3 พ.ค. วันเสรีภาพสื่อโลกมองปัญหาสื่อไทย”ปั่นเรตติ้ง-ละเลยวิชาชีพ-เซ็นเซอร์ตัวเอง”

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกตรงกับ 3พ.ค.ของทุกปีที่ยูเนสโก หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประกาศไว้ เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์สิทธิขั้นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ขณะที่สถานการณ์สื่อไทยยังคงได้รับผลกระทบหลายด้านจากพายุดิจิตัลถาโถมรอบด้าน ปัญหาเศรษฐกิจ ที่้ล้วนส่งผลต่อการทำหน้าที่สื่อ การรายงานข้อเท็จจริงต่อประชาชนอย่างรอบด้าน 

สุภชาติ เล็บนาค บรรณาธิการบริหาร The Momentum กล่าวว่า ปัญหาหลักของสื่อทุกวันนี้ คือ แหล่งรายได้ที่ไม่แน่นอน อย่างสื่อออนไลน์ รายได้หลักมาจากโฆษณาเกือบทั้งหมด ไม่ได้มีส่วนของการขาย หรือการพยายามปั้น subscriptions หรือระบบสมัครสมาชิกที่ยังไม่เกิด ทำให้ที่มาของรายได้หลายอย่างยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งพิงโฆษณาเป็นหลัก

  • รายได้พึ่งภาครัฐต้องลดดีกรีนำเสนอ

ทั้งนี้ แหล่งโฆษณาในไทย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์โดยตรง หรือเอเจนซียังคงระมัดระวังสูง คือไม่กล้าลงทุนกับสื่อที่เล่นประเด็นการเมืองแรงๆ  ยิ่งวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา แหล่งรายได้ของภาคเอกชนหดตัว ต้องพึ่งพาองค์กรรัฐพอสมควร ยิ่งทำให้สื่อที่วิพากษ์รัฐถูกตั้งแง่ องค์กรรัฐก็ไม่กล้าซื้อโฆษณา ฉะนั้น การวางแผนระยะยาวให้สื่อเติบโตอย่างชัดเจนจึงไม่ง่ายเท่าไรนัก

"อย่างที่The Momentum ปีแรกที่ผมเข้ามา ก็ได้รับคำสั่งว่าให้แรงเต็มที่เพื่อเอา engagement กลับมาให้ได้ จนได้รับคำเตือนว่าวิธีนี้ ไม่ได้ healthy เท่าไรกับการดำรงอยู่ขององค์กร บางคนใช้คำว่าระวังหน่อย เราไม่ใช่ ‘ประชาไท’ หรือ voice TV ฉะนั้นก็ต้องลดดีกรีความแรงในประเด็นบางอย่าง โดยเฉพาะม็อบที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ที่ต้องนำเสนออย่างระวังเพราะต้องแคร์ลูกค้า และแหล่งรายได้"

ขณะเดียวกันอีกด้านก็มีความจำเป็นต้องรักษา engagement เอาไว้ให้คงที่ และเมื่อมีแหล่งรายได้ หรือ platform ใหม่ๆ ก็ต้องกระโจนเข้าไป หากมีประเด็นที่เป็นที่พูดถึง ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่ม engagement สื่อออนไลน์ ก็ต้องรีบกระโดดงับ เพื่อไม่ให้ตกขบวน  ทั้งหมดคือปัญหาของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปที่ผูกโยงกันกับเรื่องเสรีภาพสื่ออย่างแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ความพยายามในฐานะสื่อก็พยายามดันเพดานให้ค่อยๆ สูงขึ้นอีกและหาส่วนผสมที่ลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เสียความเป็นตัวเอง

กับคำถามที่ว่า  สื่อไทยยังมีปัญหาเรื่องการถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอหรือไม่ ทั้งในระบบกฎหมาย โดยอำนาจรัฐ ระบบบริษัท? ...บรรณาธิการบริหาร The Momentum ยอมรับว่า ยังมีปัญหาจริง  กรณีกฎหมาย รู้กันดีว่าการนำเสนอต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อกฎหมายความมั่นคงทั้งหลาย รวมถึง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ทำให้หลายครั้งต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ขณะที่สังคมไปไกลกว่าสื่อที่จะนำเสนอได้ และอย่างที่บอกในข้อแรก คือสื่อเองก็ไม่อยากเป็นศัตรู และไม่ควรเป็นศัตรูกับรัฐ เพราะแหล่งรายได้มาทางเดียว นั่นคือข้อจำกัดในแง่เสรีภาพ

