ชีวิต-การทำงาน ช่างภาพโทรทัศน์ การปรับตัวท่ามกลาง สื่อยุคใหม่

 

Life of journalist

…………………………..

ชีวิต-การทำงาน ช่างภาพโทรทัศน์

การปรับตัวท่ามกลาง สื่อยุคใหม่

ในยุคที่สื่อมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อตอบรับกับโลกออนไลน์ที่มีการสื่อสารที่ฉับไว และเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนไปอย่างมาก สำนักข่าวต่างๆก็ต้องมีการรื้อเครื่องปรับตัวกันยกใหญ่ ซึ่งนักข่าวยุคใหม่นอกจากจะทำข่าวได้แล้ว อาจจะต้องถ่ายคลิปวีดีโอ เพื่ออัพโหลดประกอบข่าวออนไลน์ หรือบางครั้งอาจนำมาออกอากาศได้เลย จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ท่ามกลางความสามารถของนักข่าวที่มีมากขึ้น การทำงานของช่าวภาพทีวีมีความกดดันมากขึ้นตามหรือไม่ แล้วอนาคตอาชีพนี้จะมีความสำคัญต่อไปหรือไม่อย่างไร?

“จุลสารราชดำเนิน”พูดคุยกับ ช่างภาพทีวีหลายสำนัก-หลายค่าย จนได้คำตอบในมุมคิดของแต่ละคน

ทุกวันนี้มี ผมความกดดันนิดหน่อยในการทำงาน เพราะมีการแข่งขันกันมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำงานถ่ายภาพอย่างเดียวอาจจะไม่ต้องคิดอะไรมา เมื่อเสร็จแล้วเราอาจจะใช้เวลาสักพัก เพื่อรอให้มีคนมารับไฟล์ภาพไปนำไปตัดต่ออีกที แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ช่างภาพบางช่องต้องมีคุณสมบัติตัดต่อเองได้เพื่อแข่งกับเวลาออกอากาศ ยิ่งสถานีโทรทัศน์มีสื่อออนไลน์ร่วมด้วย เราก็ยิ่งต้องเร่งมือการทำงานของเราด้วย“พี่ดาวุด” ช่างภาพโทรทัศน์ ประจำสายรัฐสภา เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานในสื่อยุคใหม่ให้เราฟัง

เขายังเล่าต่อไปว่า ส่วนที่นักข่าวสามารถถ่ายคลิปวีดีโอเองได้แล้วนั้น จริงๆแล้วต้องบอกเราก็ทำหน้าที่คนละอย่างกับนักข่าวภาคสนาม คือเขาอาจจะถ่ายภาพได้ ถ่ายคลิปได้ มีความไวกว่าช่างภาพโทรทัศน์ แต่ก็อาจไม่ได้มุมภาพที่ดี เท่ากับช่างภาพที่เรียนจบมาโดยตรงด้านนี้ ช่างภาพจะรู้ว่าต้องถ่ายภาพมุมไหน องค์ประกอบของภาพต้องมีอย่างไรถึงจะดูดี เพราะเรื่องภาพที่มีคุณภาพถือยังมีส่วนสำคัญต่อข่าวทางโทรทัศน์ หรือแม้แต่ข่าวหนังสือพิมพ์เองก็ต้องมีช่างภาพเช่นกัน ซึ่งเป้าหมายหมายของวิชาชีพนี้ก็คือ การที่เราถ่ายภาพได้ดี และมีคุณภาพ

 

นอกจากนี้ พี่ดาวุด ยังเล่าถึงรายได้ของช่าวภาพทีวีอีกว่าในเรื่องนี้ จริงๆก็อยู่ได้ถ้าเรารู้จักใช้เงินเดือน และวางแผนดีๆ คือเมื่อเรารู้ว่าเรามีรายได้เท่านี้ และเราก็ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ค่อยดี ซึ่งช่องของผมไม่ได้รับผลกระทบเพียงช่องเดียวเท่านั้น แต่ทุกช่อง และคนที่ทำวิชาชีพสื่อหลายๆแขนงก็ได้รับผลกระทบกันหมด ดังนั้นก็ต้องประหยัดห้ามใจกันในบางครั้งบ้าง แต่ตนเชื่อว่าอนาคตเศรษฐกิจจะต้องดีขึ้น

ด้าน “ปริญญา สมศักดิ์” หรือ “ลาม ช่างภาพมากประสบการณ์ประจำทำเนียบ เล่าถึงการทำงานของช่างภาพทีวี ในยุคที่สื่อมีความเปลี่ยนแปลงว่า ต้องบอกก่อนว่าภาพแต่ละภาพที่ออกมาจากช่างภาพ และนักข่าวนั้นย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ซึ่งช่างภาพแต่ละคนก็จะมีมุมมองเรื่องขององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย ส่วนนักข่าวจะได้เรื่องของความเร็ว และพร้อมใช้พอเห็นภาพได้ ส่วนที่มีคนเข้าใจว่าช่างภาพทีวีอาจไม่จำเป็นสำหรับสื่อยุคใหม่มากนัก ต้องบอกว่าจริงๆแล้วทั้งภาพและข่าวก็ต้องเป็นของที่คู่กันไม่อาจแยกกันได้ อย่างไรเสียก็ต้องมีช่างภาพอยู่ดี ยิ่งเดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ส่งภาพจากกล้องไปยังสถานี ได้ไวพอๆกับการส่งผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ต่างกันที่คุณภาพของภาพจะดีกว่า ด้วยเหตุนี้ตัวเองจึงไม่รู้สึกมีความกดดันในยุคที่สื่อมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีการแข่งกับเวลาที่เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากนัก ซึ่งช่องของผมเองให้ความสำคัญกับเรื่องของภาพมากกว่า คือต้องมีภาพไว้ก่อน ขอให้ได้ออกอากาศก่อน

