อดีตกาลแห่งการ “แทรกสื่อ” “๒ ท่านผู้นำ ” จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ ร่อน “ จดหมาย ” พิฆาต คน น.ส.พ. พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)

หมายเหตุ:  แถมสิน รัตนพันธ์ คนหนังสือพิมพ์อาวุโส เจ้าของนามปากกา”ลัดดา”คอลัมน์ซุบซิบอันโด่งดัง  ได้บรรจงเขียนเรื่องราวตำนานคนหนังสือพิมพ์ในอดีต เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์”มติชนสุดสัปดาห์”ก่อนรวมเล่มเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คชื่อ”ตำนานลึก(ไม่)ลับ ฉบับ คนทระนง คนหนังสือพิมพ์” เพื่อฉลองในวาระอายุมงคล 85 ปีเมื่อปี พ.ศ.2557

บัดนี้ แถมสิน รัตนพันธ์ได้มอบเรื่องราวในหนังสือดังกล่าวให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำไปเผยแพร่ได้ ซึ่งหลายๆเรื่องมีความน่าสนใจ ในประวัติศาสต์การต่อสู้ของคนหนังสือพิมพ์ ดังนั้นสมาคมฯจะทยอยนำลงเผยแพร่ในเวบไซต์ของสมาคมฯต่อไป

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

อดีตกาลแห่งการ “แทรกสื่อ”

“๒ ท่านผู้นำ ” จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์

ร่อน “ จดหมาย ” พิฆาต คน น.ส.พ.

พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)

................................................................................

ผมเหยียบบาทก้าวแรกเข้าสู่แวดวงนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อย่างมาก ด้วยความหลงใหลใฝ่ฝัน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖

๕ ปีต่อมาผมมีโอกาสได้กราบเยี่ยมครูกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่บ้านพักท่านในซอย ๘๑ (ศิริพจน์) พระโขนง

ผมไป ๒ คนกับ คุณรัตนะ ยาวะประภาษ ไปขอ “หัว” หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ของท่านมาออกหนังสือพิมพ์รายวันตามคำร้องขอของ “นายทุน” ชื่อ คุณสุรัสน์ พุกกะเวส

ครูกุหลาบ สายประดิษฐ์ ชวนผมกับ คุณรัตนะ  ยาวะประภาษ  ทานอาหารกลางวัน แล้วกล่าวยกย่องเชิดชูประสบการณ์ต่อสู้แห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของ นาวาเอกพระยาศราภัยพิพํฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)

นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ที่ต่อไปนี้ ผมจะเรียกว่า “ท่านเจ้าคุณ

ท่านเจ้าคุณ” เกิด ๖ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ ศึกษาโรงเรียนอัสสัมชัญ กับ School of Journalism จาก นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ที่อัสสัมชัญนั้น ต่อมา “ท่านเจ้าคุณ” ยังได้เป็นสมาคมนักเรียนเก่าอีกด้วย

“ท่านเจ้าคุณ” มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม กับเจ้าเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม

“ท่านเจ้าคุณ” ถูกปลดออกจากราชการคราวปฏิวัติ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ช่วงกบฏบวรเดช โดยที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับหัวหน้าขบถชื่อ พระองค์เจ้าบวรเดช” เลยแม้แต่น้อย

“ท่านเจ้าคุณ” ออกไปทำหนังสือพิมพ์ เป็นบรรณาธิการ

บางกอกเดลิเมล์ภาษาอังกฤษ” แค่ไม่ถึงปีก็ต้องคดีการเมือง ศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ถูกปล่อยเกาะ หนีจากเกาะตะรุเตาเข้าไปอยู่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ ต่อมาเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรเป็นโฆษกสถานีวิทยุออสเตรเลียสนับสนุนขบวนการเสรีไทน

