สมาคมนักข่าว-CMG จัดเวทีราชดำเนินเสวนาผ่านระบบ ZOOM หัวข้อ “จับตาประชุมสองสภาจีน กับเส้นทางการก้าวสู่ประเทศมหาอำนาจ”

สมาคมนักข่าว-CMG จัดเวทีราชดำเนินเสวนาผ่านระบบ ZOOM หัวข้อ "จับตาประชุมสองสภาจีน กับเส้นทางการก้าวสู่ประเทศมหาอำนาจ" ถึงเวลาเตรียมรับมือโลกาภิวัฒน์ลายมังกร ย้ำจุดยืนไทยต้องรักษาสมดุลอำนาจและผลประโยชน์ไม่พึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ China Media Group Asia Pacific (CMG) จัดเวทีราชดำเนินเสวนา on line ด้วยระบบ zoom หัวข้อ "ถอดรหัสการประชุมสองสภาของประเทศจีน" โดยมี รศ. ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง (Li Ren Liang) รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้าร่วมเสวนา

ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง (Li Ren Liang)

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ผศ.ดร.หลี่ กล่าวว่า จากการประชุมสองสภาของจีนคือสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) ที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่ติดตามของคนทั่วโลก จากที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้รายงานการดำเนินการปี 2019 และเป้าหมาย 2020 ซึ่งมี 7 ประเด็นที่น่าสนใจคือหนึ่งเน้นที่เรื่องจ้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2020 จะมีการจ้างงานใหม่ 9 ล้านตำแหน่ง รองรับบัณฑิตที่จะจบใหม่ 8.74 ล้านคน รวมทั้ง มีแผนงานโครงการกิจกรรมสู่เป้าหมาย 3 ประการคือ 1. ชนะสงครามต่อต้านความยากจน 2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 13 และ 3. บรรลุเป้าหมายประชาชนอยู่ดีมีสุข ประเด็นที่สองการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลร้อยละ 3.6 ของจีดีพี เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านหยวน และออกพันธบัตรประมาณ 1 ล้านล้านหยวนกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจปีนี้และปีต่อไป

ประเด็นที่สาม มีมาตรการต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่าย ลด หรือยกเว้นภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนหน้านี้ช่วงสถานการณ์โควิด ได้ประกาศงดเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้านอาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว โดยประชุมครั้งนี้ได้เพิ่มมาตรการลดหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 5 แสนล้านหยวน รวมแล้วเป็นเงินมูลค่า 2.5 ล้านล้านหยวน

ประเด็นที่สี่ ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินการธุรกิจต่าง ๆ แก่บริษัท ลดค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ประเด็นที่ 5 ขยายการลงทุนโดยให้รัฐบาลท้องถิ่น ออกพันธบัตร 3.76 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ 5G รถยนต์พลังงานใหม่ พัฒนาเมืองระดับตำบลและอำเภอ ประเด็นที่หก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้แสดงความเห็นว่าการบริหารประเทศประชาชนต้องมาก่อน ซึ่งได้รับการชื่นชม และประเด็นที่เจ็ดที่ประชุมได้เสนอญัตติให้สภาพิจารณาผ่าร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง

ผศ.ดร.หลี่ กล่าวว่า เรื่องการออกกฎหมายความมั่นคงฯ จะเห็นว่าประชาชนฮ่องกงเขาต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะจะเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เศรษฐกิจซบเซา คนส่วนใหญ่จึงต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองชีวิตทรัพย์สิน รัฐบาลกลางก็มีอำนาจ ความรับผิดชอบดูแลพลเมืองเพื่อความมั่นคง และการยกร่างกฎหมายความมั่นคงก็เป็นไปตามหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ ไม่ได้เป็นการออกกฎหมายไปแทรกแซงการใช้ชีวิตคนฮ่องกงแต่อย่างไร และคนที่ออกมาสร้างความวุ่นวายในฮ่องกงเวลานี้ก็เป็นคนกลุ่มน้อยไม่ได้สะท้อนความเห็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นคนเฉพาะกลุ่มคือคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดรุนแรง

 

รศ. ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ในการประชุม NPC ไม่มีการกำหนดเป้าจีดีพี ซึ่งตอนแรกคิดว่าไม่กล้ากำหนดเพราะกลัวจะพลาดเป้าหรือไม่ ที่ผ่านมาจีดีพีจีนติดลบ 6.8 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเมื่อเจอวิกฤต COVID-19 ก็อาจเป็นตัวทำให้พยากรณ์ได้ยาก แต่จะเห็นว่าที่จริงแล้วเป็นเพราะจีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการจ้างงานมากว่า เพราะถ้าคนจีนไม่มีงานทำก็จะกระทบไปถึงเสถียรภาพทางสังคมทำให้ต้องเน้นไปที่เรื่องการจ้างงานเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายขจัดความยากจนซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา และการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศประชาชนต้องมาก่อนเพราะปีหน้าจะฉลองครบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ก็เพราะต้องทำให้ประชาชนมีเงิน หากคนไม่มีเงินก็จะลงถนนประท้วง

นอกจากนี้ การไม่ตั้งเป้าจีดีพียังสะท้อนถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่พูดเรื่อง 6 เสถียรภาพ คือ การจ้างงาน, การเงิน, การค้าระหว่างประเทศ, การลงทุนในประทศ, การลงทุนต่างประเทศ, การวางแผนเศรษฐกิจ และ 6 การประกันความมั่นคง ซึ่งประกันว่าคนต้องมีงานทำ, มั่นคงในชีวิตพื้นฐาน, กลไกตลาดทำงานอย่างเป็นเอกทศ อิสระ, มั่นคงทางอาหาร พลังงาน , มั่นคงในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ซึ่งจะการันตีว่าสภาพสังคมจะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นไม่มีการลงถนนประท้วง

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ขณะนี้จีนพยายามผลักดันเงินหยวนดิจิทัลโดยรวมกับเงินเยนของญี่ปุ่น เงินวอน ของเกาหลี และดอลลาร์ฮ่องกง เป็นสกุลเงินดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นความต้องการในใจของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียงมานานมากแล้ว โดยธนาคารกลางจีนเป็นชาติแรกที่ใช้เงินดิจิทัลที่เรียกว่า DCEP มีระบบที่รองรับ 300,000 ทรานแซกชั่นต่อวินาที เพราะจีนเป็นสังคมไร้เงินสดมานานและเป็นสังคมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยดาต้า จนทำให้สหรัฐรู้สึกหวั่นไหว สาเหตุหลักที่ต้องการออกเงินดิจิทัลเพราะแม้จะมีมูลค่าการค้ามากที่สุดในโลกแต่เงินดอลลาร์สหรัฐก็ถูกใช้มากที่สุด ดังนั้นการผลักดันเงินหยวนดิจิทัลจึงต้องการที่จะผงาดในตลาดเงินสากล แต่ก็ต้องดูว่าญี่ปุ่นจะจับมือด้วยหรือเพราะช่วงโควิดระบาดรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้การอุดหนุนให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานออกจากประเทศจีนพร้อมให้เงินอุดหนุนในการย้าย

ทั้งนี้ จีนต้องย้อนกลับมายังประเด็นที่ต้องพยายามหาทางรับมือกับบริษัทต่างชาติย้ายออกจากจีนเพราะอาจทำให้คนจีนตกงานเกิดปัญหาเสถียรภาพ ดังจะเห็นว่าจีนประกาศเปิดกว้างให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเภทธุรกิจที่มกว้างขึ้น และกำลังจะขยายพื้นที่เสรีการเงินหรือ FTZซึ่งเริ่มจากการทดลองที่เซี่ยงไฮ้ และตอนนี้มี 4 แห่ง โดยการประชุมที่ผ่านมานายกฯ หลี่ เค่อเฉียงระบุว่าจะขยาย FTZ เข้ามาในจีนตอนกลาง สะท้อนให้เห็นว่าจีนคิดใหญ่มองไกล ไม่แยกส่วน เห็นปัญหาตรงไหนแก้ตรงนั้นและเชื่อมโยงเสริมกันไม่ขัดกัน

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า BRI เป็นเหมือนกับเส้นทางสายไหมดิจิทัล ซึ่งหลังจากวิกฤตโควิดสหรัฐมีการจัดการแก้ปัญหาอย่างไร้ประสิทธิภาพ จนกลายเป็นมหาอำนาจที่สิ้นท่า คนจึงพูดกันว่าโลภาภิวัฒน์หลังจากนี้จะเป็นโลภาภิวัฒน์ลายมังกร ซึ่งไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ จีนมาแน่ ซึ่งจีนในยุคดิจิทัลซิลค์โรด ไม่ได้ส่งออกแค่สินค้า ได้ส่งออกนักลงทุน นักท่องเที่ยว แต่ส่งออกแพลตฟอร์ม ทั้ง Shopee Lazada TikTok ประเทศไทยก็ต้องมาทบทวนอีกครั้งว่าเราผูกโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศใดประเทศหนี่งมากเกินไปจะมีความเสี่ยงหรือไม่

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า หากพูดถึงสถานการณ์ฮ่องกงในเวลานี้ที่มีความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ก็จะกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับจุดแข็งของเขาเรื่องการเป็นศูนย์กลางการเงินมานาน ซึ่งเมื่อฮ่องกงสะดุดก็จะทำให้เข้าทางสิงคโปร์ แต่จีนคงไม่ยอมปล่อยให้เกิดขึ้นและพยายามสร้างศูนย์กลางการเงินให้อยู่ที่จีนซึ่งทำมาบ้างแล้วที่เซี่ยงไฮ้ แต่การโอนเงินระหว่างประเทศของจีนยังไม่เสรีมีการกลั่นกรองจาก SAFE ที่เข้ามาควบคุมบัญชีทุนตรงนี้ทำให้จีนพยายามปลดล็อคด้วยการขยาย FTZ ไปพื้นที่อื่นๆ นอกจากที่ทำอยู่เดิมแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าจีนเขาจะทำอะไรไม่ได้แค่มองซ้ายมองขวา แต่เขามองหมากรุกทั้งกระดาน เดินอย่างระมัดระวัง

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า การไม่ประกาศตัวเลขเป้าหมายจีดีพีเพราะสถานการณ์ช่วง COVID-19 มีความไม่แน่นอนจึงไม่มีประโยชน์หากจะประกาศ และหลายประเทศก็มีแนวโน้มจะไม่ประกาศเป้าหมายจีดีพีเหมือนกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือการจับประเด็นจากที่การประชุมสองสภาและการปาฐกถาของ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ต่อ WHO ซึ่งเป็นการวางบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่มีซุปเปอร์พาวเวอร์ขึ้นมาถ่วงดุลกับสหรัฐ โดยการจะเป็นมหาอำนาจได้ต้องมี 3 ปัจจัยคือ 1. อำนาจ ทั้งทางการทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางเทคโนโลยี 2. พื้นที่ ซึ่งจากข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ขยายความร่วมมือทั้งเอเชีย แอฟริกา ยุโรป เข้าถึงทรัพยากร ตลาดแรงงาน และ 3. สถานภาพได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งการประชุม NPC และ CPPCC แสดงให้เห็นว่าจีนต้องการมีสามปัจจัยกำหนดตัวเองให้เป็นประเทศมหาอำนาจอย่างแท้จริง