สำหรับรายได้ในยุคนี้นั้น ก็ต้องมีอาชีพเสริมบ้าง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นไม่ได้มีลดลง บอกได้เลยว่าถ้าอยู่ในกรุงเทพฯอย่างไรก็ไม่พอ ถ้าต้องจ่ายค่าที่พักอะไรด้วย ซึ่งช่าวภาพทีวีส่วนมากจะถ่ายภาพนิ่ง และวีดีโอได้ เขาก็จะมีรับจ๊อบเสริมเป็นงานๆไป อย่างผมเองก็มีคอนเน็คชั่นสมัยเคยทำงานโปรดัคชั่นเฮาส์ ก็ยังพอมีงานเสริม เช่นช่วยถ่ายละคร ก็ทำให้มีรายได้ที่โอเคอยู่ ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ “ณรงค์เดช วงษ์สะอาด” หรือ “เอฟ” ช่างภาพประจำทำเนียบรัฐบาลอีกคน ที่เปิดใจถึงเรื่องการทำงานกับเราว่า ตนเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักข่าวยุคนี้ ตัวเองก็มีความรู้สึกกดดันในการทำงานบ้าง เพราะว่าทุกวันนี้คำว่า “ช่างภาพ” เปลี่ยนไป หมายความว่าใครๆก็สามารถบันถึกภาพได้เองแล้ว บางคนถ่ายภาพสวยกว่าช่างภาพจริงๆเสียอีก นั่นหมายความว่าช่างภาพสมัยนี้ต้องไม่ตายกับมุมมองเดิมๆ หากแต่ต้องสรรหามุมแปลกๆใหม่ๆเยอะขึ้น แต่ส่วนตัวชอบในงานนี้เป็นทุนเดิม เป็นอาชีพที่รักและเลี้ยวตัวเราได้ จึงรู้สึกต้องทำเต็มที่ทุกครั้ง ด้วยรูปแบบการนำเสนอข่าวของออฟฟิศที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน เช่นเพิ่มช่วงข่าวที่ออกทางไลฟ์เฟสบุ๊คด้วย ทำให้งานของเราถูกกำหนดเพิ่มไว้ว่านอกจากไว้ว่าถ่ายวีดีโอได้ ต้องตัดต่อได้ด้วย บางคนเก่าๆที่ตัดต่อไม่เป็นเขาก็ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม

ในปัจจุบันเรื่องของการแข่งขันด้านสื่อมีอยู่สูงมาก ทำให้นิยามของข่าวโทรทัศน์เปลี่ยนไปโดยปริยาย จากเมื่อก่อนสื่อร้อนคือข่าวทีวี ส่วนสื่อเย็นคือข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ส่วนตัวมองว่าตอนนี้สื่อร้อนคือข่าวออนไลน์แล้ว ส่วนสื่อเย็นก็คือเรานี่แหล่ะ เพราะบางทีไม่ทันโซเชี่ยลมีเดียในบางมุม สำหรับอนาคตของวิชาชีพช่าวภาพทีวี นั้นก็ไม่ได้หายไปแน่นอน แต่ว่าจะถูกปรับเปลี่ยนและเพิ่มหน้าที่มากกว่า เช่น อาจจะต้องทำไลฟ์สดไประหว่าถ่ายภาพไปด้วย หรือรูปแบบการถ่ายภาพปัจจุบันอาจไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วเป็นต้น

เอฟยังเล่าถึงรายได้ ของอาชีพนี้อีกว่า ก็อาจจะได้เงินเดือนน้อยหน่อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่ที่ทำอยู่เพราะว่าเราสนุกกับงานนี้ แต่เราก็ต้องมีอาชีพเสริม อย่างตนก็ขายอุปกรณ์อะไหล่รถไปด้วย เพราะส่วนตัวก็เล่นรถด้วย ทำให้มีรายได้อยู่บ้าง ซึ่งจริงๆแล้วการจะอยู่ได้ด้วยเงินเดือนนักข่าว ก็อาจมีปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับสำนักข่าวที่เราสังกัด บางที่อาจให้เงินเดือนสูงอยู่ เพราะว่านักข่าวก็ต้องทุ่มเวลาให้งานไปเลย

ทั้งหมดคือประสบการณ์การทำงานของช่างภาพโทรทัศน์

ในการปรับตัวของสื่อยุคใหม่ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ว่าการปรับตัวนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด แต่เรื่องของภาพที่ดีก็ยังมีความจำเป็นต่อข่าวที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่ อาชีพช่างภาพ นั้นจะหายไป หรือหมดความสำคัญ เพียงแต่ว่าพวกเขาเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เข้มข้น ไม่แพ้นักข่าวภาคสนามเลย