“ท่านเจ้าคุณ”กลับจากประเทศไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๘ กลับมาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรธนบุรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลคุณควง อภัยวงศ์ เป็นวุฒิสมาชิก เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์ เป็นคอลัมน์นิสต์เขียนวิเคราะห์การเมืองที่หัวหน้ารัฐบาลทุกยุคสมัยยกย่องเกรงขาม

“ท่านเจ้าคุณ” ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๑ ประมวลอายุได้ ๗๘ ปี

ในความเป็นจริง “ท่านเจ้าคุณ” เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ที่พิมพ์เป็นเล่มและออกจำหน่ายหารายได้สมทบทุนมูลนิธิเพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ เป็นที่นิยมชมชอบที่สุดมี ๓ เล่มด้วยกัน ได้แก่ “ฝันจริงของข้าพเจ้า” “ฝันร้ายของข้าพเจ้าและหมื่นไมล์ของข้าพเจ้า

จึงอย่าได้แปลกใจที่ “ท่านเจ้าคุณ” มองภาพชัดเจนอย่างรู้แจ้งแทงตลอดไว้ในหนังสือทั้ง ๓ เล่มนี้ว่า

สาเหตุแห่งความอลเวงใหญ่หลวงจนเป็นประวัติศาสตร์ในสมัยปฐมกาลของประชาธิปไตย ส่งผลให้ตนเองต้องถูกใส่กุญแจมือถูกล่ามโซ่หนัก ๘ หุน ถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ภรรยา (ม.ล.ฉลอง  ศราภัยวานิช) ตาย บุตรถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ครอบครัวต้องเผชิญภัยพิบัติหนักหนาแสนสาหัส  เนื่องเพราะงานเขียน งานหนังสือพิมพ์

งานเขียนงานหนังสือพิมพ์แห่ง บางกอกเดลิเมล์เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๔๗๖

โปรดติดตาม

 

ต้องไม่ลืมว่า นายถวัติ  ฤทธิ์เดช เลนานุการสมาคมกรรมการรถรางแห่งสยาม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อศาลอาญาว่า หมิ่นประมาท เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ โดยกล่าวหาว่า พระองค์ทรงร่วมมือกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในทางการเมือง ทำผิดวิถีทางรัฐธรรมนูญในครั้งพระยามโนปรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี

ถัดมาอีก ๖ วันหลังมีการยื่นฟ้อง หนังสือพิมพ์ “กรุงเทพเดลิเมล์” โดยนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน  ศราภัยวานิช) ได้เขียนบทนำเรื่อง “ฟ้องในหลวง” มีข้อความบางตอนดังนี้

“ตั้งแต่เรื่อง นายถวัติ  ฤทธิ์เดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคดีอาญา ฐานเป็นจำเลย ปรากฏแก่ประชาชนพลเมือง ต่างพากันเศร้าสลดใจถึงพฤติกรรมที่พลเมืองไทยคนหนึ่ง ได้หยามและหมิ่นหลู่ดูแคลนพระบรมเดชานุภาพอย่างเหลือที่จะทนทานได้

เพราะเหตุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ความว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

และเมื่อราษฎรสยามผู้หนึ่งได้กระทำการอุกอาจหยาบหยามเช่นนี้ ก็เท่ากับรัฐธรรมนูญอันเป็นที่เคารพนับถือของเรา ได้เริ่มต้นถูกย่ำยีแล้ว

เรานิ่งดูมาหลายวันแล้วว่า รัฐบาลจะได้ปฏิบัติการแก่นายถวัติและพรรคพวกผู้ร่วมคิด  เพราะรัฐบาลนี้ ถึงความในจะถือกันว่าอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงย่อมปรากฎเปิดเผยแก่พวกเราและชาวต่างประเทศว่า เป็นรัฐบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อผู้เป็นประมุขของชาติได้ถูกเหยียบย่ำไม่มีชิ้นดี เช่นนี้ เราทนนิ่งต่อไปไม่ได้

ที่จริงหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ประพันธ์เรื่องต่างๆ เป็นทำนองเสียดสีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ตลอดจนเจ้านายผู้ใหญ่บางพระองค์มาช้านานแล้ว ทั้งทางตรงทางอ้อม แต่ก็ไม่เห็นมีผู้ใดได้ยื่นมือเข้าไปห้ามปรามว่ากล่าว

แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชบัญญัติสมุดเอกสาร และความกำเริบเสิบสานเหล่านี้ เป็นมูลซึ่งทำให้ชนบางพวก เอาพระปรมาภิไธยผู้เป็นธงชัยคู่กับธงชาติของเรามาเหยียบย่ำเล่นตามความพอใจ

ส่วนเราสิ พอตำหนิติเตียนรัฐบาลซึ่งเป็นของธรรมดาทั่วโลกแห่งลักษณะประชาธิปไตย เขาตำหนิติเตียนรัฐบาลกันได้ ก็ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสียถึงเป็นผู้ทรยศต่อชาติ เมื่อลักษณะครองการของรัฐบาลดำเนินอยู่เช่นนี้ ก็เรียกว่า ประสานคนทุกชั้นให้กลมเกลียวกันนั้น น่าคิดมาก

เราได้เจียมตัวกันมาหนักหนาแล้วที่จะระงับการติเตียนรัฐบาลโดยตรงๆ เพราะเกรงภัยดังที่ได้ประสบมาแล้ว แต่คราวนี้ทนไม่ไหวจริงๆ เพราะรัฐธรรมนูญที่เราได้เทิดไว้ยังไม่ทันเมื่อยศีรษะ ก็มีคนกระชากลงมากระทืบเช่นนี้  ผู้ใดที่ทนได้นั้น  เราต้องถือว่าผู้นั้นรักรัฐธรรมนูญก็แต่เฉพาะข้อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

สามวันต่อมา ในส่วนตัว “ท่านเจ้าคุณ” ได้รับจดหมายจากหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย มีความดังต่อไปนี้

 

วังปารุสวัน

 

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๔๗๖

เรียน พระยาศราภัยพิพัฒ

ในการยึดอำนาจปกครองทั้ง ๒ คราว คณะผู้ก่อการได้ยึดหลักปฏิบัติไปในทางละมุนละม่อมเสมอ เพื่อเห็นแก่ความสงบของการเมือง และความอิสรภาพของชาติไทย แต่บัดนี้ ปรากฏข่าวความทางสืบสวนว่า ท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนรับผิดชอบ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะทำการอย่างรุนแรงและจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้น เป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

หลวงพิบูลสงคราม

หลวงศุภชลาศัย

 

“ท่านเจ้าคุณ” ตอบไปว่า

บ้านเลขที่ ๑๔๓๑ ก.  ถนนพิพัฒน์โกษา

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

เรียน นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม และนาวาโทหลวงศุภชลาศัย

ตามหนังสือของท่านลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ ปรากฏข่าวความทางสืบสวนว่าข้าพเจ้าได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะกระทำให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมืองและทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารราชหารบ้านเมือง ไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น และขอเตือนให้ข้าพเจ้าสงบจิตเสียนั้น หากข้าพเจ้ายังขืนจุ้นจ้านอยู่อีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรงนั้นข้าพเจ้าได้รับทราบด้วยความชอบใจยิ่ง

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นหนักหนาที่ท่านได้บอกมาตรงๆ เช่นนี้ แต่ความจริงข้าพเจ้าได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียมาเกือบ ๒๐ วันแล้ว เวลานี้ยังไม่หายสนิทดี จึงรู้สึกมีความประหลาดใจเป็นอันมากที่มีข่าวเช่นนี้มาเกิดขึ้น

