Behind The news- เร็ว-แรง ทะลุหมาย(ข่าว) วิถีพลขับ “ชีวิต”และ”หน้าที่”

 

Behind The news

โดย สิทธิชน กลิ่นหออ่อน

เร็ว-แรง ทะลุหมาย(ข่าว)

วิถีพลขับ

“ชีวิต”และ”หน้าที่”

นับได้เลยว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองตัวสำคัญ ที่มีส่วนร่วมในการช่วยขับเคี่ยวเพื่อได้มาซึ่งหนึ่งชิ้นงานข่าว โดยเฉพาะในแง่ของความเร็ว อาจต้องมอบบทบาทนี้ให้กับตำแหน่ง ”ผู้ช่วยช่างภาพ ผู้ช่วยนักข่าว พลขับ" หรือแล้วแต่อะไรที่จะเรียก

ภาพ ”รถข่าว”ที่เกาะเกี่ยวกันเป็นขบวนตะบึ้งทะยานไปแบบเร็ว-แรง บนท้องถนน เพื่อหวังไปให้ถึงทันหมายข่าว หรือภารกิจบุคคลสำคัญ ตามคำสั่งของกองบ.ก. อาจสร้างความหวาดเสียวให้กับนักข่าวผู้โดยสาร โดยเฉพาะ ”มือใหม่” ที่อาจนั่งไม่ติดที่ กระทั่งเรื่อยไปถึงรถราและผู้คน สองข้างทาง ได้ในระดับหลายริกเตอร์

และหลายครั้งอาจต้องมาตั้งคำถามกันมากมาย ถึง”วิถีปฏิบัติ”เหล่านี้ ที่ต้องว่ากันหลายเหตุหลายผลของความ”คุ้มค่า”และ”ความปลอดภัย” ถ้าจะมาเทียบเคียงกันระหว่าง”ชีวิต”กับ”หน้าที่”

พลันเมื่อเริ่มปฏิบัติงาน ทันทีสวมบทบาท ”พลขับ” นั่งประจันหน้ากับพวงมาลัยรถคู่ใจ นั่นหมายความเดียวกันว่าทุกเสี้ยววินาที หลังสตาร์ทรถ และล้อหมุนไปข้างหน้า “ความไม่แน่นอน”อะไรก็เกิดขึ้นได้

“ราชดำเนิน”ถือโอกาส รับฟังเสียง”ผู้ช่วยฯ”ภาคสนามกับภารกิจหน้าที่อัน”ท้าทาย”บนท้องถนน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน

เริ่มที่” จำลอง แก้วฟ้า หรือ”น้าลอง”ผู้ช่วยนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวกับ”ราชดำเนิน”ว่า ในส่วนของมติชน จะมีรถข่าวทั้งหมด 8 คัน แต่สำหรับโต๊ะการเมืองนั้น มีเพียง 1 คัน และภารกิจหลักคือใช้ตามนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ถ้าหาก”สร.1 ไม่มีหมายนอกสถานที่ใดๆ ก็แล้วแต่นักข่าวสายอื่นในหมวดการเมืองจะใช้บริการ อาจเป็นสายรัฐสภา หรือทหาร

“น้าลอง”ในวัยใกล้เกษียณ กับประสบการณ์ที่ผ่านอายุงานมาหลายทศวรรษ เล่าว่า ได้ทำงานหน้าที่นี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตอนนั้นหลายสำนักข่าวเริ่มให้มีรถเพื่อใช้ตามภารกิจผู้นำหมายเลข 1 กันบ้างแล้ว แต่ไม่ถึงกับตามขบวน เป็นเรื่องเป็นราวกิจจะลักษณะ เหมือนปัจจุบัน ซึ่งเท่าที่จำความได้ จะเริ่มมาเป็นเรื่องเป็นราวก็น่าจะเป็นยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย และก็เริ่มพัฒนาเรื่อยมาเป็นลำดับ โดยมีการนำวิทยุสื่อสาร หรือว.เข้ามาใช้ ก็ในยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา

แต่ที่ชัดเจน และถือเป็นยุคที่”เฟื่องฟู”ที่สุดของขบวนรถตามนายกฯ ก็น่าจะเป็นยุครัฐบาล”นายทักษิณ ชินวัตร”เนื่องจากการทำงานตอนนั้น มีการประสานกันระหว่าง ขบวนของนายกฯและขบวนของนักข่าว เรียกได้ว่าไหลตามกันไปตลอดทางเลยก็ว่าได้ ทำงานง่ายที่สุด ใครไม่ทันมีรอ หมายอยู่ที่ไหน เราถึงพร้อมกัน และธรรมเนียมปฏิบัตินั้น ก็ส่งต่อไปยังยุครัฐบาล”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ด้วยเช่นกัน

