สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ธ.ค. 2563

1.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงาน 'แคนาดา' เก็บภาษีดิจิทัล 'กูเกิล-เฟซบุ๊ค' เริ่ม 1 ม.ค.65 โดยกระทรวงการคลังแคนาดา เปิดเผยว่า แคนาดาวางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่ให้บริการด้านดิจิทัลตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และจะบังคับใช้ต่อไปจนกว่าประเทศต่างๆ จะมีแนวทางร่วมกันในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กำลังพิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล เช่น กูเกิล และ เฟซบุ๊ค จะจ่ายภาษีธุรกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ดี แคนาดาแสดงความกังวัลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบรรลุข้อตกลง อีกทั้งการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวทำให้คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ขู่ที่จะตอบโต้ทางการค้า ทั้งนี้ การเรียกเก็บภาษีใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 และจะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าประเทศต่างๆ จะมีข้อตกลงร่วมกัน โดยมาตรการดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลกลางแคนาดา 3.4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (2.6 พันล้านดอลลาร์) ในระยะ 5 ปีซึ่งจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2564-2565

2.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงานนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์  พิธีกร รายการ Overview ทางช่อง Voice TV เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พหลโยธิน ในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน กรณีที่ไปรายงานข่าวการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อ 17 ตุลาคม 2563

3.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงาน ช่อง 3 ตัดสินใจขายเงินลงทุนทั้งหมดใน บีอีซี-เทโร ให้ “ไบรอัน มาร์การ์”  ในราคารวมทั้งสิ้น 15 ล้านบาท โดยบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งรายงานการขายเงินลงทุนในบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อความดังนี้ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ได้ขายเงินลงทุนทั้งหมดที่ บริษัทฯ ถืออยู่ใน บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอยู่จำนวน 119,999,950 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 59.99 ของทุนจดทะเบียน) ให้กับ คุณไบรอัน ลินด์เซ มาร์การ์ ในราคารวมทั้งสิ้น 15 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสีย ที่แสดงในงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2563

4.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานเตือนภัยมิจฉาชีพหลอกอัพข้อมูลแอปSCB ล่าสุดอดีตสื่อหลงกลโจรออนไลน์ สูญเงินนับแสน โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รับแจ้งจากนางสาววรรยา เจริญโพธิ์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ สายสื่อสารและโทรคมนาคม หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ตนได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจคันนายาว โดยระบุว่า เมื่อเวลา 22.30 น.ของวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ได้รับข้อความจากแอพพลิเคชั่น กูเกิล มีรายละเอียดว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ส่งข้อความให้อัพเกรดระบบออนไลน์ของธนาคารในทันที ผ่านลิงค์ http://scbheack.com โดยตนได้เข้าไปกดและกรอกข้อมูล ต่อมามีรหัส โอทีพี(OTP)ส่งเข้ามายังหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว 

หลังจากนั้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ได้พบข้อความส่งมาจาก SCB Connect ว่า มีเงินออกจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของตน โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์  ในชื่อบัญชีของ นางสาวจันทร์ทิพย์ เรืองน้อย สาขาตึกซัน ทาวเวอร์ จำนวนเงิน 120,000 บาท ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2563 เวลา 22.30 น.จึงเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนางสาวจันทร์ทิพย์ เรืองน้อย ในที่สุด ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวมีพ.ต.ต.กิตินันต์ จันทร์คำจร สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจคันนายาวเป็นเจ้าของคดี

5.เว็ปไซต์ "thebangkokinsight" รายงาน ‘กูเกิล’ โดน 10 รัฐฟ้อง ข้อหาฮั้ว ‘เฟซบุ๊ก’ คุมตลาดโฆษณาออนไลน์ โดยอัยการจาก 10 รัฐของสหรัฐ ร่วมกันยื่นฟ้องบริษัทเทคโนโลยีกูเกิล (Google) กล่าวหาว่า พยายามควบคุมตลาดโฆษณาออนไลน์เพื่อกีดกันคู่แข่ง ถือเป็นคดีความสำคัญคดีที่สองที่กูเกิลเผชิญในช่วงไม่กี่สัปดาห์ การฟ้องร้องครั้งนี้มีขึ้นที่ศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในรัฐเท็กซัส โดยมุ่งเป้าไปที่บทบาทของกูเกิลในการใช้วิธีที่ซับซ้อน เพื่อเชื่อมโยงผู้ลงโฆษณา กับผู้ขายพื้นที่โฆษณาออนไลน์เข้าด้วยกัน อัยการของ 10 รัฐเชื่อว่ากูเกิลใช้วิธีดังกล่าวเพื่อผูกขาดธุรกิจ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ากูเกิลร่วมมือกับเฟสบุ๊ก (Facebook) เพื่อควบคุมตลาดโฆษณาออนไลน์และจำกัดคู่แข่งด้วย โดยรัฐยื่นฟ้องกูเกิล อาร์คันซอ ไอดาโฮ เคนตักกี มิสซิสซิปปี มิสซูรี นอร์ธดาโกตา เซาธ์ดาโกตา ยูทาห์ อินเดียนา เท็กซัส

รัฐเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน และบางรัฐในกลุ่มนี้ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ยื่นฟ้องกูเกิลเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ด้วยการใช้สถานะผู้ครอบครองตลาดเทคโนโลยี การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือ search engine เพื่อสกัดคู่แข่ง และพยายามผูกขาดตลาดการโฆษณาพ่วงผลการค้นหา ด้วยการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่น ๆ เช่น แอปเปิล เพื่อทำให้ระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิลเป็นระบบหลักในเว็บเบราเซอร์และโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ

ทางด้านกูเกิล โต้ตอบว่า ข้อกล่าวหาไม่ถูกต้อง และบริษัทพร้อมที่จะต่อสู้ในชั้นศาล โดยกูเกิลยืนยันว่า ราคาค่าโฆษณาออนไลน์ และเทคโนโลยีในการลงโฆษณานั้นลดต่ำลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกูเกิลคิดค่าเทคโนโลยีโฆษณาดังกล่าวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดในปัจจุบัน

การฟ้องร้องต่อกูเกิลทั้ง 2 ครั้งถือเป็นหนึ่งในการดำเนินคดีทางกฎหมาย ที่มีความสำคัญมากที่สุดในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐ ในรอบกว่า 20 ปี

6.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานศาลสั่ง 'ดวงกมล-สุพจน์' จ่าย 36 ล้าน ฐานตกแต่งบัญชีเนชั่น โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ พ.568/2562 ซึ่ง บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) เป็นโจทก์ฟ้องนายเสริมสิน สมะลาภา จำเลยที่ 1 นางสาวดวงกมล โชตะนา จำเลยที่ 2 และนายสุพจน์ เพียรศิริ จำเลยที่ 3 ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น โดยผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์ และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล  

ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบมูลแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2561 และฟ้องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ฟ้องภายใน 1 ปี ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ส่วนประเด็นจำเลยทั้งสามทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งศาลแยกวินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นรายบุคคล  

จำเลยที่ 1 นายเสริมสิน สมะลาภา ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นผู้สั่งการโดยตรงในการให้ฝ่ายขายลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริง และอำนาจหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ต้องเซ็นรับรองงบการเงินของโจทก์นั้น เป็นทางปฏิบัติของบริษัทหรือนิติบุคคลโดยทั่วไปที่จำเลยที่ 1 จะต้องเซ็น จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการเซ็นชื่อรับรองงบการเงินนั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิด และไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยอื่น

จำเลยที่ 2 นางสาวดวงกมล โชตะนา ศาลวินิจฉัยว่า ปรากฏในทางนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการสั่งการโดยตรง ในการให้ฝ่ายขายลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริง เป็นผู้บริหารที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย Togo อีกทั้งยังปรากฏอีเมล์ที่เป็นการติดตามผลการดำเนินงานจากฝ่ายขายอีกด้วย จำเลยที่ 2 รู้รายละเอียดขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของโจทก์เป็นอย่างดี ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างรายได้เทียมและตกแต่งบัญชีของโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ร่วมทำละเมิดโจทก์  

จำเลยที่ 3 นายสุพจน์ ศาลวินิจฉัยว่า ปรากฏในทางนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 สอนวิธีการลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริงให้แก่ฝ่ายขาย ทั้งๆที่ตนเป็นนักบัญชีย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า การลงรายได้ค้างรับที่ไม่มีอยู่จริงนั้นไม่ถูกต้องตามหลักการตามทางบัญชี และจำเลยที่ 3 ยังเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้บริหารโจทก์และฝ่ายขาย ในเรื่องที่เกี่ยวกับรายได้ค้างรับ ดังนั้น จำเลยที่ 3 ร่วมทำละเมิดโจทก์

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์  

จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งในบริษัทโจทก์มีระยะเวลาที่แตกต่างกัน ศาลจึงเห็นควรกำหนดสัดส่วนในการรับผิดในความเสียหายตามที่โจทก์ขอมา โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิด 48% ของค่าเสียหายในแต่ละส่วน และจำเลยที่ 3 รับผิด 52% ของค่าเสียหายแต่ละส่วน ดังนี้  

ค่าว่าจ้าง KPMG เห็นว่า KPMG เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทโจทก์มาเป็นเวลานาน ทั้งมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง แต่ตรวจสอบไม่เจอความผิดปกติตั้งแต่แรก ดังนั้น ศาลจึงปรับลดให้ค่าเสียหายข้อนี้ จาก 1,600,000 บาท ให้เหลือ 800,000 บาท  

ค่าปรับที่จ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ค่าปรับที่จ่ายให้ ก.ล.ต.ส่วนแรก 1,135,200 บาท ศาลให้จ่ายเต็มจำนวน ส่วนที่สอง 985,500 บาท ปรับลดให้เหลือ 5 แสน  

ค่าปรับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 16,000 บาท ค่าปรับกรมสรรพากร 4,000 บาท

นอกจากนี้ค่าเสียหายที่จ่ายเงินปันผลสูงเกินที่ต้องจ่าย ศาลเห็นว่า การที่โจทก์จ่ายเงินปันผลผิดไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการกระทำของจำเลยที่ 2 และ 3 แต่ฝ่ายขายก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย จึงปรับลดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จาก 57 ล้านบาท ให้เหลือ 34 ล้านบาท  

ส่วนค่าว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย ศาลเห็นว่า โจทก์ได้ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงหาผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว การว่าจ้างที่ปรึกษาฯ นั้นเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์เองเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีค่าทนายความอยู่แล้ว ดังนั้น ค่าเสียหายในส่วนนี้ศาลไม่ให้ (ตามที่ขอมา 1,907,870.99 บาท)  

ศาลจึงมีพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 36,533,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 17,535,840 บาท และให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นเงิน 18,997,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก  

นางสาวดวงกมล เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป ส่วนนายสุพจน์ เพียรศิริ เป็นอดีตกรรมการ และผู้อำนวยการสายการเงิน บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป

7.เว็ปไซต์ "thaiquote" รายงานดีอีเอสผนึก 5 ค่ายมือถือ ส่งข่าวโควิด-19 เข้ามือถือต่างชาติในไทย โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยผู้บริหารของผู้ให้บริการมือถือทั้ง 5 เครือข่าย ทำข้อตกลงกันว่า แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านบริการเอสเอ็มเอส (SMS) ให้กับชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย และแรงงานต่างด้าว จำนวน 2,804,000 เลขหมาย ตามฐานข้อมูลที่มีการลงทะเบียนไว้กับดีแทค ทรู เอไอเอส ทีโอที และกสท โทรคมนาคม

8.เว็ปไซต์ "thaipost" รายงานกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2563 ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,090 คน พบว่า ข่าวในประเทศที่สนใจและติดตามมากที่สุดแห่งปีคือ ข่าวสถานการณ์ COVID-19 และการล็อกดาวน์ ในประเทศไทย ร้อยละ 87.51 ข่าวสาวลักลอบเข้าไทยติด COVID -19 ร้อยละ 63.7 ข่าวรัฐบาลประกาศเยียวยาประชาชนช่วง COVID-19 ร้อยละ 61.5 ข่าวจ่าคลั่งกราดยิงกลางเมืองโคราช ร้อยละ 34.9 และ ข่าวครูทำร้าย เด็กนักเรียนอนุบาล ร้อยละ 34.4 ส่วนข่าวต่างประเทศที่สนใจและติดตาม มากที่สุดแห่งปี คือ ข่าวผู้ติดเชื้อ COVID -19 ทั่วโลก ร้อยละ 79.4 การคิดค้นวัคซีนป้องกัน COVID -19 ร้อยละ 60.6 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 52.3 สงครามการค้าระหว่างจีน- สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 24.3 และไฟไหม้ป่าออสเตรเลีย ร้อยละ 19.5