  • อย่าปิดหูปิดตา"เห็นช้างอยู่ในห้อง"ต้องนำเสนอ

อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามดันเพดานในการสู้อยู่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่โควิด-19 หนักๆ แล้วมีข่าวคนป่วยตายที่บ้านจำนวนมาก นายกฯ ซึ่งเป็น ผอ.ศบค. ออกคำสั่งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจ กสทช. ตัดสัญญาณเน็ต ดำเนินคดีสื่อออนไลน์ที่อ้างว่า เผยแพร่ข่าว fake news  สุดท้ายสื่อได้ขับเคลื่อนต่อสู้จนชนะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเรื่องอย่างนี้อีกหรือไม่  แต่การสู้กลับทำให้เห็นว่ามีช่องทางในการสู้คดีได้ มีสื่อจำนวนหนึ่งที่คิดเหมือนกัน ทำให้มีพลังขึ้นมา ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ต้องผ่านสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งมีส่วนผสมของผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนมาก และขยับเขยื้อนอะไรช้ากว่า แต่ตรงนี้ ทำกันได้เองทันที

"ส่วนระบบบริษัทนั้น แน่นอนว่ามีส่วนในเรื่องเสรีภาพ เราอยู่ภายใต้ทุน และสื่อก็ยังกินเงินเดือน ไม่ใช่องค์กรการกุศล สำหรับบริษัทที่อยู่ตอนนี้ ก็มีความเข้าใจงานสื่อพอสมควร แต่คำเตือนที่ผู้บริหารส่งผ่านมาเสมอก็คือ ตราบใดที่ไม่ข้ามเส้นเรื่อง ม.112 หรือไปโจมตีใครเป็นพิเศษก็จัดการให้เต็มที่ เป็นดุลพินิจของ บก. แต่อย่างที่บอก การทำหน้าที่สื่อคือความพยายามในการไต่เส้นขึ้นไปเรื่อยๆ ผมพูดเสมอว่าการเป็นสื่อ มันคือการเป็นกบฏนิดๆ ถ้าเชื่อง ต้องเป็นคนน่ารัก ทำตามคำสั่งคนนั้นคนนี้ หรือขี้กลัว ในความเห็นผมคือ ถ้าเป็นแบบนั้นมันจะไม่สนุกเลย"

สุภชาติ เล็บนาค บรรณาธิการบริหาร The Momentum

สุภชาติ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเรียกร้องในการทำงานของสื่อเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก  ข้อแรก คือไม่ควรมีเรื่องอะไรที่สื่อห้ามนำเสนอ ตรวจสอบไม่ได้ หรือพูดถึงไม่ได้  ส่วนตัวเคยไปเรียนที่ออสเตรเลียมา เขาบอกเลยว่าเป็นเรื่องตลกมากที่สื่อห้ามพูดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ หรือห้ามพูดถึงบุคคลใด หรือประเด็นอะไร

"มันมีสำนวนตะวันตกว่า an elephant in the room เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนรู้ดี แต่เลี่ยงที่จะพูดถึง ผมคิดว่าสื่อไทยจำนวนมาก ถูกสอน หรือปลูกฝังกันมาแบบนั้น ว่าห้ามพูดถึงช้างที่อยู่ในห้องจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องสถาบันฯ อย่างเดียว แต่รวมถึงกลุ่มบริษัท กลุ่มทุน นักธุรกิจ ที่เราต่างก็รู้กันดีว่ามีลิสต์อยู่ว่า ‘ทุน’ ไหนบ้าง ที่แตะไม่ได้ พวกนี้ ผมคิดว่าถ้าเรามีประชาธิปไตยเต็มตัว ก็ควรต้องมีกฎหมายคุ้มครองสื่อ คุ้มครอง Free Speech ของสื่อ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

