พิษโควิด “เศรษฐกิจ-สังคมไทย” ยังน่าห่วง

นักข่าวเศรษฐกิจ กางตัวเลขเศรษฐกิจไทย เจอพิษโควิด-19 กระทบต่อสภาพคล่อง หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 14 ล้านล้านบาท พุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี 

“…เรื่องหลักๆที่หลายคนกำลังประสบปัญหาพร้อมๆกันตอนนี้ มีหลายเรื่อง ปัญหาสังคมไทยหากเรามองย้อนกลับไป  จริงๆปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่มันเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 เสียอีก แต่พอมายุคโควิด แพร่ระบาด  เหมือนยิ่งซ้ำเติมปัญหาเล็กๆให้มันขยายใหญ่ขึ้น   โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน  ปัญหาแรงงานขาดรายได้  ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  มันเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่ส่งผลร้าย  โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ  ปัญหาหนี้สิ้นก็ตามมา ยิ่งไปเดินสำรวจตลาดช่วงนี้ได้คุยกับพ่อค้าแม่ค้า จะยิ่งเข้าใจ  สิ่งที่หลายคนจับตามอง หลังจากนี้ เมื่อครัวเรือนมีสภาพคล่องทางการเงินลดลงหรือมีรายได้ไม่เพียงพอก็จะไปกู้สินเชื้อ ….....”

มุมมองจากประสบการณ์บางส่วนของ “วสวัตติ์ โอดทวี” ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ทำเนียบรัฐบาล และการท่องเที่ยว ที่ยอมรับว่า  การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานเกิดการว่างงาน  มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากตกงาน ทำให้รายรับหายไป การจับจ่ายใช้สอยจึงชะลอตัวโดยปริยาย   ทั้งนี้ ขอแบ่งภาวะทางสังคมแบ่งเป็น2 เรื่อง คือ เรื่องหนี้สินและการจ้างงาน

ปัญหาหนี้สิน  หากดูจากตัวเลข สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาเผย หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสามปี 2563  มูลค่าของหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง14 ล้านล้านบาท ขยายตัวเกือบ 4 %  ถ้าคิดเป็นสัดส่วนGDP อยู่เกือบ 90%  ยังต้องจับตาสถานการณ์ที่มันจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือน จากตัวเลขนี้ พบหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สวนทางกับค่ารายจ่ายคงเดิม  ปัญหาที่ตามมาคือครัวเรือนไทยส่วนใหญ่รายได้ลดลงจากการจ้างงาน  ลดทั้งเงินเดือน โอที บางคนประสบปัญหาหนัก คือถูกเลิกจ้าง  แน่นอนว่ารายจ่ายแต่ละเดือนมีอยู่แล้ว หนี้สินต่างๆที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือนสวนทางกับรายได้ที่เข้ามาไม่พอ  แน่นอนว่าหากบริหารจัดการไม่ดี  อาจนำไปสู่การกู้เงินนอกระบบจะยิ่งเพิ่มปัญหาดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

เรื่องของแรงงาน การระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานค่อนข้างเยอะ ตามที่มีข่าวออกมาว่าโรงงานหลายแห่งมีการปลดคนงาน บริษัทเลิกจ้าง ปิดกิจการ  ซึ่งกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่ม SMEแรงงานกลุ่มนี้จะประสบปัญหาการตกงานมากขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถคุมการระบาดได้รวดเร็วแน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจสายป่านไม่ยาวอาจล้มหายไป   และจะมีแรงงานที่จะกลายเป็นผู้ว่างงานเพิ่มอีกจำนวนมาก

อีกกลุ่ม คือกลุ่มท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่แรกที่เกิดโควิด เพราะธุรกิจท่องเที่ยวหยุดชะงัก ซึงจากการสำรวจพบตัวเลขพนักงานในระบบอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน แต่หากดูทั้งระบบมีจำนวนมากว่า 10 ล้านคน  บางส่วนต้องเปลี่ยนอาชีพไปหาอาชีพใหม่ มีการประเมินว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอาจ ต้องใช้เวลามากกว่า2ปีครึ่ง

 กลุ่มสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่  ตำแหน่งงานอาจจะไม่เพียงพอ หรือไม่เปิดกว้าง  เป็นตำแหน่งงานเฉพาะที่จำเป็น ทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจหันไปทำธุรกิจส่วนตัวค้าขายกันมากขึ้น

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation