Facebook Live ตัว “ช่วย” หรือ “ฆ่า” ทีวีไทย

 

Facebook Live

ตัว “ช่วย” หรือ “ฆ่า” ทีวีไทย

กับกระแสที่ผู้คนในแวดวงสื่อ เอเจนซี  รวมถึงประชาชนผู้ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางใหม่ๆ กำลังพูดถึงกันมากในเวลานี้กับการที่ คนดัง ใช้สื่อใหม่อย่าง Facebook Liveเป็นช่องทางสื่อสารแนวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณี  สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่กลับมาอีกครั้งกับการ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้แบบ ผ่านFacebook Live หรือกรณี ของ อดีตนักการเมือง ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ อย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  ที่สื่อผ่านเพจ ‘ชูวิทย์ I’m Back’ ตลอดจน วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ที่กำลัง จะเข้ามาใช้เฟสบุ๊ก ไลฟ์ เป็นช่องทางใหม่ ในการ ทำธุรกิจสื่ออย่างจริงจัง หลังเตรียมยุติรายการ เกิดมาคุย ทางช่อง 9

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา  โทรทัศน์ กระแสหลัก เกือบทุกช่อง

ได้มีการใช้ช่องทาง Facebook Live มาเป็น จุดเสริม ในการสื่อสารให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ พวกรายการข่าว การรายงานสด

จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าFacebook Live ตัว “ช่วย” หรือ “ฆ่า” ทีวีไทย

ก่อนหน้านี้ จุลสารราชดำเนิน ฉบับล่าสุดที่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ได้นำเสนอรายงาน  ดังกล่าว ก่อนที่จะเกิดกระแสที่วงการสื่อกำลัง พูดถึงกันมากเรื่อง เฟสบุ๊ก ไลฟ์ หลังเกิดกรณีของ สรยุทธ-วู้ดดี้  อันเป็นข้อมูลที่สำรวจ พฤติกรรมการใช้ Facebook Live ของสื่อทีวีช่องต่างๆ เมื่อหลายเดือน ก่อนหน้านี้ และได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า

สื่อทีวีของไทยจะใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กอย่าง Facebook Live ใน 2 ลักษณะ 1.ไลฟ์รายการข่าวหรือรายการสดๆ (ละคร กีฬา วาไรตี้ ฯลฯ)ที่ออกอากาศคู่ขนานอยู่ในขณะนั้น และ2.ไลฟ์เหตุการณ์สำคัญ หรือเหตุการณ์ที่คนน่าจะให้ความสนใจ

จักรพงษ์ คงมาลัย” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ไอทีชื่อดัง Thumbsup.in.th และปัจจุบันมาเปิดบริษัทดิจิทัลเอเจนซี่Moonshot มองว่า Facebook Live ถือเป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของวงการสื่อที่น่าสนใจ และควรจะต้องจับตามอง แม้ว่าการ“ไลฟ์” ช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่เมื่อทางเฟซบุ๊กได้ลงทุนด้าน server มากขึ้นจนเสมือนเราไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการสื่อไปอีกขั้น โดยเฉพาะการลดต้นทุนการถ่ายทอดสดที่ไม่ต้องการเครื่องไม้เครื่องมือมากเช่นเดิมอีกต่อไป พร้อมกับมองว่า คนในแวดวงสื่อก้ต้องปรับตัว เพราะการ “ไลฟ์” จะเข้ามาเปลี่ยนcontent ในการนำเสนอ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ หากคุณทำได้ไม่ดีเพียงพอ สุดท้ายก็อาจจะพ่ายแพ้คนธรรมดาที่ทำได้ดีกว่าสื่อมวลชนอย่างคุณในบางครั้ง โดยเฉพาะพวก micro influencer ที่มีความเชี่ยวชาญในบางด้าน เช่น บรรดาบล็อกเกอร์ต่างๆ

