ครบรอบ 68 ปี สมาคมนักข่าวนักนักหนังสือพิมพ์ฯ ยึดมั่นสร้างความเป็นธรรมให้คนข่าว 

ครบรอบ 68 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยึดมั่นสร้างความเป็นธรรมให้คนข่าว ผู้แทนสหประชาชาติ ปาฐกถาพิเศษ ขอสื่อเป็นกุญแจสำคัญ พลิกไทยสู่สังคมสีเขียว ดึงคนรุ่นใหม่ มีบทบาททางศก. พร้อมสร้างทักษะอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค กรุงเทพมหานคร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 68 ปี (TJA 68th Anniversary Talk) และวันนักข่าว 5 มีนาคม ประจำปี 2566 โดยมี นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Subharwal) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย” ทั้งนี้ มีตัวแทนสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และตัวแทนจากองค์กรภาคธุรกิจเข้าร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง อาทิ บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)

นายมงคล กล่าวว่า วันนี้เป็นวันนักข่าว 5 มีนาคม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ “รางวัลอิศรา อมันตกุล” รางวัลแห่งเกียรติยศของคนหนังสือพิมพ์ยาวนานกว่า 51 ปี เพื่อรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับและอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและบุกเบิกงานข่าวเชิงสืบสวนในประเทศไทย จนถึงวันนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีสมาชิกรวม 2,237 คน ทั้งจากหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และวิทยุโทรทัศน์ เฉพาะปี 2566 นี้มีสมาชิกใหม่ 48 คน ทั้งนี้ เป้าหมายในรอบ 1 ปีข้างหน้า ตนมุ่งหวังว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จะยืนหยัดบทบาทการเป็นผู้แทนปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและเป็นความธรรมภายใต้เงื่อนไขความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม สังคมตั้งข้อสังเกตว่าสื่อกระแสหลักเปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ไปเป็นสื่อออนไลน์หมดแล้วหรือไม่ แต่สำหรับตนเชื่อมั่นว่าสื่อกระแสหลัก คือสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมภายใต้จรรยาวิชาชีพ นำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน ครบถ้วนและเป็นธรรมโดยยึดหลักความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารให้กับสังคม ดังนั้นไม่ว่าสื่อนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็จะเป็นสื่อกระแสหลัก

  • การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับ “องค์กรสื่อ” กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาประเทศไทยในเชิงบวก

นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Subharwal) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย” ว่า ตนมีความยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นองค์ปาฐกในโอกาสครบรอบ 68 ปีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ที่เป็นหลักฐานยืนยืนประวัติศาสตร์อันยาวนานและรุ่งเรืองของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุลทุกท่าน ทั้งนี้ สหประชาชาติพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และองค์กรสื่อเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากสื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักในประเด็นของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยมีภูมิทัศน์ทางสื่อที่เข้มแข็งทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำนักงานประจำภูมิภาคของสำนักข่าวต่างประเทศมากมาย ซึ่งความสำคัญของสื่อมวลชนคือ การรายงานข่าว ข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาและสร้างความตระหนักต่อสังคม ดังนั้นความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างมาก ท่ามกลางสังคมที่แบ่งขั้วอำนาจทั่วโลก เราจำเป็นต้องลดการแบ่งฝ่าย ร่วมมือต่อต้านข้อมูลเท็จแต่ยังคงเดินหน้าเปิดโปงสิ่งชั่วร้ายที่ทำให้สังคมอ่อนแอ

“หนึ่งในพัฒนาการเชิงบวกคือการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติฯ และสื่อมวลชน ที่ร่วมกันสร้างสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชน เพราะสื่อเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมสู่สังคมสีเขียว รวมถึงการนำเสนอความท้าทายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ” นางกีต้า กล่าว

  • ความเข้มแข็งด้านการพัฒนามนุษย์ของไทย ท่ามกลางความถดถอยของโลกในรอบสามทศวรรษ

ผู้แทนสหประชาชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะมีภาครัฐที่มองการไกลพร้อมมุ่งมั่นร่วมมือกับภาคเอกชนสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดวาระพัฒนาเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในกลางศตวรรษนี้ และได้ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ให้ต่ำกว่าการปล่อยในกรณีปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี 2060 เมื่อเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงของประเทศไทยในปี 2030 จะต่ำกว่าในปี 2020

นางกีต้า กล่าวต่อว่า สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรธุรกิจชั้นนำได้ ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 8 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึง 1.6 ล้านคัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาชิก GCNT ประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงเป็นที่แรกของโลกในการร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเลในพื้นที่ร้อยละ 30 ทั่วประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ของสหประชาชาติ มาตรการตามข้อตกลงนี้รวมถึงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจชั้นนำต่าง ๆ มีความตระหนักสูงขึ้น ถึงความสำคัญของการรวมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ธุรกิจต้องยืนหยัดในหลักการว่าการดำเนินธุรกิจใด ๆ ต้องไม่ก่อความเสียหายด้วยประการทั้งปวงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งบนบกและในน้ำ

“คำมั่นสัญญาทั้งหมดนี้ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทของโลกยุคปัจจุบัน ที่หลายประเทศกำลังสูญเสียความคืบหน้าทางการพัฒนาที่ได้สร้างมาอย่างยากลำบาก นี่เป็นครั้งแรกในสามทศวรรษที่การพัฒนามนุษย์เกิดการถดถอยในระดับโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ของหน่วยงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งวัดจากมิติด้านสุขภาพ การศึกษา และมาตรฐานการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศ” นางกีต้า กล่าว

นางกีต้า กล่าวด้วยว่า เรากำลังถอยกลับไปสู่ระดับในปี 2016 ร้อยละ 90 ของประเทศมีคะแนนการพัฒนามนุษย์ลดต่ำลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ แรงสะเทือนทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) เงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก และการขาดแคลนอาหาร อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถดำรงไว้ซึ่งความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายข้อ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ จากการประเมินของเอสแคปโดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลจากรัฐบาล พบว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่เด่นชัดในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายข้อ ตั้งแต่เป้าหมายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรม ไปจนถึงเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่ ผลการวิเคราะห์ของเรายังพบด้วย ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดความคืบหน้าในเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ การปกป้องชีวิตบนบกและในน้ำ การลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ขจัดการสูญเสียอาหาร และการสร้างและพัฒนาสถาบันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

  • 21 องค์กรจากสหประชาชาติ หนุนไทยผ่านยุทธศาสตร์ 3 ด้าน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นางกีต้า กล่าวว่า ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย 21 องค์การชำนาญพิเศษจึงได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยผ่านกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNSDCF) ซึ่งกำหนดยุุทธศาสตร์การพัฒนาโดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เรามุ่งเน้นยุทธศาสตร์สามด้านหลัก ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ 2.เสริมความเข้มแข็งของชุมชนและผู้คนทุกช่วงวัยผ่านการเร่งรัดสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และ 3.การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อเร่งสร้างความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ สหประชาชาติใช้ประโยชน์จากอำนาจในการชักจูง (convening power) ในการระดมและเชิญชวนนักธนาคาร นักลงทุน และผู้บริหารสินทรัพย์ให้ขยายเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

นางกีต้า กล่าวว่า เรายังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากศูนย์กลางในระดับภูมิภาคเพื่อนำแนวทางการแก้ปัญหาที่ล้ำสมัยและอิงหลักฐานเชิงประจักษ์มาแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ และเรายังส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศบนพื้นฐานของหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพลิกโฉมสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียวของประเทศไทยจำต้องอาศัยแนวทางการระดมพลังทั่วทั้งรัฐบาลและทั่วทั้งสังคม ซึ่งคือการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ สหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมกันจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดที่กรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศตามจังหวัดต่าง ๆ

“ความเป็นหุ้นส่วนนี้เริ่มผลิดอกออกผลให้เราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการคัดแยกขยะซึ่งจะได้รับการขยายผลครอบคลุม 12 ล้านครัวเรือนในไม่ช้า จากการตรวจสอบขององค์กรอิสระพบว่าโครงการนี้จะช่วยให้กระทรวงมหาดไทยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 530,000 ตันต่อปี คาร์บอนเครดิตที่เพิ่งผ่านการรับรองจากองค์การบริหรจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) นี้จะช่วยให้หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปซื้อขายและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเป็นรายได้เพิ่มเติมด้วย” นางกีต้า กล่าว

  • ความร่วมมือสหประชาชาติ และ ภาครัฐ-เอกชน ในการสร้าง 3 ภาคธุรกิจไทยสู่การเป็นสังคมสีเขียว

