“เปิด 5 ผลงานเด่น นักข่าว Data Journalism Network (TDJ) ประเทศไทย หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยดีกว่าเดิม”

“เปิด 5 ผลงานเด่น นักข่าว Data Journalism Network (TDJ) ประเทศไทย
หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยดีกว่าเดิม”

“เราผลัดกันเป็นสมองและเป็นมือให้กัน บางครั้งทีม Developer ก็เป็นสมองให้เรา และบางครั้งเราก็เป็นมือให้ทีม Developer และในบางครั้งเราก็สลับตัวเองไปเป็นสมองบ้าง สนุกดีและมันสร้างการขับเคลื่อนชิ้นงานให้เป็นประโยชน์กับสังคมออกมาได้จริง ๆ “ ชนิกานต์ กาญจนสาลี ผู้สื่อข่าวอิสระ บอกเล่าความรู้สึกตนเองหลังจากได้เข้าร่วมโครงการอบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกหรือ Thailand Data Journalism Network (TDJ)รุ่นที่ 1 ของชมรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นการติดอาวุธให้กับสื่อมวลชนในการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตอลไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยระบุว่า “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการอบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกหรือ Thailand Data Journalism Network ขึ้นโดยยืนอยู่บนพื้นฐานการสื่อสารข้อมูลสาธารณะในเชิงลึกที่ส่งผลกระทบกับประชาชนและผู้คนในสังคม ซึ่งทุกวันนี้มีข้อมูลที่รอการสื่อสารมากมายมหาศาลมากซึ่งการสื่อสารข้อมูลในขนาดที่ใหญ่และเติบโตขึ้นมากมายในขณะนี้เราไม่สามารถนิยามให้นักข่าวเป็นผู้ที่สื่อสารข้อมูลเหล่านั้นเพียงกลุ่มเดียวได้

เราจึงได้จัดทำโครงการที่เป็นการรวมตัวที่ไม่จำกัดเฉพาะแค่นักข่าวแต่มีโปรแกรมเมอร์ Developer และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล Big Data ที่จะมาช่วยกันนำเทคโนโลยีไปเชื่อมกับข้อมูลและเชื่อมออกมาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งต่อไปนี่สังคมไทยจะมีทางเลือกที่ไม่ต้องรับข้อมูลตอบโต้กันแบบข่าวปิงปองอีกแล้ว เราจะได้รับฟังข้อมูลอีกด้านที่เป็นประโยชน์และสร้างทางเลือกให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง” นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยระบุ

สำหรับโครงการอบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกหรือ Thailand Data Journalism Network (TDJ) ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง โดยในช่วงแรกสมาคมนักข่าวฯประกาศเปิดรับสมัครสื่อมวลชนและโปรแกรมเมอร์ Developer และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล Big Data ที่สนใจมาเข้าร่วมสมัคร และนำผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดเข้าร่วมอบรมเพื่อทำความเข้าใจกับบทบาทและการทำข่าวในรูปแบบของ Data Journalism โดยสื่อมวลชนเองได้เรียนรู้เทคนิคในการหาข้อมูลและรูปแบบในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านโปรแกรมที่หลากหลายผ่านการบรรยายจากวิทยากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล Big Data หลากหลายสาขา และในส่วนของโปรแกรมเมอร์ Developer และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล Big Data ที่เข้าร่วมอบรมก็ได้เรียนรู้การทำงานของสื่อมวลชนว่าต้องการเนื้อหาและข้อมูลไปใช้ในงานสื่อสารในรูปแบบใด จึงกลายเป็นการผสมผสานการทำงานที่ลงตัว

ขณะที่ ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกกล่าวถึงรูปแบบการทำงานของ Thailand Data Journalism Network (TDJ)ว่า “ ตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือนที่เราได้เริ่มโครงการนี้ขึ้นมาทำให้การทำงานระหว่างสื่อมวลชนและผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลสร้างชิ้นงาน Data ที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทยถึง 5 เรื่อง ซึ่งทุกคนได้ทำงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาพัฒนาผลงานกว่า 4 เดือน และผลงานทั้ง 5 เรื่องที่ นักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (TDJ)ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมาล้วนเป็นประเด็นที่ผมเชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ โดย 5 ประเด็นประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้

หัวข้อที่ 1 .เรื่องเปิดขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน...รอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น หัวข้อที่ 2 . เรื่องความสัมพันธ์ดาต้า 30 ปี... “แหล่งเก็บน้ำ”กับ“อุณหภูมิแปรปรวน” หัวข้อที่ 3. วิเคราะห์ข้อมูล “ภาวะสมองเสื่อม ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤติชาติ หัวข้อที่ 4. เจาะตัวเลขปัญหา “คนล้นคุก” และ “นักโทษติดซ้ำ” หัวข้อที่ 5. ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่ เพื่อ “กม. คุ้มครองมรดกสีเขียว” ซึ่งๆทุกๆหัวข้อล้วนมีข้อมูลสถิติที่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ หรือภาคประชาสังคมสามารถนำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนประเด็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ นี่จึงถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นที่ดีของนักข่าว Data Journalism ในบ้านเรา” ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกกล่าว

