“ที่ผ่านมาเราเคยทำข่าวเรียกร้องให้คนอาชีพอื่น แต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิ์ให้กับตัวเอง ไม่เคยรวมตัวกันเพื่อต่อรองสภาพการจ้างงานที่ดี หรือสภาพการจ้างงานตามหลักชีวอนามัยความปลอดภัย ทั้งที่คนทำงานสื่อ เป็นผู้ใช้แรงงานประเภทหนึ่ง เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือน บางคนทำงานหนักมาก จนเกิดภาวะซินโดรม หรือซึมเศร้า ต้องออกจากอาชีพนี้ไปเลย”
///
1 ในข่าวที่สะเทือนวงการสื่อมวลชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ พนักงานฝ่ายผังรายการ ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง รายหนึ่งเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นที่มาของการฉุกคิดของคนข่าวว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องห่วงใยตัวเอง “สุเมธ สมคะเน" เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สะท้อนความเห็นผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงมุมมอง “เมื่อคนสื่อ ทำงานหนักจนเจ็บ-ป่วย-ตาย ปัญหาของใคร?” ว่า รู้สึกเศร้าใจ ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก และหวังว่า ในอนาคตจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยได้เสนอการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องจาก หลายปีก่อนเคยมีกรณีลักษณะการเสียชีวิตที่ทำงานเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะมีสื่อออนไลน์ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตการทำงานของคนทำงานสื่อ และการเสียชีวิตจากปัจจัยการทำงานสามารถพิสูจน์ยาก หากไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาแล้วปล่อยให้บานปลาย จนเกิดการสูญเสีย เพราะจะกลายเป็นว่า ผู้เสียชีวิต เสียชีวิตจากโรคประจำตัว
สภาพเศรษฐกิจ-การแข่งขัน ทำคนสื่อป่วยออฟฟิศซินโดรม
"สุเมธ" ยังเห็นว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากสภาวะเศรษฐกิจ ที่ทุกสำนักข่าวมีการรัดเข็มขัดควบคุมค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งคือ เงินเดือนค่าตอบแทนของพนักงาน และจำนวนพนักงานในแต่ละสายงานที่ลดน้อยลง ทำให้คนหนึ่งคน มีปริมาณงานเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ไม่รวมกับการแข่งขันของแต่ละสื่อเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นภาวะกดดันให้เกิดความเครียดโอเวอร์โหลดในการทำงาน จนหลายคนเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรม ดังนั้น จึงควรที่จะมาพูดคุยแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เคสใดเคสหนึ่ง โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมา สื่อฯ ยังไม่เคยพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพียงแค่ปารภมากกว่า เพราะถึงเวลาจริง ๆ แล้วทุกคนต้องทำงาน ไม่เช่นนั้นก็จะเสี่ยงถูกเลิกจ้าง เสี่ยงไม่ผ่านประเมินตามระบบ KPI และเสี่ยงต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจของครอบครัว จึงเป็นปัญหาหมักหมมในวิชาชีพ ทั้งที่เราสะท้อนปัญหาออกไป แต่ยังต้องทำงานอยู่ในองค์กรนั้น ๆ เช่นเดิม
สื่อ “อาชีพเฉพาะทาง” เรียกร้องให้คนอาชีพอื่น แต่ไม่เรียกร้องสิทธิตัวเอง
"สุเมธ" ยังอธิบายด้วยว่า การทำงานตามกฎหมายแรงงานระบุว่า ต้องไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับนโยบาย และรูปแบบของแต่ละองค์กร ซึ่งสื่อมวลชน เป็นอาชีพเฉพาะทาง เวลาทำงานไม่ตายตัวว่า จะต้องจบการทำงานภายใน 8 ชั่วโมง หรืออาจจะเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในข่าวนั้น ๆ โดยบางออฟฟิศ หรือบางสำนักข่าว อาจจะมีค่าตอบแทนพิเศษ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา หรือเบี้ยเลี้ยง แต่บางสำนักข่าว ก็อาจไม่มีในส่วนนี้
“ความจริงแล้วกฎหมายแรงงานครอบคลุมเพียงพอ แต่ปัญหาหนึ่ง คือ ที่ผ่านมาเราเคยทำข่าวเรียกร้องให้คนอาชีพอื่น แต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิ์ให้กับตัวเอง ไม่เคยรวมตัวกันเพื่อต่อรองถึงสภาพการจ้างงานที่ดี หรือสภาพการจ้างงานตามหลักชีวอนามัยความปลอดภัย ทั้งที่คนทำงานสื่อเป็นผู้ใช้แรงงานประเภทหนึ่ง เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือน บางคนทำงานหนักมาก จนเกิดภาวะซินโดรมหรือซึมเศร้าต้องออกจากอาชีพนี้ไปเลย” สุเมธ กล่าว
