“ปลุกพลัง! คนสื่อยุค AI ยกระดับทักษะสู่อนาคต”

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ

“ อาชีพของคนสื่อทุกวันนี้ เหมือนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้าย  เราต้องยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันความมั่นคงในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ได้มั่นคงเหมือนเดิมแล้ว และก็ไม่มีวันรู้ว่านายจ้างจะเลิกจ้างเราเมื่อไหร่  ดังนั้นเราต้องปรับตัวเตรียมความพร้อมไว้ก่อน  เพราะต่อให้วิกฤตจะยังไม่เกิดกับเรา  แต่เราก็ต้องสร้างมูลค่าให้ตัวเอง เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือก - ทางรอดให้ตนเอง 

โดยเฉพาะอิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้สื่อมวลชนไม่ว่าจะแขนงไหนต้องปรับตัวอย่างมากในเรื่องของสกิลทักษะการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะการที่มีเทคโนโลยี AI เข้ามา หลายคนตามไม่ทัน หลายคนอาจจะรู้บ้างแต่ก็ไม่ได้เก่งและไม่เชี่ยวชาญพอ  สิ่งเหล่านี้เลยเป็นที่มาที่ทำให้สมาคมนักข่าวฯ มองว่าควรจะมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักข่าวและสื่อมวลชน รวมทั้งยังเป็นการมองไปข้างหน้าว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง จะสร้างอาชีพเสริมให้ตัวเองได้อย่างไร ”

นายวัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงที่มาและจุดเริ่มต้นของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาทักษะสื่อมวลชนยุค AI: One-Day Workshop” เพื่อพัฒนาทักษะของนักข่าวและสื่อมวลชนให้ทันสมัย และสามารถปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในหัวข้อที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องทุกวันเสาร์ของเดือนกันยายน 2567 ตั้งแต่เสาร์ที่ 7 กันยายน - 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)  ซึ่งมีสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมอย่างเนืองแน่น

การตัดต่อวิดีโอด้วย CapCut  โดยมี ดร. กฤษณะ เชื้อชัยนาท

หลักสูตรการอบรม มีทั้งหมด 4 ทักษะวิชา คือ การตัดต่อวิดีโอด้วย CapCut  โดยมี ดร. กฤษณะ เชื้อชัยนาท เป็นวิทยากรอบรม ,  การสร้าง YouTube Channel  มี คุณจีรณัทย์ แพทย์อุดม , การขายผ่าน TikTok  โดย คุณนิว นริศตา และ การใช้ AI ในงานข่าว โดย คุณธีรานนท์ ศิริกุลพิริยะ  ซึ่งวิทยากรแต่ละท่าน เป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นอย่างดี  ที่สำคัญ ทั้ง 4 หัวข้อนี้ ผ่านการสำรวจแล้วว่าเป็นทักษะที่คนสื่อต้องการเรียนรู้และอยากฝึกฝน ทั้งคนที่ยังทำงานสื่ออยู่ และคนที่ออกจากงานไปแล้ว รวมถึงคนสื่อที่ไปทำสื่อเป็นเจ้าของสื่อเอง

การสร้าง YouTube Channel  โดยมี คุณจีรณัทย์ แพทย์อุดม

“ เรามีการสำรวจว่าจะให้เพิ่มทักษะด้านไหน ซึ่งก็พบว่ามี 4 อย่าง  การตัดต่อแบบง่ายๆผ่านมือถือ ทำอย่างไรไม่ให้ติดเรื่องลิขสิทธิ์เพลง หรือการหลีกเลี่ยงลิขสิทธิ์ต่างๆที่จะไม่ถูกแบน ,  YouTube หลายคนฟังเพลง ดูวีดีโอผ่าน YouTube แต่ก็ไม่เคยเป็นเจ้าของช่อง ไม่รู้ว่าการเป็นเจ้าของช่องต้องทำยังไง ซึ่งวันหนึ่งทำตกงานก็สามารถเข้าไปทำ content ในช่องได้ ,  tiktok การขายของ เพื่อเป็นอาชีพเสริมในอนาคต สื่อมวลชนหลายคนที่ต้องการขายสินค้า แต่ก็ไม่รู้วิธีการสมัคร หรือสมัครแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะขายได้ เราก็นำผู้เชี่ยวชาญที่ขายของเก่ง เริ่มจากศูนย์ในการมาขาย จนทุกวันนี้เป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ  มาเพิ่มสกิลให้นักข่าว และทักษะเรื่อง AI กับการทำข่าว  ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในการทำข่าว สรุปข่าว หาข้อมูล รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้เสริมกับทักษะอีก 3 วิชา ที่ผู้เข้าอบรมได้เรียนไปแล้วอีกด้วย ”

การขายผ่าน TikTok  โดย คุณนิว นริศตา

ความหลากหลายของผู้เข้าอบรม ที่มาจากหลากหลายสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์  และหลายวัย  ถือเป็นความท้าทายของการจัดอบรมครั้งนี้  เพราะแต่ละคนจะมีพื้นฐานไม่เท่ากัน  แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ในแต่ละวิชาจากวิทยากร

การใช้ AI ในงานข่าว โดย คุณธีรานนท์ ศิริกุลพิริยะ 

“ เราคุยกันและทำโจทย์เรื่องนี้ว่า ในแต่ละหัวข้อที่เราเลือกแล้วว่าจะจัดอบรมนี้  มีใครที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้บ้าง  และเชี่ยวชาญอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมองไปถึงว่าจะสอนเข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้หรือไม่ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีพื้นฐานทักษะความรู้ในเรื่องนั้นๆมาไม่เท่ากัน   วิทยากรต้องใช้ทักษะทั้งการสอนและการสื่อสารเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ เพื่อให้ทุกคนได้เก็บเกี่ยวความรู้ไปได้มากที่สุด   จนมาตกผลึกได้ทั้ง 4 ท่าน แต่ละท่านนอกจากเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆแล้ว ยังทำเป็นอาชีพด้วยซ้ำ  

ซึ่งเราโชคดีมากที่วิทยากรทุกท่าน นอกจากสอนในชั้นเรียนที่มีทั้งเนื้อหาและการ workshop อย่างเต็มที่แล้ว  แต่ละท่านยังใจเย็นและเต็มที่กับการตอบข้อซักถาม ที่มีคำถามหลากหลาย  บางครั้งผู้เข้าอบรมติดขัดในส่วนไหน หรือตามไม่ทัน  วิทยากรก็จะลงมาช่วยดูและแก้ปัญหาให้เป็นรายบุคคล  ซึ่งเป็นภาพที่เราเห็นแล้วรู้สึกดีมาก และเสียงตอบรับจากการประเมินการอบรมก็ดีมาก ว่าวิทยากรสอนดี ช่วยเหลือดี ทำให้ได้เพิ่มทักษะจริงๆ ”  วัฒนะชัย กล่าว

ขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาทักษะสื่อมวลชนยุค AI: One-Day Workshop” ยอมรับว่าการจัดอบรมครั้งนี้เป็นประโยชน์ สามารถนำไปต่อยอดทั้งในวิชาชีพและการประกอบอาชีพ รวมถึงได้รับมิตรภาพใหม่ๆ จากผู้เข้าร่วมอบรม

นางสาวบุรอร ชุ่มชื่น นักจัดรายการวิทยุ วิทยุครอบครัวข่าว FM 106 MHz 

“ ตอนที่รู้ว่าสมาคมมีการจัดอบรมโครงการนี้ พี่มีความสนใจมาก เพราะตัวเองก็ถือว่าอายุเยอะแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่ายังต้องพัฒนาตัวเองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอด โดยเฉพาะเรื่องของ AI ก่อนหน้านี้พี่เพิ่งจะอ่านข่าวทราบว่า AI กำลังจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง  แต่พี่เองไม่มีความรู้เลยว่าก้าวปัจจุบันของ AI ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้มันเป็นอย่างไร การมาเรียนตรงนี้ทำให้พี่ได้รู้ "ตรงกลาง" ว่ามันยังมีอะไรมากและสามารถพัฒนาไปได้  