9.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานอุตสาหกรรมสื่อลุ้นหนัก หวั่นโควิดระลอกใหม่ลากยาวฉุดเม็ดเงินไตรมาส 1/64 ทรุด หลัง 11 เดือนของปี 63 เงินสะพัดแค่ 8.4 หมื่นล้าน ติดลบ 12% โดยนายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ Media Intelligence หรือ กลุ่ม MI กรุ๊ปมีเดียเอเจนซี่ในเครือ Hakuhodo และ Far East Fame Line DDB เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบหนักๆ ในไตรมาสแรกของปีหน้า

โควิดระลอกใหม่แตกต่างจากครั้งแรก ซึ่งแม้จะมาแบบไม่ทันตั้งแต่ แต่เริ่มระบาดในปลายเดือนมีนาคม เม็ดเงินการใช้จ่ายสื่อยังเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม หลังจากนั้นจึงได้รับผลกระทบยาวและเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อโดยรวมติดลบราว 20% ในช่วงกลางปีแต่หากปีหน้า เกิดการระบาดหนักและส่งผลต่อไตรมาส 1 ย่อมทำให้เม็ดเงินสูญหายไปเยอะ และตลอดทั้งปีเชื่อว่า สถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้น จะทำให้ปี 2564 อุตสาหกรรมจะยังไม่ฟื้นตัว

ในอุตสาหกรรมสื่อ คาดหวังว่าปีหน้าจะฟื้นตัว แต่หากเกิดการระบาดระลอกใหม่จริงๆจะส่งผลกระทบหนักต่อเนื่อง และทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอีก จะไม่เด้งกลับ ความหมายคือ ถ้าใครปรับตัวได้เร็ว หรือใครที่ดึงคอนเทนต์ สร้างความแตกต่างของคอนเทนต์ได้ จะเป็นโอกาสดีที่ต่อชีวิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี สื่อที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากโควิดระลอกใหม่คือ สื่อนอกบ้าน (Out of home) เพราะหากถูกจำกัดพื้นที่ ล็อกดาวน์ห้ามเดินทางให้อยู่แต่ในบ้าน สื่อนอกบ้านก็ไม่มีคนเห็น โรงหนัง ห้าง คนใช้บริการขนส่งสาธารณะน้อยลงสื่อก็ถูกใช้น้อยลง และแม้จะต้องทำงานที่บ้าน (work from home) แต่สื่อทีวีและสื่อออนไลน์ ก็ยังไม่ชัดเจน

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อนับจากปี 2558 มีเม็ดเงิน 1.29 แสนล้านบาท เติบโต 5% ปี 2559 มีเม็ดเงิน 1.15 แสนล้านบาท ติดลบ 10% ปี 2560 มีเม็ดเงิน 1.12 แสนล้านบาท ติดลบ 3% ปี 2561 มีเม็ดเงิน 1.20 แสนล้านบาท เติบโต 8% ปี 2562 มีเม็ดเงิน 1.23 แสนล้านบาท เติบโต 2%

10.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงานจำนงค์ จันทรสำเภา อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาถึงแก่กรรม โดยนายจำนงค์ จันทรสำเภา หัวหน้าข่าวกีฬา นสพ. แนวหน้ารายวัน และอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาฯ ลำดับที่ 8 (พ.ศ.2527-2530) ถึงแก่กรรมโดยสงบเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 รวมอายุได้ 77 ปี

นายจำนงค์ เกิดที่ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2486 อายุ 77ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไพศาลศิลป์พระนคร กทม. เคยเข้าศึกษาที่โรงเรียนการไปรษณีย์ ของบริษัทไปรณีย์ไทย จำกัด รัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม ต่อมาได้ศึกษาและสำเร็จปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยเกริก กทม. ในสาขาวิชาวิทยาการจัดการ

นายจำนงค์ เป็นอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย อดีตนายกสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย เริ่มทำงานในสื่อสารมวลชนสายข่าวกีฬาที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวันเป็นฉบับแรก หลังจากนั้นได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์รายวันหลายๆฉบับ เช่นที่ นสพ.ไทยเดลี่ นสพ.ข่าวสยาม นสพ.เอกรัฐ นสพ.เดลิไทม์ นสพ.ตะวันสยาม นสพ.พญาครุฑ นสพ.ศานต์สยาม นสพ.ดาวสยาม และนสพ.แนวหน้าเป็นแห่งสุดท้ายจนถึงแก่กรรม โดยได้ทำงานจนต่ออายุการทำงานแม้จะอยู่ในวัยเกษียณอายุแล้วจนถึงอายุ 77 ปีรวมทำงานในสายข่าวกีฬายาวนานถึง 55 ปี