ทำไม ผมถึงยังใช้พิมพ์ดีด ? / ชัชรินทร์ ชัยวัฒน์

ทำไม ผมถึงยังใช้พิมพ์ดีด ?

ชัชรินทร์  ชัยวัฒน์

 

อันที่จริง… การที่ผมยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในอาชีพขีดๆ – เขียนๆ แต่ยังไม่หัด “ปรับตัว – ปรับใจ” หันมายอมรับการใช้ “คอมพิวเตอร์” เป็นเครื่องมือในการขีดๆ – เขียนๆ แต่ยังคงใช้ “พิมพ์ดีด” เก่าๆ โทรมๆ ทิ่มๆ จิ้มๆ ให้เกิดเป็นต้นฉบับในแต่ละเรื่องแต่ละราวนั้น คงไม่ใช่เป็นเพราะผมตั้งอกตั้งใจว่าจะ “เอาต์” หรือจะ “อ็อบ” (obsolete) กันอย่างเป็นกิจการ หรือไม่ได้เป็นเพราะผมเป็นพวกมีทัศนคติออกไปทาง “ต่อต้านเทคโนโลยี” “ต่อต้านความก้าวหน้า” แต่อย่างใด…???

ในบรรดาพวกที่มีทัศนคติต่อต้านเทคโนโลยีและความก้าวหน้านั้น ว่ากันว่า … จะมีคำเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่าพวก “ลัดไดต์” (luddite) ซึ่งคำคำนี้มีการชี้แจงกันว่า มาจากชื่อของบุคคลคนหนึ่ง คือ นาย “เนล ลัคด์” ผู้ซึ่งมีความเจ็บปวดรวดร้าวในขณะที่มองเห็นการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น เทคโนโลยี “เครื่องซักผ้า” ที่ทำลายวิถีชีวิตของ “ช่างทอผ้า” ดั้งเดิมกันไม่น้อย เลยถึงขั้นปลุกระดมให้ช่างทอถุงน่องในเขต “มิดแลนด์ส” ของประเทศอังกฤษ บุกเข้าทำลายเครื่องทอผ้ากันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 กันเลยทีเดียว…

แต่สำหรับผมแล้ว .. คงไม่ไปไกลถึงขั้นนั้น คือผมยังเขียนหนังสือ เขียนต้นฉบับอยู่ได้โดยไม่ได้ถูก “คอมพิวเตอร์” มาทำลายอาชีพเหมือนกับช่างทอผ้ามากนัก และตัวผมเองก็ไม่เคยคิดจะไปยุยงใครต่อใครให้บุกเข้าไปทุบคอมพิวเตอร์ในโรงพิมพ์  สำนักงาน ห้างร้าน หรือบริษัทต่างๆ แม้แต่น้อย… แต่การที่ผมยังยืนหยัดทิ่มๆ จิ้มๆ กับเครื่องพิมพ์ดีดกันต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่หันไปใช้คอมพิวเตอร์ กันแทนที่นั้น อาจเป็นเพราะผมรู้สึกว่า คอมพิวเตอร์นั้นอาจจะเป็นอะไรที่ไม่ค่อยเข้ากับ “ตัวตน” ของผมซักเท่าไหร่นัก….

เพราะโดยลักษณะตัวตนของผมแล้ว เวลาเขียนงานประเภทไหนก็แล้วแต่ ระหว่างจิ้มๆ – ทิ่มๆ อยู่นั้น นอกจากจะพยายามอาศัยสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ใน “สมอง” แล้ว มักจะต้องอาศัยสิ่งที่มีอยู่ใน “ใจ” ควบคู่ไปอีกต่างหาก แน่นอนว่า… ยิ่งถ้าหากเป็นงานเขียนประเภท เรื่องสั้น, นวนิยาย, บทกวีด้วยแล้ว ก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ใจ” เข้าไปเป็นองค์ประกอบกันไม่น้อยทีเดียว…

