ช่างภาพร้องเรียนสมาคมนักข่าวฯ ถูกตำรวจคุกคามถึงคอนโด

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการคุกคามสื่อจากนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวจากสื่อออนไลน์ 'Space Bar' โดยระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งนำกำลังมาเฝ้าสังเกตการณ์ถึงที่คอนโด และแสดงพฤติกรรมคุกคาม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว (รายละเอียด: ช่างภาพข่าวถูก ตร.สส.บก.น.5 คุกคามหนัก เฝ้าคอนโดที่พักเกือบ 2 สัปดาห์ กดดันนิติเอาข้อมูลของสื่อ)  

อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ จึงได้เชิญนายณัฐพลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ณ ที่ทำการชั่วคราวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนของสมาคมจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการพูดคุยและหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในกรณีดังกล่าว

นายณัฐพลได้ให้ข้อมูลแก่อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ว่า ตนเป็นช่างภาพที่ทำข่าวเกาะติดการชุมนุมและเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ตำรวจจับตาตน ถึงกับมีหนังสือไปที่นิติบุคคลของคอนโด ระบุว่าตนเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ” และส่งกำลังมาเฝ้าถึงที่พัก ซึ่งตนมองว่าเป็นการคุกคามคนทำงานสื่อ เพราะที่ผ่านมาตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ 

นายณัฐพลกล่าวด้วยว่าพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตนรู้สึกกังวลต่อความปลอดภัย และได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ณ สถานีตำรวจในพื้นที่ แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ จึงได้ติดต่อร้องเรียนมายังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผ่านทางช่องทางร้องเรียนคุกคามสื่อของสมาคม เพื่อขอให้สมาคมช่วยตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น

หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นลง นายธีรนัยกล่าวสรุปว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการคุกคามต่อคนทำงานสื่อ เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนายณัฐพลโดยตรง และอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในวงการสื่อมวลชนว่า จะมีคนทำงานสื่อคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตาอย่างใกล้ชิดในลักษณะเดียวกัน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานสื่อมวลชนด้วยหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังปรากฎคลิปวิดิโอบุคคลที่อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ แสดงกิริยาไม่เหมาะสมในเชิงคุกคามต่อนายณัฐพล ซึ่งถ้าหากบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ก็ต้องนับว่าเป็นพฤติกรรมที่เจ้าหน้าที่ไม่ควรกระทำต่อใครทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นประชาชนหรือสื่อมวลชนก็ตาม 

นายธีรนัยกล่าวว่า ในขั้นตอนถัดไป ทางสมาคมจะทำหนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในข่าว เช่น กองกำกับการตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาล 5, กองบังคับการตำรวจนครบาล 5, และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่พบเจอพฤติกรรมการคุกคามสื่อ ไม่ว่าจากฝ่ายใดหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม สามารถส่งเรื่องมาให้อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ทางช่องทางแบบฟอร์มออนไลน์ของสมาคมได้ โดยข้อมูลต่างๆ จะเก็บเป็นความลับอย่างเคร่งครัด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เปิดระบบร้องเรียน ‘คุกคามสื่อมวลชน’