นักวิชาการ เตือนภัยเร่งสังคายนา ระบบเตือนภัยพิบัติ ด้วยเซลล์บรอดแคสต์ ต้องใช้ได้จริงพร้อมตรวจสอบการใช้งบประมาณ เผย 3 รอยเลื่อนใหญ่ ทำแผ่นดินไหวกระทบประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ พื้นที่อ่อนไหวขนาดยักษ์ เพิ่มแรงเขย่า ได้ 3-4 เท่า ลุยตรวจสอบอาคารอ่อนไหว ในภาคเหนือ พร้อมเสริมความแข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “สังคายนาระบบเตือนภัย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว” ให้กับสื่อมวลชนและประชาชน อันจะนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการรับมือกับแผ่นดินไหว โดยมี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมเสวนา

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเมียนมา บางส่วนอยู่ในประเทศไทย โดยรอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทยค่อนข้างเล็ก มีอัตรการการเร่งตัวต่ำกว่าที่อยู่ในฝั่งเมียนมาที่แนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างฝั่งอินเดียและฝั่งไทย ตามแนวทะเลอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา อย่างไรก็ตามจากการติดตามและประเมินรอยเลื่อนที่มีผลกระทบ ต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล 3 แหล่ง 1.รอยเลื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯได้ ก่อนหน้นี้เคยเกิดที่ขนาด 5.9 ส่งผลกระทบต่อกทม. แต่ตอนนั้นมีอาคารสูงไม่มาก 2. รอยเลื่อนสกาย ที่ผ่ากลางเมียนจากมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ย่างกุ้ง และ 3. รอยเลื่อนอาระกัน ซึ่งเป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกเมียนมา สามารถเกิดแผ่นดินไหวระดับเกิน 8.5 โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อดูจากสถิติแผ่นดินไหวใหญ่จะเกิดห่างกันโดยแฉลี่ย 400-500 ปี ดังนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว 260 ปีอาจจะมีการสะสมพลังงานแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะระเบิดในเร็ววัน หรืออาจจะเร็วขึ้นกว่า 400 ปีหรือ อาจจะนาน 700 ปี ก็ยังไม่เกิดได้ แต่เมื่อรอยเลื่อนนี้เกิดแผ่นดินไหว ก็จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ
ทั้งนี้เมื่อดูที่สภาพดินของกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว เช่นแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคลื่นความถี่ต่ำ สั่นจังหวะช้าๆ จะไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็กเพราะจังหวะการโยกไม่ตรงกัน แต่อาคารสูงที่โยกตัวเข้าจังหวัดเข้ากับพื้นดินในจังหวัดช้าๆ จังหวะตรงกันก็จะขยายความรุนแรงและส่งผลกระทบรุนแรงกับอาคารสูงมาก ซึ่งผลการสำรวจตามหลังก็ชี้ชัดว่าอาคารเล็กไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ แต่อาคารสูงค่อนข้างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า และมีอาคารถล่มร้ายแรงคือ อาคารสตง. และมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศติดต่อมายังตนพร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจว่า นี่เป็นแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุดในโลก ที่ทำให้อาคารถล่ม และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดถล่ม นับเป็นสถิติโลกที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดตั้งแต่ปี 2550 ว่าอาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดเส้นกราฟการสั้นไหวรุนแรงที่ต้องรับให้ได้ ซึ่งจริงๆ โอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวน้อยมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องออกแบบเผื่อเอาไว้ โดยแบ่งกทม.เป็น 10 พื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือหมายเลข 5 คือ บริเวณกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี และมีการตั้งสถานีวัดระดับความรุนแรงไว้ 5 จุด ที่ได้ข้อมูลมาแล้ว 2 จุด คือ ที่สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี และ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คำนวณแล้ว พบว่าแรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของแรงสั่นสะเทือนที่กำหนดเป็นมาตรการฐานก่อสร้างอาคารสูง เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว และเน้นที่โครงสร้างเสาต้องไม่พัง กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย สลักต้องไม่แยกจากเสา ตัวพื้นต้องไม่แยกออกมา เป็นต้น ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างก็ไม่ได้เน้น เช่น กำแพงกั้นห้อง ฝ้า เพดาน ระบบท่อน้ำท่อประปา จึงมีโอกาสได้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามต้องไปตรวจสอบดูอีกครั้งว่า มีการออกแบบดีจริงหรือไม่มีอะไรผิดพลาดหรือไม่
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวอีกว่า เราควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยเลื่อนที่จะส่งผลกระทบ มีการจัดสรรงบประมาณมากกว่านี้ และควรเข้าไปตรวจสอบ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคาร ที่มีความอ่อนไหว เสียงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารเรียน หลายแห่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจากข้อมูล เพราะว่าการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารเดิม จะใช้งบประมาณประมาณ 10-20% ของงบฯ ก่อสร้างอาคารใหม่ อย่างำรก็ตสม เรามีงานวิจัย ทดลองติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง โดยติดตั้งที่อาคารโรงพยาบาล เชียงใหม่และเชียงราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคารและแจ้งต่อผู้ใช้อาคาร ในเวลาสั้นๆ 5 นาที ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร ตำแหน่งไหนอันตราย และยังขยายการทดลองไปที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย ส่วนที่กรุงเทพฯ เตรียม ทดลองติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง ทั้งนี้หากมีหน่วยงานใด ต้องการที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทีมวิจัยของเรายินดีให้คำปรึกษา

