ถกปมใหญ่สื่อเรียกเรตติ้ง สะท้อนสังคมเป็นอย่างไรสื่อเป็นอย่างนั้น

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 19 หัวข้อ “คนข่าวกับจริยธรรมและคุณค่าของสังคม” ที่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว PPTVHD36 และจิราพร คำภาพันธ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นวิทยากรผู้บรรยาย

สังคมเป็นอย่างไร สื่อเป็นอย่างนั้น

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง    กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

เริ่มที่เนื้อหาบนเวทีได้พูดถึงการสร้างแบรนด์ของนักข่าวเพื่อสร้างตัวตนให้กับสำนักข่าว โดยบรรยงค์ มองว่า หากไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะมีผู้ดำเนินรายการเป็นใคร แต่คำถามคือเขามีของหรือไม่ หรือถ้าหากคนดูไม่ได้ประโยชน์แต่ได้ความบันเทิงมาแทนก็ต้องทำใจ เพราะจะมีคนที่มีความสนใจตรงกัน แต่ก็คงไม่ใช่ทุกคน สำหรับเรื่องจริยธรรมในการทำงาน บรรยงค์ เล่าให้ฟังว่า สมัยทำข่าวที่ไทยรัฐเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ทุกคนจะทำตามที่หัวหน้าข่าวสั่งงาน ส่วนหัวหน้าข่าวก็จะทำตามเจ้าของ แต่หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาถ้าจะโทษนักข่าวภาคสนามอย่างเดียวคงไม่เป็นธรรม เพราะผู้บริหารสื่อคงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ แต่ก็โทษผู้บริหารสื่อไม่ได้เพราะเป็นลูกจ้างเจ้าของเหมือนกัน โดยมีคำหนึ่งที่พูดกันมาหลายสิบปีแล้วว่า “สังคมเป็นอย่างไร สื่อก็เป็นอย่างนั้น” ก็เคยมีลูกศิษย์ถามว่าแล้วจะเรียนนิเทศศาสตร์ไปทำไม เลยบอกไปว่า เราเป็นน้ำประสานทองที่อยู่ในกระทะ เมื่อใดที่กระทะใบเก่ามันแตก เราจะเป็นกระทะใบใหม่

ต้องจัดอันดับที่ความน่าเชื่อถือ

บรรยงค์ กล่าวอีกว่า เรื่องจริยธรรมเกิดปัญหากับสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง อาจเป็นเพราะสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลงไปด้วย แต่ยังพบในสื่อทีวีและพบมากขึ้นในสื่อออนไลน์ อย่างทีวีที่เคยอ่านข่าวตัวแข็ง มาเป็นอ่านข่าวแบบมีสีสัน ด้วยบุคลิกของผู้รายงานที่เป็นตัวของตัวเอง โดยปรับจากภาษาทางการมาเป็นภาษาพูด และยังใช้คำอะไรก็ได้ แม้แต่คำว่าเหี้ยยังเคยได้ยินมาแล้ว ดังนั้นการจัดอันดับของสื่อน่าจะมาจากความน่าเชื่อถือของข่าวสารว่าเป็นอย่างไร แต่เรื่องความอยู่รอดกลับกลายเป็นเรื่องหลัก

“คนสื่อยังต้องมีความอิสระในการทำหน้าที่ แต่คุณค่าความเป็นอิสระกำลังถูกท้าทายจากอิทธิพลธุรกิจและการเมือง”บรรยงค์ กล่าว

ต้องตรวจสอบ-กลั่นกรองทุกนาที

เสถียร วิริยะพรรณพงศา     ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว PPTVHD36 

ด้านเสถียร กล่าวว่า ใน PPTV ถือเป็นความท้าทายในการสร้างนักข่าวให้มีของ แต่ต้องมีการตรวจสอบและกลั่นกรองเนื้อหา เพราะต้องแข่งกับทุกอย่างในโลกออนไลน์ จึงต้องทำให้คนทำงานหรือธุรกิจสื่อแต่ละแห่งต้องแย่งชิงคนดูอย่างบ้าคลั่ง ให้ไปเขย่าที่กองบรรณาธิการให้ต้องดิ้นรนอยู่ให้ได้ แต่เส้นแบ่งของความดราม่าและการมีของ ก็ต้องทำให้คนดูมีความหวังได้ และต้องยืนให้ชัดว่า กำลังยืนบนแก่นที่ทำให้กับสังคมด้วย

