วงเสวนาชี้ต้องตรวจสอบข่าวให้หนักช่วงเลือกตั้ง ปลุกผู้บริโภคสื่อร่วมกดดันผู้สนับสนุนโฆษณาเพื่อแก้วิกฤติข่าวปลอม

วงเสวนาชี้ต้องตรวจสอบข่าวให้หนักช่วงเลือกตั้ง
ปลุกผู้บริโภคสื่อร่วมกดดันผู้สนับสนุนโฆษณาเพื่อแก้วิกฤติข่าวปลอม


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง “ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม : บทบาทหน้าที่สื่อสารมวลชนกับการเลือกตั้ง 2562” ณ อาคารสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ถ.วิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา

นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการกลุ่มข่าวสืบสวนสอบสวนและบริหารศูนย์ข่าวภูมิภาค สถานีโทรทัศน์ Thai PBS กล่าวว่า เรื่องของข่าวปลอม (Fake News) หรือข่าวลวงและข่าวลือนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตยังไม่มีเครื่องมือสื่อออนไลน์ที่สามารถส่งต่อข่าวสารได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างกันคือนักข่าวรุ่นก่อนๆ เน้นทำข่าวด้วยการลงพื้นที่จริง พูดคุยกับแหล่งข่าวจริง ไม่ได้ทำข่าวเพียงการแชร์ข่าวต่อกันอย่างเดียว ซึ่งมีความสำคัญมากในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำเสนอ

“การทำข่าวคือการลงไปหาข้อมูล เก็บภาพ สัมภาษณ์แหล่งข่าว ก็เป็นกระบวนการผลิตข่าวตามปกติ ถ้าแบบนี้จะไม่เจอข่าวปลอม ถ้ากระบวนการทำข่าวยังเป็นแบบนี้ข่าวปลอมน้อยลงแน่นอน ข่าวบางเรื่องจริงหรือไม่จริงต้องตรวจสอบก่อน เราถูกสอนให้ต้องตรวจสอบทุกเรื่อง ถ้าไม่ได้ทำข่าวเอง รับข้อมูลส่งต่อมาหรือไปได้ยินใครพูดมา ต้องตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ใช่ แม้กระทั่งเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมาก็ต้องตรวจสอบเหมือนกันว่าผู้ร้องเรียนเป็นใคร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร” นายคณิศ กล่าว


น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร นสพ.บางกอกโพสต์ กล่าวว่า ในแวดวงผู้สื่อข่าวที่ตามทำข่าวกองทัพนั้นก็สามารถพบเรื่องข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวปลอมเช่นกัน ในอดีตมีการทำใบปลิวมาวางไว้บริเวณหน้าห้องผู้สื่อข่าว ส่วนปัจจุบันพบการใช้วิธีสร้างเพจเฟซบุ๊ค (Facebook) ขึ้นมาโดยไม่ระบุว่าเป็นเพจของใครหรือองค์กรใด แล้วสร้างข่าวขึ้นมาก่อนจะมีผู้มาบอกให้นักข่าวเข้าไปดู ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้สื่อข่าวต้องตรวจสอบ ทั้งนี้แม้จะมีผู้กล่าวว่ายุคใหม่ข่าวลือแพร่กระจายไปได้ไกล แต่ในทางตรงข้ามการสอบถามกับแหล่งข่าวก็ทำได้ง่ายด้วย


สำหรับกรณีเมื่อเกิดกระแสข่าวลือขึ้น มุมหนึ่งรัฐบาล กองทัพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบชี้แจงให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันสำนักข่าวต่างๆ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นและไวขึ้น ซึ่งในสื่อแต่ละสำนักจะมีผู้สื่อข่าวหลายคนประจำในจุดที่ต่างกัน เช่น ทำเนียบรัฐบาล กองทัพ พรรคการเมือง ฯลฯ แต่ละคนก็จะมีความชำนาญและการเข้าถึงแหล่งข่าวที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่ว่านักข่าวคนเดียวจะรู้ทุกเรื่อง ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงมีความสำคัญ


“มีรุ่นพี่เข้ามาบ่นว่านักข่าวรุ่นน้องๆ เข้ามาใหม่ๆ จะเหมือนนักอัดเทปแกะเทปจบไปวันๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสื่อเราไม่ใช่แค่ทำข่าวเท่านั้น แต่ต้องดูแลรุ่นน้องที่เข้ามาด้วย รุ่นพี่ที่มีจรรยาบรรณต้องเปิดโอกาสให้รุ่นน้องได้ถาม ได้แสดงความคิดเห็น บางครั้งเด็กมาฝึกงานที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่กล้าถามลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เราก็ต้องให้กำลังใจ รุ่นพี่มีการบ้านข้อหนึ่งคือต้องสอนน้องๆ เพราะเรียนมาพออยู่ในสนามต้องปรับอะไรอีกเยอะเลย” ผู้สื่อข่าวสายทหาร นสพ.บางกอกโพสต์ ระบุ


นายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ในสื่อกระแสหลักมีความสับสนปนเปกันระหว่างการนำเสนอข่าวกับการเล่าข่าว โดยเฉพาะเมื่อการแข่งขันในธุรกิจสื่อรุนแรงขึ้น การนำเสนอข่าวก็ลดลงหันไปเน้นเล่าข่าวมากขึ้นเพราะมองว่าการเล่าข่าวดึงดูดผู้รับสื่อได้มากกว่า ซึ่งการเล่าข่าวนั้นไม่ใช่ข่าว แต่เป็นเสมือนบทความที่บอกความคิดเห็นของผู้เล่า ส่วนข่าวนั้นจะต้องไม่มีความรู้สึกหรือความคิดเห็นเข้าไปอยู่


อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ลงโฆษณาเน้นที่ยอดผู้รับชม (View) เป็นหลัก ประกอบกับสื่อออนไลน์มีความไวสูง โดยมองว่าสามารถทำให้โฆษณาสินค้าของตนเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก เรื่องนี้ผู้ลงโฆษณาควรตระหนักว่าสินค้าที่คิดว่าจะมีคนชอบอาจถูกเกลียดก็ได้หากไปสนับสนุนการสร้างข่าวหลอก ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องมีความเข้มแข็ง โดยแสดงออกว่าหากยังสนับสนุนต่อไปก็จะไม่ใช้สินค้านั้นอีก ซึ่งต้องย้ำว่าผู้บริโภคต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยสังคมอีกทางหนึ่ง

“การลงทุนทำสำนักข่าวจริงๆ ที่มีทีมข่าวต้องไปเฝ้าเหตุการณ์ ต้องวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูล มันมีการลงทุน ถ้าผู้บริโภคสื่อตัดช่องทางสำนักข่าวที่จะนำข่าวสารมาให้ด้วยการรับแต่เรื่องสัพเพเหระอะไรก็ได้ และให้เขาเหล่านั้นได้เม็ดเงินโฆษณาไป ในขณะที่สำนักข่าวต้องล้มหายตายจากหรือลดจำนวนคน คิดอีกอย่างมันคือการตัดโอกาสได้ข้อมูลจากองค์กรที่มีความรับผิดชอบทางนิตินัย คือมีการจดทะเบียน มีที่ตั้ง มีกองบรรณาธิการที่ผิดแล้วฟ้องได้ ไม่ใช่ผิดแล้วปิดเวอร์ชั่นหนึ่งไปเปิดเวอร์ชั่นสองเวอร์ชั่นสาม ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร” นายมงคล กล่าว


ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝากเตือนว่า ในมุมกฎหมายนั้นข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวปลอม ผู้เผยแพร่และผู้ส่งต่อจะมีความผิดหรือไม่และเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของความเสียหาย เช่น หากเสียหายในระดับบุคคลอาจถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา แต่หากสร้างความตื่นตระหนกแก่สังคมเป็นวงกว้างอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีอัตราโทษที่หนักกว่า

“ในบางครั้งเราก็อ้างว่าสิ่งที่เรารับมาเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าไปเอาคนทั่วไปมามองเรื่องนี้ สายตาคนทั่วไปใครๆ เห็นแล้วก็อาจบอกว่าไม่น่าใช่ แล้วฝ่าฝืนเสนอไปก็จะมีความผิด หลายเรื่องเรามองไปที่สื่อออนไลน์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็จะมีบทบาท ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าแล้วเสรีภาพเป็นอย่างไรในสื่อออนไลน์ ก็บอกว่ามีอยู่เพียงแต่ต้องระวังเรื่องการใช้” ผศ.กิตติพงศ์ ฝากข้อคิด


ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องตรงกัน  ว่าการเสนอข่าวในช่วงการเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิ์ในการลงคะแนน  การเสนอข่าวจึงต้องมีความรับผิดชอบด้วยการรักษาความเป็นกลาง  กลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้อง  และไม่นำข่าวลือ  ข่าวปลอม ข่าวลวงไปขยายผล  ทั้งยังเชื่อด้วยว่าภายหลังการเลือกตั้ง  มีโอกาสที่ผู้ใช้สื่อและสื่อมวลชนจะถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วม  เนื่องจากไม่ใช่เพียงผู้แพ้เลือกตั้งเท่านั้นที่ต้องการฟ้องเพื่อเรียกโอกาสคืน  แต่ผู้ชนะก็ต้องการชนะจากสัดส่วนบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น  ด้วยการทำให้คะแนนของคู่แข่งขันเป็นโมฆะ