หรืออย่างเรื่องของ TikTok พี่มีงานอดิเรกถักสายกระเป๋า ก็รู้สึกว่ามันสามารถเอามาสร้างเป็นอาชีพเสริมโดยใช้ช่องทาง tiktok ในการสื่อสารขายสินค้าได้  ที่สำคัญการอบรมครั้งนี้ทำให้ได้กลับมาเจอบรรยากาศความอบอุ่นแบบพี่ๆ น้องๆ คนสื่อ ที่มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน แม้ว่าจะไม่รู้จักกันมาก่อนหรืออยู่คนละช่วงวัย แต่ก็มีจุดเชื่อมเดียวกันคือการที่เราอยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนเหมือนกัน มันก็เป็นความประทับใจที่ดี  ทำให้รู้สึกว่าพวกเราเป็นพวกเดียวกันนะ ”  นางสาวบุรอร ชุ่มชื่น นักจัดรายการวิทยุ วิทยุครอบครัวข่าว FM 106 MHz 

นายพันปี โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวออนไลน์ สำนักข่าว Workpoint   

“ ผมได้มาเข้าร่วมอบรมทั้ง 4  ครั้ง เพราะมองว่าทั้ง 4 หัวข้อค่อนข้างตรงใจกับที่อยากเรียนอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ทำงานออนไลน์อยู่ ก็ค่อนข้างที่จะต้องใช้สกิลหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของ tiktok และ AI ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้และใช้งานอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะ tiktok ที่ผมคิดว่าในอนาคตจะเป็นแพลตฟอร์มที่มาแซงอันดับ 1 YouTube อย่างแน่นอน  ส่วน AI ก็เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงานของวงการสื่อ ยิ่งถ้าเรารู้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะไปอบรมก็พอมีความรู้อยู่บ้างแต่รู้ไม่เยอะ

มีครั้งหนึ่งที่ผมสอนน้องฝึกงานเกี่ยวกับเรื่อง AI แต่สอนไปสอนมา กลายเป็นว่าน้องสอนผมแทน ทำให้คิดว่าถ้าเราไม่เรียนรู้เพิ่มเติมเด็กรุ่นหลังก็จะแซงเราไป  ซึ่งทั้ง 4 คลาสที่ได้เรียนไป ผมรู้สึกว่าเป็นอาวุธทางปัญญาที่จะทำให้เราอยู่รอดในวิชาชีพได้มากขึ้น ส่วนความประทับใจในการอบรมครั้งนี้นอกจากเรื่องเนื้อหาและวิทยากรแล้ว ก็คือทีมงานที่บริหารจัดการและดูแลการอบรม ทั้งเรื่องของสถานที่และช่วงวันเวลามีความเหมาะสม มีการสื่อสารแจ้งข้อมูลต่างๆกับผู้เข้าอบรม ทำให้รู้สึกว่าปัญหาหลังบ้านไม่มีอะไรเลย ผู้เรียนก็สามารถโฟกัสกับการเรียนได้อย่างเต็มที่ ”  นายพันปี โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวออนไลน์ สำนักข่าว Workpoint   

นางสาวสุวิมล จินะมูล ผู้สื่อข่าว และ creative สถานีโทรทัศน์ PPTV

“ สำหรับฝ้ายมองว่านอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับแล้ว คือการได้มาเจอเพื่อนๆพี่ๆน้องๆรวมถึงหลายๆคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน เป็นสิ่งที่นอกเหนือเพิ่มเติมมาจากที่หลายๆคนพูดมาแล้ว ถือเป็นมิตรภาพที่ดีได้เพื่อนใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นรุ่นเดียวกันหรือต่างรุ่น  ทำให้เรามองไปข้างหน้าได้ชัดขึ้นในเรื่องของการพัฒนาตนเอง เพราะหลายคนที่มาอบรมที่เป็นคนที่อายุเยอะๆ เขาก็ยังไม่หยุดการเรียนรู้

ส่วนสิ่งที่อยากให้สมาคมจัดหลังจากนี้คือการอบรมที่ต่อยอดจากการอบรมทั้ง 4 คลาสนี้ เช่น เรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน จริยธรรมในยุค AI  นำความรู้ไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ในงานข่าวที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงสาธารณะ โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือจะทำอย่างไรให้อยู่ในทำนองครองธรรมจริยธรรมตามหลักตามกรอบของวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เรายังต้องมีอยู่”  นางสาวสุวิมล จินะมูล ผู้สื่อข่าว และ creative สถานีโทรทัศน์ PPTV