"จริงๆ ค่อนข้างยากเพราะเป็นรายการทำรายวัน อุตสาหกรรมสื่อทำทุกนาที ต้องตรวจสอบ ต้องกลั่นกรอง อย่างรายการทอล์คที่ทำอยู่ ก็ไม่รู้ว่าคนๆนี้มีเบื้องหลังอย่างไร ที่มาออกไปเก็บตังค์ใครมาหรือเปล่า แล้วหลอกผู้เสียหายพามาออกทีวี ซึ่งหลายเคสก็เพิ่งรู้ และเมื่อรายการเมามันก็ทำให้ยอดวิวสูง เมื่อสูงแล้วก็ต้องการความต่อเนื่อง และลากให้ยาวถึงแม้บนทีวีจะหมดเวลาก็ไปต่อที่ออนไลน์ ปั่นไปเรื่อยๆ คำถามคือที่มันออกไปเป็นเรื่องจริงหรือไม่" เสถียร กล่าว

ประชุมข่าวเข้มข้น-ศักดิ์สิทธิ์

เสถียร กล่าวต่อว่า จากนั้นก็กลายเป็นว่า คนที่พูดเก่ง หรือมีทักษะเรื่องการสื่อสาร คนที่มั่นใจก็จะได้ออกทีวีอยู่เรื่อยๆ และมีแสงตลอดก็จะสู่กระบวนการหลอกลวงต้มตุ๋น โดยใช้สื่อที่เป็นสะพานให้คนพวกนี้ไปหลอกคนอื่นซ้ำ จึงคิดว่าเป็นความท้าทายซึ่งมาจากภาวะที่เรียกว่า การช่วงชิงคนดูอย่างหนักมาตั้งแต่การประมูลทีวีดิจิทัลแล้ว จนทำให้ชีวิตคนในอุตสาหกรรมสื่ออยู่ในทะเลที่ร้อนแรงตลอดเวลา เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่มาก ก็มีคำถามว่า สังคมจะอยู่กันแบบนี้หรือไม่ที่จะมีทุกสื่อไปไลฟ์สดตลอดเวลา แล้วนำคนที่กล่าวหาคนอื่นมาออกให้ด่ามันๆ โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลจากอีกด้าน ซึ่งมาจากการแข่งขันที่กระตุ้นให้เกิดภาวะแบบนี้

“สำหรับเรื่องจริยธรรมเป็นสิ่งที่กองบรรณาธิการ PPTV คิดกันละเอียดมาก ยกตัวอย่างข่าวแอมไซยาไนด์ เคยคุยกันว่า เราควรใช้คำนี้พาดหัวได้หรือไม่ เพราะเหมือนเป็นการยกย่องจนได้ฉายาเหมือนเป็นวีรบุรุษ ถึงแม้ทุกสื่อจะใช้ แต่ PPTV ไม่ใช้ ผมก็จะถูกน้องๆ ถามว่า เขาใช้กันหมด อายเขาเลย แต่ผมก็บอกเสมอว่าเรามีหลักของเราแบบนี้ คนดูจะเห็นจากที่ไหนก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เห็นจาก PPTV บนหลักนี้ ซึ่งในที่ประชุมข่าวของ PPTV จะมีเรื่องถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จึงเป็นการประชุมที่เข้มข้นและศักดิ์สิทธิ์มาก ถึงแม้จะมีเส้นแบ่งบางมากก็ตาม” เสถียร กล่าว

รักษาเส้นของความเป็นสื่อ

เสถียร กล่าวอีกว่า ถึงแม้ PPTV จะทำธุรกิจสื่อในมุมเอกชน แต่อีกด้านก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และทุกคนก็รู้ว่า PPTV แบกอะไรต่างๆมามากมาย ทำรายการข่าวสวนตลาดไม่เหมือนคนอื่นในช่วงไพร์มไทม์ อย่างชัดเจน ถึงแม้รายการนั้นจะหมดไป แต่ PPTV พยายามรักษาเส้นของความเป็นสื่อ บนความเกรี้ยวกราดของธุรกิจนี้ จนมีคนเคยบอกว่า PPTV เปรียบเหมือนไทยพีบีเอสในภาคเอกชน แต่ในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้เพราะเป็นภาคธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่ก็ตั้งปณิธานว่าจะดูแลสังคม ถึงแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้แบบไทยพีบีเอส แต่แค่ดูแลสังคมในบทบาทที่พอทำได้ และขอบคุณเจ้าของที่ไม่ได้กดดันให้เราทำอะไรผิดจากแนวทาง และให้เกียรติกองบรรณาธิการที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกับความเป็นคนข่าว