"สุเมธ" ยังเล่าด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2555 กลุ่มนักข่าวภาคสนามรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยขึ้นมา เพื่อเป็นองค์กรกลางให้คนทำงานสื่อ รักษาสิทธิคุ้มครองตัวเอง มีกระบอกเสียง หรือตัวแทนเจรจาต่อรอง เรียกร้องสวัสดิการที่เหมาะสม หรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานให้กรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งสหภาพตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มีเพียง 3 สหภาพคือ 1.) สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย 2.) สหภาพแรงงานของเครือเนชั่น และ 3.) สหภาพแรงงานของ Bangkok Post ส่วนกฎหมายตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีสหภาพของ อสมท. ขณะที่กฎหมายเกี่ยวข้องอื่น ๆ มีของ ThaiPBS ซึ่งในเมืองไทยถือว่า น้อยมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน
"สุเมธ" ยังอธิบายอีกว่า สำหรับสหภาพแรงงานกลางนั้น มีคนจากสำนักงานข่าวต่าง ๆ ร่วมด้วยไม่มาก เพราะกลัวที่จะถูกเลิกจ้าง กลัวมีปัญหากับต้นสังกัด จึงเลี่ยงที่จะเป็นสมาชิกสหภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของทัศนคติ และหวาดกลัวหลายเรื่อง การดำเนินกิจกรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความกังวลว่า ถ้าออกจากงานแล้วจะไม่มีสำนักข่าวใดรับเข้าทำงานต่อ เพราะแต่ละคน มีภาระความรับผิดชอบ ทั้งตัวเอง และครอบครัวจำนวนมาก ทำให้หลายคนไม่อยากจะเสี่ยง ด้วยความที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ ไม่มีตลาดการจ้างงานที่กว้าง แม้อุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน จะบูมมากก็ตาม แต่การทำงานที่มีรายได้มั่นคงมีสวัสดิการที่ดีมีน้อยมาก
ควรเปิดเวทีพูดคุยแก้ปัญหาทั้งระบบ
"สุเมธ" ยังเห็นว่า แต่ละสำนักข่าว แต่ละองค์กร มีสภาวะ และสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน บางองค์กร อาจจะเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพ แต่บางองค์กรไม่พร้อม จึงตั้งสหภาพแรงงานกลางขึ้นมา แต่ปัญหาหนึ่งที่เจอคือ มีแรงเสียดทานจากผู้บริหารแต่ละองค์กรสื่อ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจากมายาคติในอดีต ที่มองว่า สหภาพเป็นอุปสรรค ต่อการบริหารองค์กรทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่ และ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เคยมีสื่อ มาขอคำปรึกษาสหภาพเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ก็ไปไม่สุดทางสักราย เพราะส่วนใหญ่จะยอมไกล่เกลี่ยกับนายจ้างแล้วจบ หรือบางส่วนไปสู้กันเองที่ศาลแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ จะมาขอความช่วยเหลือ เมื่อปลายเหตุ หรือมีการเลิกจ้างไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน ทั้งที่กระบวนการด้านสิทธิแรงงาน ควรจะเริ่มด้วยการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ในวันที่รับทราบว่า มีปัญหาเกิดขึ้น หรือตั้งแต่รับทราบว่า มีปัญหาถูกละเมิดสิทธิ หรือหากพนักงานในองค์กร เจรจากับนายจ้างให้เป็นรูปธรรมได้ เรื่องก็ไม่ต้องมาถึงสหภาพ เช่น เมื่อปี 2553 เกิดความรุนแรงทางการเมือง กองบรรณาธิการสำนักข่าวรวมตัวกัน เรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพกับนายจ้าง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกสำนักข่าว เพราะอยู่ที่ความใจกว้างของนายจ้างองค์กรนั้นๆ และการรวมตัวที่เป็นเหตุเป็นผล ของคนทำงานสื่อในองค์กรด้วย
“กลายเป็นว่าพอเกิดปัญหาทีก็ลุกขึ้นมาพูดกันที เหมือนดิสเครดิตกัน โดยไม่ได้พูดกันทั้งระบบ เหมือนกับว่า เราหยิบเคสหนึ่งขึ้นมา พูดสะท้อนปัญหาด้วยความสะใจ มากกว่าที่จะนำเคสนี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นตุ๊กตาที่เรามาพูดคุยแก้ไขปัญหาทั้งระบบ” สุเมธ ระบุ
"สุเมธ" ยังหวังว่า เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สื่อมวลชนทุกคน จะตระหนักถึงสิทธิด้านแรงงานของตัวเอง เพราะนายจ้างแต่ละองค์กร มีสายป่านไม่เท่ากัน มีต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน แต่เราช่วยเหลือกันได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา โดยต้องเคารพสิทธิของตัวเองก่อน แล้วเปิดเวทีนั่งพูดคุยกันให้มีการสื่อสาร และแก้ไขปัญหาทั้งระบบ แล้วอาชีพนี้จะกลับมามั่นคงอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เกิดความสูญเสียในลักษณะเช่นนี้อีก
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดย "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" และ "คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5"