B-4-3-2553-16_แฉเงื่อนงำยก “อ่างพระราชดำรำเชียงราย” ให้นายทุนฝรั่ง-ASTVผู้จัดการรายวัน

รหัส B-4-3-2553-16

ชื่อเรื่อง_แฉเงื่อนงำยก “อ่างพระราชดำรำเชียงราย” ให้นายทุนฝรั่ง

เจ้าของ-ASTVผู้จัดการรายวัน

ปีพิมพ์ พศ. 2553

 

แฉเงื่อนงำยก “อ่างพระราชดำรำเชียงราย” ให้นายทุนฝรั่ง

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

“อ่างเก็บน้ำห้วยสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เนื้อที่ 774 ไร่ ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ที่มีการก่อสร้างขึ้นตามมติครม.ปี 2524 เพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการประมงของชาวบ้านอย่างน้อย 4 หมู่บ้านในตำบลห้วยสัก

แต่ต่อมาได้ถูกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัก (อบต.ห้วยสัก) ในยุคที่มีนายประเสริฐ กายาไชยเป็นนายก เสนอให้นายวรเกียรติ สมสร้อย อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย (ในขณะนั้น) อนุมัติให้บริษัท แบ๊ค-อาร์ แพลนเน็ต เวคบอร์ด จำกัด

ดำเนินการก่อสร้างโครงการคอมเพล็กซ์กีฬา “กลีซ” ในอ่างดังกล่าว เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 โดยไม่มีการระบุถึงผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ หรือชุมชนในพื้นที่ใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ จนไม่สามารถประกอบอาชีพการประมงได้ตามปกติ ปลาไม่สามารถวางไข่ได้ เนื่องจากมีการนำน้ำลงให้บริการเล่นสกีน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนไม่สามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตรได้ รวมไปถึงประปกใน 4 หมู่บ้านของต.ห้วยสัก คือ หมู่ 3  หมู่ 4 หมู่5 และหมู่ 27 ก็อยู่ในสภาพขุ่นข้นใช้ไม่ได้ ขณเดียวกัน บริษัทเอกชนยังได้กันพื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นเขตส่วนบุคคล ห้ามคนภายนอกเข้าอีกด้วย ทั้งที่เป็นสถานที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มานาน

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านโดยรอบอ่างเก็บน้ำ ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งมีการถวายฎีการ้องทุกข์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 และสำนักราชเลขาธิการได้ลงเลขรับที่ 5307 วันที่ 18 มีนาคม 2553 เวลา 15.31 น. ก่อนที่จะแจ้งต่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหนังสือที่ รล 0005-4/609 ลงวันที่ 19 เมษายน 2553 เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหนังสือถวายฎีกา

กระทั่งนำไปสู่การเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ กปร. และชลประทานจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ซึ่ง “ASTVผู้จัดการ” ได้ตรวจสอบข้อมูลและนำเสนอผ่านสื่อในเครือทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซด์อย่างต่อเนื่อง และพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอบต.ห้วยสัก-ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น) ได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้อย่างมีเงื่อนงำ

จนกระทั่ง อธิบดีกรมชลประทานได้ออกประกาศลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 “ห้ามใช้เรือในอ่างเก็บน้ำห้วยสักตามพระราชดำริ” โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ขณะที่ชลประทานจังหวัดเชียงราย ก็ได้เข้าแจ้งความต่อ สภ.เมืองเชียงราย ดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชน ที่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 พนักงานสอบสวนสรุปความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการ

การเสนอข่าวชิ้นนี้ เป็นการเสนอข่าวเงื่อนงำการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านตำบลห้วยสัก ที่ต้องพึ่งพิงอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ในการดำเนินชีวิตอย่างยาวนาน จนนำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อนำอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ คืนให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หลักอยู่ในขณะนี้ได้