เสถียร กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน กองบรรณาธิการ PPTV พยายามกดดันกันเองด้วยว่า จะทำอย่างไรให้การเล่าเรื่องที่รุนแรงโดยใช้ภาพที่ไม่รุนแรงเล่าเรื่องถือว่าเป็นศิลปะและทักษะการนำเสนอ ก็เป็นโจทย์ที่กองบรรณาธิการต้องเข้มข้นในเรื่องเหล่านี้

ส่วนเรื่องการสร้างคุณค่าของวารสารศาสตร์ต่อไปนั้น เสถียร มองว่า ถึงจะรู้สึกท้อในภาพใหญ่ แต่ในฐานะที่ต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้มาก็มองว่าเราอยู่ได้ และมั่นใจว่าคนดูต้องการความชัดเจน ความแม่นยำ ความถูกต้อง เพราะสังคมไทยยังต้องการคุณภาพ

ไทยพีบีเอสมีคัมภีร์จริยธรรม

จิราพร  คำภาพันธ์    ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ขณะที่จิราพร กล่าวว่า สำหรับการนำเสนอของไทยพีบีเอสก็มีโจทย์ใหญ่เหมือนกันว่า แต่ละแพลตฟอร์มจะนำเสนออะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ถูกบล็อกด้วยลิขสิทธิ์หรือละเมิดจริยธรรม แต่หากเป็นการเสนอทางทีวีก็จะเป็นเหมือนดีเอ็นเอ ทั้งนักข่าวเก่าและใหม่อย่างกรณีเหตุรถบัสไฟไหม้ ก็มีน้องตัดต่อถามว่า ภาพขณะเปลวไฟกำลังไหม้รถบัสไม่ควรออกอากาศ เพราะอาจทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียสะเทือนใจได้ ซึ่งนำสิ่งที่คุยกับฝ่ายตัดต่อไปพูดคุยในกองบรรณาธิการว่าจะไม่เลือกชอตนี้เพราะคำนึงถึงจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย

“ไทยพีบีเอสมีคัมภีร์จริยธรรมในองค์กรของตัวเอง โดยมีการปฐมนิเทศพนักงานใหม่รวมถึงอบรมกับนักข่าว ฝ่ายตัดต่อ ฝ่ายกราฟิกเพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบร่วมกัน และไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร ถึงแม้โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแต่เราจะบอกน้องๆว่า อย่าอวดดี แต่จุดยืนต้องเหมือนเดิมคือไม่ละเมิดจริยธรรม และสร้างความน่าเชื่อถือให้เป็นสื่อมืออาชีพ” จิราพร ระบุ

วารสารศาสตร์ยังมีคุณค่า

ส่วนเรื่องเรตติ้งในแบบ Personal Branding กับการทำข่าวแบบเดิมโดยนึกถึงคุณค่าสังคมมีเส้นแบ่งอย่างไร จิราพร บอกว่า เรื่องนี้ถูกถามมาตลอดตั้งแต่เป็นสถานีไทยพีบีเอสเนื่องจากถูกคาดหวังจากประชาชน จากภาษีที่มาจากประชาชนจนคนมองว่าเป็นลูกคุณหนูไม่ต้องดิ้นรนหารายได้ แต่พนักงานทุกคนอยากมีเรตติ้ง และมีการเปรียบเทียบว่ากลุ่มคนที่ดูไทยพีบีเอสเป็นใคร ซึ่งรู้ว่าคนดูไทยพีบีเอสจะเข้ามาดูในช่วงที่มีเหตุการณ์วิกฤติที่ต้องการความน่าเชื่อถือและข้อเท็จจริง ถึงแม้ไทยพีบีเอสจะไม่มีการสร้างซีนเร้าใจ แต่การที่เราตรวจสอบข้อมูลทุกฝ่าย ก็ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงประชาชน

“วารสารศาสตร์ยังมีคุณค่า และยังคงอยู่ คุณค่าข่าวยังมีถ้าเราเป็นนักข่าวมืออาชีพในกองบรรณาธิการที่มีทุกคนช่วยกลั่นกรองข้อมูล เพื่อจะทำความโดยไม่ละเมิดสิทธิใคร นักข่าวหรือข่าวก็ไม่มีวันตาย” จิราพร กล่าวทิ้งท้าย