“หากแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียง ก็จะทำให้เกิดความลำบาก
เพราะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นเต็มที่ การจะนำเงินกลับขึ้นมาก่อนโควิด-19 คลี่คลาย ก็ยังทำไม่ได้เลย”
เมื่อปี่กลองเลือกตั้งเริ่มดังขึ้น 1 ในนโยบายที่พรรคการเมือง นิยมหยิบยกขึ้นมาช่วงชิงความนิยม ขอคะแนนจากประชาชน หนีไม่พ้นเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และมนุษย์เงินเดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
"พิมพิมล ปัญญานะ" ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วิเคราะห์นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยเป็น 600 บาท ผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท แม้พรรคการเมืองประกาศ จะไม่ใช้เงินของรัฐบาล แต่ก็ถือเป็นงบประมาณภาระของเอกชน และแน่นอนว่า เมื่อจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน ก็จะต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายรัฐ (กระทรวงแรงงาน) ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีการปรับแน่นอน เพราะฝ่ายลูกจ้าง ย่อมสนับสนุน และฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคใด ก็จะต้องสนับสนุนด้วยแน่นอน แม้ฝ่ายนายจ้าง จะไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดก็ตาม ทำให้เสียงการลงมติ เป็น 2 ต่อ 1 ทั้งที่ ที่จะต้องพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้ง GDP ค่าเงินเฟ้อ มาพิจารณาประกอบ ทำให้กลไกดังกล่าวในการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนั้น ผิดปกติไป และเชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบาลใดมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีความเป็นไปได้ตามความต้องการของรัฐบาลพรรคการเมืองนั้น ๆ แน่นอน
"พิมพิมล" ยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นเรื่องดี ทำให้แรงงาน มีเงินเข้ามาหมุนเวียนได้มากขึ้น เมื่อเงินหมุมเวียนแล้ว ก็จะเกิดภาษี แต่ในมุมของค่าใช้จ่ายด้านแรงงานของผู้ประกอบ กลับจะสูงขึ้น ซึ่งภาระดังกล่าว ก็จะไปอยู่ในราคาสินค้า ถึงแม้แรงงานจะมีรายได้มากขึ้น แต่ราคาสินค้าปรับตามขึ้นอีก ก็จะถือว่า ส่วนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาก็ไม่ได้มีความหมาย และจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากมีการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำให้สอดคล้องกับบริบทราคาสินค้า และปัจจัยนอกประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ แต่การปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดด ก็จะกลายเป็นเงินเฟ้อทวีคูณ ที่เป็นปัจจัยภายใน ที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นปัญหาเอง และค่าพลังงานในปีหน้า ก็ยังคงสูงในปีหน้า
“การปรับขึ้นค่าจ้างดีกับทุกคน มีเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อมีการจับจ่ายก็ต้องเสียภาษีได้มากขึ้น มีเงินเข้าประเทศมากขึ้นด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ต้นทุนด้านแรงงานสูงขึ้น สิ่งนี้จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น แม้จะมีรายได้ขยับขึ้นก็ตามก็เท่ากับว่าไม่ได้อะไร เงินที่เพิ่มขึ้นมาก็ไม่มีความหมาย” พิมพิมล กล่าว
"พิมพิมล" ยังได้เล่าย้อนไปในสมัยที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศปรับค่าแรงจาก 200 กว่าบาท มาเป็น 300 บาทว่า ในสมัยนั้น แบ่งการปรับเป็น 2 ช่วง โดยนำร่องใน 7 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดอุตสาหกรรม จาก 215 บาท เป็น 300 ก่อนจะมีการปรับพร้อมกันทั่วประเทศ 300 บาท จนทำให้เกิดการโยกย้ายแรงงานในจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาใน 7 นำหวัดนำร่อง และหลังจากค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท แล้วยังก่อให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนแรงงานในบางจังหวัดด้วย เพราะไม่ว่าจะทำงานที่ใด ก็มีค่าแรงเท่ากัน และผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทครั้งนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กบางราย ต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน เพื่อลดภาระ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็เริ่มหาการใช้เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น หรือกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็ย้ายฐานการผลิตไปไปประเทศเพื่อนบ้านเลยก็มี เช่น อุสาหกรรมสิ่งทอ หรืออาหาร ไปยังกัมพูชา หรือเวียดนาม เพราะประเทศดังกล่าว ค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าไทย และกำลังแรงงานในวัยแรงงานมีมาก ไม่เข้าสู่สังคมสูงอายุเหมือนไทย จึงมีความได้เปรียบมากกว่า และหลังการขึ้นค่าแรงครั้งนั้น 2 ปี ยอดการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เคยได้รับเป็นระดับล้านล้าน ก็ค่อย ๆ หายไป แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้ว ไม่ได้จ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ แต่เป็นไปตามทักษะฝีมือแรงงาน และประเภทงานเป็นเกณฎ์พิจารณา แต่เมื่อมีการปรับฐานเงินเดือนใหม่ ให้ตั้งมาการปรับฐานพนักงานใหม่ทั้งหมด เหมือนที่รัฐบาลประกาศค่าแรงปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาทจึงต้องมาการปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ทั้งหมด ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อไม่ให้พนักงานใหม่ เงินเดือนสูงกว่าคนที่ทำงานอยู่ก่อนเดิม
ส่วนสาเหตุที่พรรคการเมือง มักนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาหาเสียงในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งนั้น "พิมพิมล" เห็นว่า เนื่องจาก สถานการณ์ขณะนี้ เห็นจุดอ่อนว่า มีประชาชนตกงาน และประชาชนส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และปกติพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย นิยมนำนโยบายลักษณะประชานิยมมาใช้ในการหาเสียง จึงเชื่อมั่นเหมือนที่มีนักวิชาการคาดการณ์กันไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็น "ซุปเปอร์ประชานิยม" เมื่อมีพรรคการเมือง เริ่มต้นเปิดตัวเลขขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ก็จะมีพรรคการเมืองอื่น ๆ หาเหตุผลขึ้นค่าแรงให้ได้สูงกว่า แต่หากมีเหตุผลในการขึ้นค่าแรง และสามารถเยียวยาผู้ประกอบการด้วย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากโควิด-19 มิเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการลำบากต่อทั้งรัฐบาลเอง และผู้ประกอบการ
“หากแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงก็จะทำให้เกิดความลำบาก เพราะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นเต็มที่ การจะนำเงินกลับขึ้นมาก่อนโควิด-19 คลี่คลาย ก็ยังทำไม่ได้เลย" พิมพิมล กล่าว
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดย "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" และ "คลื่นข่าว" MCOT News FM 100.5