จับกระแสปี ’66 ตลาดหนังสือฟื้น โมเดลใหม่หลังโควิด

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

------------------------

“สิ่งพิมพ์ไม่ตายแน่นอน”   

นส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวอย่างมั่นใจสวนกระแสเทรนโลกที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เธอสะท้อนผ่านความคึกคึกจากยอดขายหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหลังทะลุเกินเป้าเกือบ350 ล้านบาท 

“เราไม่ได้ตัวเลขนี้มาอย่างน้อย 3 ปีในช่วงโควิด นี่เป็นครั้งแรกที่ยอดเพิ่มขึ้น เราคาดหวังงานปีหน้าต้นมี.ค. จะมียอดที่เพิ่มกว่านี้”  

นส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ ขอบคุณรูปภาพจากสยามรัฐ https://siamrath.co.th/n/384716

ทิพย์สุดา บอกว่า สำหรับตลาดสิ่งพิมพ์แม้มีการเปรียบเทียบประเทศไทยอาจตามหลังต่างประเทศ 5 ปี แต่ด้านหนึ่งเราใช้กรณีนี้มาทำนายอนาคตตลาดกระดาษได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศไม่ได้อ่านกระดาษลดลง มีงานวิจัยหลายด้าน พบว่า การอ่านจากกระดาษทำให้เข้าใจหรือจำ เนื้อหาได้ดีกว่า บวกกับกระแสที่คนอยากลดการใช้โซเชียลหรือออกจากหน้าจอ เขาก็ยังอ่านจากกระดาษอยู่ 

 

งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา มีตัวเลขที่น่าสนใจ ยอดผู้เข้าร่วมชมงาน1,355,893 คน ในส่วนการสร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ คิดเป็น 347 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 74% เมื่อเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดไปเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ที่บางซื่อ ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 200 ล้านบาท แต่ตอนนั้นมีการจำกัดคนเข้างาน และจำกัดพื้นที่ และอยู่ในสถานการณ์โควิด ซึ่งคนมาร่วมงานหนังสือหลังปี 2562 ก็ไม่เกิน 1 ล้านคน 

ส่วนงานสัปดาห์หนังสือปีหน้าระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เทรนที่จับตามอง เธอบอกว่า ก้าวสู่ใกล้การเลือกตั้ง นักอ่าน เยาวชนน่าจะให้ความสนใจประเด็นการเมืองมากยิ่งขึ้น คาดหวังว่า ทั้งงานจะเติบโตขึ้นอีก จะมียอดผู้เข้าร่วมงานอยู่ที่  1.5 ล้านคน ยอดขายน่าจะ 350 ล้านบาท  

ยอดที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงพลังของการอ่านที่เริ่มฟื้นตัว และผู้คนยังนิยมการอ่านหนังสือในรูปเล่มอยู่มาก

หมวดหนังสือขายดีได้แก่ นิยายและวรรณกรรม ตามด้วยการ์ตูนและหนังสือวัยรุ่นตามลำดับ รองลงมาคือ How To การพัฒนาตนเอง ส่วนหนังสือการใช้เงิน การบริหารธุรกิจ พ่อรวยสอนลูก แม้คริปโตจะเสื่อมลง แต่หนังสือแนวนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง 

“งานมหกรรมหนังสือที่ผ่านมา เรามีการแยกนิยายวาย และ life novel ซึ่งค่อนข้างได้รับความนิยมสูง ประมาณ 40% ของยอดขายหนังสือทั้งหมดในงาน  แต่การ์ตูนที่สูงโดดเด่นขึ้นมาเพราะความนิยมของดาบพิฆาตอสูร แล้วก็มหาเวทย์ผนึกมาร 2 เรื่องนี้ทำให้ตลาดการ์ตูนยกระดับมาทุกเรื่อง กลับมาขายดีต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ โดยรวมตลอดการจัดงานพบว่าความต้องการอ่านหนังสือของผู้คนยังคงคึกคัก มีนักอ่านหลากหลายกลุ่มช่วงวัยแวะเวียนมาถามหาหนังสือหรือสำนักพิมพ์ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักอ่านชาวต่างชาติที่ต้องการหาหนังสือต่างประเทศด้วย”

ขณะที่หนังสือประวัติศาสตร์กับการเมืองแม้ไม่ได้ขายดีมาก แต่เป็นหนังสือน่าจับตามองเพราะว่าเป็นแนวหนังสือใหม่ที่คนหันมาอ่านมากขึ้นเช่นกัน     

สำนักพิมพ์เล็กผงาด 

หนังสืออาหาร/ท่องเที่ยว ร่วง 

แม้สิ่งพิมพ์ไม่มีทางตาย แต่โมเดลใหม่ที่ถูกปรับเปลี่ยนหลังเจอมรสุมดิสรัปชั่นและโควิด มีหลายประเด็นน่าสนใจ 

เธอบอกว่า สำนักพิมพ์ปัจจุบัน มีการปรับตัวเป็นขนาดเล็กลงเพราะออนไลน์โตขึ้นและมีโอกาสขายสินค้าได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อก่อนสำนักพิมพ์ใหญ่ได้พื้นที่ในร้านขายหนังสือค่อนข้างมากทำให้มีโอกาสการขายมากกว่า และมีข้อได้เปรียบเรื่อง เช่น สายป่านยาว แต่ปัจจุบันช่องทางเปลี่ยนไปใน มาร์เก็ตเพลส  เว็บไซต์สื่อกลางที่รวบรวมสินค้าและร้านค้าไว้ซื้อขายจำนวนมาก หรือ Shopee ,Lazada ขายออนไลน์ของสำนักพิมพ์ตัวเอง สำนักพิมพ์ใหญ่จึงไม่ได้เปรียบมากขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว เป็นเหตุให้ปัจจุบันสำนักพิมพ์เล็กค่อนข้างมีมาก 

ทิพย์สุดา เล่าว่า สมาชิกสมาคมฯ ปัจจุบันประมาณ 60%ขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ค่อนข้างเป็นสำนักพิมพ์เล็ก บางสำนักพิมพ์ก็จะออกหนังสือแค่ช่วงงานสัปดาห์หนังสือเท่านั้นก็อยู่ได้ทั้งปี คิดว่าโมเดลสำนักพิมพ์ของประเทศไทยจะขยับไปทางสำนักพิมพ์เล็กมากขึ้น  

ในส่วนของร้านหนังสือด้วยความที่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมในการขายหนังสือ หรือ ซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรง ทำให้ช่วงนี้ได้เห็นภาพนักอ่านเดินดูหนังสือโดยที่ยังไม่ซื้อที่ร้าน แต่ตั้งใจจะมาซื้อผ่านออนไลน์เพราะอย่างน้อยก็ได้ส่วนลดจากสำนักพิมพ์ 15% ดังนั้น ร้านหนังสือจะพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนกัน จะเห็นว่า มีการปรับตัวด้วยการเพิ่มสำนักพิมพ์ที่อยู่ภายใต้ร้านหนังสือ เช่น BTS ก็จะมีสำนักพิมพ์ของตัวเอง  

ส่วนสำนักพิมพ์ใหญ่อาจพบปัญหา เช่น บางสำนักพิมพ์ผลิตนิยายวัยรุ่นที่เป็นกระแส พอกระแสเปลี่ยน ก็กระทบค่อนข้างมาก แต่อีกด้านถ้าพิมพ์เรื่องการเมือง แล้วกระแสการเมืองแรงจะช่วยยกระดับให้ขายดียิ่งขึ้น  

ทิพย์สุดา กล่าวว่า สิ่งที่เห็นช่วงหลังโควิด คือ บางสำนักพิมพ์เจอปัญหา เช่น สำนักพิมพ์ทำอาหาร หรือ หนังสือท่องเที่ยว ก็จะไม่พิมพ์แล้ว หรือออกมาน้อยมาก เรียกได้ว่า น่าจะตายไปในช่วงโควิด เพราะท่องเที่ยวไม่ได้ก็น่าจะปิดตัวเกือบทุกสำนัก ส่วนอาหาร ประเทศไทยชอบเสพโซเชียล เช่น Tiktok ทำให้คนทั่วไปหันมาทำอาหารตามในคลิปมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเทรนในต่างประเทศ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา หนังสือทำอาหารขึ้นแท่นเบอร์ 1 ขายดีเพราะคนต่างประเทศเขาออกไปไหนไม่ได้ก็จะอยู่บ้าน เปิดตำราทำอาหาร แต่ของบ้านเรา คนละข้างกัน หนังสือทำอาหารตอนนี้ไม่สามารถขายได้  

ส่วนที่ยอดพิมพ์น้อยลงคือ คู่มือเรียนคู่มือสอบจากการสอบถามพบว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้มีการปรับปรุงหลักสูตร ดังนั้น สามารถใช้เล่มเดิมตั้งแต่โควิดต่อเนื่องมาได้ จึงไม่ได้มีปกใหม่ออกมา  

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา นิตยสารล้มหายไปกว่า 30-40 ปก ส่งผลให้คนไม่เข้าไปเดินร้านหนังสือ เพราะปกติคนไปซื้อนิตยสารจะเดินเข้าไปในร้านและอาจหยิบหนังสือเล่มอื่นด้วย แต่พอ แรงดึงดูดจากนิตยสารที่เคยเชิญชวนให้คนไปเดินในร้าหนังสือ หายไปเกินครึ่งในพื้นที่ร้านหนังสือ ก็ทำให้ตลาดหนังสือเล่มก็กระทบเหมือนกัน

บทเรียนจากสถานการณ์โควิดที่เธอสรุป คือ การที่สำนักพิมพ์มีขนาดไม่ใหญ่มาก และสามารถยืดหยุ่น จะอยู่รอดได้ จะเห็นได้ว่า สำนักพิมพ์ขนาดกลาง ขนาดเล็กสามารถคงอยู่ได้อย่างดี ไม่ได้ปิดตัวลงไปมากนัก เพราะการที่บริษัทจ้างคนไม่มาก เช่น คน และที่เหลือเอ้าท์ซอร์ส (Outsource) มากขึ้น เป็นการเปลี่ยนองค์กรให้มีขนาดที่กระชับ เป็นโมเดลเหมือนที่ประเทศเกาหลีใช้  

ขณะที่ หลายสำนักพิมพ์จากเดิมที่ขายหนังสืออย่างเดียว ก็ขยับไปทางอีบุ๊ก (E-Book) และหนังสือเสียงมากยิ่งขึ้นหรือ Audiobook หรือเล่มที่มีการนำมาไปพูดใน podcast มากๆก็จะขายดีทุกเล่ม และช่วงไหนที่อินฟูเอ็นเซอร์ที่มีชื่อเสียง คนที่มีอิทธิพลในสังคมมาแนะนำซักเล่ม ก็จะช่วยส่งเสริมการอ่านได้ เช่น ล่าสุด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.แนะนำให้อ่านอะไรก็จะสนับสนุนวงการอ่านมากขึ้น หรือ ครั้งหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึง Animal Farm เล่มนั้นก็ขายดี 

ปี 2566 เทรนที่จับตา 

อีบุ๊กยังแรง/ เด็กฝันเป็นนักเขียน 

งานสัปดาห์หนังสือปีหน้า ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน 2566 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เทรนที่จับตามอง เธอบอกว่า  ก้าวเข้าสู่ใกล้เลือกตั้ง นักอ่าน เยาวชนน่าจะให้ความสนใจประเด็นการเมืองมากยิ่งขึ้น คาดหวังว่าทั้งงานจะเติบโตขึ้นอีกจะมียอดผู้เข้าร่วมงานอยู่ที่ 1.5 ล้านคน ยอดขายน่าจะ 350 ล้านบาท  

เทรนที่จะเห็นมากขึ้น หากสะท้อนจากการศึกษาในงานสัปดาห์หนังสือล่าสุด คนไทยอ่านกระดาษแต่หันไปอ่านอีบุ๊กมากขึ้น ซึ่งก็จะมีทั้งแบบเป็นเล่ม และแบบที่เติบโตมากขึ้น คือ รายตอนที่ซื้อในแอป ซึ่งนิยมมากกว่าซื้อแบบรวมเล่ม อีกปัจจัยในปี 2565 กระดาษราคาสูงขึ้นทำให้ราคาหนังสือสูงตามกระทบต่องบประมาณของนักอ่าน ที่จะซื้อหนังสือประมาณ 500-1,000 บาทต่อเดือน เขาจึงเปลี่ยนไปซื้อนิยายออนไลน์บ้าง หรือว่า อีบุ๊กซึ่งราคาถูกกว่าหนังสือเล่ม

อีบุ๊กตอนนี้มีเหมือนหนังสือเล่ม เพียงแต่มีน้อยกว่าเพราะอย่างบางสำนักพิมพ์ เวลามีหนังสือออกใหม่ เขายังไม่ลงอีบุ๊ก เขาจะขายเป็นเล่มก่อน พอหมดการขายกระดาษแล้ว เขาก็จะเอาเข้าอีบุ๊กแต่ช่วงหลังกระแสคนเรียกร้องให้สำนักพิมพ์ออกอีบุ๊กมากขึ้นทำให้จำนวนหนังสือใหม่ๆในอีบุ๊กค่อนข้างมีมาก จนอาจตามทันหนังสือเล่ม 

ทิพย์สุดา กล่าวว่า ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์เล็กจะทำเป็นอีบุ๊กมากกว่า เช่น มีนักเขียน 1 คนสามารถทำอีบุ๊กได้โดยไม่ต้องพิมพ์เล่ม คือ ขายจากอีบุ๊กได้เลย ตรงนี้จะทำไม่เสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เล่ม อีกแบบคือ คนที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ บางทีซื้อลิขสิทธิ์มาแต่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการขายอีบุ๊ก ก็อาจต้องอ่านเป็นเล่มอยู่   

“ตอนปี 2555 เรามียอดขายหนังสือต่อปีอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทรวมสมาชิกทุกคน ทุกสำนักพิมพ์ในสมาคม แล้วก็ร่วงลงมาเรื่อยๆ ต่ำสุดในปี 2564 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท สมกับที่บรรดาสื่อยกให้เป็นว่า ธุรกิจดาวร่วงติดต่อกัน 10 ปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ยอดขายเชิดหัวมา  

คำพูดที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือแค่ 7บรรทัด สำหรับเธอบอกว่า ไม่พบว่าต้นตอคำกล่าวนี้มาจากไหน แต่การสำรวจจากสำนักสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้น เด็กมัธยมอ่านหนังสือกันหนักมากโดยเฉพาะฝั่งนิยาย และการ์ตูน และช่วงนี้อาชีพหนึ่งที่เด็กๆอยากทำเป็นงานอดิเรก คือ การเป็นนักเขียนแต่งนิยาย เลยคิดว่า ตราบใดที่ยังมีคนเขียน ก็ยังมีคนอ่านหนังสืออยู่  

“การที่คนกลับมาซื้อหนังสือเยอะขึ้นเพราะสำนักพิมพ์กลับออกมาหนังสือใหม่ ทำให้นักอ่านมีทางเลือกในการซื้อ ยอดขายจึงเพิ่มขึ้น เดิมทีถ้างานหนังสือครั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนการผลิตหนังสือในปลายปีก็อาจจะชะลอ และอาจทำให้รายได้หดลง แต่ด้วยความที่หนังสือใหม่ ประสบความสำเร็จในงานที่ผ่านมา คิดว่า สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ยังคงปริมาณในการออกหนังสือใหม่อย่างต่อเนื่อง ยอดขายก็น่าจะเติบโตต่อไป” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวอย่างมีความหวัง