จากความสำเร็จที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้  ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันจะเดินหน้าจัดการอบรมโครงการนี้เป็นครั้งที่ 2 ในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยผู้สนับสนุนโครงการครั้งนี้ก็พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการรุ่นต่อไปด้วย  แต่ในรายละเอียดยังต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นการอบรมในรูปแบบเดิม หรือจะเพิ่มให้เป็นระดับ  advance มากขึ้น  

“ ความสำเร็จที่เราเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือการที่เห็นคนที่ไม่เป็นอะไรเลยในวันแรก  แค่ตกบ่ายก็ทำเป็นแล้วในระดับหนึ่ง สามารถนำผลงานของตนเองออกมาโชว์กันได้  ได้รับคำชมจากวิทยากร และเมื่อกลับไปบ้านก็มีผลงานของตนเองลงโซเชียลมีเดีย  ลงเพจของตัวเอง หรือช่องทางของสื่อตัวเองมากขึ้นและทำได้ดีมากขึ้น บางคนที่ถูกเลิกจ้าง ตกงาน พูดว่าแทบจะหมดกำลังใจในอาชีพ บางคนอายุมากแล้ว  หรือเกษียณแล้วก็มี  แต่ทุกคนก็มีแรงผลักดันบางอย่าง  ฉันทำอย่างอื่นไม่เก่ง  ทำอย่างอื่นไม่เป็น  ทำได้แต่ทำข่าวเขียนข่าว เขียน content บางคนไม่เคยค้นพบตัวเองมาก่อน ว่าทำอะไรได้ แต่พอได้มาอบรม ได้มาพูดคุย เจอพลังใหม่ๆ จากเพื่อนๆ จากวิทยากร ทำให้เหมือนลุกขึ้นมาสู้ใหม่  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจและก็ชื่นใจสำหรับคนจัดงาน” นายวัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ กล่าว

“ โครงการครั้งนี้เราต้องขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติมาร่วมอบรม เพราะหากจัดแล้วไม่มีสื่อให้ความสนใจ ทุกอย่างก็คงสูญเปล่า เราหวังว่าสิ่งที่หยิบยื่นไปจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทุกๆเสียงสะท้อนของคนสื่อที่มาเข้าร่วมอบรม โดยเฉพาะในเรื่องของการต่อยอดหลังจากนี้ สมาคมพร้อมจะนำไปพิจารณา   เพราะความตั้งใจตลอดมาของสมาคมฯ คือจะพยายามเพิ่มทักษะให้กับสมาชิกทุกคน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แต่หากสนใจมาเรียนเราก็เปิดรับ เพื่อให้เราได้มีเครือข่ายขยายออกไปเรื่อยๆ  ซึ่งนั่นจะทำให้เรามีพลัง มีความเข้มแข็งในการอยู่ในวิชาชีพของเราต่อไปได้ “ นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

การติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนข่าว นอกจากกิจกรรมการอบรมโครงการ “พัฒนาทักษะสื่อมวลชนยุค AI: One-Day Workshop” แล้ว  ในช่วงปลายปี 2567 นี้  ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะจัดขึ้น ทั้งโครงการอบรมหลักสูตรเข้มข้น “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ปีที่ 6  ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน และถูกต้อง โดยนอกจากอบรมในประเทศไทยแล้ว จะมีการไปดูงานที่ฉงชิ่งอีกด้วย , โครงการตรวจสุขภาพครั้งใหญ่ให้กับสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ  โดยความร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)   และโครงการห้องเรียนสาธารณะ เพื่อฝึกทักษะด้านต่างๆให้กับนักข่าวภูมิภาค ทั้ง 4 ภาค

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามพันธกิจของสมาคมฯ ที่ต้องการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของเพื่อนสมาชิกในวงวิชาชีพสื่อสารมวลชน การดูแลสวัสดิการสมาชิกที่จะต้องสร้างความมั่นคงและให้ความช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก และการพัฒนาส่งเสริมเพื่อนสมาชิกในด้านของการทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพและส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่  เพื่อให้คนสื่อมีทางเลือกและทางรอดในเส้นทางวิชาชีพได้อย่างมั่นคง