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ด้วยความเร็วคลื่นแผ่นดินไหวที่เร็วกว่าเสียง และน้อยกว่าแสง จึงมีเวลา 7 นาทีก่อนมาถึงกรุงเทพฯ แต่ระบบการเตือนภัยของประเทศไทยล่าช่า และไม่ครอบคลุม เนื่องจากส่งผ่านระบบ SMS ที่มีข้อจำกัดส่งได้เพียง 2 แสนเลขหมาย ทั้งๆ ที่หากเตือนได้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้ ทั้งนี้เมื่อดูไทม์ไลน์ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว 13:20 น. เวลาประเทศไทย อาคารพังถล่ม ในเวลา 13.26 -13.27 หรือประมาณ 7 นาที กรมอุตุฯ แจ้งศูนย์เตือนภัยฯ ประกาศ ในเว็บเตือนภัยเวลา 13.36 น.ซึ่งตึกถล่มแล้ว คนเสียชีวิตแล้ว มี SMS เฉพาะหน่วย ส่งผู้ว่าราชการจังหวัด ปภ.จังหวัด ผู้บริหารทั้งหมด 14.30 น. แจ้งกับประชาชนทั่วไปโดยส่ง SMS ให้กับกสทช. เมื่อดูเวลาแล้วล่าช้ามาจากจุดเริ่มต้น 13.36 ดังนั้นการทำงานแบบอนุกรมต่อกันไม่เวิร์ค ทันทีที่เกิดเหตุควรมีระบบแจ้งต่อประชาชนทันที

ดังนั้นต้องมีการปรับระบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ปรับปรุงทำเป็นระบบเซลล์บรอดแคสต์ ซึ่งจะส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 1 นาที หรือระดับวินาที ซึ่งจะสามารถใช้ได้เดือน ก.ค.2568 ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในการจัดทำระบบเซลล์ บอร์ดแคสต์ให้ออกมาใช้ได้จริง เพราะมีองคาพยพที่ทำเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ปัจจุบันก็คุยกันถึงการลดขั้นตอนการขออนุญาตผู้บริหาร ทั้งนี้ ระหว่างนี้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ระบบการแจ้งผ่าน SMS ทันที โดยไม่ต้องผ่านกสทช. รวมถึงช่องทางการแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดียไปก่อน

