กะเทาะเปลือกหลักสูตร ปั้นนักข่าว สื่อมวลชน มหาลัยรัฐ – เอกชน ในยุคดิจิทัล 4.0

กะเทาะเปลือกหลักสูตร

ปั้นนักข่าว สื่อมวลชน

มหาลัยรัฐ – เอกชน ในยุคดิจิทัล 4.0

ไม่เพียงแต่”องค์กรธุรกิจสื่อ-คนทำสื่อ-สื่อสารมวลชน”ต้องทุกแขนง ต้องปรับตัว-การทำงาน-การผลิตสื่อ  ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะได้ไม่กลายเป็นสื่อตกยุค-สื่อล้าหลัง แม้แต่กับ สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ที่เปิดสอนวิชานิเทศศาสตร์ –วารสารศาสตร์ ที่มีอยู่จำนวนมาก  ก็ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมข่าวสาร

แม้ที่ผ่านมา ใน”สนามข่าว-องค์กรสื่อ”จะพบว่า นักข่าว –คนทำสื่อ-ผู้บริหารสื่อ จำนวนไม่ใช่น้อย ไม่ได้จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ แต่มีทั้ง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์

โดยพบว่า องค์กรสื่อ-ผู้บริหารสื่อ –กองบรรณาธิการข่าว  ทั้งภาครัฐและเอกชน หลายแห่ง ก็นิยมรับนักข่าวที่จบจากด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะมองว่ามีพื้นฐานในด้านต่างๆ ที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำข่าวเช่น หากจบด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ก็มองว่าสามารถจะทำข่าวการเมือง ที่รัฐสภา  ได้ดีเพราะมีพื้นฐาน องค์ความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว หรือมองว่า หากจบด้านบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ก็จะไปทำข่าวเศรษฐกิจ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ การเงินการธนาคารได้ดีกว่าคนที่จบด้านนิเทศศาสตร์ ฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะพบว่า สัดส่วน จำนวนนักข่าวในภาคสนามรวมถึงในองค์กรสื่อ คนที่จบด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ก็ยังมีสัดส่วนที่มากกว่า แต่มาวันนี้ เมื่อพบว่า กระแสเทคโนโลยี –สังคมข่าวสาร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนจำนวนมาก สามารถเป็น”ผู้ส่งสาร”ได้เอง ผ่านช่องทางต่างๆ เช่นการอัดคลิปทางโทรศัพท์มือถือ หรือเฟสบุ๊กไลฟ์ ผนวกกับ รูปแบบของการสื่อสารมวลชน การผลิตสื่อ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

คำถามจึงเกิดขึ้นตามมาว่า แล้ว หลักสูตร นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ที่เปิดสอนอยู่จำนวนมากในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จะปรับตัว-ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อผลิต คนทำสื่อ ให้ออกมามีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หลักสูตร ที่สอนทุกวันนี้ ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่ –จำนวนคนที่สมัครสอบและเข้าเรียน ลดน้อยลงหรือไม่ ?


กับข้อสงสัยและคำถามต่างๆ ในความเห็นของ“บรรยง สุวรรณผ่อง” นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน ที่ได้รับเชิญจากหลายสถาบันให้ไปช่วยร่างหลักสูตรนิเทศศาสตร์ – วารสารศาสตร์ ย้ำว่า ต่อไปนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ เช่น หลักสูตร journalism ต้องทำให้ครบ โดยเฉพาะนอกจากพื้นฐานดั้งเดิมคือ newspaper journalism อย่างอื่น online journalism - Broadcastjournalism จะทำให้บัณฑิตเข้มแข็ง ถ้ารวมกันแล้วจะเรียกให้สั้นที่สุดคือ digital journalism สถาบันการศึกษา ผลิตบัณฑิตลักษณะนี้ออกมาแล้วจะขายได้

“อ.บรรยง”ย้ำด้วยว่า สถาบันการศึกษาต้องมองตัวเองแล้ว ต้องไม่สอนเด็กแบบเป็ด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะสอนแล้วเด็กเป็นเป็ดได้หมดทุกอย่าง..ไม่จริง แต่สิ่งที่ต้องแข็งที่สุด และต้องสอนคือสอนเรื่องการสื่อสาร สอนเรื่องคอนเทนท์ ส่วนเรื่องฮาร์ดแวร์ ที่สุดแล้วเดี๋ยวเขาไปเรียนรู้ข้างนอกได้ แต่เขาต้องเข้าใจการสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของนิเทศศาสตร์ และหลักสูตร นิเทศศาสตร์ทุกแห่งควรมี คือ เกี่ยวกับการสื่อสาร อย่าไปเน้นเรื่อง journalism เด็กจะเข้าใจการใช้สื่อสังคมเพื่อการสื่อสาร ที่ต้องเรียน สมมติเรื่องสื่อหลอมรวม ในเทอมของวารสารศาสตร์จะรู้จักสื่อแต่ละสื่อที่มีในปัจจุบัน เรียนรู้ธรรมชาติสื่อพวกนี้อยู่ ข้อจำกัดของมัน และจะเห็นภาพที่เป็นความนิยมที่ชัดเจน

.. เราจึงเรียนคอนเทนท์ที่เป็น journalismเพราะเรารู้จักใช้แอพพลิเคชั่น เพราะแอพฯ บางอย่างแค่โยนคอนเทนท์ลงไป หรือ ออนไลน์ที่เราจัดหน้า ก็มี template มาปรับที่เป็นของเรา เช่น หน้าตา ข่าวออนไลน์ของคนนี้คนนั้น ถ้าเป็น journalism ก็ว่าเรื่องข่าวไป และรู้จักใช้คอนเทนท์เพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อการโฆษณา ทั้งหมดมันคือ digital journalism

ขณะที่การปรับตัวของ “มหาวิทยาลัยเอกชน” ก็มีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงการแข่งขันระหว่างสถาบันเอกชนด้วยกันเอง หลังทิศทางการ “เสพสื่อ” ของคนทั้งโลกปรับเปลี่ยนรวดเร็วดุจกระแสน้ำเชี่ยวกราก จากหนังสือพิมพ์มาอยู่บนสมาร์ทโฟน ทำให้ มหาวิทยาลัยไทย ไม่ว่ารัฐ – เอกชน ที่มีภาควารสารศาสตร์ ซึ่งผลิตบัณฑิตที่เกี่ยวข้องกับ “สื่อ”จึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ตกกระแส

ตัวอย่างก็เช่น  “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ที่เปลี่ยนชื่อภาควิชาให้ทันสมัยขึ้นเป็น การสื่อสารมวลชนและนวัตกรรมสื่อ (Mass Communication and Innovative Media)

“อาจารย์การดา ร่วมพุ่ม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ให้ข้อมูลไว้ว่า นอกจากเปลี่ยนชื่อหลักสูตรแล้ว แนวทางการเรียนการสอนในหลักสูตร ก็เปลี่ยนไปเช่นกันเพื่อรองรับนักเรียนในปีการศึกษา 2560 โดยหลักสูตรนี้จะเน้นเรื่องคอนเทนท์เหมือนกับหลักสูตรเดิม ในเรื่องเนื้อหาการสื่อข่าว การรายงานข่าว ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเขียน เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นหัวใจสำคัญที่เรายังคงความเหนี่ยวแน่นไว้อยู่ แต่มีเรื่องความเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่เฉพาะหนังสือพิมพ์ ซึ่งในหลักสูตรมีการปรับเป็นออนไลน์มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้มีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาเช่น ทุกคนต้อง “เปิดหน้า” รายงานสดได้

“หลักสูตรใหม่นอกจากบวกออนไลน์ ผู้เรียนจะต้องสามารถทำได้ในความเป็นคอนเวอร์เจนท์ จากแพลตฟอร์มที่ถูกเปลี่ยนไป ถึงจะถูกโยกไปสู่ออนไลน์ก็จริง แต่ทักษะความเป็นนักวิเคราะห์ นักคิด นักเขียนยังต้องคงอยู่ และเพิ่มทักษะการรายงานที่จะออกหน้าได้ ซึ่งความรู้สึกกับวารสารศาสตร์คนจะคิดว่าคือกระดาษ อยู่แต่เบื้องหลัง แต่ปัจจุบันทุกคนต้องสามารถรายงานสดได้ เปิดหน้าออกมาได้ ซึ่งจะอยู่ในวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับการรายงานข่าว ให้มีการลงพื้นที่รายงานได้เลย”