“ความจริง Facebook Liveไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เป็นเพียงอีกรูปแบบในการถ่ายทอดสดเท่านั้น และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็มีการให้ไลฟ์มาก่อนหน้านี้แล้วทั้งนั้น ทั้ง Youtube Live หรือTwitter Live และไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมี LINE Live ก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม ก็มีคนตั้งข้อสังเกตเชิงลบต่อ Facebook Live ว่าอาจเป็นการฆ่าสื่อทีวีทางอ้อม เช่น “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการด้านสื่อ ที่ระบุว่า ทราบว่าทางเฟซบุ๊กประเทศไทยพยายามติดต่อให้ทีวีของไทยช่องต่างๆ ทำรายการเฉพาะที่ออกอากาศเฉพาะทาง Facebook Live โดยจะจ่ายเงินตอบแทนให้ตามระยะเวลาที่ออกอากาศ ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกรณีนี้คือเฟซบุ๊กเอง เพราะเท่ากับส่งเสริมให้เนื้อหาใน “ไลฟ์” ดึงความสนใจของคนไปจากหน้า “จอ”

ส่วน ระวี ตะวันธรงค์ ผู้จัดการแผนกโซเชียลมีเดียของเครือไทยรัฐ ในฐานะผู้ดูแลโซเชียลมีเดียของสื่อยักษ์ใหญ่หัวเขียวทั้งหมด ซึ่งรวมถึงไทยรัฐทีวีด้วย ระบุว่า เนื่องจาก Facebook Live เป็นฟีเจอร์ใหม่ของทางเฟซบุ๊ก เลยมีการปรับอัลกอริทึมให้การ “ไลฟ์” ต่างๆ จะมีโอกาสถูกพบเห็นมากขึ้นกว่าการโพสต์ข้อความ รูป หรือคลิปธรรมดา และมองว่า  Facebook Live ไม่ได้ทำร้ายทีวี เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำไลฟ์มา พบว่า rating ของทีวีไม่เคยตกเลย นอกจากจะไม่ตกแล้วยังจะทำให้คนหันมาดูทีวีมากขึ้นด้วยซ้ำ เห็นได้จากที่เคยไลฟ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลทีมชาติไทยผ่านทาง Youtube Live แทนที่คนจะดูผ่านยูทิวบ์ไปตลอด ปรากฎว่าจำนวนไม่น้อยหันมาดูทีวี เพราะดูผ่านยูทิวบ์หน้าจอมันเล็ก มันไม่อิ่ม และจากที่เราเคยดูสถิติก็ปรากฎว่า คนที่เข้ามาดูไลฟ์ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเครือไทยรัฐ จะดูอยู่ได้แค่ 5-10 นาที ไม่ได้ดูจนจบ แล้วบางส่วนก็ตามมาดูทีวี

“ที่สำคัญคนที่ดูผ่านทั้ง 2 ช่องทางนี้เป็นคนละกลุ่มกัน”

เขายังกล่าวถึงนโยบายในการใช้Facebook Live ของเครือไทยรัฐว่า จะมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะ “ไลฟ์” ประเด็นอะไรบ้าง แล้วทุกคนจะ “ไลฟ์” ในนามช่อง เพราะทำงานเป็นทีม จะไม่มีการไปทำส่วนตัว หรือทำในนามโต๊ะตัวเอง (เห็นได้จากเครือไทยรัฐที่ไม่มีเพจแยกเป็นรายการเหมือนทีวีช่องอื่นๆ) ที่สำคัญหากทำในนามช่อง เมื่อเกิดวิกฤตอะไร องค์กรก็จะลงมาช่วยแก้ปัญหา

ระวี” กล่าวทิ้งท้ายว่า ต่อไปคนที่ต้องการจะมาเป็นสื่อมวลชนจะลำบาก เพราะไม่ได้แข่งกับสื่อมวลชนด้วยกันเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับคนที่มีกล้องทั้งประเทศ และนอกจากนั้นยังมีเพจอย่าง จ่าพิชิต ขจัดพาลชน , อีเจี๊ยบ เลียบด่วน ที่มีความเป็นสื่อมวลชนเล็กๆ แต่เราไม่สามารถห้ามใครได้ เราจึงต้องทำก่อนเขาหนึ่งก้าว

อ่านรายงานพิเศษเรื่อง Facebook Live ตัว “ช่วย” หรือ “ฆ่า” ทีวีไทย

ได้ในจุลสารราชดำเนินฉบับปัจจุบันหรือดาว์โหลดอ่านทั้งฉบับได้ที่

http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4194:-32-2559--9&catid=35:rachdmenin-booklet&Itemid=32