ด้านสราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้บอกเล่าความรู้สึกและอุปสรรคที่ต้องพบเจอตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า “ รู้สึกดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้เพราะเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ของผมเลย ผมทำงานข่าวสายตำรวจก็จะเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก จึงสนใจอยากทำข้อมูลในเรื่องนี้โดยเฉพาะในส่วนของผู้ต้องขัง เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนที่อยู่ในเรือนจำด้วยการกลับมาติดซ้ำ เราจึงอยากได้คำตอบที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในเรื่องนี้ เราเริ่มตั้งต้นในเรื่องที่เราอยากทำรวมถึงการลงไปสืบค้นข้อมูลที่เราอยากได้ ซึ่งกว่าจะมาเป็นข้อมูลในหัวข้อ “เจาะตัวเลขปัญหา “คนล้นคุก” และ “นักโทษติดซ้ำ” เราผ่านอุปสรรคกันมาเยอะมากโดยเฉพาะการขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ข้อยากมาก หากเราอยากให้ Data Journalism ในบ้านเราประสบความสำเร็จ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของ open data ก็ต้องเอื้อต่อการทำงานของเราด้วย” ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดกล่าว

นอกจากผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมอบรมแล้ว โปรแกรมเมอร์ Developer และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล Big Data หลายคนที่เข้าร่วมอบรมก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานในการจัดการข้อมูลกับผู้สื่อข่าวด้วยเช่นกัน โดย กานต์ อุ่ยวิรัช หนึ่งในโปรแกรมเมอร์ที่เข้าร่วมโครงการนี้กล่าวว่า “สายงานของเราก็จะอยู่กับข้อมูลกับการจัดการระบบในด้านไอที หลายคนก็อยากสื่อสารเรื่องราวพวกนี้ให้เป็นเหมือนกันนะครับ การมาร่วมอบรมของพวกเราในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในเรื่องของการสื่อสารให้กับพวกเรา เราก็ได้มาเรียนรู้ว่านักข่าวเขาทำงานกับแบบนี้ ข้อมูลที่เขาต้องการมันคือแบบนี้และวิธีการสื่อสารของเขาเป็นแบบนี้ และก็รู้สึกดีใจมากถ้าความเชี่ยวชาญของพวกเราในด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้สื่อข่าวและทำให้เกิดการสร้างชิ้นงานที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ รู้สึกดีที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในครั้งนี้ครับ”

โครงการอบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกหรือ Thailand Data Journalism Network (TDJ)รุ่นที่ 1 ของชมรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้เสร็จสิ้นลงอย่างเป็นทางการแล้วแต่ แต่ผลงานทั้ง 5 เรื่องที่ นักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (TDJ)ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมาเพิ่งเริ่มทำหน้าที่ในการเปลี่ยนประเทศไทย โดยท่านที่สนใจสามารถร่วมเปลี่ยนประเทศไทยไปกับงานข่าวดาต้าของทั้ง 5 กลุ่มได้ดังนี้

หัวข้อที่ 1 .เรื่อง “เปิดขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน...รอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น”
เราทราบกันหรือไม่ว่าปีที่แล้ว (2561) อปท. ได้งบจากภาษีของพวกเราไปกว่า 6 แสนล้าน! แล้วสงสัยไหมว่างบจำนวนมหาศาลเหล่านี้เขาเอาไปใช้ทำอะไร? มีวิธีบริหารจัดการอย่างไร? และ อปท. แถวบ้านคุณมีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน? TDJ รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ทั่วประเทศมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงการบริหารงาน และรูปแบบใช้งบประมาณขององค์กรส่วนท้องถิ่นเหล่านี้จนพบข้อสังเกตหลายประการทั้งนี้ TDJ ไม่ได้ฟันธงว่าใครทุจริต แต่เชื่อว่าผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเราทุกคนสามารถร่วมกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ในพื้นที่ของตัวเองได้ง่ายขึ้น และอาจใช้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจก่อนการเลือกตั้งในปีหน้าด้วยโดยผู้ที่สนใจในประเด็นนี้สามารถคลิกอ่านข้อมูลได้ที่ลิงค์นี้
ข่าวหลัก: ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?
https://codeforthailand.github.io/2019-local-administrative-budget-and-projects/?fbclid=IwAR2iI04mYJJ7IXUhAWg4gnD7oCwMyUevYB1EsluWoMa6kTcE8UfhnQy34YA

