ประธานโครงการเรือนจำสุขภาวะ ชี้ปัญหาคนล้นคุกในประเทศไทย แท้จริงแล้วเกิดจากกฎหมายของไทยเอง

“รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์”  นักวิชาการอิสระ ประธานโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงมานานกว่า 10 ปี แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาคนล้นคุกในประเทศไทยว่า ความจริงแล้วปัญหานี้เกิดจากกฎหมายของไทย โดยเฉพาะกฎหมายยาเสพติด มีการกำหนดบทลงโทษให้ติดคุกไว้ค่อนข้างสูง แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมทำผิดหรือครอบครองโดยตรง แค่สมรู้ร่วมคิดก็ถูกตัดสินจำคุกไปด้วย

ลักษณะของกฎหมายทำให้เกิดผู้กระทำความผิด (criminalization) คือการทำให้พฤติกรรมอะไรอย่างหนึ่งมันกลายเป็นอาชญากรรม ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่อาชญากรรมก็ได้ และตัวกฎหมายทำให้เกิดบทลงโทษร้ายแรง คือ ถูกตัดสินโทษจำคุกค่อนข้างนาน

ประเด็นต่อมาคือบทลงโทษตามกฎหมายค่อนข้างสูง เพราะผู้ครอบครองยาบ้า 10 เม็ด กฎหมายกำหนดบทลงโทษว่าเป็นผู้เสพ แต่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการล่อซื้อจากคนที่ครอบครองแค่ 3 - 5 เม็ดเท่ากับกลายเป็นผู้ค้ายา แทนที่จะเอาบุคคลที่กระทำผิดตามกฎหมายไปบำบัดมากกว่า แต่ถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกตามกฎหมายเป็นเวลา 4-5 ปี  กฎหมายที่มีการดำเนินการลักษณะแบบนี้นั้น จึงทำให้เกิดคนล้นคุก เพราะกฎหมายมันสนับสนุนให้เกิดภาวะของอาชญากรรม และตัวกฎหมายทำให้เกิดบทลงโทษร้ายแรงคือถูกตัดสินโทษจำคุกค่อนข้างนาน

อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาค่อนข้างใช้เวลานานมาก จึงทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก

สำหรับวิธีแก้ “ปัญหาคนล้นคุก” นั้น มองว่าไม่ใช่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์โดยตรง เนื่องจากเป็นสถานที่รับผู้ต้องขังเท่านั้น แต่กรมราชทัณฑ์เอง ต้องรู้ข้อมูลของรายละเอียดของผู้ต้องขังและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ควรสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีหลายคนที่ไม่ควรติดคุก ต้องเสนอปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียดให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันออกนโยบายแก้ไขเรื่องนี้

ประเด็นเรื่องคนล้นคุกนั้น ตัวจำนวนยิ่งเยอะ กรมราชทัณฑ์ก็จะเจอปัญหาของตัวเองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมดูแล การให้สวัสดิการ หรือการทำอะไรให้ดี กรมราชทัณฑ์จะรู้เรื่องนี้มากกว่า ถามว่าสำคัญหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากกรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการฟื้นฟูดูแลผู้ต้องขัง ให้ความเป็นมนุษย์ทำให้ชีวิตเขาเหล่านั้นมันไม่แย่มากสำหรับเขา เขาเหล่านั้นก็สามารถจะออกไปสู่สังคมได้อย่างดี การกระทำผิดซ้ำก็จะเกิดขึ้นน้อยลง แม้ว่าจะเป็นตัวทำให้เกิดจำนวนคนล้นคุกได้ค่อนข้างน้อยก็จริงอยู่ แต่ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาคนล้นคุกได้พอสมควร

แต่คนก็จะพูดว่าคนออกมาแล้วก็กลับเข้าไปทำอีก ก็จะเห็นได้จากตัวเลขว่าตัวเลขมันไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่มันมีแน่เรื่องของการกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะสังคมที่เราปล่อยคนออกจากคุกไปแล้วไม่ได้มีการดูแลเขา เขาเองก่อนเข้าก็แย่อยู่แล้ว เข้าคุกแล้วออกไปก็ทำให้มันเริ่มต้นจากติดลบหรือเริ่มต้นจากศูนย์ แต่การกลับเข้ามาก็ไม่ได้เยอะมากอย่างที่เราคิด แต่ก็สำคัญเพราะพวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ควรไปกระทำผิดซ้ำ

