สสส. “ทุนใหญ่4,000ล้าน” องค์กรสื่อเหนื่อย หลังพบเงินสนับสนุนไม่เกี่ยวสุขภาวะ

สสส. “ทุนใหญ่4,000ล้าน” องค์กรสื่อเหนื่อย

หลังพบเงินสนับสนุนไม่เกี่ยวสุขภาวะ

กองบรรณาธิการ

 

 

ในห้วงเวลาที่ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างเข้มข้น ได้ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การปลดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ให้เหลือแต่ตัวแทนจาก “ส่วนราชการ” อยู่ในบอร์ด รวมไปถึงการแช่แข็งเงินกองทุน ไม่ให้เบิกจ่ายในโครงการที่เกินกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีมากกว่า 500 โครงการ  ไปจนถึงการให้กรมสรรพากรไล่เบี้ยเก็บ “ภาษี” จากภาคีที่รับเงินสสส.ไปทำโครงการในแต่ละปี

ดูเหมือนว่าองค์กร ที่บริหาร “ภาษีบาป” มูลค่า 4,000 ล้าน แห่งนี้ นอกจากจะเกิดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ยังมีความพยายามจากอำนาจรัฐในการยึดคืน เพื่อกลับมาอยู่ใต้การควบคุมของตัวเองอีกด้วย

สำหรับวงการสื่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายปีที่ผ่านมา ข้อครหาฉกรรจ์ ก็คือ การ “รับทุน” จาก สสส.  ผ่านโฆษณา รวมถึงสายสัมพันธ์ส่วนตัว จนเป็นเหตุให้สื่อตรวจสอบองค์กรคนดีแห่งนี้น้อยลง ขณะเดียวกัน ในองค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมถึง สถาบันอิศรา ก็มีสสส. เป็นแหล่งทุนสำคัญ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย หาก สสส. ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง รวมถึงเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนให้แคบลง จนเหลือเพียงเรื่อง “สุขภาพ” เพียงอย่างเดียว

มีการรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่กองทุนสสส. จ่ายให้กับมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย พบว่ามีการจ่ายเงินจากกองทุนสสส. เป็นโครงการระยะเวลา 8 ปี ด้วยเงินสูงกว่า 96 ล้านบาท โดยกระจายไปใช้สัพเพเหระ ตั้งแต่การจัดค่ายอบรมนักข่าวใหม่ การอบรมนักข่าวสืบสวนสอบสวน การนำอาจารย์นิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ มาศึกษาดูงาน

ไปจนถึงการ อบรมระยะยาว 3 ระดับ คือ ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) และการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)รวมถึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของทั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย และสถาบันอิศรา

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนสสส. จะไม่แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ แต่จะเปลี่ยนข้อบังคับลำดับรอง ลดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการ และผู้รับทุน รวมถึงจะปรับนิยามคำว่าสุขภาพ สำหรับให้ทุนให้ “กระชับ” มากขึ้น

แต่ยังไม่ทันได้ทำตาม คำสั่งมาตรา 44 ก็ปลดบอร์ดที่มาจากสัดส่วนภาคประชาชนไปทั้งยวง จนเกิดความไม่แน่นอนว่า ข้อเสนอที่หยิบยกขึ้นมาก่อนหน้านี้ จะได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่ หรือจะมีการ “ล้างไพ่” ปฏิรูปองค์กรใหม่ทั้งหมด

วิเชียร พงศธร อดีตกรรมการสสส. บอกว่า ที่ผ่านมา หลักการสนับสนุนสื่อของสสส. เป็นเพียงการซื้อโฆษณาตามปกติ เหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่น และเมื่อเน้นกิจกรรมที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก จึงอาจทำให้เห็นโฆษณาจากสสส.มากกว่าองค์กรอื่น

ส่วนหลักการสนับสนุนองค์กรสื่อฯ ของสสส.นั้น ต้องการใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในแวดวง มากกว่าจะจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานโดยตรง หรือใช้เพื่อโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ผลงานของสสส. แต่เป็นไปด้วยความหวังดีว่า หากสื่อมวลชนมีคุณภาพ ก็จะสามารถสร้างสังคมที่มี “สุขภาวะ” มากขึ้นได้

“เราไม่ได้ห้ามวิจารณ์ ทุกคนสามารถวิจารณ์องค์กรสสส.ได้เต็มที่ และในช่วงที่ถูกตรวจสอบ ก็จะพบว่า ทั้งด้านบวกและด้านลบของสสส. ถูกเสนออย่างตรงไปตรงมา

วิเชียร ทิ้งท้ายว่า สสส.ตระหนักดี ว่าการให้ทุนการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ว่าผลจะออกมาจะเป็นอย่างไร หลังจากนี้ จะยืนหลักการเรื่องการให้ทุนเพื่อพัฒนาสื่อต่อไป แต่ ขณะนี้ก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า ผลการปรับหลักเกณฑ์กองทุน จะออกมาในรูปแบบใด

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตกรรมการสสส.อีกคน บอกว่า มีความพยายามถึง 3 ระลอก ในการจัดการสสส. ตั้งแต่ความพยายามตัดภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked tax) ในรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก่อนหน้านี้ ระลอกที่ 2 คือการนำองค์กรตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบ จนถูกฟรีซเงิน ให้หลายโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ ไปจนถึงระลอกที่ 3 คือการปลดบอร์ด โดยอ้างข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งที่ไม่เคยมีการเข้ามาสอบสวนอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เขาปกป้องจุดยืนขององค์กร โดยเฉพาะการสนับสนุนแวดวงสื่อว่า ที่ผ่านมา ไม่มีการทำเกินหน้าที่ หรือผิดวัตถุประสงค์อย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์

“การที่มีบางองค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เขาไม่ได้ทำเพราะรับทุนสสส. ที่ผ่านมา การรับทุนสสส.ต้องทำตามโปรเจกต์เท่านั้น ทำอย่างอื่นไมได้ แต่องค์กรพวกนี้เขามีความตั้งใจ มีความสนใจหลายด้าน ฉะนั้น การที่ สถาบันอิศราวิจารณ์รัฐบาล ก็ต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้ใช้เงินสสส. มาวิจารณ์รัฐ แต่ใช้เงินเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสื่อสารมวลชน ให้ทำงานด้านสุขภาวะดีขึ้น ซึ่งก็ต้องถูกตรวจสอบว่าได้ทำตามกิจกรรมที่ขอได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจะเอาไปทำทำกิจกรรมอื่นไม่ได้เลย” นพ.ยงยุทธระบุ

ข้อมูลจากสสส. ระบุว่า ที่ผ่านมา งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์จัดแคมเปญ ประชาสัมพันธ์องค์กร รวมถึงโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อยู่ที่ 7% ของงบ 4,000 ล้านบาท หรือประมาณ 280 ล้านบาท เท่านั้น โดยผู้บริหาร ยืนยันมาตลอดว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ รวมถึงประสบความสำเร็จในโครงการต่างๆ อาทิ สวดมนต์ข้ามปี, ให้เหล้า=แช่ง เป็นต้น

 

สสส.ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยง

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เล่าความเป็นมาว่า ได้พูดคุยกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ตั้งแต่ก่อนเกิด สสส. ซึ่ง ศ.นพ.ประเวศ ได้ปรารภขึ้นมาว่า สื่อมวลชน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเล็งเห็นว่า หากต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ สื่อมวลชนจะต้องมีคุณภาพก่อนเป็นอันดับแรก

ด้วยเหตุนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงเริ่มโครงการฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร ในวิชาชีพ รวมถึงพัฒนาเนื้อหาสื่อ โดย สสส.ให้ทุนสนับสนุนการฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ หลังจากนั้น ก็ตามมาด้วยการอบรมการทำข่าวสืบสวนสอบสวน การอบรมนักข่าวใหม่

ขณะเดียวกัน ก็ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดคือ ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) และการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นละ 50 คน

สำหรับส่วนของสถาบันอิศรา รับทุนจากสสส.สำหรับจัดทำศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ  และศูนย์ข่าวภาคใต้

ประสงค์บอกอีกว่าโครงการ 8 ปี 96 ล้านบาท อาจดูว่าเยอะมาก แต่เมื่อเฉลี่ยไปหลายหน่วยงาน และเฉลี่ยต่อปี ก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น เพราะการให้ทุนก็ไม่เหมือนกับระบบงบประมาณ เนื่องจากหากบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุนแล้ว ยิ่งเหลือเท่าไร ก็ต้องคืนกลับไปสสส. ซึ่งบางปี สถาบันอิศรา ต้องคืนสสส.กลับไปเป็นล้านบาทก็มี ขณะเดียวกัน สสส.ก็ส่งผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามา เพื่อให้สถาบันฯ ต้องทำถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของเงินทุนทั้งหมด

ถามว่าการเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับ จะกระทบหรือไม่ ประสงค์บอกว่า หากให้ประเมินคิดว่าการอบรมระยะยาว น่าจะไม่มีปัญหา แต่ในส่วนของศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อฯ คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาจโดนตัดแหล่งทุน ขณะที่สำนักข่าวอิศราฯ นั้นยังไม่ทราบว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด

 

“ส่วนของสำนักข่าวอิศราฯ เรายืนยันว่าเราเป็นสำนักข่าวที่ปลอดจากอำนาจทุน และอำนาจการเมืองมากที่สุด ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่มีทุนและการเมืองนะ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราถูกอำนาจทั้งสองเข้ามาแทรกแซงน้อยที่สุดแล้ว หากสสส.ถอนไป ผมก็คิดว่าน่าจะยังมีเอกชน หรือองค์กรอื่นสนับสนุนอยู่บ้าง ไม่ได้กระทบเสียทีเดียว” ประสงค์ประเมิน

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า การวางโครงการระยะยาวอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในเมื่อแหล่งทุนก้อนสำคัญหายไป แต่ก็ต้องเดินหน้าหาทุนสนับสนุนจากที่อื่นต่อไป และยังเชื่อว่าการทำงานของสถาบันอิศรา เป็นประโยชน์ต่อสังคม และมีผู้ยินดีให้การสนับสนุนต่อไป แม้จะขาดทุนจากสสส.

“แน่นอน ทุกองค์กรจะอยู่ได้ถ้ามีทุนชัดเจน และให้ทำงานได้สะดวก เป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลขนาดที่ว่าขาดเงินเข้ามาแล้วเราจะต้องยุบไปเลย ผมคิดว่าเรายังมีแหล่งทุนอื่นๆ อีกที่พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ เราก็ยังไม่คิดว่าเขาจะตัดหมดเลย 100% เพราะไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คงไม่ขนาดนั้น” ประสงค์ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขระเบียบข้อบังคับลงตัว มีการเลือกผู้จัดการสสส.คนใหม่ และมีการจัดโครงสร้างองค์กรเรียบร้อยแล้ว ประสงค์บอกว่า จะเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน ตามกระบวนการต่อไป