อีกส่วนหนึ่ง เรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบ บอกว่าสื่อล้ำเส้นแหล่งข่าว ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตบ้าง สังคมพูดถึงกันเยอะ แต่ผมกลับไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไร เรื่องนี้ ผมคิดว่าทั้งหมดจะเติบโตตามสังคม ถ้าสังคมไทยโตแบบมี judgment สักวันหนึ่ง จะมีวิจารณญาณ สามารถแยกได้ระหว่างสื่อจริงๆ กับสื่อที่หวังแต่ engagement และกระบวนการทางสังคม ในการจัดการกับสื่อที่ล้ำเส้นมาตรฐานทางจริยธรรม อาจใช้เวลาสักระยะ แต่สุดท้ายสังคมจะโตขึ้น และมีวุฒิภาวะมากขึ้น--

  • สื่อพลเมืองไปไกลกว่ากระแสหลักม.112 ยังเป็นเรื่องท้าทาย
ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้สื่อข่าวประชาไทและอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ด้านนายธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้สื่อข่าวประชาไทและอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของสื่อ มี 3 เรื่องหลัก  1. เราจะหาที่ทางให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “สื่อมีสังกัด - สื่อกระแสหลัก” กับ “สื่อพลเมือง - สื่อกระแสรอง” ได้อย่างไร   ประเด็นนี้จะมาแรงแน่ๆในช่วงปีนี้ ตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองในไม่กี่ปีมานี้ เราเห็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นสื่อจำนวนมาก อยากทำหน้าที่เป็นสื่อ ใช้มือถือและโซเชียลมีเดียรายงานสถานการณ์ ขณะเดียวกัน เราเห็นบทบาทของฟรีแลนซ์มากขึ้น คือไม่ได้สังกัดสำนักข่าวใดๆ แต่ใช้วิธีรับจ๊อบทำข่าวเป็นงานๆ ไป

"ปรากฎการณ์นี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักบางส่วนหรือแม้แต่องค์กรวิชาชีพสื่อเอง ยังตามไม่ทัน เรื่องพวกนี้ บางคนอาจจะไม่เข้าใจการทำงานของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป บางคนยังติดกรอบการมองสื่อแบบ สื่อจริง-สื่อเทียม  หรือยังมีทัศนคติค่อนข้างลบกับสื่อพลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ผมมองว่าองค์กรวิชาชีพสื่อควรยื่นมือเป็นตัวกลางในการทำให้สื่อสองประเภทนี้อยู่รวมกันได้ เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่รายงานข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ

2. เรายังเห็นการใช้กฎหมายมาตรา 112 เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีการดำเนินคดีและการจับกุมหรือคุมขังที่แพร่หลายขึ้น เรื่องนี้หากดูเผินๆ อาจจะเหมือนไม่เกี่ยวกับสื่อมวลชน แต่คิดว่าเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกันอยู่ดี ถ้ากระทบต่อเสรีภาพประชาชน สุดท้ายก็กระทบกับเสรีภาพสื่อครับ ยกตัวอย่าง สมมติถ้ามีคนวิจารณ์ตัวกฎหมาย 112 นี้ หรือพูดถึงปัญหาของตัวกฎหมายนี้ สื่อมวลชนจะรายงานอย่างเต็มที่และปราศจากความหวาดกลัวได้ไหม

3.ร่าง พรบ.จริยธรรมสื่อ ทีปัจจุบันอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อโดยตรง แต่ดูเหมือนยังไม่มีความชัดเจน เช่น ขอบเขตอำนาจจะเป็นอย่างไร ใครจะมาเป็นผู้กำกับดูแลจริยธรรมสื่อ  จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่  ยังไม่นับเสียงวิจารณ์ว่าคนทำงานสื่อมวลชนหลายคน ไม่ได้รู้เห็นหรือมีส่วนร่วมกับร่างกฎหมายนี้ และสื่อมวลชนหรือองค์กรวิชาชีพสื่อเองก็มีความเห็นค่อนข้างคนละทิศทางแตกต่างกันไป  