หากถามว่าการกระทำผิดซ้ำเป็นสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับปัญหาคนล้นคุกหรือไม่ อำนาจการอธิบายมันน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาคนล้นคุกก็ต้องแก้ไขปัญหาที่กฎหมาย หรือการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา การที่คนที่อาจจะไม่ผิดแต่ไม่มีเงินจ้างทนายความก็ทำให้ต้องติดคุก แล้วคนติดคุกก็อยู่รวมกัน ถือเป็นแหล่งรวมของคนทุกประเภทผิดจริง ผิดไม่จริง เกือบผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์เลยทำให้เป็นความผิด

สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับกรมราชทัณฑ์ก็ไปเน้นเรื่องธรรมะ เรื่องการอาชีพ ควรจะต้องติดถามเนื่องจากเป็นข้อมูลสำคัญ เพราะการที่ฝึกอาชีพอยู่ภายในเรือนจำนั้น ตกลงผู้ต้องขังเหล่านั้นได้ออกไปทำอย่างที่ฝึกมาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฝึกฝนให้ไปจะสามารถกลับไปรับงานทำงานที่โรงงานบ้างอะไรบ้าง เป็นแค่การฝึกทำงานเมื่อพ้นโทษออกมาจากเรือนจำก็ไม่ได้อยากทำ อาจจะเป็นเพียงแค่การใช้เวลาให้หมดไป ทำให้เขาไม่สับสนวุ่นวาย ไม่สร้างความวุ่นวายอยู่อย่างเป็นระเบียบ

แต่คุณทำได้เพียงพอหรือไม่สำหรับผู้ต้องขังหรือคนที่เข้าไปอยู่ภายในเรือนจำ ต้องใช้วิธีการอื่นด้วย ยกตัวอย่างงานที่เราทำการไปสอนโยคะทำให้เขามีสติมีสมาธิมีตัวตน คือคนที่เขาอยู่ในเรือนจำชีวิตมันค่อนข้างที่จะแย่จริงๆ มันทำผิดก็ดูสกปรกอยู่แล้วอะไรทำนองนั้น

ถ้าทำแบบนั้นอาจทำให้ผู้ต้องขังเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าถูกลงโทษซ้ำเข้าไปอีก เหมือนกับชีวิตมันล่มสลายไปแล้ว ซึ่งการล่มสลายของชีวิตมันคือเรื่องใหญ่ของความเป็นมนุษย์ เราจะต้องฟื้นฟูเขา แทนที่จะยิ่งกดดันทำให้เขาเลวลง ทำให้เขาฟื้นฟูทำให้เขากลับมาอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ชีวิตมีพลังในการก้าวเดินต่อไปให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น มันอาจจะทำไม่ได้ทุกคน

แต่โดยส่วนตัวจากที่ทำงานมา ค่อนข้างที่จะเชื่อว่า ถ้าเราให้สิ่งที่ดีความเป็นมนุษย์จากความรู้สึกดีๆ ที่เรามีให้เขาได้รับ ได้สัมผัสกับคนจำนวนมาก อย่างที่ได้เคยมีการโครงการสอนโยคะไปใช้กับผู้ต้องขังหญิงทำให้เขาเหล่านั้นรู้จริงๆ เขาก็มีพลังนะ ถึงเรือนจำจะไม่ดูแลสุขภาพเรา แต่เราดูแลสุขภาพตัวได้ เราสับสนวุ่นวานเราก็มีสมาธิได้

อย่างทันตกรรมเคลื่อนที่ เขาได้เห็นว่าทำไมทันตแพทย์ถึงได้ทำงานหนักเพื่อที่จะทำฟันให้ได้มากที่สุด ผู้ต้องขังเหล่านั้น เขาได้เห็นถึงความเสียสละของคนอื่น ลักษณะดังกล่าวที่ว่ามาเหล่านี้นั้นทำให้จิตใจเขาอ่อนโยนมากยิ่งขึ้น หมายความว่า เราจะทำอย่างให้คนที่เขาสูญสลายไปทุกอย่าง ให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนของตัวอยู่ มีความรู้สึกอ่อนโยน เรียนรู้สิ่งที่เราเรียกว่าคุณธรรม สามารถที่จะเอาชนะตัวเองได้

