แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก3พฤษภาคม”เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน”

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่3พฤษภาคมของทุกปี เป็น“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนมืออาชีพได้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีภาพและปลอดภัย 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ยืนหยัดสนับสนุนหลักการดังกล่าว ต้องการเห็นสื่อมวลชนทุกแขนงยึดมั่นและตระหนักถึงคุณค่าเสรีภาพ ภายใต้หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในปีนี้วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกครบรอบ30ปี ตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) และกลุ่มมวลชนทางการเมืองเคลื่อนไหวต่อสู้กันรุนแรงทุกมิติ กลายเป็นสมรภูมิขับเคี่ยวทางความคิดระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย อยู่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้สำหรับควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  สุ่มเสี่ยงถูกอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน อำนาจรัฐควรปล่อยให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ดูแลความปลอดภัยการทำงานสื่อมวลชนที่เข้าไปรายงานในพื้นที่ชุมนุม และสื่อมวลชนไม่ควรตกเป็นเป้าของมวลชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง

ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์   มีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย เปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานของสื่อมวลชน โดยต้องหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

2.ขอเรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวปลอม(Fake News) และควรใช้สิทธิในการตรวจสอบสื่อมวลชนควบคู่ไปด้วย

3.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำหน้าที่รายงานถึงสาเหตุของปัญหา นำเสนอทางออก หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ตามหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ความขัดแย้ง และพื้นที่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19

4.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำที่ทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  

3 พฤษภาคม 2564