26ตค50-ขอให้ยกเลิกระเบียบและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้

ที่   พิเศษ  / 2550

 

26  ตุลาคม  2550

 

เรื่อง      ขอให้ยกเลิกระเบียบและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้

ข่าวสารของประชาชนและสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของสื่อมวลชน

เรียน      ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สิ่งที่ส่งมาด้วย      รายนามผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน และข้อเสนอเพื่อยกเลิกประกาศ

และระเบียบดังกล่าว

 

สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ วันที่ 24 ตุลาคม 2550 ซึ่งมีหลายประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของสื่อมวลชนโดยเฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์  ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550  อันขัดต่อเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้ แทนองค์กรสื่อมวลชน ดังปรากฏรายนามข้างท้ายจดหมายนี้ จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายกเลิกระเบียบและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีปัญหาในประเด็นดัง กล่าวโดยเร็วที่สุด  อีกทั้งออกระเบียบและประกาศใหม่ที่สอดคล้อง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และส่งเสริมต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แ่ห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศนไทย
ลายเซ็นต์สื่อมวลชน1
ลายเซ็นต์สื่อมวลชน2
ลายเซ็นต์สื่อมวลชน3

ผลสรุปและข้อเสนอแนะ จากผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน

ผลกระทบจากระเบียบและประกาศดังกล่าว

  1. สื่อมวลชน ไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี เป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่งผลให้การปฏิรูปการเมืองตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาสูญเปล่า
  2. ระเบียบของ กกต.  เข้มงวดเกินไป ทำให้การตีความแตกต่างกันและเกิดความสับสน

เช่น การปรากฏในข่าว  หรือการรับเชิญไปให้ข้อมูลที่สถานี  การให้สัมภาษณ์ ออกอากาศ ทำได้หรือไม่

ความเท่าเทียมทุกพรรคการเมืองและความเป็นธรรม มีขอบเขตกว้างหรือแคบอย่างไร เป็นต้น

  1. กกต.ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ขาดความเป็นเอกภาพ  และออกระเบียบเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย
  2. สื่อมวลชน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ นักการเมืองไม่กล้าให้สัมภาษณ์และปฏิเสธคำเชิญเพื่อปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน โดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์  โดยอ้างว่าขัดกับระเบียบ กกต.   ทำให้ และขาดข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ข้อเสนอ

ให้ยกเลิกระเบียบและประกาศที่ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของสื่อมวลชน และเขียนระเบียบและประกาศใหม่ที่มีความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกทั้งส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ตัวอย่างประเด็นที่เป็นปัญหา

  1. การห้ามนักการเมืองรับเชิญไปออกอากาศ  ไม่ควรระบุเป็นข้อห้ามควรให้เป็นวิจารณญาณและดุลพินิจของสื่อมวลชน เพราะสื่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบข่าวและรายการที่ได้นำเสนอไปอยู่แล้ว
  2. การกำหนดขอบเขตและตีความ “ความเท่าเทียมและเป็นธรรม”   ควรพิจารณาในภาพรวมของการนำเสนอข่าวทั้งระบบ ไม่ใช่ต้องเชิญทุกพรรคการเมือง ทุกครั้งที่นำเสนอข่าว
  3. การเสนอข่าว การปล่อยเสียงสัมภาษณ์ การเชิญไปร่วมรายการที่สถานี ทำได้หรือไม่อย่างไร ในระดับใด เป็นต้น

4.  การจำกัดเรื่อง การติดป้ายหาเสียง ซึ่งต้องให้เฉพาะรัฐเป็นฝ่ายจัดหาให้

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

1.การควบคุม เน้นที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ แต่สิ่งพิมพ์และสื่ออีเลคทรอนิคส์ และสื่ออื่นๆ ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหา เช่น การสำเนาซีดี

2.  ความตั้งใจและเจตนาที่ดีของกกต.  กลับทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม จะทำให้พรรคหรือนักการเมืองที่มีอำนาจซื้อ หรือมีขนาดใหญ่  ได้เปรียบพรรคขนาดกลางและเล็ก

3. กกต. ควรเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสื่อมวลชน ที่จะพิจารณากลั่นกรองข้อมูลก่อนนำเสนอสู่สายตาประชาชน

ให้ดูเจตนาของการทำงานของสื่อมวลชนเป็นหลัก   แต่สิ่งที่ควรกระทำเพิ่มเติมคือ กระบวนการสร้างการตรวจสอบและป้องกัน เพื่อมิให้มีการละเมิดและกลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่า