ฝ่ายสิทธิ์ฯ TJA ร่วมกับ 6 องค์กรสื่อ หารือ ‘ผบช.น.’ ย้ำต้องคุ้มครองเสรีภาพนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม

ผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยกคณะเข้าพบ ‘น.1’ แนะนำปลอกแขนสื่อชุดใหม่ พร้อมกับหารือมาตรการคุ้มครองเสรีภาพและความปลอดภัยนักข่าวในสถานการณ์ชุมนุม ด้าน ผบช.น. ยืนยัน ‘สื่อพลเมือง-ประชาชนทั่วไป’ มีสิทธิ์รายงานข่าวในพื้นที่ชุมนุม แต่ขออย่าปลุกปั่นหรือยุยงความรุนแรง

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า วานนี้ (วันที่ 13 มิถุนายน 2565) ตนและตัวแทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ อันประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้เข้าหารือกับคณะผู้แทนตำรวจนครบาล ณ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและโฆษก ให้การต้อนรับ 

สำหรับการหารือดังกล่าว นับเป็นการพูดคุยร่วมกันระหว่าง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อกับ บช.น. ครั้งแรกของปีนี้ ต่อเนื่องจากการหารือครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน

ในการหารือครั้งนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ แจ้งให้คณะผู้แทน บช.น. ได้รับทราบเกี่ยวกับปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อชุดใหม่ ที่ได้เริ่มทยอยแจกให้กับสำนักข่าวต่างๆ ที่มีภารกิจรายงานข่าวในสถานการณ์ชุมนุม โดยปลอกแขนชุดใหม่ (สีฟ้า) มีความคงทนถาวรและสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นกว่าปลอกแขนสีขาวชุดเดิม อีกทั้งยังมี serial number เฉพาะสำหรับแต่ละสำนักข่าว ป้องกันการปลอมแปลงหรือสวมรอย 

ล่าสุดการลงทะเบียนครั้งที่ 2 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และจะมีการเปิดลงทะเบียนรอบที่ 3 เร็วๆนี้ 

นอกจากนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอความร่วมมือบช.น.งดเว้นการจัดทำปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อขึ้นเอง เพราะจะซ้ำซ้อนกับองค์กรวิชาชีพสื่อ และถ้าหากผู้สื่อข่าวใช้ปลอกแขนของทางตำรวจ อาจจะทำให้กลุ่มประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเกิดความไม่ไว้วางใจหรือเข้าใจผิดกับสื่อมวลชนได้ 

ด้านคณะผู้แทนบช.น. ระบุว่าจะประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับทราบเกี่ยวกับปลอกแขนสัญลักษณ์ชุดใหม่ พร้อมระบุว่าจะทางบช.น.ไม่มีการออกปลอกแขนสื่อเอง

บทบาทของสื่อพลเมืองและประชาชนทั่วไป

คณะผู้แทนบช.น. แสดงความเห็นว่า ในการชุมนุมการเมืองช่วงหลังมานี้ มีการเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Facebook Live, YouTuber ฯลฯ รวมถึงประชาชนที่ใช้กล้องมือถือรายงานสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งทางผู้แทนบช.น.มีความกังวลว่า การรายงานสดบางส่วนมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการยุยงหรือปลุกปั่น บางครั้งก็เผยแพร่ข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.สำราญ ระบุว่าตนเข้าใจและเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งตนยืนยันว่า สื่อพลเมืองและประชาชน สามารถรายงานภาพหรือข่าวเหตุการณ์จากพื้นที่การชุมนุมได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ตนก็ขอความร่วมมือทั้งสื่อพลเมืองและประชาชนที่รายงานเหตุการณ์ งดเว้นการใช้ถ้อยคำปลุกระดมหรือปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง หรือการกระทำใดๆที่ผิดกฎหมาย

ด้านตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ระบุว่าเห็นตรงกับผบช.น.ในเรื่องนี้ เพราะการรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนย่อมกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่มีปลอกแขน สื่อมวลชนที่ไม่มีปลอกแขน สื่อพลเมือง ประชาชนทั่วไป ฯลฯ นอกจากนี้ การที่มีหลายฝ่ายถ่ายภาพหรือเผยแพร่ภาพเกี่ยวกับการชุมนุมและการปฏิบัติงานของตำรวจ เป็นการช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับทุกฝ่าย ถ้าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ภาพที่ปรากฏออกมาก็จะเป็นเครื่องช่วยยืนยันให้กับเจ้าหน้าที่เอง 