ตนคิดว่ากรมราชทัณฑ์ต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งมีการจัดโครงการฝึกอบรมธรรมะแต่ไม่พอ เนื่องจากแต่ละโปรแกรมทำได้ช่วงหนึ่งเท่านั้น บรรยากาศของเรือนจำควรจะทำให้สิ่งที่เขาได้รับมาปลูกฝังไปกับตัวผู้ต้องขังได้มากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้เข้าร่วมอย่างหลักสูตรสัคคสาสมาธิ แต่พอกลับเข้าสู่ระบบเรือนจำแล้วเจอกฎหมายวินัยอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม หากอยากให้ประสบความสำเร็จกรมราชทัณฑ์ก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่องราวเหล่านี้อย่างจริงจัง และก็เปลี่ยนระบบคิด หมายความว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เองก็จะถูกทำให้เชื่อว่าเขายิ่งควบคุมผู้ต้องขังได้เรียบร้อยมากขึ้นเท่าไหร่ ไม่หนี ไม่ตาย ไม่ก่อความวุ่นวาย เขาอยู่ได้

ส่วนเรื่องอื่นๆ มันก็เป็นทุกทางแต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ก็ต้องทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เห็นว่ามันมีความสำคัญเท่ากันระหว่างการที่เราจะดูแลเข้าใจผู้ต้องขังเปลี่ยนเกณฑ์ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ก็มีความพยายามทำอยู่ ตัวการใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปจะทำให้คนเป็นคนดีทำอย่างไร แต่ว่ามันน่าจะยังไม่มากเท่าที่ควร ผู้ต้องขังหนี ผู้บัญชาการเรือนจำถูกย้ายทันที แต่ว่าผู้ต้องขังเครียดไม่เป็นอะไรทำนองนี้ เราจำเป็นต้องคิดใหม่หรือเราต้องเลิกที่จะคิดในลักษณะแบบนั้น

“ส่วนตัวเชื่อว่าการทำกิจกรรมไปทำกับพวกเขานานๆ เป็นตัวอย่างให้เราได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความเข้าใจความรักหรือความอบอุ่นที่เรามีทำให้เขาได้ซึมซับสิ่งเหล่านั้น ไปได้มากกกว่าการใช้กฎระเบียบควบคุมเขาเอาไว้ เพราะฉะนั้น วินัยมีเอาไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยตามความจำเป็น แต่มันไม่ได้มีเอาไว้แก้ไขพฤติกรรมของผู้ต้องขังหรอก ถ้าคุณจะแก้ไขพฤติกรรมมนุษย์จะเรียนรู้ได้ก็จากคนที่เรารัก ซึ่งมันอาจจะต้องไปแก้ไขวิธีคิดเป็นอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ต้องขังเขาเปิดสิ่งที่อยู่ในใจเขา ไม่ใช่ในใจเขายังเครียดแค้นตลอดเวลา" ประธานโครงการเรือนจำสุขภาวะ กล่าว

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เวลาเขามีการอบรมนั้นเราจะพบว่า ลงไปดูในหลักสูตรแทบจะไม่มี ก็จะมีแต่กฎระเบียบตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นเป็นข้อๆ อย่างนี้จะต้องปฏิบัติอย่าง การลงโทษจะต้องทำอย่างไร มันทำให้ดูแข็งไป เราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีจิตใจที่พร้อมจะเข้าใจและมีความอ่อนโยน

ยกตัวอย่าง แพทย์เราก็จะสอนแต่วิธีการรักษา แต่ตอนหลังก็จะให้แพทย์ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคม รู้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แพทย์จะได้รู้ว่าเมื่อตัวเองรักษาต้องรู้ว่าคนไข้จะหายไม่หายไม่ได้อยู่ที่การรักษาของแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็อยู่ที่การสื่อสารกับคนไข้ด้วยว่าให้คนไขเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย แพทย์ก็จะเริ่มถามมากยิ่งขึ้น อย่างอยู่บ้านกินอะไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นยิ่งกว่าแพทย์อีก เพราะต้องดูแลผู้ต้องขังทั้งชีวิตไม่ใช่แค่เพียง 1-2 ปี แต่อยู่ไปถึง 5-20 ปี ผู้ได้ว่าคุณเป็นเจ้าของชีวิตพวกเขาเลยก็ว่าได้

เพราฉะนั้นการเป็นเจ้าของที่เป็นผู้มีอำนาจอยู่เหนือคนอื่นได้คุณต้องครองธรรมอะไรบ้าง คุณธรรมที่มีอยู่ในใจคุณต้องค่อนข้างลึกซึ้ง เขาบอกว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาเขาซื้อเวลาในการอบรมเจ้าหน้าที่ 1 ปี ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ในนอร์เวย์ที่เขาประสบความสำเร็จเขาใช้เวลาในการเตรียมการอบรมเจ้าหน้าที่ตรงนี้ 3-5 ปี ต่อคน เขาถึงจะปล่อยให้ไปอยู่ในเรือนจำกับผู้ต้องขัง ของเราอบรมไม่กี่เดือน 6 เดือนก็มากแล้วส่วนใหญ่เป็นการอบรมเรื่องกฎระเบียบ การลงโทษ หน้าที่ อย่างนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมด

ในเรือนจำมันเป็นวิชาชีพที่ยิ่งกว่าครู ยิ่งกว่าหมอ ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น แทบจะเป็นสหวิทยาการ และก็ให้ความสำคัญเราอย่าไปคิดว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือผู้บริหารเรือนจำ แค่ทำให้เรือนจำสงบเรียบร้อย ผู้ต้องขังไม่หนี ทุกอย่างมันดำเนินไปได้แบบลักษณะเรือนจำที่เป็นอยู่ ส่วนผู้ต้องขังออกไปแล้วคุณจะเป็นอะไร หรือขณะที่อยู่เขารู้สึกอย่างไร ครอบครัวเขาจะเป็นอย่างไร มันไม่ใช่แล้ว ต้องคิดใหม่ทั้งระบบไม่ใช่ไปรื้อเรือนจำแต่หมายความว่าปรับเปลี่ยนวิธีคิด

อย่างทุกวันนี้เขาเชื่อกันอยู่ว่าการจัดสถานที่ให้มีสีสันติดรูปให้มันดูดีเหมือนบ้านช่วยให้คนมีจิตใจอ่อนโยน แต่ในเมืองไทยของเราทุกอย่างพวกนี้ต้องเกลี้ยงทั้งหมดไม่มี เชื่อไหมว่าผู้ต้องขังของไทยเราไม่เคยเห็นตัวเองในกระจกเพราะเขาห้ามเอากระจกไปไว้ในเรือนจำ ทำไมบางทีบางแห่งคนก็อยากจะเห็นสรีระบ้าง แต่เราทำให้ชีวิตในเรือนจำมันผิดปกติมากขึ้น เขามาจากปกติเลย แต่เราใช้ความพยายามมหาศาลทำให้เขาเหล่านั้นไม่ปกติ ถึงวันที่เขาออกไปมาหวังให้เขาเหล่านั้นปกติ แต่ถ้าทำให้มันปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีระเบียบวินัยเลย มนุษย์เราทุกคนมันมีชีวิตจิตใจ และคนบางคนความผิดอาจจะทำแค่ร้อยละ 20 จากทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ของคุณความดีทั้งหมด แล้วมีเหตุผลเพื่อต้องการไปเลี้ยงดูครอบครัวเขา

แต่ในอีกมิติหนึ่งของมนุษย์เป็นมิติของความรัก ความรับผิดชอบ แต่เขาไม่รับผิดชอบต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าคุณผิดแล้วจะกลายเป็นคนที่เลวมาก ศาลตัดสินให้เขาจำคุกแต่คุณเองไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดีไปเสียทุกอย่างเหมือนเขาไม่ใช้มนุษย์อีกต่อไป เพราะเขาก็รับโทษของเขาอยู่แล้ว หากคุณไปเห็นสภาพของการถูกคุมขังในเรือนจำของไทย มันรู้สึกหดหู่ใจ อีกทั้งก็ไม่ใช่ความผิดของกรมราชทัณฑ์ที่เอาคนไปอยู่จนแน่นขนาดนั้น แม้แต่การนอน ผู้ต้องขังหลายคนขอเพียงเพื่อมีอากาศหายใจ

ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในเรือนจำก็มีความหนาแน่นเสียจนถ้าเราเป็นคนดีๆ เข้าไปอยู่เราอาจจะป่วย แต่ถ้าเขาอยู่จนชินก็อาจจะไม่ป่วย อากาศที่บริสุทธิ์ แสงแดด ช่วยให้เขาได้แข็งแรง ในเรือนจำการลงโทษบางอย่างอาจจะต้องเลิกเช่นการลงโทษกลางแดดจนตัวดำเมี่ยม เดี๋ยวก็อาจจะเป็นมะเร็งโรคผิวหนัง เข่าอาจจะเสียไม่รวมไปถึงทางด้านจิตใจ ต้องการใช้เงินมากมายก็จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด อย่างการพูดของเจ้าหน้าที่บางคนก็หยาบคาย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นที่อาจยังมีอยู่แบบที่ว่ามา