  • อย่ากลัวเมื่อถูกคุกคามองค์กรสื่อต้องพร้อมชน

ธีรนัย กล่าวว่า  สื่อไทยยังมีปัญหาเรื่องการถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอ โดยเฉพาะกิจกรรมถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กลุ่มหนึ่งทำบ่อยๆ  แต่แทบไม่มีสื่อกระแสหลักรายงานเลย ก็เข้าใจว่าเหตุผลมาจากความกลัวที่จะถูกดำเนินคดี ความกลัวต่อปฏิกิริยาเชิงลบจากกลุ่มคนในสังคม ความกลัวว่าอาจจะถูกหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.  ลงดาบ ความกลัวต่อผลกระทบด้านธุรกิจ หรือความกลัวต่อการคุกคามในลักษณะอื่นๆ จะเห็นได้ว่าการจำกัดเสรีภาพในบางเรื่อง ก็มาเป็นแพกเกจ ที่ครอบคลุมทั้งองคาพยพ  ดังนั้น ปัญหาที่สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อต้องเอามาคิดเป็นการบ้านคือ เราจะแก้ไขบรรยากาศความกลัวหรือจำกัดเสรีภาพที่มีหลายปัจจัยแบบนี้ได้อย่างไร

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในการทำงานของสื่อ คือ สามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้ได้เต็มที่ ปราศจากความกลัวหรือการคุกคาม อยากเห็นความกระตือรือร้นของสื่อที่จะรายงานข่าวที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนด้วย ไม่ใช่รายงานเฉพาะเรื่องหวือหวาหรือตามกระแสโซเชียลอย่างเดียว อยากเห็นสื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่คุกคามหรือละเมิดสิทธิประชาชนในข่าวเสียเองและอยากเห็นองค์กรวิชาชีพสื่อมีบทบาทในการปกป้องเสรีภาพสื่อมากขึ้น หรือ อีกนัยหนึ่ง องค์กรวิชาชีพสื่อต้องพร้อมชนทุกปัญหาเพื่อสื่อมวลชน

  • เรตติ้งคือความอยู่รอดเสรีภาพขาดความรับผิดชอบ
สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า ปัญหาสื่อมีหลายด้านจาก ภูมิศาสตร์ของสื่อที่เปลี่ยนไป สภาพเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อธุรกิจสื่อ ทำให้การใช้เสรีภาพขาดความรับผิดชอบ เพราะต้องเน้นไปที่เรตติ้งเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ได้มั่นคงเหมือนแต่ก่อนแล้ว  โดยเฉพาะสื่อด้านวิทยุโทรทัศน์และออนไลน์ที่ผูกติดอยู่กับกระแสเรตติ้งถ้าทำไม่ได้ตามเป้า พนักงานอาจถูกปรับเปลี่ยนย้ายงานตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการใช้เสรีภาพของสื่อโดยขาดความรับผิดชอบอย่างมาก

สุเมธ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวทุกวันนี้เน้นที่เรตติ้งมากเกินไป ถ้าดูข่าวที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักต่างๆก็แทบจะเหมือนกันหมด ไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะมาจากแหล่งข่าวเดียวกัน  ขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจ  กระทบกับสื่อ ทำให้ลดจำนวนนักข่าวภาคสนามลง นักข่าวประจำ สายต่างๆ หายไปมาก ไปเพิ่มบทบาทให้นักข่าวสายจเรด้วยการเน้นไลฟ์สดลง facebook ของสำนักตัวเองบวกกับการที่สื่อหันมาใช้ข่าวจากคลิปข่าวที่ชาวบ้านโพสต์ลง facebook อย่างมากมาย หลายสำนักจึงแทบไม่ได้นำเสนอข่าวของตัวเอง ทำให้คุณค่าข่าวรวมไปถึงกระบวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวนหายไป เพราะการนำเสนอคลิปข่าวโซเชียลตามกระแสข่าวเป็นหลัก และจบแค่นั้น ไม่ได้สืบค้นตามหลักนิเทศศาสตร์