ถือเป็นสองยุคที่รัฐบาล”เอาใจสื่อ”ที่สุดเลยก็ว่าได้

แต่ขณะที่ยุคของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับตรงข้ามรัฐบาลพี่-น้องชินวัตร เลยก็ว่าได้ เพราะยุคนี้จะตัวใครตัวมัน ตามกันเอง จะไม่มีประสานกับขบวนนายกฯจะดูแลกันเองตามอัตภาพ ส่วนใหญ่ไปต่างจังหวัดจะไปเครื่องบิน และประสานกันในขบวนของนักข่าว

เมื่อถามถึงข้อห้าม สำหรับรถข่าวมีอะไรบ้าง“น้าลอง” ตอบเราว่า “ห้ามคนอื่นขึ้นรถ เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุแล้ว ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อครั้งเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี มีนักข่าวฉบับอื่นติดมาด้วย แล้วครั้งนั้นก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา แล้วเขามาฟ้องร้องบริษัทเรา แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ถึงกับห้าม แต่ถ้าจะอาศัยรถเราต้องจะมีหนังสือให้เซ็นยินยอม ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไรจะไม่เอาเรื่อง” ทุกครั้งที่ปฏิบัติภารกิจ ก็เหมือนพนักงานธรรมดาคนอื่นไม่มีสวัสดิการอะไรพิเศษ มีเพียงประกันสังคม และประกันชีวิตที่บริษัททำให้ เหมือนกับพนักงานคนอื่น แต่ถ้าไปต่างจังหวัด ก็จะมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ได้วันละ200บาท แต่ทุกวันนี้ขยับขึ้นมาเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ70-80 บาท แต่วันหนึ่งนับไม่เกิน 6 ชั่วโมง เท่ากับหนึ่งคืน

200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”คือมาตรวัดไมล์มิเตอร์ความเร็ว ที่”น้าลอง”เคยเหยียบแตะสูงสุดในชีวิต จึงตั้งคำถามถึงความคุ้มกับเงินเดือนที่ได้ ซึ่งคำตอบจากปากคำ”พลขับประชาชื่น”คือ”ไม่คุ้มหรอก”แต่หน้าที่ต้องมาก่อน และอีกอย่างอยู่วงการนี้มันสนุกดี เพราะได้เจออะไรหลายๆอย่าง ยิ่งสายการเมืองด้วยแล้ว ได้เจอผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะพริบตาเดียวมีโอกาสตายได้ทุกเวลา แต่ถึงกระนั้น ก่อนออกต่างจังหวัดทุกครั้ง ก็ต้องเซฟตัวเองก่อน ต้องให้ช่างของบริษัทเขาเช็คสภาพรถให้ดี เพราะนั่นหมายถึงเราต้อง”รับผิดชอบ”ทั้งชีวิตเรา และชีวิตนักข่าวที่โดยสารไปด้วย

บรรเทิง สุริวรรณ” หรือ”น้าเทิง”ผู้ช่วยช่างภาพ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เจ้าของสโลแกน”สดทันทีที่มีข่าว” เปิดเผยกับราชดำเนินว่า ไอเอ็นเอ็น จะมีรถข่าวทั้งหมด 3 คัน แต่หลักๆจะใช้ตามนายกฯ 1 คัน และ”น้าเทิง”จะรับหน้าที่นั้นเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งถ้าจะถามว่า ยุคไหนหรือรัฐบาลไหน การทำงานยากง่ายกว่ากัน ก็บอกไม่ถูก ไม่มียุคไหนยากง่าย แต่ยอมรับว่ายุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีภารกิจไปต่างจังหวัดบ่อย และมีบ่อยครั้งที่ต้องกลับเลย ไม่เน้นค้างคืน นายกฯกลับเราก็ต้องกลับ สามทุ่มสี่ทุ่มเราก็ต้องกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงพื้นที่ในภาคกลาง อาทิ หัวหิน สระบุรี ถ้าเป็นแถวๆนี้เสร็จงานแล้ว ต้องกลับ แต่ถ้าเป็นจังหวัดไกลๆอย่างเชียงใหม่ ใครจะกลับก็กลับเถอะ เราขอค้าง