ทั้งนี้ พล.ต.ท.สำราญ แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าหากองค์กรวิชาชีพสื่อมีการจัดอบรมให้สื่อพลเมือง มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักจริยธรรมสื่อและสามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างเป็นมืออาชีพขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวสื่อพลเมืองเองและผู้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในส่วนนี้ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าวฯ ก็ได้เคยจัดงาน “First Meet” เพื่อพบปะและทำความรู้จักกับสื่อพลเมืองมาแล้วรอบหนึ่ง ปัจจุบันกำลังมีแผนงานเตรียมจัดคอร์สอบรมการทำข่าวอย่างมืออาชีพและอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม จะเปิดรับทั้งสื่อพลเมืองและนักข่าวภาคสนามที่สนใจ สำหรับรายละเอียดจะประชาสัมพันธ์ในโอกาสถัดไป

สวัสดิภาพของสื่อในพื้นที่ชุมนุม

ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ แสดงความกังวลว่า ผู้สื่อข่าวในพื้นที่การชุมนุมยังมีความเสี่ยงที่จะรับอันตรายหรือบาดเจ็บในกรณีที่เจ้าหน้าที่เดินหน้าใช้แก๊สน้ำตา การฉีดน้ำ กระสุนเหล็กหุ้มยาง (กระสุนยาง) โดยเฉพาะถ้าหากมีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยที่ไม่มีการแจ้งเตือนอย่างชัดเจน หรือไม่ให้โอกาสนักข่าวได้ถอยร่นทันเวลาหลังเตือน อาจทำให้นักข่าวได้รับบาดเจ็บหรือกล้องเสียหายได้ บางมาตรการของตำรวจควรปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการใช้เลเซอร์ ที่เสี่ยงทำให้เลนส์กล้องถ่ายรูปเสียหายได้

ด้านคณะผู้แทนบช.น.ระบุว่าตำรวจจะใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเฉพาะมีเหตุหรือภัยต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งปกติจะพยายามแจ้งเตือนอย่างชัดเจนล่วงหน้าทุกครั้ง เว้นแต่ถ้าหากมีเหตุคับขันหรือเฉพาะหน้าจริงๆคงไม่สามารถเตือนก่อนได้ อย่างไรก็ตาม ทางบช.น.จะนำเอาข้อคิดเห็นไปพิจารณาปรับรูปแบบ เช่น อาจจะมีการชูป้ายขนาดใหญ่เพื่อเตือนก่อนใช้มาตรการต่างๆ 

ทั้งตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อและคณะผู้แทนบช.น. ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ safe zone สำหรับสื่อมวลชน ที่อยู่ห่างจากแนวปะทะที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายระยะหนึ่ง แต่ก็อยู่ในบริเวณที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์พอที่จะให้นักข่าวและช่างภาพสามารถเก็บภาพได้ โดยแนวคิดนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวสามารถเลือกใช้ได้ 

แต่ถ้าหากสื่อมวลชนเลือกที่จะออกจากบริเวณ safe zone ไปเก็บภาพในส่วนอื่นๆ ก็ย่อมทำได้เช่นกัน แต่ควรใช้ความระมัดระวัง มีการอบรมฝึกฝนเกี่ยวกับหลักการทำงานอย่างปลอดภัยจากต้นสังกัด และใช้อุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆอย่างรัดกุมเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บหรือถูกลูกหลงให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง ไม่แสดงท่าทีคุกคามหรือจงใจกีดกั้นการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม

การตรวจสอบตัวตนสื่อมวลชน

ท้ายสุดนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ให้ข้อมูลกับคณะผู้แทนบช.น.ว่า ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เรียกตรวจ “บัตรสื่อ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริง อาชีพสื่อมวลชนในไทยไม่ได้เป็นอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ต่างจากทนายหรือแพทย์ จึงไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดมีหน้าที่หรืออำนาจออกใบอนุญาตให้สื่อ จึงไม่มี “บัตรสื่อ” แต่อย่างใด ส่วน "บัตรกรมประชาสัมพันธ์" ก็ไม่ได้เป็น "บัตรสื่อ" เช่นกัน เพราะมีไว้สำหรับการทำข่าวในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเป็นหลัก ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่จึงไม่มีบัตรประชาสัมพันธ์

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการยืนยันสถานะภาพการเป็นนักข่าว ตำรวจสามารถเรียกขอดูเอกสารได้ 2 ประเภท นั่นคือ (1) บัตรพนักงานหรือบัตรยืนยันตัวตนที่สำนักข่าวต้นสังกัดออกให้ และ (2) ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ซึ่งออกโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ

อย่างไรก็ตาม การเรียกตรวจสอบดังกล่าว ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรและจำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ควรเรียกตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลในลักษณะที่มีเจตนาคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

การประสานงานในอนาคต

เมื่อการหารือสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะประสานข้อมูลและสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดในลำดับถัดไป นอกจากนี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อยังได้แนะนำให้บช.น.ได้พูดคุยกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทในการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสื่อพลเมือง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน และลดการกระทบกระทั่งระหว่างกันในอนาคต