บทสัมภาษณ์: พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (อดีตผู้ว่าฯ สตง.) เกี่ยวกับรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง และสะท้อนการตรวจสอบงบจัดซื้อจัดจ้าง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
https://codeforthailand.github.io/2019-local-administrative-budget-and-projects/interview/?fbclid=IwAR01TZImkYfzVOMBBZWWFmvuaCLKvZsx2c7__6EhlV62seTA8XnS9PBDEpw

อุปสรรคเบื้องหลังการทำงาน: โจทย์หิน “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” ใช้ไม่ได้จริง !?
https://codeforthailand.github.io/2019-local-administrative-budget-and-projects/reflection-on-our-open-data/?fbclid=IwAR0NswrGLl_a1ZwTfBm4Xn7LvLpqYOdQwM3lrKHqSyl7m4lpd48sRvGigz0


หัวข้อที่ 2 . เรื่องความสัมพันธ์ดาต้า 30 ปี... “แหล่งเก็บน้ำ”กับ“อุณหภูมิแปรปรวน”
นอกจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งแล้ว ภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เวียนมาสร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้กับพี่น้องคนไทยอยู่เสมอแล้วแบบนี้ปีหน้าเรามีความเสี่ยงที่จะต้องประสบกับปัญหาเหล่านี้แค่ไหน? TDJ ได้รวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ อาทิ สานักงานทรัพยากรน้าแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้าและการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน ฯลฯจากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์จนพบความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำที่จัดเก็บได้ซึ่งมีแนวโน้มที่น่าจับตาไว้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้
https://www.tja.or.th/view/news/13711


หัวข้อที่ 3. วิเคราะห์ข้อมูล “ภาวะสมองเสื่อม ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤติชาติ”
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงวัย” โดยมีคนวัย 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 18 ของประชากรไทยทั้งหมด ในขณะเดียวกันปัญหาที่ตามมาก็คือ “ภาวะสมองเสื่อม” ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามโครงสร้างประชากรคำถามสำคัญ คือ เราพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับเรื่องนี้?TDJ ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การสหประชาชาติ สมาคมอัลไซเมอร์นานาชาติ กรมการปกครอง ฯลฯ แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกันจนพบประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอเชิญทุกท่านสำรวจข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหานี้ไปพร้อมกันได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้
ตอนที่1:

https://public.tableau.com/profile/maxnadul?fbclid=IwAR2vJg0FBrMhnQtmdQ_zWgL0sNqphD4jFL-ih3QXO45ouheP3rZw0C4BGNI#!/vizhome/TDJ-health/Section-1

ตอนที่ 2
https://public.tableau.com/profile/maxnadul?fbclid=IwAR0aOjlCGcaZnxPp2VcohHzqJOkeH1TEVsN7taR2FfQBHEd7O62j7OoQKCY#!/vizhome/TDJ-health/Section-2


หัวข้อที่ 4. เจาะตัวเลขปัญหา “คนล้นคุก” และ “นักโทษติดซ้ำ”
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าประเทศไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เรือนจำทั่วประเทศมีความสามารถดูแลผู้ต้องขังได้จำนวน 1.2 แสนคน แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังมีไม่ต่ำกว่า 3.6 แสนคน โดยหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักโทษในประเทศไทย คือ การติดคุกซ้ำ ความแออัดและการใช้ชีวิตกินนอนในแต่ละวันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ซึ่งผู้ที่สนใจในประเด็นนี้สามารถสำรวจข้อมูล “คนล้นคุก” และ “นักโทษติดซ้ำ” เพื่อมองลึกไปถึงต้นตอของปัญหาพร้อมกันได้ที่ลิงค์นี้
https://www.tja.or.th/view/news/13732
https://create.piktochart.com/output/41073117-tdj


หัวข้อที่ 5. ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่ เพื่อ “กม. คุ้มครองมรดกสีเขียว”
รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศใช้ “พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่” ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาคำถามคือ “ต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้เก่าแก่” ที่มีสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและมีคุณค่าทางจิตใจของชุมชน ที่อยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง ใครจะมีสิทธิ์ในการอนุรักษ์ ? หากใครต้องการหาคำตอบและสนใจในเรื่องนี้สามารถคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้
ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? (web)
http://jourd-bigtrees.s3-website-ap-southeast-1.amazonaws.c…

ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่ เพื่อ กม. คุ้มครองมรดกสีเขียว (บทความ)
https://www.tja.or.th/view/news/13735

คู่มือการวัดต้นไม้
http://jourd-bigtrees.s3-website-ap-southeast-1.amazonaws.com/youpin.html


หมายเหตุสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 087-069-9570 อีเมล์ obcud37@gmail.com