เปิดข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ความสัมพันธ์ “แหล่งเก็บน้ำ” กับ “อุณหภูมิแปรปรวน” ทั่วไทย

จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ข้อมูลตัวเลขเชิงลึก “โอเพ่น ดาต้า” (open data) สะท้อนให้เห็นปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกน้อยลง อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ปริมาณ “น้ำในแหล่งเก็บน้ำ” ไม่เพียงพอ  ยิ่งไปกว่านั้นอนาคตคนไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญ...ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ทีมอาสาสมัครจาก ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) หรือ “ทีดีเจ” ได้สืบค้นข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) โดยนำฐานข้อมูลตัวเลข ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานข้างต้น มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงย้อนหลัง 30 ปี ที่ส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน สำหรับวิธีการดำเนินการได้แบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้  วิธีที่ 1 ใช้การดึงฐานข้อมูลตัวเลข ที่เปิดเผยในเวบไซต์หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลย้อนหลังปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจากกรมชลประทาน, พื้นที่การเกษตรจากดาวเทียมจิสด้า และกรมวิชาการเกษตร ส่วน วิธีที่ 2 ใช้การขอความอนุเคราะห์ฐานข้อมูล ที่จัดเก็บแบบเอ็กเซลไฟล์ (EXCEL) เช่น ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิสูง-ต่ำของประเทศไทย ย้อนหลัง 68 ปี จากกรมอุตุนิยมวิทยา จากนั้นใช้หลักการ Data visualization นำข้อมูลมาประมวลผล และวิเคราะห์จัดเรียงข้อมูลตามหลักการ Data relation เพื่อหาความสัมพันธ์ ของข้อมูลอุณหภูมิ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลน้ำในแหล่งน้ำ และข้อมูลพื้นที่การเกษตร ซึ่งสามารถนำผลที่ได้ มาอธิบายสรุปย่อได้ดังนี้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศปี 2552 – 2561

ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศไทย ย้อนหลังในรอบ 10 ปี มีแนวโน้มลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญโดยค่าสูงสุดของปริมาณน้ำฝนเมื่อปี 2557 ลดลงอยู่ที่ 253 มิลลิเมตร แต่ได้เพิ่มขึ้นในปีถัดไป โดยปี 2558 ค่าสูงสุดที่ 262 มิลลิเมตร ปี 2559 ค่าสูงสุด 278 มิลลิเมตร ปี 2560 ค่าสูงสุด 290 มิลลิเมตร และลดลงปี 2561 ค่าสูงสุดเหลือเพียง 250 มิลลิเมตร  แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำฝน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศปี 2547 – 2561 เมื่อนำฐานข้อมูลตัวเลข “อุณหภูมิ” ย้อนหลังในรอบ 30 ปี มาวิเคราะห์ จะพบว่าเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขข้อมูลปริมาณน้ำฝน มีอัตราลดลง โดยสถิติอุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกไว้ได้แก่ เดือนเมษายน ปี 2559 มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ 38.3 องศาเซลเซียส  เปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2562 มีอุณภูมิเฉลี่ย 41.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ข้อมูลเปรียบเทียบสถิติ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่บันทึกไว้คือ เดือนมกราคม 2557  มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 17.2 องศาเซลเซียส และล่าสุดเดือนมกราคม 2562 มีอุณภูมิเฉลี่ย 21.3 องศาเซลเซียส  และจากการประมวลผลตัวเลข “อุณหภูมิเฉลี่ย” ที่ผ่านมา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2562 พบว่าทุกๆปี แนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ย ประเทศไทยสูงขึ้นกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3 – 4 องศา หากเราพิจารณาข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างปี 2558 กับปี 2562 พบว่าเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างสะสม ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2558 ที่เกิดวิกฤติแล้งรุนแรง   ที่มีปริมาณ 793.22 ล้าน ลบ.ม.  เหลือเพียง 226.11 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562  “เขื่อนอุบลรัตน์” ปี 2558 ปริมาณ 629.52 ล้าน ลบ.ม.  เหลือเพียง 278.44 ล้านลบ.ม. ในปี 2562  และ “เขื่อนภูมิพล”  ปี 2558  ปริมาณ 1,982.02 ล้านลบ.ม.  แต่ในปี 2562  มีเพียง 1,295.11 ล้านลบ.ม. แหล่งเก็บน้ำสำคัญ 3 อันดับที่ “ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจาก ปี 2557 – 2562”

