เสวนา‘ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สคบ. พร้อมจับมือภาคปชช.-สื่อฯแก้ปัญหาผู้บริโภค

เสวนา‘ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สคบ. พร้อมจับมือภาคปชช.-สื่อฯแก้ปัญหาผู้บริโภค

สมาคมนักข่าวฯ จับมือ สคบ. จัดเสวนาพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2562 รมต.สำนักนายกฯ-รองเลขาสคบ. ยันเพิ่มอำนาจเลขาสคบ.ทำงานครอบคลุมและแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น ส่วนภาคประชาสังคม เผย การมีสภาองค์กรของผู้บริโภคช่วย ปชช. ลดขั้นตอนการร้องเรียน ขณะที่ภาคสื่อมวลชน ระบุ สื่อฯ ควรเน้นทำข่าวผู้บริโภคเชิงลึก

วันนี้ (25 สิงหาคม 2562) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “ราชดำเนินเสวนา” ในหัวข้อ “ผ่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ : สังคมได้อะไร?”หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562” เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562  มีเนื้อหาทั้งหมด 38 มาตรา โดยในมาตรา 2 ระบุว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562 พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

โดยงานเสวนามี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธาน และร่วมปาฐกถาพิเศษให้เห็นภาพรวมของภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์ที่สังคมจะได้รับหลังการปรับเปลี่ยนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ รวมถึงในช่วงเสวนาในหัวข้อดังกล่าวนี้ ได้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคสื่อมวลชน และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โดยก่อนการเสวนามีกลุ่มประชาชนยื่นร้องเรียนของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุทธิสาร ที่ไม่ได้มาตรฐานหลังจากเข้าอยู่อาศัยไม่ถึง 1 ปี โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับข้อร้องเรียน

 

จากนั้นนายเทวัญ กล่าวบนเวทีว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และดูแลงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ซึ่งเป็นสำนักงานที่มีความหมายมาก เพราะทุกคนอยู่กับการบริโภค บางครั้งเราถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ซื้อสินค้าไม่ได้ของก็มี  ซื้อสินค้าได้ของไม่มีคุณภาพก็มี ซื้อสินค้าได้ของไม่ครบก็มี อย่างสินค้าออนไลน์มีผู้ร้องเรียนหลายพันราย ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็มีผู้ร้องเรียนเรื่องซื้อคอนโดแล้วไม่มีคุณภาพ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็พยายามให้ความยุติธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ส่วนตัวเคยโดนเรื่องแบบนี้ เมื่อครั้งที่ตนซื้อรถเบ๊นซ์ 500E เสียบปลั๊กแล้วใช้ได้ 35 กิโลเมตร แต่ตนวิ่งได้จริงแค่ 12 กิโลเมตร มาทราบภายหลังว่ามีข้อจำกัดว่า ต้องขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่เปิดแอร์จึงจะวิ่งได้ถึง 35 กิโลเมตร

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกสามครั้ง ในปี พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2556 จนปรับแก้ไขมาเป็นกฎหมายครั้งล่าสุดฉบับที่ 4 บังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยปรับแก้ให้ทันยุคสมัย และ บังคับใช้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งครอบคลุมการดูแลผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย 6 คน ที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ด้านละ 2 คน รวมถึงให้คณะกรรมการผู้บริโภคมีอำนาจในการพิจารณาหน่วยงานรับผิดชอบดูแล แก้ไขปัญหา และเร่งรัดดำเนินงานควบคุมดูแลการโฆษณาให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันหากตรวจพบหรือสันนิษฐานว่าผู้ประกอบการโฆษณาสินค้าเกินจริง คณะกรรมการสามารถระงับการนำเสนอโฆษณาหรือสั่งแก้ไขได้ทันที รวมถึงการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการจากเดิมต้องผ่านบอร์ดบริหาร แต่หากพบว่าเป็นกรณีเร่งด่วน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการก่อนได้

ส่วนด้านความปลอดภัยในสินค้าอันตราย เดิมทีจะมีการดำเนินกฎหมายกับผู้ประกอบการ หากสินค้าที่จำหน่ายนั้นทำให้ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บ แต่กฎหมายใหม่จะมีการเข้มงวดกับผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้เฝ้าระวังสินค้าของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยมีการเพิ่มโทษ สำหรับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค ขายสินค้าไม่มีคุณภาพ จากเดิมจำคุก 6เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท ให้เพิ่มค่าปรับเป็น 1 แสนบาท นอกจากนั้นยังมีสภาองค์กรผู้บริโภค ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเหลือผู้บริโภค