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติมาหลายครั้ง สภาผู้บริโภคฯ จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อขอตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และเรียกร้องเกี่ยวกับระบบการเตือนภัย รวมถึงที่ผ่านมาประชาชนก็เรียกร้องให้มีระบบเซลล์บรอดแคสต์แล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีส่งสารผ่านเสาสัญญาณโทรคมนาคมให้กับผู้ที่อยู่บริเวณนั้นทั้งหมด ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคตามเรื่องนี้และกระทุ้งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2566 หลังเกิดเหตุการณ์เยาวชนก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ได้รับการตอบกลับวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความเห็นชอบ ของคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติซึ่งอยู่ภายใต้ของบอร์ดใหญ่ของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2565 โดยได้รับงบประมาณ เป็นรายจ่ายประจำปี 2567 ผูกพันปีงบฯ 2568 แต่จากแถลงของนายกฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องพบว่ามีการใช้งบไม่ได้เป็นไปตามเอกสารตัวนี้ แต่มีการใช้งบ กองทุนยูโซ่ของกสทช ที่เรียกเก็บจากใบอนุญาตจำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เรื่องนี้ต้องติดตามและสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป และเรียกร้องทำระบบให้เร็วกว่านี้ และต้องทำระบบสั่งการที่มีความเป็นเอกภาพ การสื่อสารให้มีความชัดเจนครอบคลุมคนมีปัญหาการได้ยินเสียง ปัญหาสายตา

นอกจากนี้ อย่าโยนภาระทั้งหมดมาที่ประชาชนโดยบอกว่า ประชาชนต้องมีความรู้เท่าทันอย่างเดียว แน่นอนว่าตรงนี้ประชาชนก็ต้องทำ แต่รัฐก็ต้องมีการจัดทำชุดความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องสำหรับประชาชนด้วย ถึงจะมาบอกว่าประชาชนต้องมีความรู้ความเท่าทัน แต่คำถามคือ มีชุดข้อมูลเหล่านี้ออกมาหรือไม่ และย้ำว่า เรื่องภัยพิบัติต่างๆ อย่าเอาการเมืองมาวาง อะไรที่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่วางไว้ ก็ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น เปิดข้อมูลแจ้งเตือนภัยผิดพลาด ก็ต้องขอโทษตรงนี้ ซึ่งไม่มีใครไปโจมตี เนื่องจากแจ้งเตือนดีกว่าไม่แจ้ง แต่ในสังคมวันนี้สอนให้คนกลัวจนไม่กล้าทำหน้าที่ในระบบราชการที่เป็นอยู่ณขณะนี้ แล้วปล่อยให้เป็นภาระของประชาชนที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเองโดยวาทกรรมว่า ประชาชนต้องมีความรู้เพิ่มขึ้น ต้องมีความรู้เท่าทัน คำถามง่ายๆ แล้วเราจะมีรัฐบาลและกลไกพวกนี้เอาไว้เพื่ออะไร

ดร.คมสัน กล่าวว่า นอกจากการส่งสัญญาหรือส่งข้อมูลเพื่อให้เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังแล้ว ต้องมีระบบในเรื่องของการจัดการที่ดีแล้ว ขบวนการหลังจากมีภัยขึ้นมาแล้วต้องมีการดูแลจัดการความวิตกกังวลของคน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐ เช่น การจัดให้มีการตรวจสอบ เพราะทุกคนรู้สึกกังวล เนื่องจากไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ในการที่เกิดขึ้นที่เมียนมาห่างจากประเทศไทยเยอะมาก ผลกระทบ น้อยแต่ผลกระทบทางด้านความรู้สึกของคนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการอพยพ ทุกอย่างช็อตไปหมด เช่น ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นเขาจะไม่การฝึกคนตั้งแต่เด็ก ในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ถึงประเทศญี่ปุ่นอยู่ในวงแหวนแห่งไฟมีการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่เขารู้วิธีปฏิบัติตนและอยู่ได้ ส่วนประเทศไทยถ้ามีการเตือนภัยที่ดีแต่คนยังไม่รู้วิธีปฏิบัติ ก็จะทำให้ความตื่นตระหนกเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากตื่นตัวปรับปรุงระบบเตือนภัยแล้ว จะต้องมีกระบวนการเรียนรู้และฝึกให้ทุกคนรับรู้และปฏิบัติตัว ต่อสถานการณ์ภัยพิบัติทุกรูปแบบ ไปพร้อมๆ กันด้วย.