‘โอลิมปิก’ คุมสื่อสุดเข้ม ป้องกันไวรัส หรือ ริดรอนเสรีภาพนักข่าว?

อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ (23 ก.ค.) มหกรรมกีฬาครั้งสำคัญ “โอลิมปิก 2020” จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากโดนเลื่อนมาแล้ว 1 ปีเต็ม สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก

จาก 2020 มาถึงปี 2021 สถานการณ์โคโรน่าไวรัสในประเทศญี่ปุ่นยังคงวิกฤต มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นทุกวัน ระบบสาธารณสุขทำงานกันอย่างหนัก ประกอบกับกระบวนการจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นจำนวนมากกังวลว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะยิ่งทำให้เชื้อโรคระบาดหนักกว่าเดิมอีก แต่ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยืนยันหัวชนฝาว่า จะไม่เลื่อนอีกรอบอย่างแน่นอน

แต่คบเพลิงโอลิมปิกยังไม่ทันจะได้จุด ก็ยิ่งมีเชื้อไฟใหม่ปะทุขึ้นมาอีก เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังกว่า 10 แห่ง ร่วมส่งจดหมายประท้วงถึง IOC เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มาตรการควบคุมสื่อต่างชาติที่จะต้องเดินทางมาทำข่าวการแข่งขันโอลิมปิก

หนังสือดังกล่าวระบุว่ามาตรการที่ผู้จัดโอลิมปิกวางไว้ เข้มงวดเกินไป ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของโลกความเป็นจริง และเสี่ยงกลายเป็นริดรอนเสรีภาพของผู้สื่อข่าวด้วย

ตัวอย่างมาตรการที่นักข่าวต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามในช่วงโอลิมปิก มีทั้งห้ามสัมภาษณ์ประชาชนญี่ปุ่นในช่วง 14 วันแรกหลังเดินทางเข้าประเทศ ห้ามสัมภาษณ์บุคคลใดๆในกรุงโตเกียว และต้องเปิดตำแหน่งที่ตั้งของโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ผู้จัดโอลิมปิกเข้าถึงข้อมูลได้อีกด้วย

“มาตรการเหล่านี้เกินขอบเขตของการป้องกันไวรัส และจะกระทบกับเสรีภาพการทำข่าวของนักข่าวอย่างชัดเจน” จดหมายประท้วงระบุ ซึ่งมีสำนักข่าวชื่อดังอย่าง New York Times, The Associated Press, USA Today และ Washington Post ร่วมลงนามท้ายจดหมายด้วย 

ภาพนักกีฬากำลังทดสอบการแข่งขันภายในสนามกีฬาโอลิมปิก กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย AFP)

จดหมายฉบับนี้กล่าวด้วยว่า นักข่าวควรมีสิทธิ์ในการสัมภาษณ์และพูดคุยกับประชาชนทั่วไปได้ ถ้าหากใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างอย่างเหมาะสม เพราะการทำข่าวอย่างไม่ถูกปิดกั้น เป็นหลักเสรีภาพสื่อที่สำคัญ

“เราขอเรียกร้องให้มีการทบทวนมาตรการที่เข้มงวดเกินไป โดยใช้หลักสามัญสำนึกเป็นหลัก และไม่ให้กระทบกับเสรีภาพสื่อมวลชน” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ยังมีกฎสุดพิลึกอย่างการบังคับให้ทานอาหารเฉพาะในโรงแรมที่พักหรือสถานที่จัดการแข่งขัน หากต้องการเดินทางไปร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้ออาหารหรือสินค้าใดๆ ต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ และต้องเดินทางไป-กลับภายใน 15 นาทีเท่านั้น

หากละเมิดกฎระเบียบต่างๆแม้แต่เพียงข้อเดียว จะถูกส่งตัวกลับประเทศทันที ไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ

“กฎระเบียบพวกนี้เป็นเรื่องที่บ้าคลั่งที่สุดที่พวกเราเคยเห็นในชีวิตการทำงานเลย” Gianni Merlo ประธานสมาคมนักข่าวกีฬาสากล (AIPS) กล่าวอย่างไม่พอใจขณะประชุมออนไลน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่สำคัญ บรรดาสำนักข่าวต่างประเทศพากันตั้งข้อสังเกตว่า กฎสุดเข้มเหล่านี้ มีผลบังคับใช้เฉพาะกับนักข่าวต่างชาติเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับนักข่าวญี่ปุ่นแต่อย่างใด และไม่มีการยกเว้นแม้แต่นักข่าวต่างชาติที่รับวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นช่วยกัน “สอดส่องดูแล” ว่ามีนักข่าวต่างชาติคนใดทำผิดกฎระเบียบหรือไม่ ดังที่คู่มือสำหรับสื่อมวลชนได้เตือนนักข่าวต่างประเทศไว้ว่า “พลเมืองญี่ปุ่นจะจับตาการกระทำของท่านทุกฝีก้าวตลอดช่วงการแข่งขัน ถ้าหากท่านต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎประการใด ประชาชนอาจจะถ่ายภาพการกระทำของท่านและแชร์ลงโซเชียลมีเดีย”

กลายเป็นข้อกังขาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมี “อคติ” กับนักข่าวต่างชาติหรือไม่

“ประชาชนชาวญี่ปุ่นต้องไม่มองเราว่าเป็นข้าศึกศัตรูที่จะมาแพร่เชื้อโคโรน่าไวรัส” นาย Merlo กล่าวในที่ประชุม “พวกเราไม่ได้จะเข้ามาทำลายใคร แต่จะมาส่งสาสน์แห่งความหวัง”

ประธานสมาคมนักข่าวกีฬากล่าวต่อไปอีกว่า “สิ่งที่อันตรายของแคมเปญลักษณะนี้คือกลายเป็นการวาดภาพให้ชาวต่างชาติดูเหมือนเป็นตัวแพร่เชื้อ ประชาชนอาจจะเกิดความหวาดกลัว และอาจจะกลายเป็นปัญหาในภายหลังได้”

นาย Merlo ยังกล่าววิจารณ์มาตรการเข้มงวดที่ห้ามนักข่าวเดินทางออกจากโรงแรมและพื้นที่ควบคุม 14 วันอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องห้ามเดินทางไปร้านสะดวกซื้อเกิน 15 นาที โดยเขาระบุว่า “เหมือนทำให้นักข่าวรู้สึกเป็นนักโทษที่โดนกักบริเวณ”

“คุณลองนึกภาพดูสิ นักข่าวคนนึงเสียเงินเสียทองเป็นพันๆดอลลาร์ กักตัวก็แล้ว ทำตามกฎทุกอย่างก็แล้ว แต่คุณอาจจะสูญเสียทุกอย่างหมดเลยเพียงเพราะใช้เวลา 20 นาทีในการเดินไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อ นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

นอกจากนี้นักข่าวต่างชาติบางส่วนยังร้องเรียนว่า ตนถูกสั่งให้ย้ายโรงแรมที่จองไว้ ให้ไปพักอาศัยในโรงแรมใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดให้ แต่ราคาแพงกว่าเดิม 4-5 เท่า โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19

ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่ามาตรการต่างๆในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ มีไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันโรค แต่นักข่าวบางส่วนก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีเจตนาอื่นหรือไม่

เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็น่าจะตระหนักดีว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิกในช่วงโควิดกำลังระบาด (ผลสำรวจบางสำนักระบุว่า ประชาชนถึงร้อยละ 80 อยากให้เลื่อนไปอีกหรือยกเลิกไปเลย)

สาวชุดยูกาตะเดินผ่านป้ายโปรโมตกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียว เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 ก่อนโควิดระบาดเพียงไม่กี่เดือน (ภาพโดย Reuters)

ดังนั้น จึงอาจต้องมีมาตรการเพื่อกีดกัน ไม่ให้ผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงหรือสัมภาษณ์ประชาชน กลายเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลออกข่าวไปทั่วโลก ก็เป็นไปได้

ปัญหาความขลุกขลักเหล่านี้ จึงน่าจะทำให้โอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. มีบรรยากาศที่ซบเซาและไม่คึกคักเท่าที่ควร ต่างจากความคาดหวังของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้เคยประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่า โอลิมปิก 2020 จะเป็นสัญญาณแห่งชัยชนะของมนุษยชนเหนือไวรัส

แต่การณ์กลับเป็นเช่นนั้นไม่ ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยกเลิกแผนที่จะให้มีผู้ชมบางส่วนเข้ามาชมการแข่งขันในสนามแล้ว เท่ากับว่าผู้จัดต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วทั้งหมดอย่างไม่มีทางเลือก ส่วนการลงทุนเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมากันเป็นสิบๆล้านคน ก็กลายเป็นสูญเปล่าเช่นกัน

โอลิมปิกคราวนี้คงหนีไม่พ้น “เจ๊งกับเจ๊ง”

ประชาชนญี่ปุ่นเดินขบวนประท้วงการจัดโอลิมปิกในกรุงโตเกียว (ภาพโดย AP)