“การโฆษณาต้องถูกต้องและเป็นธรรม อย่าง น้ำยาล้างจาน ที่ล้างได้ 1,000 ใบ หากเป็นกฎหมายเดิมต้องพิสูจน์ว่าล้างได้ 1,000 ใบหรือไม่ แต่กฎหมายใหม่ไม่ต้องพิสูจน์ แค่สงสัยว่าโฆษณาดังกล่าวเกินความเป็นจริง สคบ.ก็สามารถเข้าไประงับแก้ไขการโฆษณาให้ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการดำเนินคดี หรือ บัตรพลังงานที่เคยมีข่าวว่ารักษาอาการป่วยได้ กฎหมายฉบับใหม่ แค่สันนิษฐานว่าไม่ถูกต้อง ก็ระงับการโฆษณาได้” นายเทวัญ กล่าว

ด้านนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า วันนี้ (25 สิงหาคม 2562) เป็นวันแรกที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้วันแรก โดยภาพรวมของ พ.ร.บ. ดังกล่าว มีดังนี้ หนึ่ง มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ โดยให้มี ‘คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค’ ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดในทุกกระทรวง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คน และผู้แทนความรู้ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคผู้ประกอบธุรกิจ อย่างน้อยภาคละ 2 คน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการซื้อขายของทางออนไลน์ที่มากขึ้น จึงจัดตั้งกรรมการที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามามีอำนาจในการจัดการปัญหาโดยตรง รวมถึงการยังให้อำนาจกับเลขาธิการ สคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ หากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด ส่วนนี้จะทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหารวดเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อน ต่างจากเดิมที่เมื่อมีปัญหาจะมีหลากหลายหน่วยงานเข้ามาจัดการ จนทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า

สอง มีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตราย จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัย เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจ จะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที

และสาม การให้อำนาจกับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ต่างจากเดิมที่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลาง ซึ่งทำให้ล่าช้าขึ้น โดยมีการกระจายงาน เช่น การรับเรื่องร้องทุกข์ การตรวจสอบ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การรวมตัวของเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบความผิดในแต่ละพื้นที่ และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลาง แต่ให้กับพื้นที่ เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น สคบ. ก็จะมีการทำงานร่วมกับสภาฯ อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้กำลังทำแผนการขับเคลื่อนงานบูรณาการของภาครัฐ โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็น Big Data ระหว่างหน่วยงานรัฐ ทั้งหมด 6 ฐาน ได้แก่

1) ฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียน เพื่อทำให้มีข้อมูลการร้องเรียนจากหลายๆ หน่วยงานและสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดคืออะไร 2) ฐานข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจ ในเรื่องการจดทะเบียนต่างๆ เช่น ทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนอาหาร ทะเบียนยา ฯลฯ เพื่อที่จะมีข้อมูลของผู้ประกอบการ และสามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้ว่าสินค้าใดมีการจดทะเบียนถูกต้อง หรือสินค้าใดที่ถูกยกเลิกทะเบียน

3) ฐานข้อมูลบุคคล เพื่อเชื่อมโยงถึงรายชื่อกรรมการของบริษัทต่างๆ หรือรายชื่อผู้ประกอบการธุรกิจ หากมีเรื่องร้องเรียนจะสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลนี้เคยถูกร้องเรียนกี่ครั้ง และเรื่องอะไรบ้าง 4) ฐานข้อมูลการดำเนินคดี เพื่อจะได้มีทะเบียนประวัติว่าผู้ประกอบธุรกิจเคยถูกดำเนินคดีเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง 5) ฐานข้อมูลองค์ความรู้ เช่น ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคต่างๆ 6) ฐานข้อมูลเตือนภัย การนำข้อมูลจากทั้ง 5 ฐานที่กล่าวไปมาวิเคราะห์คัดกรองต่างๆ และเผยแพร่ เตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบ

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า จุดแข็งของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ คือ การให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฟ้องคดีเองได้ ซึ่งน่าจะทำให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการลงได้ อีกเรื่องหนึ่งที่มองว่าเป็นจุดแข็ง คือ การมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างมาก เช่น มีคนเสียชีวิตจากการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน เสียชีวิตจากการซื้อสินค้าและบริการในห้าง หรือแม้แต่เสียชีวิตจากการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทาน

สำหรับเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นางสาวสารีเสนอว่า อยากให้เพิ่มสัดส่วนตัวแทนฝั่งประชาชน จากสองคนเป็นสี่คนและใช้คำที่บ่งบอกชัดเจนว่ามาจากสภาองค์กรฯ รวมทั้งควรเพิ่มสัดส่วนตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการเฉพาะด้าน เช่น ด้านโฆษณา ด้านฉลาก ด้านสัญญา ด้านความปลอดภัยของสินค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ

นางสาวสารี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีบางจุดที่ควรปรับปรุง เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศในอาเซียนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับเรื่องสิทธิระหว่างประเทศ แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้กลับไม่ได้มีการปรับแก้ให้สอดคล้อง สอดคล้อง ทำให้กฎหมายประเทศไทยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคน้อยกว่าประเทศในอาเซียน เช่น สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ตัวอย่างที่เห็นภาพคือปัญหาฝุ่น pm 2.5  สิทธิที่จะได้ข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องข่าวปลอม (Fake News) จำนวนมาก หรือแม้แต่สิทธิเรื่องความเป็นส่วนตัวและการสื่อสารถึงกันอย่างอิสระเสรีบนโลกออนไลน์

“แม้สิทธิต่างๆ เหล่านี้จะยังไม่ได้ระบุลงในกฎหมาย แต่หวังว่า สคบ. จะมองเห็นความสำคัญ ป้องกัน และดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น มีการเปิดเผยข้อมูลสินค้าที่ผิดมีปัญหา หรืออาจร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่น เช่น อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) นำข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีสารอันตรายมาเปิดเผย เพื่อให้ สคบ. เป็นเหมือนแหล่งที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ได้ในที่เดียว” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า สภาองค์กรฯ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค โดยต้องไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และพรรคการเมือง เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นกลาง และไม่เอื้อผลประโยชน์กับฝ่ายใด ซึ่งการมีสภาองค์กรฯ จะช่วยลดขั้นตอนในการเดินทางร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ  นอกจากนี้ กฎหมายยังมอบอำนาจให้สภาองค์กรฯ สามารถไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือได้ และฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้

ส่วนนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคสื่อมวลชน เปิดเผยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้น แต่จะมีการเพิ่มเรื่องความคล่องตัว การมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น การปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่ และมีการเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้น โดยมีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงยังมีกรรมการด้านความปลอดภัย ที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้า บริการ และเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคด้วย นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโทษปรับ 2 เท่า - 10เท่า ในกรณีการทำผิด เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556

อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคสื่อมวลชน กล่าวอีกว่า อุปสรรคของกฎหมายฉบับนี้ มีความไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจนเท่าที่ควร โดยมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ท้องถิ่นเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ เนื่องจากเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น หาก สคบ. สามารถทำให้ภาคท้องถิ่นเข้าใจและมอบอำนาจให้ท้องถิ่นระดับภูมิภาคดูแลกันเอง โดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องมายัง สคบ. กลางโดยตรงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ สคบ. กลางยังต้องเป็นหลักเพื่อเป็นระเบียบในทิศทางเดียวกัน ส่วนเรื่องกรรมการบริหารนั้นจะไม่มีเลขาธิการ อย. มาดำรงตำแหน่งด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

นอกจากนี้ นายบรรยงค์ ยังกล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคว่า งานข่าว คือ งานที่ต้องทำหน้าที่ดูแลความเป็นไปของสังคม เพราะฉะนั้นนักข่าวจะทำข่าวเชิงเดียวหรือข่าวที่มีข้อมูลเพียงผิวเผินไม่ได้ จะต้องทำข่าวเชิงลึก เชิงสืบสวนด้วย เพราะงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประชาชนทุกคน และหากสื่อมวลชนทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงลึกหรือเชิงสืบสวน ก็จะทำให้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสาร และได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังเป็นประโยชน์กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคด้วย


ชมภาพถ่ายทอดวิดีโอเฟสบุ๊ค