ครั้งหนึ่ง…. เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ที่ผมพยายามใช้หรือทดลองใช้สิ่งที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” ในระหว่างการเขียนเรื่องสั้น สิ่งที่เรียกว่า “ใจ” ที่มันทำให้เกิดการถั่งทะลักทางอารมณ์ออกมาอย่างเมามัน ส่งผลให้ความรู้สึกเลื่อนไหลจนลืมกดปุ่ม “เซฟ” เอาไว้เป็นระยะๆ ในขณะที่ต้นฉบับกำลังใกล้จะจบอยู่มะรอมมะร่อ.. ไฟฟ้าก็ดันดับขึ้นมาพอดิบพอดี… สุนทรียะอันละเมียดละไมบรรเจิดเพริศแพร้วทั้งหลายที่หลั่งออกมาเป็นดุ้นๆ ต่างก็สูญสลายเข้าไปในตับไตไส้พุงของคอมพิวเตอร์กันดื้อๆ จะแงะไส้แงะพุง กรอกยาถ่ายให้คอมพิวเตอร์ถ่ายออกมาเป็นต้นฉบับที่เราอุตส่าห์ลงแรงลงใจเขียนไปเยอะแล้ว… ก็ทำไม่ได้.. ความรู้สึกระหว่างผมกับคอมพิวเตอร์ก็ชักจะ… “ยังไงๆ” มาตั้งแต่บัดนั้น…

นอกจากนั้น… การจิ้ม, การทิ่มที่อาศัย “ใจ” เข้าไปเป็นองค์ประกอบนั้น มักจะเลี่ยงไม่พ้นที่อาจจะต้องใช้ลีลากระแทกกระทั้น, บดขยี้, ตบแคร่พิมพ์กลับตึงๆ - ตังๆ มันถึงจะทำปฏิกิริยาในอารมณ์ได้เต็มที่ ซึ่งความแข็งแกร่ง, ทนมือทนตีน, ความเรียบง่าย ตรงไป-ตรงมาของพิมพ์ดีด ทำให้ผมเป็นอะไรที่ตอบสนองอารมณ์ได้ถนัดกว่า แต่สำหรับคอมพิวเตอร์นั้น อะไรต่อมิอะไรนอกจากจะดูบอบบาง กระแทกหนักๆ ทิ่มหนักๆ ก็คงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างที่เราเงยหน้าดูมัน จอภาพที่มีแสงเรืองๆ ตลอดเวลา ดูไป-ดูมาแล้วเหมือนกับมันไม่ใช่  “เครื่องมือ-เครื่องใช้” ซักเท่าไหร่นัก แต่คล้ายกับมันกำลังจ้องมองดูเราแบบไม่วางตา กลืนกินสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเขียนเข้าไปไว้ใน “สมอง” หรือ “ความทรงจำ” ของมัน… ในขณะที่ตัวมันเองเป็นสิ่งที่ไม่ได้มี “ใจ” ใดๆ แม้แต่น้อย…???

แม้นว่าทั้ง “คอมพิวเตอร์” และ “พิมพ์ดีด” ต่างก็เป็น “สิ่งของ” ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ระหว่างที่ผมปั่นต้นฉบับโดยใช้พิมพ์ดีด ผมรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพิมพ์ดีด มันเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเรียบๆ – ง่ายๆ และตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องมีอะไรเข้ามาสอดแทรกมากมายนัก ถ้าหากจะพูดให้เวอร์ซักหน่อย ก็อาจจะคล้ายๆ กับการใช้เลื่อย ใช้กบของช่างไม้, การใช้มีดของช่างแกะสลัก, การใช้พู่กันของจิตรกร, การใช้ดาบของนักดาบ… ฯลฯ อะไรประมาณนั้น เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่สามารถทำให้ความแตกต่างระหว่าง “คน” กับ “สิ่งของ” สามารถหลอมละลายเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ลักษณะความเรียบ–ง่าย ความตรงไป–ตรงมาภายในตัวมัน  กลับทำให้เราเกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจใน “ศักยภาพของตัวเรา” ว่ามีอยู่มากน้อยขนาดไหน ???

แต่โดยอาศัย “ความช่วยเหลือ” จาก “คอมพิวเตอร์” ในแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุกๆ จิกๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ผมมักรู้สึกว่า ภายใต้ความช่วยเหลือในแต่ละเรื่องแต่ละราว มักจะต้องมีอะไรสอดแทรกเข้ามาระหว่างความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องมือ–เครื่องใช้ชนิดนี้ที่ดูรุงรังไม่น้อย ไม่ว่าตั้งแต่ไฟฟ้า, โปรแกรม, หน่วยความจำ, หน่วยประมวลผล, ข้อมูล, แหล่งข้อมูล,… ฯลฯ และอะไรก็ตามที่เข้ามาสอดแทรกระหว่างความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องมือ-เครื่องใช้ชนิดนี้… มักจะทำให้เราต้อง “พึ่งพา” หรือต้องอาศัย “ความช่วยเหลือ” ของมันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเราอาจจะไม่รู้ว่าศักยภาพของตัวเรานั้นเป็นยังไงกันแน่ ??? หรือดีไม่ดีก็อาจจะเกิดความสับสนไปได้ว่า… ศักยภาพของคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถพึ่งพามันได้มากๆ นั้น… คือศักยภาพของตัวเราเอง… ???

แม้นว่าในงานเขียนบางประเภทที่ผมยังต้องขีดๆ  เขียนๆ อยู่ในขณะนี้ เช่น ข่าว, บทความ, บทวิเคราะห์, สารคดี… ฯลฯ เป็นงานเขียนที่จะต้องใช้ “ข้อมูล” เป็นจำนวนไม่น้อย และผมก็เคย “ตกตะลึง” เมื่อพรรคพวกรายหนึ่งได้เปิดคอมพิวเตอร์ให้เห็นบรรดาแหล่งข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับงานเขียนต่างๆ ได้มากมาย…. แต่ผมก็ยังคงอีหลักอีเหลื่อกับการปรับตัว–ปรับใจหันไปใช้คอมพิวเตอร์จนกระทั่งในขณะนี้….  …นั่นไม่ใช่เพราะผมไม่สนใจในข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่คงเป็นเพราะโดยตัว “คอมพิวเตอร์” เองนั่นแหละ… ที่ทำให้ผมอดตั้งข้อสงสัยขึ้นมาไม่ได้ว่า ในขณะที่ตัวมันเองสามารถเอื้ออำนวยให้ผู้คนมีโอกาส “เข้าถึงข้อมูล” หรือสามารถ “รับรู้ข้อมูล” กันได้มากมายมหาศาลถึงเพียงนี้…

แต่เหตุใด ”ประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูล” ของผู้คนที่อยู่ใน “สังคมคอมพิวเตอร์”   … นับวันดูจะมีอาการลดต่ำลงไปทุกที.. การวิเคราะห์, แยกแยะ, การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิด “ภาพรวม” ที่ชัดเจนของปรากฏการณ์หนึ่งปรากฏการณ์ใด ที่จะทำให้ผู้คนสามารถรับรู้ความถูก–ความผิด , ความชอบธรรม–ไม่ชอบธรรม, ความดี–ความเลว … ฯลฯ ภายใต้สังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ … เหตุใดถึงกลับเต็มไปด้วยความสับสน, พร่ามัว, เกิดทัศนคติในการมองปรากฏการณ์ต่างๆ แบบแยกออกเป็นส่วนๆ เต็มไปด้วยความชุลมุนชุลเก… จนทำให้ใครต่อใครมีสภาพไม่ผิดกับ “สุนัขบนทางด่วนข้อมูล–ข่าวสาร” หนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ … ??? ???

ด้วยเหตุนี้ .. แม้นว่าในงานเขียนหลายชิ้นหลายประเภท ผมจะอาศัย “ข้อมูล” จากคอมพิวเตอร์ (ที่พรรคพวกส่งมาให้) จำนวนไม่น้อย… แต่ผมก็คงอาศัย “พิมพ์ดีด” เป็นเครื่องมือในการย่อยข้อมูล, แยกแยะ, เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ โดยยังไม่อยากจะหลวมตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของคอมพิวเตอร์ตราบจนเท่าทุกวันนี้ … พูดง่ายๆ ว่า ผมไม่ได้ถึงกับ “ปฏิเสธ” หรือ “ต่อต้าน” คอมพิวเตอร์… เพียงแต่ผมรู้สึกว่า “เครื่องมือ” เท่าที่ผมมีอยู่ ยังสามารถใช้ตอบสนองต่อ “เป้าหมาย” ในงานเขียนแต่ละเรื่องแต่ละราวของผมได้อย่างสมบูรณ์ แม้นว่าผมอาจจะต้องใช้แรงทิ่ม, แรงกระแทกค่อนข้างมากหน่อย ใช้ความขวนขวาย ใช้สติปัญญาของตัวเองในการสังเคราะห์ข้อมูล ลดความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ยืดอกยอมรับ “ความเชยช์ช์ช์”  กันอย่างเป็นกิจการ… ฯลฯ  เพียงแค่นี้ก็ทำให้ผมสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมเทคโนโลยีได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองสับสน, พร่ามัว, ชุลมุนชุลเกไปตามกระแสสังคมมากนัก…

นอกจากนั้น… ผมอาจคิดเอาเองว่า แม้ว่าเทคโนโลยีที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” นั้น… จะนำเอา “สิ่งใหม่ๆ” หรือสิ่งที่เรียกว่า “ความก้าวหน้า” เข้ามาให้กับคนที่ประกอบอาชีพเขียนหนังสือ รวมทั้งอาชีพอื่นๆ ได้ไม่น้อย.. แต่ “สิ่งใหม่ๆ” หรือ “ความก้าวหน้า” ที่ว่านี้…   ดูจะมีเป้าหมายมุ่งตรงไปที่การก่อให้เกิด “ความสะดวกสบาย” ต่อผู้ใช้ มากกว่าที่จะมุ่งก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์, ทักษะ, การเรียนรู้ถึงความถูกต้อง, ความชอบธรรม, การพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกให้กับผู้ใช้เครื่องมือชนิดนี้ได้มากมายนัก ดีไม่ดี… ความสะดวกสบายที่ได้รับจากเครื่องมือชนิดนี้อาจจะให้ผลในทาง “ตรงกันข้าม” กันเลยก็ไม่แน่ ? เพราะโดยความที่มันเป็น “เครื่องจักรที่คิดได้” …  มันอาจจะทำให้ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันหรือ “พึ่งพา” มันมากเกินไป… อาจจะลืมคิดไปว่ามันเป็นเพียงแค่ “เครื่องจักร” และเมื่อลืมคิดไปว่ามันเป็นแค่เครื่องจักร.. ผู้คนเหล่านั้นก็อาจจะลืมคิดไปว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากเครื่องจักรนั้น…  ก็คือ “จิตใจ” และถ้าหากเราลืมคิดถึงเรื่องจิตใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ… โอกาสที่เราจะแยกแยะความถูก–ความผิด, ความดี–ความเลว, ความชอบธรรม–ไม่ชอบธรรม… อันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในวิถีทางของความเป็นมนุษย์… ก็อาจจะลดทยอยลงไปได้เช่นกัน…???

ในหนังสือเรื่อง “ทัศนะของนักฟิสิกส์ต่อธรรมชาติ” ของ “เวอร์เนอร์  ไฮเซนเบิร์ก” ได้นำเอา “นิทานของปราชญ์โบราณ” เรื่องหนึ่งมาอ้างอิงเอาไว้น่าสนใจไม่น้อย.. และผมคิดว่ามันอาจจะพอใช้อธิบายความรู้สึกบางอย่างของคนประเภทที่ยังงมงายอยู่กับลักษณะอาการแบบ “โลว์เทค” ได้บ้าง… ว่าเอาไว้ยังงี้ว่า..

“ขณะที่จื่อกงกำลังเดินทางผ่านตอนเหนือของแม่น้ำฮั่น เขาเห็นชายแก่ผู้หนึ่งกำลังทำงานในสวนผัก โดยขุดคูทดน้ำเอาไว้ในที่หนึ่ง และผู้เฒ่าจะลงไปในบ่อ ตักน้ำขึ้นมาเหมือนหนึ่งแล้วเทลงไปในคู  ทั้งๆ ที่เขาทำงานอย่างหนัก แต่กลับปรากฏผลเพียงน้อยนิด  การกระทำเช่นนี้….  ทำให้จื่อกงอดไม่ได้ที่จะต้องแนะนำว่า … มีวิธีที่ลุงสามารถทดน้ำเข้าไปในคูนับร้อยๆ ได้ภายในวันเดียว และใช้แรงนิดเดียว… ลุงอยากฟังไหม ? เมื่อชาวสวนยืนขึ้นมองหน้าเขา และถามว่า … มันเป็นยังไงล่ะ ? … ฉันเคยได้ยินมาว่า ใครก็ตามที่ใช้เครื่องจักรทำงาน … งานของเขาก็จะเหมือนเครื่องจักร คนที่ทำงานเหมือนเครื่องจักร หัวใจก็จะเป็นเครื่องจักร และคนที่มีหัวใจเป็นเครื่องจักร ก็จะหมดความเรียบง่าย คนที่สิ้นความเรียบง่าย จะไม่มั่นใจในความอุตสาหะบากบั่นของจิตใจ และคนที่ไม่มั่นใจในความอุตสาหะบากบั่นของจิตใจก็จะไม่เห็นพ้องกับสำนึกอันสัตย์ซื่อ … ไม่ใช่ว่าฉันไม่รู้เรื่องพวกนี้ .. เพียงแต่ฉันละอายที่จะใช้มัน…”

ก็เอาเถอะ… เพื่อนพ้องน้องพี่สื่อมวลชนทั้งหลาย ท่านจะใช้ปากกา, พิมพ์ดีด, คอมพิวเตอร์ก็แล้วแต่.. แต่ก็ลองหาทางประคับประคอง “จิตใจ” หรือ “วิญญาณ” อย่าให้ละลายหายไป จนตัวเองกลายสภาพไปเป็น “เครื่องจักร” ก็แล้วกัน…