แต่ถ้าเป็นในยุคของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะไม่เน้นลงพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ก็จะทำงานง่ายขึ้น และยุคสุดท้ายที่ต้องจัดขบวนตามนายกฯก็คือยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ผ่านมา เพราะเมื่อถึงปัจจุบันนี้ ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาไม่อนุญาตให้เราตาม เราก็ไม่รู้ว่าเขามีเหตุผลอะไร อาจจะอ้างเรื่องความปลอดภัย แต่ส่วนตัวเราก็ว่าดี ไม่ต้องมาเสี่ยง เพราะทุกวันนี้บนถนนรถก็เยอะ ช่องทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมากมาย ขบวนๆหนึ่งมีรถข่าวเยอะ ก็ใช้วิธีดูหมายเอา กะเวลาแล้วก็ไปรอที่นั่นก่อนเลย

“ถ้าถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสี่ยง ถ้าต้องออกต่างจังหวัด เหยียบปกติๆก็ 170-180กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ว่าเราต้องทำงานกันให้เป็นระบบ แม้เขารู้ว่ามีสื่อตาม แต่ก็ไม่มีประสานกันเลยกับขบวนของนายกฯ แต่เราก็ต้องช่วยกันเอง ก็จะมีผมที่เป็นแม่ข่ายคันแรก คอยบอกทาง นำทาง บอกผ่านว.ว่ามีรถจอด รถสวน ช่วงไหนควรชะลอความเร็ว ช่วงไหนควรเร่ง ช่วงไหนมีอุบัติเหตุอะไรข้างหน้าขวางถนน เราต้องคอยบอก ซึ่งจะมีรหัสที่รู้กันภายใน แต่บอกไม่ได้ ถ้าบอกไปเดี๋ยวไปชนกับของคนอื่น โดนเขาฟ้องตาย

“น้าเทิง” เล่าต่อว่า สำหรับตนไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ มีเฉี่ยวบ้างเล็กน้อยไม่มากมายใหญ่โต สำหรับสวัสดิการที่บริษัทมีให้ ก็ไม่แตกต่างกับสำนักข่าวอื่น ก็จะมีประกันอุบัติเหตุ ประกันสังคม ประกันกลุ่ม เหมือนกับพนักงานคนอื่นๆ ส่วนในเรื่องความปลอดภัยนั้น รถของเราเป็นรถเช่า เมื่อขับถึงหมื่นกิโลเมตร ก็ต้องมีตรวจเช็คสภาพตามเงื่อนไขบริษัท ซึ่งเดี๋ยวนี้ปัจจุบัน แทบทุกสำนักไม่ว่าจะสำนักข่าวใหญ่ๆ ทั้งไทยรัฐ มติชน ช่อง 3 ช่อง 9 จะใช้รถเช่ากันทั้งนั้น ไม่ค่อยมีใครใช้รถซื้อ เพราะตรงนี้การดูแลจะทั่วถึงกว่ารถซื้อ ถ้าหากมีปัญหาก็จะเข้าซ่อม ปกติเราเป็นคนขับเอง เราจะรู้ว่ารถเป็นยังไง จะออกต่างจังหวัดที ก็ต้องเช็ค เพราะการเดินทางมันค่อนช้างไม่แน่นอน บางทีปุบปับ พรุ่งนี้นายกฯไปเชียงใหม่ เราก็ต้องตีรถไปรอแล้ว สภาพรถ สภาพเครื่องยนต์ สภาพยางต้องสำคัญ ต้องดูแลให้ดี

การทำงานในรัฐบาลปัจจุบันนี้ไม่เสี่ยง แต่เรื่องความเสียว ความเร็วขนาดนี้ ถ้าคนไม่เคย ต้องมีขาสั่น แต่ถ้าคนเคยแล้วก็อาจจะเป็นปกติ รู้มุม รู้จังหวะกันหมด คนขับสำนักอื่นที่ตามๆกันมาตั้งแต่สมัยก่อนๆทุกวันนี้ก็ยังอยู่ รู้ใจกัน เชื่อฟังกัน ถ้าไปด้วยกัน ฟังกัน อุบัติเหตุมันก็ไม่ค่อยเกิด สำหรับตนแล้วก็ห่วงทั้งชีวิตและหน้าที่ แต่ถ้ามีคนอื่นสังกัดอื่นมานั่ง เป็นอะไรมาเราไม่ขอรับผิดชอบ เพราะถือว่าไม่ใช่บุคลากรของบริษัท เราทำงานมานานไม่เคยตกหมาย รู้เวลา รู้หน้าที่ มันก็ราบรื่น อย่างทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลเขาไม่ให้ตามขบวน ก็ต้องรู้ตัวกันเอง คนไหนไม่พร้อมก็ไปเอง คนไหนพร้อมก็ตามขบวนกันไป ถ้ามารอพร้อมกันหมด ก็ตกข่าวกันหมด