เพื่อความยุติธรรม ข้าพเจ้าขอให้ท่านลงมือไต่สวนโดยทันทีหรือเรียกข้าพเจ้ามาไต่ถามโดยเฉพาะก็ได้ และถ้าสามารถจะยืนยันโดยมีพยานหลักฐานว่า ข้าพเจ้าได้มีการประชุมในทางให้เกิดความไม่สงบ และศาลหลวงพิจารณาได้ความสมจริง ข้าพเจ้าขอให้นำตัวข้าพเจ้าไปยิงเสีย หรือท่านเห็นข้าพเจ้ากล่าวทั้งนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงแก้ตัวแล้ว ก็ขอให้นำตัวข้าพเจ้าไปขังเสียบัดนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งฝ่ายรัฐบาลและข้าพเจ้า

อนึ่ง เพื่อความยุติธรรมและปลอดภัยแก่ตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออนุญาตพิมพ์หนังสือของท่านแลหนังสือตอบของข้าพเจ้าลงในหนังสือพิมพ์ เป็นการเปิดเผยให้มหาชนทราบด้วย

ทั้งนี้ ขอให้ท่านโปรดกรุณานำหนังสือนี้เสนอต่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีให้ทราบด้วย จะขอบคุณมาก

โดยความนับถืออย่างสูง

พระยาศราภัยพิพัฒ

 

ต้องไม่ลืมว่า หลังจากเสนอจดหมายฉบับนี้ไป เกิดระยะกาลที่บันดาลให้มีความปั่นป่วนในทางการเมืองขึ้น กล่าวคือ “ท่านเจ้าคุณ” ถูกจับ

ระหว่างรอรับโทษ หนังสือพิมพ์ต่างๆได้ถูกถอนใบอนุญาตชั่วคราวและปิด มีจำนวน ๒๕ ราย

ในจำนวนนีเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในความอำนวยการของบริษัทสยามฟรเปรสส์ ถูกถอนใบอนุญาตชั่วคราวและปิดรวม ๕ ครั้ง

ในกาลครั้งหนึ่ง ถึงกับสั่งให้ มร.ชาลล์ เอคาชอง (อเมริกัน) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอกเดลิเมล์ ถอนบทนำและขมาใน ๒๔ ชั่วโมง

ในที่สุดหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพฯ เดลิเมล์” และ “บางกอกเดลิเมล์” (ภาษาอังกฤษ) ก็ได้ถูกรัฐบาลพ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา สาปให้พ้นไปจากบรรณโลก เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยเด็ดขาด

ภายหลังที่ “ท่านเจ้าคุณ” ถูกจับเพียง ๑๓ วันเท่านั้นเอง

 

ยังมีอีกเรื่อง แปลกน่าสนใจ

หลังแหกคุกหนีไปใช้ชีวิตสงบที่มาเลเซีย – สิงคโปร์ ลูกชาย “ท่านเจ้าคุณ” ชื่อคุณเลอพงษ์ ศราภัยวานิช นิสิตคณะแพทยสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมพ่อระหว่างมหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน

คุณเลอพงษ์ ศราภัยวานิช กลับถึงบ้านเขียนเรื่อง “เยี่ยมพ่อ” ลงในหนังสือมหาวิทยาลัย ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

เป็นการเขียนบอกเล่าถึงสภาพการณ์ในสิงคโปร์โดยพิสดาร เป็นความรู้รอบตัวแก่เพื่อนสนิทของเขา

กระนั้น – มีเรื่องน่าเสียใจเกิดขึ้นว่า

พ.อ.ประยูร ภมรมนตรี รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีคำสั่งว่า คุณเลอพงษ์ ศราภัยวานิช  ประพฤติตนไม่เหมาะสมที่จะเป็นนิสิตจุฬาฯ จึงคัดชื่อออกจากการเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์

กับให้ถอดอาจารย์ทวี  ทวีวรรธนะ ออกจากตำแหน่งบรรณาธิการผู้รับผิดชอบหนังสือ “จุฬาลงกรณ” เสียในคราวเดียวกันนั้นด้วย

 

ในบั้นปลายของชีวิต “ท่านเจ้าคุณ” เขียนเป็นครั้งคราว คราวหนึ่ง หนังสือพิมพ์รายวัน “ปิยะมิตร” ของคุณทินกร คุณเวียนนี บำรุงรัฐ ที่มีคุณสิทธิ์ เผ่าพันเลิศ เพื่อนรักของ คุณเลอพงษ์ ศราภัยวานิช เป็นบรรณาธิการมาเชื้อเชิญ “ท่านเจ้าคุณ” เขียนบทวิเคราะห์การเมืองเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง

ปรากฏว่าข้อเขียนชิ้นหนึ่งพาดพิงถึงเรือนจำลาดยาว พาดพิงว่าเป็นสถานที่ราชการที่ไม่มีวันเดือนปี

กล่าวคือ ยังมีผู้ต้องขังคุมขังในคดีการเมือง ถูกจองจำอยู่อีกมาโดยที่ไม่มีวันล่วงรู้ว่า เมื่อไรวันเดือนปีไหนจะได้รับอิสรภาพ

ปรากฏว่าในวันต่อมา มีจดหมาย “ขอแสดงความนับถือ” มาจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ กรมตำรวจ ตักเตือนให้ระมัดระวังข้อเขียนว่าจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์

“ท่านเจ้าคุณ” เขียนตอบในฉบับต่อมาเป็นทำนองว่าแท้จริงแล้วเสรีภาพในการเขียนการโฆษณาในบ้านนี้เมืองนี้ยังหามีไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนหนังสือพิมพ์ “(เสรีไทย)” และครอบครัว “ท่านเจ้าคุณ” ขอหยุดคอลัมน์นี้นับแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไป

พลันที่ “เสรีไทย” วางตลาดมีจดหมายประวัติศาสตร์มาถึง “ท่านเจ้าคุณ” เป็นจดหมายส่วนตัวด่วนมากจาก จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี แห่งปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ที่นั่งควบเก้าอี้ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารด้วย

ผมยังจำได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นต้นจดหมายว่า

กราบเรียน น.อ. พระยาศราภัยพิพัฒ ที่เคราพอย่างยิ่ง

ผมยังจำได้ จดหมายฉบับนี้มีใจความตอนหนึ่งว่า

“กระผมอ่านข้อเขียนของใต้เท้าเป็นประจำสม่ำเสมอด้วยความเคารพในคิดเห็นของใต้เท้าว่ามุ่งประโยชน์สูงสุดต่อชาติบ้านเมือง สอดคล้องกับปณิธานที่กระผมยึดถือเป็นอุดมคติเสมอมาว่า “ความผาสุกของพี่น้องชาวไทยเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของกระผม”

“เมื่อทราบว่าใต้เท้าเกิดความรันทดใจจะหยุดเขียนคอลัมน์นี้กระผมตกใจเป็นอันมาก จึงกราบเรียนร้องขอมาขอใต้เท้าเขียนต่อไปอย่าได้หยุดเลย หากมีปัญหาข้อขัดข้องหรือไม่บังควรประการใด กระผมพร้อมจะรับใช้ใต้เท้าด้วยความยินดีและเต็มใจเสมอ”

ถึงกระนั้น เพียงไม่กี่วันต่อมา เจ้าพนักงานการพิมพ์ก็มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ “ปิยะมิตร” ส่งผลให้ คุณสินธ์  เผ่าพันเลิศ กับเพื่อนผมในกองบรรณาธิการหลายคน

เป็นต้น

คุณวิภา สุขกิจ คุณเทวี เกตะวันดี คุณเจน จำรัสศิลป คุณสุจินต์  อัครสมิต คุณศรีพนม สิงห์ทอง คุณโรม  บุนาค คุณผณินทรา  ภัคเกษม ต้องตกงาน

ตกงานตามประสา “นกน้อยในไร่ส้ม” กันใหม่อย่างไม่จืดจาง