โครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” รุ่น 4 เยือนลาว  เชื่อมสัมพันธ์สมาคมนักข่าวฯ สองชาติ ส่องบทบาทจีนในอาเซียนผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมในโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 4  นำคณะนักข่าวไทย 17 คนจากสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และสื่อใหม่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนของจีนที่มีบทบาทต่อชาติต่าง ๆในอาเซียน โดยมีกรณีศึกษาคือ เส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว

กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา  โดยคณะนักข่าวได้พบปะกับผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ซึ่งนอกจากจะได้พบปะกับหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟลาว-จีนแล้วยังได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนจากสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว และได้ไปเยี่ยมชมสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวด้วย 

            สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว มีกิจกรรมเยี่ยมเยือนระหว่างตัวแทนสองฝ่ายทุกปีตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา

ท่านสุนทอน คันทะวง รองประธานสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ความร่วมมือที่ดีระหว่างกันดังกล่าว มีส่วนช่วยในกรณีที่เกิดปัญหาความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจระหว่างสองประเทศ ที่อาจเกิดจากการสื่อสารคลาดเคลื่อนหรือการรายงานของสื่อที่ผิดพลาดทำให้เข้าใจผิด เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องและปัญหาไม่บานปลาย

สำหรับสื่อมวลชนในลาว เนื่องจากลาวปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ดังนั้นสื่อหลักจึงยังเป็นสื่อของรัฐ จำนวน 5 องค์กร ได้แก่

a. สถานีโทรภาพลาว

b. สถานีวิทยุแห่งชาติลาว

c. หนังสือพิมพ์ประชาชนลาว

d. สำนักข่าวสารประเทศลาว

e. สำนักงานหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศ (Vientiane Times)

นอกจากนี้ก็ยังมีสื่อเฉพาะจากแต่ละหน่วยงาน อาทิ สหพันธ์แม่หญิงลาว จะมีสื่อนิตยสารของตัวเอง กรมป้องกันความสงบ(กรมตำรวจ)ลาว มีสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง

สมาคมนักข่าวลาว มี หนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา” หรือมี นสพ. เวียงจันทน์ใหม่ (ของหน่วยงานปกครองเวียงจันทน์ คล้าย กทม.ในไทย) และมีหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้าอื่น ๆและมีสื่อโทรทัศน์ของภาคเอกชนด้วย เช่น ลาวสตาร์แต่ก็มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ทั้งนี้สื่อเอกชน จะเป็นสิ่งพิมพ์และนิตยสารเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สื่อกระจายเสียง (วิทยุและโทรทัศน์) เจ้าของคือหน่วยงานของภาครัฐ

            รองประธานสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ยอมรับว่าภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและอิทธิพลของสื่อออนไลน์ยุคใหม่ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและรับรู้ข่าวสารของชาวลาวเช่นกัน ทำให้สื่อในรูปแบบเดิม ๆได้รับผลกระทบ

            “คนลาว70%อ่านภาษาไทยออก  80% ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง เทคโนโลยีทำให้คนลาวฟังภาษาไทยได้มากขึ้น  ตอนนี้คนลาวรับสื่อใหม่เพิ่มขึ้น ใช้ Facebook /Line/ Telegram/ Whatsapp กันมากขึ้น ขณะนี้สื่อหลัก ๆในลาวก็พัฒนาไปสู่พื้นที่ของเวปไซต์รวมทั้งสื่อออนไลน์  ทำให้มีผลต่อสื่อรุ่นเก่าด้วย”

            ด้านท่านวรสัก ปะวงเวียงคำ  รองผู้อำนวยการวิทยุแห่งชาติลาวกล่าวว่า  ในสปป.ลาว สื่อวิทยุยังเป็นที่นิยมมากและได้รับผลกระทบน้อยกว่าสิ่งพิมพ์  แต่สื่อใหม่และสื่อออนไลน์ก็ส่งผลต่อวิทยุเช่นกันทำให้ต้องปรับตัวเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย

            “ยอดรายได้ของสื่อวิทยุในลาวลดลงกว่าร้อยละ 50 จาก digital disruption สำหรับลาวนั้น ต้นทุนการผลิตรายการผ่านคลื่น A.M. สูงกว่า F.M. และจำนวนคนฟังน้อยลง แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องให้บริการผู้ฟังกลุ่มนี้ต่อไป”

            ทั้งนี้ สื่อมวลชนของลาว มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสื่อมวลชนของเวียดนามและจีน มีการให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เครื่องส่งกระจายเสียงและภาพ ด้านงบประมาณ รวมทั้งโครงการฝึกอบรมให้ความรู้และการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านสื่อและแลกเปลี่ยนเนื้อหารายการ/สารคดีเพื่อออกอากาศในสื่อของแต่ละชาติ

            ในการพบปะกับผู้แทนของสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวนั้น มีการแนะนำการทำงานของทางสถานีในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีเหตุเขื่อนแตกล่าสุด ที่มีผู้สื่อข่าวลาวไปเกาะติดรายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสื่อใหม่ แต่สื่อสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวก็ยังมีจุดแข็งคือความน่าเชื่อถือ ที่ประชาชนชาวลาวจะต้องมารับข่าวสารหากต้องการความถูกต้องชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องที่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลลาว

            อย่างไรก็ตามผู้แทนของสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวยอมรับว่า ยังมีความท้าทายหลายประการรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะการแข่งขันจากสื่อใหม่ ที่ทำให้สื่อดั้งเดิมในลาวต้องปรับตัวเข้าไปเพิ่มพื้นที่ในสื่อออนไลน์เช่นการถ่ายทอดสดทาง Tik Tok และ Facebook นอกจากนี้ยังมีเรื่องการต้องบริหารงานให้ได้คุณภาพดีท่ามกลางงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลอย่างจำกัด อีกทั้งมีเรื่องของคุณภาพคนทำงานสื่อที่ต้องการเพิ่มทักษะและศักยภาพให้สามารถผลิตผลงานที่ดีสู่ผู้ชมได้ในอนาคต