"กรณีคดีน้องชมพู่ หรือข่าวน้องแตงโม  คนสื่อรู้ดีว่า ข่าวจะพัฒนาไปทางไหน ข้อเท็จจริงของคดีจะเป็นอย่างไรแต่ด้วยเป็นเรื่องที่คนสนใจจึงต้องลากและเลี้ยงกระแสให้นานเพราะเป็นช่วงกอบโกย ทำให้คนทำงานต้องหลับตาข้างนึง ในการเล่นตามกระแสหรือตามเซเล็บที่โพสต์โซเชียลเพื่อปั้นเป็นประเด็นข่าว"

สุเมธ กล่าวว่า ส่วนตัวยังเห็นว่าสื่อไทยมีเสรีภาพล้นมากและสื่อเองก็ไม่ได้กลัวอำนาจรัฐ เพราะรัฐแทบไม่ค่อยได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกับสื่อไทยมากเท่าไร แต่สิ่งกระทบกับสื่ออย่างเดียว คือ  ข่าวที่นำเสนอนั้นไปกระทบกับทุนหรือเจ้าของสื่อ ขณะที่สื่อเองรายงานข่าวกระทบละเมิดต่อเหยื่อ ต่อสิทธิเด็ก ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดผู้ต้องหาจำนวนมาก ในแง่นี้เรามีกฎหมายที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมากมายเพื่อไม่ให้ละเมิด  แต่เราไม่ค่อยได้นำมาใช้ เพราะประชาชนไม่ทราบ  ด้านหนึ่งชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมาก โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวที่ไม่ได้กลั่นกรอง

  • ต้องทบทวนตัวเองวิชาชีพเข็มแข็งคือสิ่งสำคัญ

สุเมธ กล่าวว่า  ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกหรือจะเป็นวันไหน อยากให้สื่อตระหนักในเรื่องสิทธิของประชาชนมากขึ้นไม่ใช่ว่าเรานำเสนอแต่สิ่งที่เราคิด ถึงเวลาที่เราควรจะพิจารณาถึงขอบเขตการเป็นเกทคีปเปอร์ที่ดี ซึ่งไม่ใช่เป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ทุกวันนี้เราไม่ได้พึ่งพาการเป็นวิชาชีพสื่อ 100% แต่เราพึ่งสื่อพลเมืองมากเกินไป ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองเพื่อให้วิชาชีพเรากลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม  จะเห็นว่า แม้เทคโนโลยีก้าวไกลแค่ไหน แต่การทำข่าวกลับย้อนยุคเหมือนเขียนวิจารณ์ ด่าไปก่อน แล้วให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ตกเป็นข่าวมาแก้ทีหลัง ทำให้คนที่ไม่ได้อ่านสื่อมาก่อนไม่ได้ตามเรื่องทั้งหมดไม่รู้ว่าเขาเสียหายอย่างไรแล้ว

ในฐานะที่สัมผัสกับนักข่าวภาคสนามมานานหลายรุ่น สุเมธ มองว่า ปัจจุบันนักข่าวรุ่นใหม่ทำงานหนักมากเกินไปบางคนวันเดียวแต่วิ่งหมายข่าว 4-5 ที่  ทั้งที่ 3 หมายก็เหนื่อยแล้ว การวิ่งข่าวมากไปเกิด ความเหนื่อยล้า ความผิดพลาดย่อมมี  สุดท้ายเมื่อรายงานผิด ก็กระทบกับความน่าเชื่อถือ

"การทำข่าวยุคนี้ไม่ค่อยสนุกต่างจากสมัยผมทำข่าวใหม่ๆ 20 กว่าปีก่อน ตอนนั้นไม่มีมือถือ ต้องพิมพ์ดีด ได้ฝึก ได้คุย ได้เขียนข่าวโดยตรง ได้สัมผัสเอกสาร แต่ปัจจุบันมีแหล่งข่าว หน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน เขียนข่าวมาให้ส่งข้อความมาทางโซเชียล ไลน์ ทางเมล์ ซึ่งเราไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พูดจริง หรือ คนอื่นเขียนมาให้ จะตรวจสอบก็ไม่ง่ายแม้เทคโนโลยีจะมีมากมาย  รอแต่สิ่งที่เขาป้อนข่าวมาให้ ไม่สามารถยืนยันตัวตนว่าคนในข่าวคือใครทำอาชีพอะไร" สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย