“เบื้องหลัง รางวัลจากความเสี่ยง !!”

“ภาพที่ได้รับรางวัล ถูกเลือกด้วยเนื้อหาของภาพ การทำงานโดนกีดกัน ทั้ง ๆ ที่ตามสิทธิ์ของสื่อ สามารถตรวจสอบ และถ่ายภาพเหล่านี้ได้ปกติ และผมคิดว่า เสรีภาพสื่อมวลชน ก็คือเสรีภาพของประชาชน ในแง่การทำงานสื่อ เรามีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ การทำงานเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องปกติพื้นฐานมาก ๆ จึงเป็นเรื่องที่เรา ไม่น่าที่จะต้องมาเรียกร้องในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย"

“เมธิชัย เตียวนะ ช่างภาพข่าว The101.world” ผู้ได้รับ 3 รางวัลจากการประกวดภาพข่าว "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566" บอกเล่าเบื้องหลังที่มาของภาพข่าว ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ทั้งภาพรางวัลชนะเลิศ, รองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ที่มาของภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นเหตุการณ์ในวันประชุมเอเปค เมื่อปี 2565 ของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค บริเวณถนนดินสอ ซึ่งในวันนั้น สถานการณ์มีความชุลมุน และวุ่นวายมาก เจ้าหน้าที่เริ่มสลายการชุมนุม ซึ่งตนเองอยู่ในฝั่งแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ กับผู้ชุมนุม เมื่อมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ก็ต้องหาที่หลบมุม ก่อนที่จะหันไปเห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งโดนผลักให้ล้มลง ซึ่งมีช่างภาพของสำนักข่าวเอพี พยายามถ่ายภาพดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่กันไม่ให้ถ่ายภาพผู้ชุมนุมนั้น ตนเองจึงถอยร่นลงไปแล้วกดชัดเตอร์ จนได้ภาพดังกล่าวออกมา

“ภาพที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ภาพ ไม่ได้ถูกตั้งธงมาตั้งแต่แรกว่า จะถ่ายให้ติดสื่อมวลชน แต่มาถูกเลือกภายหลังด้วยเนื้อหาของภาพ เช่น ภาพได้รางวัลที่ 1 ผมคิดว่าค่อนข้างชัดเจน ที่ภาพฉายให้เห็นว่า การทำงานโดนกีดกัน ไม่ได้เปิดให้เราเข้าไปทุกพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ตามสิทธิ์ของสื่อ สามารถตรวจสอบและถ่ายภาพเหล่านี้ได้ปกติ คิดว่าภาพนี้น่าจะสะท้อนตรงจุดนั้น และผมคิดว่า เสรีภาพสื่อมวลชน ก็คือเสรีภาพของประชาชน ในแง่การทำงานสื่อ เรามีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ การทำงานเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องปกติพื้นฐานมาก ๆ จึงเป็นเรื่องที่เรา ไม่น่าที่จะต้องมาเรียกร้องในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย" นายเมธิชัย กล่าว

"เมธิชัย" ยังกล่าวถึงการได้ภาพดังกล่าวออกมาว่า ในวินาทีที่กดชัตเตอร์ ต้องสื่อถึงเนื้อหาชัดเจน การเลือกภาพ หรือวินาทีกดชัตเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพข่าวมา ต้องคำนึงถึงเนื้อหาเป็นตัวตั้ง เลือกเหตุการณ์ให้ชัดเจนว่า อยากจะถ่ายภาพอะไร อยากจะเล่าอะไรในเหตุการณ์นั้น ๆ แล้วถ่ายภาพให้มากไว้ก่อนหลาย ๆ มุม แล้วค่อยมาพิจารณาเลือกรูปอีกครั้ง หามุมที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานการณ์นั้น ๆ หรือเวลาไปประจำอยู่ที่สถานการณ์ต่าง ๆ ช่างภาพสื่อมวลชนต้องประเมินสถานการณ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยจินตนาการล่วงหน้าไว้สเต็ปหนึ่งว่า จะเกิดอะไรขึ้นจะเตรียมตัวทัน

"​เมธิชัย" ยังเล่าย้อนให้ฟังว่า เคยฝึกงานที่ The101.world แล้วทำงานที่นี่ต่อ จนมาถึงปัจจุบันประมาณ 3 ปีกว่าแล้ว รับผิดชอบงานมัลติมีเดีย ทั้งภาพนิ่ง, วิดีโอ, พ็อดคาสท์ (รายการที่สามารถรับฟัง และรับชมได้ผ่านอินเตอร์เน็ตที่แบ่งเป็นตอน) เป็นงานเชิงลึก ส่วนใหญ่เป็นสารคดีชีวิตผู้คน แต่เรื่องการเมืองก็เป็นตามวาระข่าวสาร ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่ไม่เคยเห็นการชุมนุมระดับนี้มาก่อน ทั้งรูปแบบ และวิธีการ แต่ในการทำงานนั้น ยังคงยึดหลักความจริง ไม่บิดเบือน ​ส่วนหลักในการเลือกภาพถ่ายที่จะนำเสนอ คือ ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูล และข้อเท็จจริง เห็นมาอย่างไร ก็ถ่ายภาพแบบนั้นไม่บิดเบือน และการถ่ายภาพให้มากในแต่ละกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้คนที่ไม่ได้ไปเห็นบรรยากาศรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะข่าวออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ อาจจะนำเสนอ 10 - 20 รูป แตกต่างกันประมาณหนึ่ง วิธีการเรียงเล่าเรื่องต้องพิจารณาว่า จะลำดับรูปใดขึ้นก่อน ขึ้นหลัง เพื่อให้คนที่ไม่ได้ไป เห็นถึงบรรยากาศว่าเป็นอย่างไร ข้อเรียกร้องคืออะไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“อาชีพช่างภาพข่าวทำงานเสี่ยง ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงอันตรายขึ้น คนทั่วไปก็จะวิ่งออกจากพื้นที่ แต่ช่างภาพข่าว จะต้องวิ่งสวนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์มา ฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยผมค่อนข้างให้ความสำคัญมาก ต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม ก่อนที่จะเข้าไปในเหตุการณ์ ความปลอดภัยต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก เช่น หมวก หน้ากากป้องกันแก๊ส หรือป้องกันสะเก็ดที่จะกระเด็นเข้ามา” นายเมธิชัย กล่าว

"เมธิชัย" ยังบอกให้ฟังอีกว่า เหตุการณ์ที่จำไม่ลืม ​เป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น เป็นการชุมนุมเหมือนกันบริเวณสยาม ที่ผู้ชุมนุม จะเดินไปยังสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย แล้วเกิดการประทะกัน มีเสียงปืนดังขึ้นมา จนตนเองต้องหมอบลง และมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งล้มลง ตนได้หันไปดู และเข้าไปถ่ายภาพนั้น ซึ่งเห็นเลือดเต็มอก เพราะถูกยิงเป็นรูกระสุนแล้วเลือดไหลออกมาตรงบริเวณบาดแผล ซึ่งตนเองเห็นแล้ว ก็ทำตัวไม่ถูกเพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมาก

"​ช่างภาพจะกระจายหามุมที่จะเล่าเรื่อง ส่วนการที่เราไม่ค่อยได้ถ่ายภาพเจ้าหน้าที่มากนัก เพราะเป็นเรื่องพื้นที่ที่เราโดนกีดกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขข้อจำกัดหลายอย่างตรงหน้างาน และต้องยอมรับว่า พื้นที่การชุมนุมกว้างมาก จะเรียกร้องให้คน ๆ หนึ่งถ่ายภาพทุกอย่างให้ได้คงยาก ผมอยากแนะนำให้เปิดดูหลาย ๆ สื่อ มาประกอบกันมากกว่า จะได้มีจิ๊กซอว่า เหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างไร คืออะไร โดยสามารถเช็คภาพข่าวจากสื่อหลาย ๆ สำนัก เพราะจะได้ภาพมุมต่าง ๆ ที่สื่อออกมา" นายเมธิชัย กล่าว

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.

โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5