั้นเหมาะกับคุณหรือเปล่า”

“เพราะไม่มีรถคันไหนดีที่สุด ไม่มีรถคันไหนแย่ที่สุด แต่รถคันไหนจะเหมาะกับคุณ เราอยากบอกแค่ตรงนั้น แล้วคุณเหมาะกับรถหรือเปล่า ผมอยากจะบอกในสิ่งที่ค่ายรถควรจะมีแบบนี้ ในราคานี้ทำไมไม่มีแบบนี้ มีได้แล้ว ผมอยากเป็นตัวแทนที่บอก เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมพูดว่าควรจะมีหรือไม่ควรจะมีในรถแต่ละแบบ” 

“จากประสบการณ์ผม ควรจะมี ประสบการณ์ผมบอกได้ว่าในราคานี้ เป็นประสบการณ์ของเราที่กลั่นกรองออกมา วิเคราะห์รถ ซึ่งไม่มีใครเคยทำ และเราได้รับการดูเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของผม ประสบการณ์ที่ที่สั่งสมมากล้าที่จะคอมเมนท์ กล้าวิเคราะห์”

นิธิ บอกว่า งานเขียน จาก งานหน้าจอ เอามาปรับใช้ได้ระดับหนึ่ง 

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากมติชน ได้รับจากโพสต์ทูเดย์ ทั้ง 2 สื่อ สอนผมเสมอว่า เราทำให้ดี เราทำเพื่อคนอ่าน เราทำเพื่อคนดู ให้มีคนอ่านและคนดู ‘เป็นตัวประกัน’ คำว่าเป็นตัวประกันคือ ถ้าเราทำคอนเทนท์แล้วมีคนดู มีคนสนใจ ธุรกิจก็จะตามมาเอง ถ้าเราวิ่งตามหาธุรกิจ ทำเพื่อขาย เราจะไม่มีคนดู แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการพิสูจน์” 

นิธิ บอกว่า autolifethailand.tv ของเขา มี “เส้นแบ่ง” ระหว่างการ “รีวิว” กับ “รับโฆษณา” 

“คอนเซปต์ผมก็คือ ถ้าคุณอยากเข้ามาอยู่ในรายการผม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามคอนเซปต์ผมคือ วิเคราะห์ วิจารณ์ได้ตามจริง ถ้าคุณยอมก็จบ ถ้าคุณไม่ยอมก็ไม่เป็นไร เพราะเราทำงานให้คนดู เพราะผมเชื่อว่าคนดูต้องพึ่งพาอะไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันคอนเทนท์ออนไลน์มีเยอะมาก”

“ถูกสอนจากทั้งมติชน และโพสต์ทูเดย์ มาตลอดชีวิตการทำงาน เมื่อเรามาทำเอง สิ่งที่เราพูด เราต้อง “รับผิดชอบ” ไม่ใช่แค่มีเพจ มีคอมพิวเตอร์ มีมือถือ มาทำคอนเทนท์โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร” 

“ผมไม่ทำคลิกเบต เอาประเด็นมาพาดหัว มาล่อคน ผมไม่ทำ เพราะผมเชื่อว่าเราโตมาคนละแบบ อาจไม่ถูกต้องกับดิจิทัลในวันนี้ ต้องพาดหัวคนเข้ามา หรือ เอาเนื้อหามาปั้นให้คนมาอ่าน ยอดคนดูเราต้องการไหม..เราต้องการ แต่ถ้าขัดกับทิศทางในใจเราก็ไม่ทำ เพราะทุกวันนี้ทุกคนทำได้หมด ไม่มีมาตรฐานของหน่วยงานมากลั่นกรอง” 

แม้มีคนบอกว่า “นิธิ” คือ ยูทูบเบอร์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ แต่เจ้าตัวยืนยันตัวตนว่าเป็น “นักข่าว” 

“ในบ้านเรายังไม่ได้ถูกจำแนก ถูกเหมารวมไปหมด ผมบอกว่าผมเป็นสื่อ แต่ค่ายรถบอกว่าผมเป็นอินฟลูเอนเซอร์ วันก่อนมีคนบอกว่าพี่เป็นยูทูบเบอร์” 

“แต่ในมุมมองผมว่าไม่ใช่ ในมุมมองผม ผมยังเป็นสื่อ เพราะผมยังนำเสนอในสิ่งที่สื่อทำ ถ้าอินฟลูเอนเซอร์คือผู้นำความคิดไปเลย อย่าง spin 9เขาไม่เคยไปทำข่าว ไม่เคยสัมภาษณ์ เขารับจ้างรีวิวไปเส้นทางนั้น...ไม่ผิด เขามีความรู้ในสายงานเขา แต่ตัวผมยังอยากเป็นสื่อ ที่นำเสนอในโลกใบนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เสนอในแพลตฟอร์มปัจจุบัน” 

ทว่าในวงการรถยนต์ ก็มีทั้งยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์มากหน้าหลายตา บางส่วนขยับจากสายไอทีมาทำสายรถยนต์ มองว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาแย่งการทำงานของ “สื่อ” หรือไม่ 

นิธิ กล่าวว่า “วงการนี้ใหญ่มาก เป็นมหาสมุทร อยู่ที่เราจะนำเสนออะไร สายรถยนต์สื่อหลัก ที่พวกเรากันอยู่ เรารักษาพื้นที่เราไม่ได้เอง เราถึงปล่อยให้คนอื่นเข้ามา แต่เราก็ต้องฟัง มีคนบอกว่า ปล่อยให้ spin9 imod evgirl เข้ามาในสายงานรถยนต์ได้ไง” 

“แต่พวกเขามีกลุ่มคนที่เป็นไอที มีกลุ่มคนที่เป็นคนสมัยใหม่ ค่ายรถต้องการลูกค้า eye ball ที่เป็นกลุ่มนั้น เราก็ขยายไปได้นี่  เราปล่อยให้เขาเข้ามาเอง ด้วยความอ่อนแอของเราเอง จุดโหว่ของเราเอง นักข่าวสายรถยนต์ทำคอนเทนท์แบบนั้นหรือเปล่า ไม่กล้าวิเคราะห์ วิจารณ์หรือเปล่า ยังทำคอนเทนท์แบบเดิมๆ หรือเปล่า ต้องดูตัวเราว่าทำไมเขาข้ามาได้”

“พวกรีวิวสายไอที ที่เข้ามาคือส่วนประกอบเพราะมีไอทีเข้ามาเกี่ยวเนื่อง เราก็ต้องเรียนรู้ไอทีให้เยอะ พูดไอทีให้เยอะ นอกจากเราพูดเรื่องช่วงล่าง เรื่องรถ เราไปฟังเอาเพื่อความรู้ ใช่...เขาเป็นคู่แข่ง แต่มันมาทดแทนเรา (สื่อสายรถยนต์) ไม่ได้หรอก”

“เพราะคนดูไม่ได้ดูรีวิว ตอบทุกรสชาติที่คนดูต้องการได้หรอก คนก็ต้องไปดูรสชาติอื่นๆ มาประกอบ แต่ของเราให้เป็นเครื่องปรุงหลักไว้ อย่ามองว่าเขามาแย่ง มองให้เขาเข้ามาเสริมสีสัน มีมตินำเสนอ แล้วเราก็ไปเรียนรู้จากเขา” 

ถามเขาว่า จากนักหนังสือพิมพ์ มาทีวี สู่ยูทูบเบอร์ ต้อง “ปรับตัว” เยอะแค่ไหน? 

นิธิ ตอบว่า “เยอะเลยครับ สื่อเดิมคือ เขียน คิดประเด็น นำเสนอประเด็น เช็คข่าว แต่ดิจิทัลเราต้องทำทุกกระบวนการ ปกก็ต้องคิด การนำเสนออย่างไร พูดอย่างไรให้น่าสนใจ ต้องมีบุคลิก มีสไตล์ ต้องไปอีกแบบ ถ้าคอนเทนท์ดี แต่พูดไม่ดี เว้นจังหวะไม่ดี หน้าตาไม่เกี่ยว แต่มีบุคลิกนำเสนอไม่โดน คนก็ไม่ดู ไม่ได้หมายถึงทุกคนพูดแล้วคนจะดู”  

“นี่คือความยากของงานดิจิทัล ที่ต้องนำเสนอ รูป ลักษณ์ กลิ่น เสียง ต้องทำให้ครบทุกมิติ ถ้าทำอันใดอันหนึ่งไม่โดนก็ทิ้งทั้งกระดาน ต้องเรียนรู้กันทั้งหมด วันนี้ก็เรียนรู้อยู่เสมอ หยุดเมื่ไหร่ถอยหลังเมื่อนั้น ไม่เหมือนกับงานเขียนที่ยังนิ่งๆ ได้บ้าง”

โอกาสสำหรับ “นักข่าว” ที่อยากทำยูทูบเบอร์ยังมีพื้นที่อยู่ไหม “นิธิ” ตอบว่า “มีครับ ตลาดนี้ใหญ่มาก ไม่มีข้อจำกัดว่าหยุดแค่นี้แล้วพอ อยู่ที่ว่ากระโดดเข้ามาแล้วเอาคนดูอยู่หรือเปล่า ถ้ามาแล้วเอาคนดูอยู่ มีโอกาสเสมอ พวกผมไม่ได้อยู่โยงคงกระพัน ต้องมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สื่อใหม่ก็ต้องเข้ามา 

“อย่างประวัติศาสตร์นอกตำรา ของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ค่ายมติชน คนดูมหาศาล เป็นการเปลี่ยนตัวเองที่โคตร The best เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย”

“ตราบใดที่คนไทยยังชอบดูอยู่ คอนเทนท์มัลติมีเดียไม่มีวันตาย ผมกล้าพูด และมันจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน youtube ยังอยู่อย่างต่อเนื่อง tiktok ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง รูปแบบการนำเสนอคนละแบบอยู่แล้ว

จากกล้องโกโปร 1 ตัว Macbook 1 เครื่อง วันนี้ทีมงานของ “นิธิ” ยังคงเล็กกะทัดรัด มีคนตัดต่อ 1 คน ช่องภาพวีดีโอ 1 คน และเขายังเป็นคนที่ทำทุกอย่างเอง กำหนดทุกอย่างได้ 

รายได้ปัจจุบัน เขาบอกว่า “ก็เยอะกว่าที่เราคิดไม่น้อย วันแรกเราอยากแค่ว่าอยู่ได้ เพราะเรายังอยากเป็นนักข่าว แต่เมื่อมีรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง มากกว่าที่เราคิดเยอะ มากกว่าเป็น บก.หลายเท่า แต่เป็นอิสระมากขึ้น มีทิศทาง เราจะล้มหรือลุกอยู่ที่เราแล้ว” 

“ทางเดียว คนดูเป็นตัวประกัน สิ่งที่มติชน โพสต์ทูเดย์สอนผมมา เราทำงานให้คนดู ต้องกลับมาคิดว่าคนดูอยากรู้อะไร อยากทราบอะไร สิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับคนดูหรือเปล่า อย่าคิดว่าทำอะไรเพื่อให้มีโฆษณา มีรายได้ จงคิดว่าทำอะไรให้มีประโยชน์กับคนดู ถ้ามีคนดู มีคนฟัง มีคนอ่าน ธุรกิจวิ่งตามมาเอง ไม่ว่าอยู่ในแพลตฟอร์มไหน อยู่ได้แน่นอน”     

“ตราบใดที่เรามีคนดู อย่าโลภ อย่าเป๋ อย่าเป็นแบบนั้น จงยืนหยัดในคอนเซปต์ ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนมาดู ผมจะไม่ทำ  และวันนี้ผมก็พิสูจน์มาระดับหนึ่ง ถ้าอยากลงโฆษณาช่องเราก็ต้องเป็นไปตามสไตล์ช่องเรา ผมเป็นช่องเดียวที่ไม่ให้ลูกค้าตรวจงานใดๆ ต้องแข็งแรง อยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ใจแข็ง ทำงานเพื่อคนดู” เขาทิ้งท้าย