มีรายงานด้วยว่า ตำแหน่งผู้ช่วยฯ เป็นบุคลากรสำคัญ ที่หาคนทดแทนใหม่ได้ยาก เพราะการทำงานโดยเฉพาะทีมตามนายกฯต้องใช้ประสบการณ์ และ ความเชี่ยวชาญการใช้รถใช้ถนนในระดับสูง รวมถึงต้องปฏิบัติงานเข้าขากับคันอื่นๆซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ในภาวะที่สำนักข่าวใหญ่บางสำนักมีการ”เออลี่รีไทร์”พนักงาน แต่ตำแหน่งงานผู้ช่วยฯอาจมีการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ หรือในบางรายที่ต้องการ”สมัครใจลาออก”ไปแล้ว ทางบริษัทก็อาจจ้างมาเป็น”เอาท์ซอร์ส”

ย้อนกลับไปวันที่ 9 มิ.ย.ปี 2554 เมื่อสื่อมวลชนตกเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งเสียเอง กับเหตุการณ์ขบวนรถนักข่าวที่ตามติดอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงพื้นที่หาเสียงที่จ.ลพบุรี หลังจากหาเสียงที่อ.ชัยบาดาล มุ่งหน้ากลับกรุงเทพ ได้เกิดอุบัติเหตุชนกันเอง เนื่องจากมีรถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกรถแบ็คโฮ ชิดขวาถนน เพื่อชะลอหลบให้ขบวนของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ขบวนนายกฯผ่านไปได้ แต่ขบวนนักข่าวที่อยู่ท้ายต่อจากนั้น “ไม่พ้น”

ความรุนแรงครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย สาหัส 2 ราย คือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเอเอสทีวี และนักข่าวสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เนื่องจากโดยสารเป็นคันแรกของขบวนนักข่าว

“คนเจ็บ รถยับเยิน “

โชคดีที่สุด !!”ไม่มีผู้เสียชีวิต”

เหตุการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้การทำงานในปัจจุบัน ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ ความรู้สึกของนักข่าวภาคสนาม” ชลธิชา ไพรีรักษ์ นักข่าวน้องใหม่จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์” ถ่ายทอดความรู้สึกครั้งแรกเมื่อมีโอกาสได้สัมผัสความเร็วและแรงของการโดยสารรถข่าวในฐานะ”มือใหม่”ว่า ความรู้สึกครั้งแรกยังจำได้ดีว่าเมื่อกลับบ้านไปแล้วภาพยังติดตา เกิดอะไรขึ้นกับเรา ตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น อยากเปลี่ยนให้คนอื่นมานั่งแทน เพราะเราไม่เคยนั่งรถเร็วขนาดนั้น จำได้ว่าครั้งแรกเพิ่งได้เริ่มทำงาน รับมอบหมายให้ตามนายกฯไปต่างจังหวัด ไปภาคอีสาน ตอนที่เริ่มขึ้นรถในกทม.ไม่มีอะไร แต่เมื่อมีการนัดกันที่จุดนัดพบแถวๆชานเมือง ก็รู้สึกแปลกๆมีรถเพิ่มขึ้น จากนั้นก็เริ่มออกเดินทาง มีคุยว.ประสานกันกับรถข่าวสำนักอื่นๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะรถขับไปเร็วมาก แต่เป็นขบวนและเป็นระบบ ซึ่งข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือเมื่อนายกฯเสร็จภารกิจจากจุดหนึ่งต้องต่อไปอีกที่หนึ่ง และเราก็ต้องตามไป ซึ่งจะทำให้พิมพ์ข่าวในรถลำบาก ความเร็วขนาดนั้น

... อีกเรื่องคือระหว่างทาง ที่เรารู้สึกอยากพักเข้าห้องน้ำบ้าง แต่ก็เข้าใจ เพราะการทำงานต้องต่อเนื่อง เราต้องดูแลตัวเองด้วย เราต้องเตรียมความพร้อม ต้องวางแผน อย่าหิวน้ำบ่อย เพราะคนขับต้องมีสมาธิ เราต้องดูตัวแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเองด้วย

ที่สุดแล้ว เมื่อการแข่งขันยังมีอยู่ และจะยังเข้มข้นขึ้นตามปริมาณสำนักข่าวใหม่ๆที่ผลิขึ้นต่อเนื่องตราบโลกหมุน การขับเคี่ยวเพื่อให้ได้ภาพสด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ให้ตกข่าว อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่”ความเร็ว”ยังเป็นเรื่องสำคัญ และ”ความเสี่ยง”จากความเร็ว ก็อาจเป็นเรื่องที่”เลี่ยง”ไม่ได้