เมื่อนำฐานข้อมูลตัวเลข แหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศไทย มาประมวลผล ทำให้พบว่าปริมาณน้ำที่จัดเก็บได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ แหล่งเก็บน้ำสำคัญ 3 อันดับแรกของประเทศไทย คือ “เขื่อนภูมิพล”   “เขื่อนอุบลรัตน์” และ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ”  พบมีปริมาตรน้ำไหลเข้า ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากค่าเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2553 – 2561 โดย “เขื่อนภูมิพล” มีค่าเฉลี่ยที่ 5,349.01 ล้าน ลบ.ม.  เหลือเพียง 1,868.63 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 คิดเป็น 34.93% “เขื่อนอุบลรัตน์” จากค่าเฉลี่ยที่ 2,849 ล้าน ลบ.ม.  เหลือเพียง 348.53 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 12.23%  และ “เขื่อนป่าสักฯ” ค่าเฉลี่ยที่ 2,542.96 ล้านลบ.ม.  มีเพียง 378.67 ล้านลบ.ม. เท่ากับ 14.89%  ซึ่งฤดูฝนจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม หรืออีกเพียง 46 วัน นับจากวันที่ 16 กันยายน นอกจาก 3 เขื่อนใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย  น้ำที่จัดเก็บในส่วนของเขื่อน หรือแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากทีมอาสาสมัคร “ทีดีเจ” นำข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ตัวเลข “อุณหภูมิ”  “ปริมาณน้ำฝน” และ “น้ำในแหล่งเก็บน้ำ” มาเทียบเคียงหาความสัมพันธ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้พบว่าประเทศไทยมีอุณภูมิอุ่นขึ้น จากข้อมูลข้างต้นที่พบอุณหภูมิต่ำสุดปี 2557 จาก 17.2 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 21.9 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน 2562  ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4.70 องศา และเมื่อเทียบเคียงกับ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากที่สุดของประเทศไทยในแต่ละเดือน พบว่าในเดือนกันยายน 2557 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 253 มิลลิเมตร เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 209 มิลลิเมตร ลดลงถึง 44  มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศปี 2553 – 2562

สอดคล้องกับปริมาณน้ำไหลเข้า เฉลี่ยทุกแหล่งเก็บน้ำในประเทศไทย ที่พบว่าปริมาณลดลง โดยค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2553 – 2561 คิดเป็น 43,030.93 ล้าน ลบ.ม ต่อปี แต่ในวันที่ 16 กันยายน 2562 ปริมาณน้ำไหลเข้าอยู่ที่ 22,186.18 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51.55% เท่านั้น เมื่อนำข้อมูลปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำ มาหาความสัมพันธ์กับ สัดส่วนการใช้น้ำของประเทศไทย ซึ่งประมาณ 70 %  ถูกใช้ไปในภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 1 (52.82%)  เช่น จากสถิติเดือน พฤษภาคม 2562 ที่เป็นช่วงการปลูกข้าวในฤดูนาปี มีน้ำที่กักเก็บไว้ทั่วประเทศไทยจำนวน 82,405 ล้าน ลบ.ม. โดยอัตราใช้น้ำเพื่อการปลูกข้าวพื้นที่ 1 ไร่ ใช้น้ำ 1.6 พัน ลบ.ม. ต่อ 1 ฤดูกาล จากจำนวนพื้นที่ปลูกข้าว ทั่วประเทศ 71 ล้านไร่ สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าต้องใช้น้ำใน 1 ฤดูกาลประมาณ 113,767 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็น 138 %  แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนที่เกินแหล่งน้ำทั่วประเทศไปถึง 38 % ทั้งนี้จากข้อมูลความสัมพันธ์ ของฐานข้อมูลตัวเลขข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาแนวโน้มการขาดแคลนน้ำ ในแหล่งเก็บน้ำสำคัญทั่วประเทศไทยอย่างชัดเจน เนื่องจาก ปริมาณน้ำใน “แหล่งเก็บน้ำ” น้อยลงสืบเนื่องจาก “อุณหภูมิ” เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีนโยบายบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเตรียมแผนรับมือการขาดแคลนน้ำในอนาคตอย่างเป็นระบบ ทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะแผนรับมือภาวะขาดแคลนน้ำ สำหรับใช้ในภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง กระทบเป็นลูกโซ่ต่อแหล่งน้ำทั้งระบบของประเทศไทย ที่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ทีมอาสาสมัครทีดีเจ เกี่ยวกับแนวโน้มปัญหาภัยแล้งประเทศไทยว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณฝนที่น้อยกว่าปกติ รวมถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ที่ใช้เพื่อการเกษตรมากกว่า 70% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด  พร้อมกับแนะนำ 3 แนวทางแก้ปัญหาว่า 1 ควรกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยเน้นเป็นแบบ Demand size มุ่งไปยังความต้องการของผู้ใช้ ที่อยู่บนหลักการของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และหาวิธีบริหารให้ได้ตามปริมาณนั้น ไม่ใช้วิธีการหาน้ำจากพื้นที่อื่น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อๆกันไป 2 ออกมาตรการห้ามปลูกข้าวนาปรัง หรือจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ตามพื้นที่และน้ำต้นทุน และ 3 เพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกร ให้รู้ถึงเวลาเหมาะสมในการเริ่มเพาะปลูก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้  อ่านฉบับเต็ม : ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ชี้ภัยแล้งของไทยมีทางแก้ สำหรับผู้ที่สนใจ ความสัมพันธ์ข้อมูลเชิงลึก 30 ปีของ “แหล่งเก็บน้ำ” กับ “อุณหภูมิแปรปรวน” ทั่วไทย “ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย”  ได้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ (Open Data) สามารถ Download ได้ที่เวบไซต์ของ สมาคมนักข่าว  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สื่อภาคประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนผู้สนใจ สามารถนำข้อมูลข้างต้นไปใช้ประโยชน์  ในการช่วยกันออกแบบยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาภัยแล้งให้ประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงภาคเอกชน ที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีสามารถนำข้อมูลตัวเลขเชิงลึกข้างต้นไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ  ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)  สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) และห้องควบคุมโรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล ที่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลโอเพ่น ดาต้า ของหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดี

ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย

(Thailand Data Journalism Network : TDJ)

ชนิตา งามเหมือน

ปรเมศฐ์ ศตประสิทธิ์ชัย

เย็นจิตร์ สถิรมงคลสุช


แหล่งอ้างอิงข้อมูล http://www.onwr.go.th/ http://wmsc.rid.go.th/ http://www.thaiwater.net/current/2016/drought59/body.html http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.php http://www1.rid.go.th/main/index.php/th/ http://water.rid.go.th/flood/flood/res_table.htm?fbclid=IwAR2FaAWN5alopx_8yN0X6hx30RgjD__6rAaaiQFKeSycETmK1-ogFn09grg https://www.tmd.go.th/index.php http://climate.tmd.go.th/gge/ http://www.oae.go.th/view/1/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81/TH-TH http://agri-map-online.moac.go.th/ ชุดข้อมูลดิบ สัมภาษณ์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 นักอุตุนิยมวิทยา ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562