ฝ่ายสิทธิ์ TJA แสดงความกังวล 2 กรณีคุกคาม-ทำร้ายสื่อภูมิภาค 

วันที่ 3 มีนาคม 2566 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ คณะทำงานได้รับรายงานเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคในทั้งสองกรณี

เรื่องแรกได้แก่ กรณีผู้สื่อข่าวทีวีช่อง 7 ประจำจังหวัดเพชรบุรี และนายมานิตย์ รักพานิชแสง ผู้สื่อข่าวทีวีช่อง 3 ประจำจังหวัดเพชรบุรี เดินทางไปทำข่าวเหตุการณ์รถขุดดินถูกดินโคลนถล่มทับจมน้ำ ที่บริเวณบ่อดินลูกรัง หมู่ 4 บ้านห้วยหิน ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เมื่อเดินทางถึงที่เกิดเหตุ กลับถูกกลุ่มชายและหญิงประมาณ 15 คน เข้ามาปิดล้อมรถกระบะของผู้สื่อข่าว เพื่อข่มขู่ไม่ให้ทำข่าว ยึดมือถือไปลบรูปภาพและคลิปในมือถือ ก่อนจะบังคับให้เดินทางออกนอกพื้นที่เกิดเหตุทันที 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวทั้งสองคนยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ระหว่างที่เกิดเหตุ พวกตนได้ถูกชายกลุ่มหนึ่งแสดงท่าทางและวาจาคุกคามในลักษณะต่างๆ เช่น ใช้ท่อนแขนล็อคคอ ใช้มือค้ำคอ กระชากโทรศัพท์ ดึงหน้ากากอนามัยให้ปิดหน้าผู้สื่อข่าว ฯลฯ  ต่อมา ผู้สื่อข่าวทั้งสองคน เดินทางเข้าแจ้งความที่ สภ. ชะอำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าว 

เรื่องที่สอง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 รายละเอียดพฤติการณ์ระบุว่า ได้มีชายฉกรรจ์ขับรถประกบรถยนต์ของนายศุภเดช คำพุฒ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคให้แก่สื่อหลายสำนัก และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวไทเพชรบูรณ์ ก่อนจะใช้ท่อนเหล็กยาวทุบตีเข้าที่กระจกด้านข้างหลายครั้ง ถูกที่ศีรษะและใบหูของนายศุภเดช ทำให้นายศุภเดชได้รับอาการสาหัสและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนคนร้ายได้หลบหนีไป ตามที่ปรากฏเป็นข่าว 

ด้านครอบครัวของผู้บาดเจ็บระบุว่า นายศุภเดชไม่มีปมความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน นายศุภเดชได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลลักลอบเปิดบ่อนการพนัน เล่นกันโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จึงมีมูลเหตุเชื่อได้ว่านายศุภเดชอาจถูกทำร้ายร่างกายเนื่องมาจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองเพชรบูรณ์ ได้จับกุมชายคนหนึ่งซึ่งระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุ พร้อมดำเนินคดีในฐานความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และทำให้เสียทรัพย์

นายธีรนัยระบุว่า ทั้งสองเหตุการณ์มีลักษณะที่สุ่มเสี่ยงเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ ด้วยการทำร้ายร่างกาย และข่มขู่คุกคามในวิธีอื่นๆ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสอบสวนทางกฎหมายตามกระบวนการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ข้อเท็จจริงประจักษ์แก่สาธารณชน และนำเอาผู้กระทำผิดมารับโทษทางกฎหมาย วงการสื่อมวลชนจะได้อุ่นใจว่า พฤติกรรมที่ทำร้ายหรือคุกคามสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

นายธีรนัยย้ำว่า หากแหล่งข่าวที่ตกเป็นข่าว ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับการรายงานของสื่อมวลชน ก็ย่อมมีสิทธิ์ให้ข่าวให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในส่วนของตนกับสื่อมวลชนได้ แทนที่จะใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคามสื่อมวลชน อันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯได้เคยรณรงค์ไว้ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”

นายธีรนัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การคุกคามสื่อในพื้นที่ต่างจังหวัดมักจะมีแนวโน้มรุนแรงและอุกอาจมากกว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า กลุ่มบุคคลที่มีเจตนาต้องการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในบางพื้นที่ กล้าที่จะกระทำการดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องสอบสวนและดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล” ในพื้นที่ใดๆ 

ทั้งนี้ ตนจึงขอเรียกร้องให้สำนักข่าวต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพผู้สื่อข่าวภูมิภาค หรือสตริงเกอร์ เพราะหลายๆครั้งผู้สื่อข่าวภูมิภาคจึงต้องทำงานในบรรยากาศที่เสี่ยงภัยมากกว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีโอกาสเผชิญกับการคุกคามสื่อสูง ดังนั้น ต้นสังกัดต้องคอยสอดส่องดูแลสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด และหากมีเหตุร้ายใดๆ ต้องให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่ควรจะเป็น