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า บางประเทศอย่างญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลดความเสี่ยงกระจายกระบวนการผลิต ซัพพลายเชน ไม่พึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ซี่งจีนที่เคยเป็นโรงงานโลกย่อมได้รับผลกระทบ อีกด้านหนึ่งให้ดูกรณีความขัดแย้งจากจีนและอินเดียที่เคยมีข้อพิพาทและสหรัฐอาสาเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยทำให้สองประเทศต้องหาทางจัดการปัญหากันเอง ดังนั้นเราเองก็ต้องสร้างสมดุลให้ดีไม่ให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ต่อจากนี้เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ลายมังกร แต่ยังมีอินเดียที่ยังมีจุดแข็งเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไทยเองอยู่ใกล้ชิดกับทั้งจีนและอินเดีย โดยการอยู่กับประเทศมหาอำนาจก็เหมือนกับพระอาทิตย์ หากอยู่ใกล้เกินไปก็ไหม้ อยู่ไกลเกินไปก็หนาว ต้องรักษาผลระโยชน์ของตัวเอง

"ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบจีนหรืออินเดีย เราต้องรู้ว่าเขาชอบอะไรเส้นทางการค้าเป็นอย่างไร เราต้องถ่วงดุลอำนาจให้ดี ด้วยการรวมพลังอาเซียนเพิ่มขนาดให้มีอำนาจการต่อรอง ส่วนความขัดแย้งของประเทศอื่นอย่างสหรัฐ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เราอย่าไปเชียร์เหมือนดูต่อยมวย ให้รักษาผลประโยชน์และรักษาสมดุลความสัมพันธ์ให้ดี" รศ.ดร.ปิติกล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่จีนผ่านกฎหมายความมั่นคงฯ ต้องดูไทม์ไลน์ว่าการปะท้วงของฮ่องกงจุดติดรอบที่ผ่านมาคือ มิ.ย. 2019 กำลังจะครบ 1 ปี กลุ่มผู้ต่อต้านคงต้องออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งต้องก้าวข้ามไม่ให้เกิดความรุนแรง ขณะที่กฎหมายความมั่นคงฯ ก็ต้องไปผ่านกระบวนการกว่าจะออกได้ก็คงราวเดือน ส.ค. และจะมีเหตุการณ์การเลือกตั้งทั่วไปฮ่องกงในเดือน ก.ย. ดังนั้นหากเดือน มิ.ย. เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงก็จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้มีกฎหมายความมั่นคง สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับหลักการ 1997 เรื่องหนึ่งประเทศสองระบบ การเรียกร้องความเป็นอิสระยิ่งเหมือนราดน้ำมันเข้ากองเพลิง

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า สำหรับจีนนาทีนี้ทั้งปริมาณคาร์โก หรือมูลค่าการขนส่งสินค้า ท่าเรือที่เซิ่นเจิ้นก็แซงฮ่องกงไปแล้ว หรือขนาดจีดีพี เซิ่นเจิ้นก็แซงฮ่องกงไปแล้ว ไปจนถึงนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินจำนวนมาก ไปตั้งอยู่ เซิ่นเจิ้นก็มีตั้งของ HSBC ซิตี้แบงก์ บริษัทไฮเทคจำนวนมาก็อยู่ที่เซิ่นเจิ้น นอกจากเซิ่นเจิ้นยังแล้วยังมีไฮ่หนานและอีกหลายพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างพร้อมเป็นคู่แข่งของฮ่องกง สำหรับฮ่องกงหากคุณยังใช้ความรุนแรงแบบนี้ต่อไป ในที่สุด สิ่งที่จีนต้องการคือฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน จีนไม่ได้ระบุว่าฮ่องกงจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของจีน แล้วจะต้องเป็นศูนย์กลางการเงินหรือศูนย์กลางการผลิต แค่เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนก็เพียงพอที่จะล้างอายศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู ยิ่งใช้ความรุนแรงจะไม่มีทางจบสวยสำหรับฮ่องกง

 

สามารถชมวิดิโอการบรรยายได้ที่ลิงค์นี้

https://www.facebook.com/activityoftja/posts/2728187017463750