นางกีต้า กล่าวว่า ตนขอยกตัวอย่าง 3 กรณีของความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับภาครัฐและเอกชนในโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ตัวอย่างที่ 1 ภาคอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและเหล็กกล้าที่ก่อมลพิษสูง องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) ได้ร่วมกับรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม เช่น การนำเศษโลหะใช้แล้วมาผ่านกระบวนการก่อนการหลอมเพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษ การใช้เตาเผาประหยัดพลังงานแบบรีเจนเนอร์เรทีฟ และการนำตัวทำละลายที่ดูดซับคาร์บอนมาใช้ในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและเหล็กกล้า ขณะนี้ ได้มีการขยายผลการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ครอบคลุมร้อยละ 40 ของโรงงานอะลูมิเนียม และร้อยละ 70 ของโรงงานเหล็ก

ตัวอย่างที่ 2 ภาคการเกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 300 แห่ง ในการใช้เทคโนโลยีต้นทุนต่ำเพื่อลดการสูญเสียอาหาร และปรับปรุงห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ข้าวหมัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ การประมง และอุตสาหกรรมนม ด้วยการนำกระบวนการใหม่ ๆ และปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพแบบง่าย ๆ ธุรกิจเหล่านี้สมารถลดการสูญเสียอาหารลงได้ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มผลตอบแทนได้มากกว่าร้อยละ 17

ตัวอย่างที่ 3 ภาคการท่องเที่ยว โรงแรมขนาดใหญ่และขนาดกลางกว่า 1,000 แห่งตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศได้ลงนามในปฏิญญายูเนสโกเพื่อการเดินทางอย่างยั่งยืนว่าจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง กระทรวงมหาดไทยกำลังวัดคาร์บอนฟุตพรินท์ของผ้าทอพื้นบ้านไทยที่ผลิตโดยช่างทอสตรีเกือบ 2 ล้านคน และหาวิธีลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ทางออกหนึ่งคือการใช้สีย้อมธรรมชาติแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและขจัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวปฏิบัตินี้จะทำให้ผ้าพื้นบ้านไทยก้าวสู่เวทีโลก และเป็นหลักประกันให้สามารถแข่งขันกับผ้าจากประเทศอื่น ๆ

  • ดึงพลังคนรุ่นใหม่ ด้วยทัศนคติ ‘เราทำได้’ พร้อมเพิ่มทักษะอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางกีต้า กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีบทบาทในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเราควรใช้ประโยชน์จากพลังจากทัศนคติที่ว่า ‘เราทำได้’ ของคนหนุ่มสาวมาขับเคลื่อนการพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อที่จะทำเช่นนั้น เราต้องขยายโอกาสและสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะและให้ได้รับประโยชน์จากอาชีพ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่สหประชาชาติ ได้จัดตั้งคณะทำงานเยาวชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Youth Panel) เพื่อให้คำแนะนำแก่ตนและหัวหน้าหน่วยงานของสหประชาชาติ นี่เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนในประเทศได้มีสิทธิ์มีเสียง ในกระบวนการตัดสินใจของเรา ซึ่งตนได้เรียนรู้จากเยาวชนกลุ่มนี้ว่าคนหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วประเทศไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม หลายคนมีส่วนร่วมในโครงการระดับรากหญ้า ตั้งแต่การปรุงอาหารแจกผู้ยากไร้จากวัตถุดิบที่เหลือใช้ ไปจนถึงการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นางกีต้า กล่าวต่อว่า หากเราต้องการให้เยาวชนมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย เราจำเป็นต้องรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักด้วย ซึ่งการสำรวจล่าสุดของนิด้าพบว่า คนไทยเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่รู้จักเป้าหมายและตระหนักในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและยิ่งต่ำกว่านั้นในกลุ่มเยาวชน ซึ่งอาจขัดกับความรู้สึกเนื่องจาก เยาวชนเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการรณรงค์ต้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

“นี่คือเหตุผลที่นักข่าวเช่นคุณคือบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง งานของคุณคือกุญแจสำคัญในการนำแสงสว่างสู่ประเด็นด้านความยั่งยืน และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ในคนทุกช่วงวัย ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์ทางสื่อที่เจริญเข้มแข็งของประเทศไทยเพื่อช่วยในการพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นสังคมสีเขียว คาร์บอนต่ำ ครอบคลุม และเป็นธรรม และเป็นประภาคารนำทางสู่ความยั่งยืนแก่ภูมิภาคและแก่เวทีที่สูงกว่านั้น พวกเราชาวสหประชาชาติยินดีที่จะสนับสนุนท่านในเรื่องนี้ และองค์กรของเรายินดีต้อนรับท่านเสมอ” ผู้แทนสหประชาชาติ กล่าว