..คิดว่าทุกที่เห็นตรงกันว่ามีความเป็นคอนเวอร์เจนท์มาพอสมควรแล้ว ทักษะเดิมที่เป็นจุดแข็งยังต้องคงอยู่ แต่ทักษะอื่นเพื่อรองรับแพลตฟอร์มใหม่ ก็ต้องสามารถใช้เครื่องมือทั้งหลายทั้งปวงได้ เช่น ใช้กล้องถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ สามารถเปิดหน้ารายงานได้ เข้าไปทำเว็ปไซด์ ทำโซเชี่ยลมีเดียได้

เรียกว่าต้องทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านสื่อทั้งหมด

ที่น่าสนใจ “อาจารย์การดา”บอกว่า แม้เทคโนโยยีการสื่อสารมวลชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่ในหลักสูตรใหม่จะปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ให้กับนักศึกษาด้วย เพราะมันลดน้อยถอยลงในผู้คน ในยุคที่มีความฉาบฉวย

ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐ อย่างภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เป็นภาควิชาที่มีนิสิตเลือกเรียนน้อยที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนนิสิตนิเทศฯ จุฬาฯ ภาคภาษาไทยปีละกว่า 160 คน มีนิสิตเลือกภาควิชาวารสารศาสตร์ไม่ถึง 10% ทุกปี และแนวโน้มอาจลดลงเรื่อยๆ


เรื่องนี้ “ผศ.ดร.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศฯ จุฬาฯ อาจารย์คนรุ่นใหม่ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งมาหมาดๆ เล่าว่าเนื้อหาการเรียนการสอนของภาควิชาก็เป็นไปตามชื่อ คือเรียนด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และคาแรกเตอร์จะเน้นงานข่าว งานคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นเนื้อหาหนักที่ทำให้นิสิตน้อยคนจะเลือกเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วผนวกกับการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์หลายเล่ม โดยเฉพาะนิตยสาร ทำให้ตำแหน่งงานหรือ ‘ดีมานด์’ ต่ออาชีพด้านสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง รายได้ที่ค่อนข้างต่ำ จึงยิ่งผลักให้นิสิตเลือกเรียนภาควิชาวารสารฯลดลง และมีแนวโน้มลดลงทุกปี

….ทักษะที่ยังต้องสอนและนักข่าวต้องมีต่อไปยังเป็นทักษะการเข้าถึงแหล่งข่าวและหาแหล่งข้อมูล แต่คุณสมบัติใหม่ที่ต้องเพิ่มลงไปคือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าสู่ทิศทาง Data Journalism ได้ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่งานเขียน

“ผศ.ดร.พิจิตรา”ยังได้พูดถึงวิธีการเสนอข่าวสาร การเขียนข่าวในยุคปัจจุบันให้น่าสนใจว่า  สไตล์วิธีการเขียนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักข่าวต้องปรับเมื่อเป็นดิจิทัล ซึ่งสะท้อนมาถึงการเรียนการสอนในภาควิชาฯที่ต้องปรับตามเช่นกัน เพราะการรับสื่อบนดิจิทัลต่างไปจากอนาล็อก สไตล์การเขียนและการพาดหัวต้องแรงกว่า เป็นกระแสมากกว่า ดึงความสนใจคนได้มากขึ้น มีลักษณะ ‘คลิกเบท’ หรือการพาดหัวเพื่อกระตุ้นให้คนคลิกอ่านมากขึ้น

ติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียด ในรายงานพิเศษ   กะเทาะเปลือกหลักสูตรปั้นนักข่าว สื่อมวลชนของมหาลัยรัฐ – เอกชน ในยุคดิจิทัล 4.0  ได้ในจุลสารราชดำเนิน ฉบับล่าสุด  หรือ อ่านเนื้อหาทั้งหมดในจุลสารราชดำเนินได้ทาง


http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4194:-32-2559--9&catid=35:rachdmenin-booklet&Itemid=32